อ่างพวง

รายละเอียดองค์ความรู้

อ่างพวง

พระราชดำริเมื่อ

          เมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2532  ณ พระราชวังไกลกังวล  หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขต อ.หัวหิน ซึ่งในปัจจุบันราษฎรต้องประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำอยู่โดยทั่วไป  อ่างเก็บน้ำจำนวนมากที่สร้างไว้มีขนาดเล็กสำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุพอสมควรก็มีเพียงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดและอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขามเท่านั้น  จึงเห็นสมควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุมาก ๆ  ตามท้องที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมอาทิ  ในเขตตำบลหนองพลับ  ซึ่งมีโครงการพัฒนาที่ดินหนองพลับอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ที่ขาดแคลนน้ำมากในเวลาฝนแล้งและต่อมาในวันที่  24  กรกฎาคม  2535  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้กรมชลประทานจัดหาน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพดีกว่ามาช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดต่อไป

         เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม  2535   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ  ณ  พื้นที่ส่งน้ำหมู่บ้านชาวไทยมุสลิมด้านท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยทรายได้พระราชทาน  พระราชดำริ  ดังนี้

                  1.สมควรพิจารณาความเหมาะสม  ในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด  ผ่านสันทำนบของอ่างพักน้ำเขากระปุก ลงอ่างเก็บน้ำห้วยทราย  ซึ่งปัจจุบัน มีสภาพขาดแคลนน้ำมาก  เพื่อให้สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย  และบริเวณใกล้เคียงได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ

                  2.ควรพิจารณาวางโครงการ     และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ   ในลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำห้วยตะแปดเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเสริมให้อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด

                  3.ควรเร่งพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไม้ตาย ส่วนพื้นที่ตอนบนของอ่างฯ ควรพิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายในบริเวณต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

                เมื่อวันที่  24  กรกฎาคม  2535  ณ พระราชวังไกลกังวล  อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำ  หรือแหล่งน้ำที่มีศักยภาพที่ดี   และมีความเหมาะสม   ไปลงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด  ซึ่งมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในแต่ละปีน้อย  ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ทำการเกษตรและอุปโภค – บริโภค ของราษฎรในบริเวณโครงการฯ

                เมื่อวันที่  6  สิงหาคม  2539  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินทอดพระเนตรศูนย์ฯ ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายสุเมธ  ตันติเวชกุล  เลขาธิการ กปร. นายรุ่งเรือง  จุลชาต  อธิบดีกรมชลประทาน  และนายสุพจน์  รุจิรกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมพิเศษ  ให้เร่งรัดก่อสร้างโครงการระบบท่อผันน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขาม – อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด

 สถานที่ตั้ง
                  โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทำการหัวงาน อยู่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ตั้งอยู่ที่ประมาณพิกัด 47 PNQ 970-067 ตามแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง 4934 II  ลำดับชุด L-7018 บริเวณพื้นที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

 วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ  และทดน้ำให้มีระดับสูงขึ้นจนสามารถส่งน้ำเข้าท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์เพื่อการอุปโภค – บริโภคและการเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งของราษฎร หมู่ที่ 7, 9 และ 10  ตำบลบ้านนา    และในบริเวณใกล้เคียง   เพื่อผันน้ำจากอ่างฯที่มีศักยภาพดีกว่า  มาช่วยเหลืออ่างฯ ที่มีศักยภาพน้อยกว่า

2.การกระจายน้ำเข้าสู่ระบบทำให้สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและการอุปโภค บริโภคของเกษตรกรได้เป็นวงกว้างและทั่วถึง

3.เป็นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพราะปริมาณน้ำที่ผันเข้าสู่ระบบ ส่วนใหญ่จะผันน้ำปริมาณส่วนเกินของอ่างฯ ตัวแม่  ซึ่งจะต้องล้นอ่างฯ ทิ้งลงสู่ลำห้วยออกสู่ทะเลเป็นประจำ (ในปีฝนปกติ )

4.เพื่อนำน้ำมาช่วยเหลือกิจกรรมการศึกษาวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในศูนย์ห้วยทรายฯ รวมทั้งการเพาะปลูกและการอุปโภค - บริโภคของราษฎร ในเขตโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเพชรบุรี
 

