โครงการ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

สถานที่ตั้ง

เพชรบุรี อำเภอ ชะอำ จังหวัด เพชรบุรี

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

พระราชดำริ

               เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ กับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้น ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อทดลองปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เพื่อให้ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับคืนสู่ธรรมชาติ จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกป่าชายเลนชนิดต่างๆ ที่คลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย

               เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2537  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมกับ พ.ต.อ.ดิเรก พงษ์ภมร ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ/ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริในขณะนั้น ให้ดำเนินการศึกษาหาวิธีที่จะดูแลรักษาให้ต้นไม้ชายเลนที่ปลูกไว้นี้ให้อยู่รอด และให้ดำเนินการปลูกป่าชายเลนต่อไปในพื้นที่ที่เหลืออยู่ทั้งสองแห่งที่บริเวณคลองบางตราใหญ่และคลองบางตราน้อย

               เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2541 ขณะที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงจักรยานและทรงวิ่งออกกำลังพระวรกายบริเวณค่ายพระรามหก ได้ทอดพระเนตรสภาพดินและพื้นที่รกร้างที่มีคราบเกลือบนพื้นดิน ต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริกับ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เลขาธิการคณะองคมนตรี ในขณะนั้น ให้หาวิธีการฟื้นฟูป่าชายเลนและฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและมีความสวยงามตามธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นพื้นที่นันทนาการและเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาระบบนิเวศที่ได้ปรับตัวหลังจากมีการปรับปรุงพื้นที่แล้ว

               ในปี 2543 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภา พัณณวดี ได้ร่วมกันจัดตั้งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติ ณ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 48 พรรษา ในปี 2546 และได้รับพระราชทานนามว่า “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร”

               เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในขณะนั้น ได้กราบบังคมทูลเกี่ยวกับการดำเนินการจัดทำโครงการศูนย์พลังงาน โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก่อสร้างศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบการจัดค่ายฝึกอบรม การจัดนิทรรศการ การสาธิต และห้องสมุดพลังงาน

               เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2545 มูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

               เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อย่างเป็นทางการ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. ดำเนินการตามพระราชดำริ และเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ให้มีระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษาให้แก่พื้นที่อื่นๆ
  3. เพื่อพัฒนาอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลายและมีความพร้อมในการดำเนินงานตามภารกิจ เพื่อเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการพัฒนาต่อยอด รวมถึงเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้ได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ของโครงการ

  1.  เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษาและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน
  2. ทำให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้และฝึกอบรม ด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. ส่งเสริมชุมชนในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน
  4. ขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ให้กว้างขวางมากขึ้น ทำให้การดำเนินงานตามภารกิจสำเร็จลุล่วงได้มากยิ่งขึ้น

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

curve