โครงการ สมาคมปราบวัณโรค

สถานที่ตั้ง

จังหวัด หลายพื้นที่

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

ในปี พ.ศ. 2463 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลปัจจุบัน ในสมัยที่ทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงเห็นว่าวัณโรคมีอยู่แพร่หลายในประชาชนทั่วไป แต่ไม่ทราบว่าวิธีการรักษาพยาบาลและการป้องกันพระองค์จึงทรงนิพนธ์ เรื่อง “ทุเบอร์คุโลสิส” ประทานให้แก่กรมสาธารณสุข เพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารสุขศึกษาแจกจ่ายให้แก่ประชาชน นับได้ว่าพระองค์ท่านเป็นองค์ผู้ริเริ่มงานต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย

เนื่องจากพระราชดำริเรื่องวัณโรคนั้น แสดงถึงความห่วงใยประชาชน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2477 คณะกรรมการแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงมีมติให้ตั้ง “กองการปราบวัณโรคของแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม” ขึ้น และได้จดทะเบียนสมาคมโดยสมบูรณ์ ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภก โดยรับสมาคมฯ นี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2478 นับได้ว่า สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ เป็นหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ ในการควบคุมวัณโรคมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และได้มีอายุครบ 50 ปี ไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2528 นี้

วิธีการควบคุมวัณโรค ก็มีหลักการเหมือนกับการควบคุมโรคติดต่อชนิดอื่นโดยทั่วไป ปัจจัยสำคัญได้แก่การจัดให้มีโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขนั้นจะดำเนินการได้อย่างสัมฤทธิ์ผล เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาสาสมัคร ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลและองค์การอาสาสมัครต้องร่วมมือกันโดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันในการดำเนินงาน

การปฏิบัติงานในโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ โดยทั่วไปประกอบด้วย ผู้ร่วมงานต่างๆ ดังนี้

หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายที่วางแผนโครงการจัดหางบประมาณ จัดหาและให้การฝึกฝนเจ้าหน้าที่ จัดการดำเนินงานทั้งในเรื่องทั่วไปและในด้านเทคนิค รวมทั้งการวัดผล

บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งที่เป็นหรือไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย อาทิ แพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับวัณโรคในคลินิกต่างๆ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ เช่น รังสีแพทย์, นักจุลชีววิทยา, พยาบาล, นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

ประชาชนทั่วไป ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการควบคุมวัณโรคอาจมีส่วนช่วยให้โครงการนี้สัมฤทธิ์ผลได้ดี ทั้งนี้โดยการให้ความสนใจสนับสนุนในการก่อตั้งสมาคม อาสาสมัครซึ่งประกอบด้วยประชาชนในระดับสังคมต่างๆ ในทุกๆ ประเทศที่มีการก่อตั้งสมาคมอาสาสมัครดังนั้นจึงได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินด้วยเสมอ นอกจากที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินทุนจากรัฐบาลแล้ว ประชนทั่วไปยังให้การสนับสนุนเรื่องเงินทุนและสนับสนุน เกี่ยวกับโครงการสุขศึกษาอีกด้วย

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข

curve