 การดำเนินงานสนองพระราชดำริ

              ในปี พ.ศ.2536   โครงการชลประทานเพชรบุรี  ได้รับอนุมัติจากกรมชลประทาน  ให้ก่อสร้างระบบท่อผันน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด – อ่างเก็บน้ำห้วยทราย  เป็นท่อซีเมนต์ใยหิน ( ท่อ Asbestos  Cement )  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  600  มิลลิเมตร  ความยาว  7.2000  กิโลเมตร  พร้อมอาคารประกอบ โดยรับน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด  ที่ กม. 2+440  บริเวณใกล้สันทำนบอ่างพักน้ำเขากระปุก  สามารถผันน้ำเมื่ออ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาดแคลนน้ำได้วินาทีละ  160  ลิตร  ประโยชน์ที่ได้จากการก่อสร้างระบบผันน้ำดังกล่าว  ช่วยให้ราษฎรหมู่บ้านชาวไทยมุสลิมและบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร  เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่  รวมทั้งมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค  ได้ตลอดปีการก่อสร้างเสร็จเมื่อ  พ.ศ.  2536

               ในปี พ.ศ.2540   กรมชลประทาน ได้อนุมัติให้โครงการชลประทานเพชรบุรีดำเนินการก่อสร้างระบบผันน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขาม – อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดพร้อมอาคารประกอบ  โดยจะวางระบบท่อผันน้ำเชื่อมต่อจากท่อส่งน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำบ้านทุ่งขาม  เลียบตามคลองส่งน้ำ    และถนนบ้านทุ่งขาม – บ้านทุ่งหลวง  ผ่าน สนามกอล์ฟเลควิวลงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด  ความยาว  18.622  กิโลเมตร  แยกเป็นท่อ  AC   ยาว  12.00  กิโลเมตร  และท่อ  HDPE ( High  Density  Poly  Ethylene) ยาว  6.220  กิโลเมตร  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางท่อผันน้ำ 500  มิลลิเมตร  สามารถผันน้ำได้วินาทีละ 200  ลิตร  หรือประมาณวันละ  17,000  ลูกบาศก์เมตร  ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ศูนย์ฯ ประมาณ 8,870  ไร่  และสามารถช่วยให้ราษฎรหมู่บ้านต่าง ๆ ที่แนวท่อผันน้ำผ่านในเขตตำบลไร่ใหม่พัฒนา  ตำบลห้วยทรายเหนือ  และตำบลสามพระยา  ประมาณ  150  ครัวเรือน  มีน้ำใช้อุปโภค – บริโภคตลอดปี  และมีน้ำใช้ทำการเกษตรเนื้อที่ประมาณ  2,000  ไร่ เนื่องจากศักยภาพของอ่างเก็บน้ำทุ่งขามยังสามารถนำน้ำไปช่วยเหลืออ่างเก็บน้ำห้วยทราย – หุบกะพง (ศูนย์ฯ หุบกะพง) ได้จึงได้ดำเนินการวางท่อ HDPE ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 500 มิลลิเมตร ต่อจากจุดจ่ายน้ำลงอ่างเก็บน้ำห้วยตะแปด ไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยทราย – หุบกะพง เป็นระยะทางประมาณ 6.00 กม. ทำให้สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของอ่างเก็บน้ำห้วยทราย – หุบกะพง ได้ 1,200 ไร่ 76 ครัวเรือน

               ในปี พ.ศ. 2543 – พ.ศ. 2546  กรมชลประทานได้อนุมัติให้โครงการก่อสร้าง 1 สำนักชลประทานที่ 14     ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม   ขึ้นที่หมู่บ้านวลัย  ต.หนองพลับ อ.หัวหิน   จ.ประจวบคีรีขันธ์  ที่พิกัด  47 PNP  764 – 909  ระวาง  4934III  เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประมาณ  9,000  ไร่  ในเขต  6  หมู่บ้าน  2  ตำบล  คือหมู่ที่  1,2,3,4  และ  5  ต.หนองพลับ  และหมู่ที่  4,5  ต.หินเหล็กไฟ   โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดกลางที่ระดับ + 136.50  ม. รทก. โดยมี สันเขื่อนกว้าง  8.00  ม.   สูง 18.00  ม.    ยาว  810  ม.   สามารถเก็บกักน้ำได้  9.5  ล้าน ม.3   ที่ระดับ  + 133.500  ม. (รทก.)    มีพื้นที่รับน้ำฝน   88.30  กม.2  พื้นที่ถูกน้ำท่วม  1,225  ไร่  และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างต่อปี  16.7  ล้าน ม.3    การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2546

