โครงการ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 44 แห่งทั่วประเทศ

สถานที่ตั้ง

จังหวัด หลายพื้นที่

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

เมื่อคืนวันที่ 25 ต่อกับวันที่ 26 ตุลาคม 2505 ได้เกิดพายุโซนร้อนชื่อ "แฮเรียต" พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทยยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัดในคืนวันที่27 ตุลาคม 2505 เวลาประมาณ 19.00 น. นายปกรณ์ อังศุสิงห์ นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ   ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ได้รับโทรศัพท์จาก คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์    อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองมหาดเล็กว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัยและทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศไว้แล้ว ขอให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน  ขณะนั้น กรมประชาสงเคราะห์ ได้เตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว จึงเดินทางไปในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 28 ตุลาคม 2505นายปกรณ์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย อาทิ หลวงอรรถวิภาคไพศาลย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ   หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล โดยมีนายประวิทย์  หาญณรงค์ หัวหน้าแผนกสาธารณภัย  กรมประชาสงเคราะห์ เป็นเลขานุการคณะ ได้เดินทางไปพร้อมกับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถองค์สภานายิกาได้มีกระแสรับสั่งให้ร่วมเดินทางไปกับกรมประชาสงเคราะห์เพื่อทำการสงเคราะห์และบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ด้วย
  

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิตประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ และ สิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย  โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง ความช่วยเหลือได้ หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์ และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงาน ที่น่าปลื้มใจก็คือ งานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือและนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน โดยมีนายเจริญ  มโนพัฒนะ รองอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ รักษาการแทน อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานเงินและสิ่งของไปดำเนินการตามพระราชประสงค์ตลอดเวลา

            นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1,2,3,4,5 ถึง 12" ตามลำดับนับตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่  23 สิงหาคม  2506 เป็นต้นมา  

 

 

 

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการสร้างโรงเรียนที่ประสบสาธารณภัย และสร้างโรงเรียนใหม่สำหรับบุตรหลานผู้ประสบภัยในจังหวัดต่างๆ  รวม ๓๑ โรงเรียน ได้แก่  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ๗  โรงเรียน  จังหวัดกระบี่  ชุมพร  นราธิวาสหนองคาย  แม่ฮ่องสอน  เชียงใหม่  จังหวัดละ   ๒  โรงเรียน  จังหวัดสงขลา  สุราษฎร์ธานี  อุตรดิตถ์เชียงราย  พะเยา  พิษณุโลก  ลำพูน  แพร่  ยโสธร  ศรีสะเกษ  อุบลราชธานี และจังหวัดลพบุรี  จังหวัดละ ๑ โรงเรียน

          ในจำนวนนี้ เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา  ๑๙ โรงเรียน  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ (ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา) ๑๕ โรงเรียน  โรงเรียนประจำสำหรับเด็กกำพร้าที่บิดามารดาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ที่อำเภอแม่อาย  จังหวัดเชียงใหม่  จังหวัดลพบุรี  และโรงเรียนประจำที่อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงโหม่  รับเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๖  (ข้อมูลวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒)
 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา

curve