  การดำเนินการก่อสร้างระบบท่อผันน้ำ

 1.โครงการระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ห้วยตะแปด – อ่างฯ ห้วยทราย (ศูนย์ฯ ห้วยทราย)  ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2536 
 2. โครงการระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ทุ่งขาม – อ่างฯ ห้วยตะแปด – อ่างฯ ห้วยทราย (หุบกะพง) ก่อสร้างแล้วเสร็จ 
     เมื่อ พ.ศ.  2540 

 3. โครงการระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ห้วยไทรงาม – อ่างฯ ทุ่งขาม
       3.1    ก่อสร้างอ่างฯ ห้วยไทรงาม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2546
       3.2    ก่อสร้างระบบท่อผันน้ำอ่างฯ ไทรงาม – อ่างฯ ทุ่งขาม  ก่อแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2549 

 การบริหารจัดการน้ำชลประทานในโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ ฯ

              การบริหารจัดการน้ำในระบบท่อผันน้ำในเขต จังหวัดเพชรบุรี ที่กรมชลประทานได้ทำการก่อสร้างไว้เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น มีรายละเอียดดังนี้

1. วัตถุประสงค์
    1.1  เพื่อผันปริมาณน้ำจากอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำมากมาสู่อ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า
  1.2 เพื่อผันน้ำปริมาณส่วนเกินที่จะไหลล้นอ่างฯ ทุ่งขาม ซึ่งเป็นแหล่งต้นทุนของน้ำในระบบท่อผันน้ำกระจายไปสู่อ่างฯ บริวารต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากปริมาณน้ำส่วนเกินนี้ต่อไป
   1.3  เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมการศึกษาวิจัยของหน่วยงานราชการต่างๆ       ภายในบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  และโครงการตามพระราชประสงค์อื่น ๆ ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง เกิดการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นประจำ
    1.4  เพื่อช่วยเหลือการเพาะปลูกและการอุปโภค - บริโภค ของเกษตรกรในพื้นที่  ซึ่งระบบท่อผันน้ำวางผ่าน ให้ได้มีน้ำใช้ในกิจการต่าง ๆ ตลอดปี (ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่เหลือจากอ่างฯไทรงามและอ่างฯทุ่งขามด้วย)

2. การบริหารจัดการ
    2.1 ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในส่วนของกรมชลประทาน  
โดยมีการตั้งคณะทำงานระหว่างโครงการชลประทานเพชรบุรี โครงการชลประทานประจวบและสำนักชลประทานที่ 14 โดยให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน และมีผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่14 เป็นประธาน
    2.2 ตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองจังหวัด โดยใช้หลายหน่วยราชการมาบูรณาการร่วมกัน
    2.3 ฟื้นฟูกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีอยู่แล้ว ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อช่วยในการจัดสรรน้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันดูแลบำรุงรักษาอาคารชลประทาน คลองส่งน้ำต่างๆ และได้รับความร่วมมือจาก สกว.( กองทุนสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ) เพื่อทำวิจัยท้องถิ่นพร้อมสนับสนุนในด้านงบประมาณในการวิจัย
    2.4  ดำเนินการสำรวจข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยใช้แบบฟอร์มที่เป็นแนวทางเดียวกัน
    2.5 ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาช่วยดำเนินการในการเก็บข้อมูล ในช่วงแรก และจะดำเนินการพํฒนาโปรแกรมเพื่อช่วยประเมินผลและช่วยในการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในโครงการ
    2.6 ดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ ของโครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ

pipe-sys1_copy

 

 

การบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ (อ่างพวง)

 

 

 

 

 

 

 

 

อ่างเก็บน้ำห้วยทรายก่อนมีระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ

 

อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดก่อนมีระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ

 

 

อ่างเก็บน้ำห้วยตะแปดในปัจจุบัน

อ่างเก็บน้ำห้วยทรายในปัจจุบัน

 

ระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ สามารถผันน้ำจากอ่างฯมีปริมาณน้ำมากมาช่วยเหลืออ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า ระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำเป็นการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยผันน้ำปริมาณส่วนเกินของอ่างฯ ตัวแม่  ซึ่งจะต้องล้นอ่างฯ ทิ้งลงสู่ลำห้วยออกสู่ทะเลเป็นประจำเข้าสู่ระบบทำให้สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและการอุปโภค บริโภคของเกษตรกรได้เป็นวงกว้างและทั่วถึง รวมถึงการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

 

curve