โครงการ พระดาบส

สถานที่ตั้ง

จังหวัด กรุงเทพมหานคร

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการลูกพระดาบส

พระราชดำริ

                  โครงการลูกพระดาบส เป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ รวมทั้งได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเดิม  ในการดำเนินงาน และ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิพระดาบสตามกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๓ และได้ให้จัดตั้งโครงการลูกพระดาบส โดยมีพระราชดำริ ดังนี้

                   เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ “ให้คงวิธีการศึกษานอกระบบตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการ “พระดาบส” เป็นแม่แบบตลอดไป ควรสำรวจที่ดินไว้เพื่อการเกษตรเพื่อดำเนินการควบคู่ไปกับโรงเรียนช่างเครื่องยนต์การเกษตร”

                   เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานนามโครงการใหม่นี้ว่า “โครงการลูกพระดาบส”

                   เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๑ “ลูกพระดาบส ที่เข้ารับการศึกษาที่โครงการฯ จังหวัดสมุทรปราการ จะต้องมีชั่วโมงเรียนบังคับเกี่ยวกับวิชาเกษตร นอกเหนือจากหลักสูตรเตรียมช่าง เพื่อทดสอบความศรัทธา อดทน หลักสูตรศีลธรรมจรรยา และหลักสูตรวิชาชีพ ที่ต้องการตามแนวพระราชดำริของโครงการพระดาบสด้วย เพื่อให้ลูกพระดาบสสามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรถวายเป็นอาหารแก่พระดาบสและเป็นอาหารเลี้ยงตนเอง”

ผลการดำเนินงาน

๑. กิจกรรมด้านการเกษตร

                   ๑.๑  การประมง

                          - ได้เลี้ยงกุ้งขาว (Vannamei L.) พันธุ์เทอร์โบ จำนวน ๕ บ่อ บนพื้นที่ ๒๔ ไร่ ส่งจำหน่ายให้ฝ่ายห้องเครื่อง สวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง ห้างสยามแม็คโคร ห้างท๊อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต และขายปลีก ได้รวม ๒๑,๗๒๒ ก.ก.

                          - ได้ผลิตลูกปลานิลแปลงเพศเพื่อจำหน่าย ได้ ๑,๓๕๑,๐๐๐ ตัว

                          - ได้เลี้ยงปลาสลิด จำนวน ๑ บ่อ บนพื้นที่ ๑ ไร่ และได้ร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่แปรรูปผลผลิตเป็นปลาสลิดหอมทองเพื่อจำหน่าย จำนวน ๗,๗๘๒ ก.ก.

                          - ได้เลี้ยงปลานิลพันธุ์จิตรลดา ๓ ในบ่อดิน จำนวน ๑ บ่อ บนพื้นที่ ๒.๕ ไร่ และในกระชัง จำนวน ๒๔ กระชัง โดยจำหน่ายปลานิลแล่ ให้ฝ่ายห้องเครื่อง สำนักพระราชวัง และขายปลีก จำนวน ๓,๗๓๐ ก.ก.

                          - ได้ทดลองเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง จำนวน ๒๔ กระชัง และจำหน่ายปลาทับทิมให้ฝ่ายห้องเครื่อง สำนักพระราชวัง จำนวน ๘๐๙ ก.ก.

                          - ได้เพาะเลี้ยงกบพันธุ์บลูฟ๊อกซ์ จำนวน ๒๐๐ ตัว ได้ผลผลิตลูกกบจำนวน ๒,๒๖๕ ตัว

                   ๑.๒ การปลูกผัก/ไม้ผล

                          - ได้ปลูกผักไฮโดรพอนิกส์ในโรงเรือนแบบเปิด จำนวน ๗๕ แปลง และในโรงเรือนแบบปิด (EVAP) จำนวน ๑๒ แปลง บนพื้นที่รวม ๒ ไร่ โดยปลูกผักสลัด จำนวน ๗ ชนิดคือ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคลอรัล คอส ฟิลเล่ย์ บัตเตอเฮด และร็อคเก๊ท รวมทั้งผักไทย เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักโขม ผักบุ้ง กระเพราแดง ผักแพว และสะระแหน่ ซึ่งได้ผลผลิตจำนวน ๑๐,๔๖๔ กก.

                         

                          - ได้เพาะเห็ดถุง จำนวน ๕ ชนิด คือ เห็ดนางรมพันธุ์ฮังการี ภูฏาน ขอนขาว เป๋าฮื้อ และยานาหงิ ซึ่งได้จำหน่ายเห็ดสด ก้อนเชื้อเห็ด อุปกรณ์เพาะเห็ด และรายได้จากการฝึกอบรมหลักสูตรการเพาะเห็ดแบบครบวงจร  

                          - ได้ปลูกแก้วมังกร จำนวน ๓ พันธุ์ บนพื้นที่ ๒ ไร่ และจำหน่ายแก้วมังกรให้ฝ่ายห้องเครื่อง ได้ผลผลิตจำนวน ๓๗๓ ก.ก.   

                          - ได้ทดลองปลูกมะเดื่อฝรั่งทดแทนมะม่วง จำนวน ๗๐ ต้น ซึ่งเจริญเติบโตดี และยังไม่ได้เก็บผลผลิตจำหน่าย

                          - ได้ปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติ จำนวน ๘๐ ต้น ได้ผลผลิตจำนวน ๑,๑๐๕ ลูก และเป็นแหล่งขยายพันธุ์

                   ๑.๓  ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ จัดทำแปลงสมุนไพรสาธิต รอบอาศรมพระดาบส บนพื้นที่ประมาณ ๔ ไร่ โดยได้ปลูกพืชสมุนไพรประเภทรากตื้นและชนิดที่ทนต่อสภาพดินเค็ม จำนวน ๔๐๐ ชนิด โดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ใช้จุลินทรีย์ในการปรับสภาพดิน และจัดให้เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒

                   ๑.๔  ได้ปลูกไม้ทนสภาพดินเค็ม  ได้แก่ สะเดา ขี้เหล็ก กระถินเทพา ยูคาลิปตัส และนนทรี ในพื้นที่บริเวณริมถนนและพื้นที่ว่างเปล่า จำนวน ๑,๕๐๐ ต้น เพื่อความร่มรื่น เป็นแนวกันลม ลดภาวะโลกร้อน และนำเนื้อไม้มาใช้สำหรับการฝึกปฏิบัติของศิษย์พระดาบส หลักสูตรช่างไม้เครื่องเรือน โดยพบว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้เจริญเติบโตดี

                   ๑.๕ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

                          ๑.๕.๑ ได้ปลูกกล้วยไม้ในโรงเรือน จำนวน ๒ โรง บนพื้นที่ ๒ ไร่ โดยจำหน่ายดอกกล้วยไม้พันธุ์บอม และพันธุ์สุรีย์ไวท์ ให้กองชาวที่ สำนักพระราชวัง และขายปลีก

                   ๑.๖  การปศุสัตว์

                          - ได้เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน ๑๐ ตัว เจริญเติบโตดี โดยนำมูลโคมาผลิตไบโอแก๊ส สำหรับนึ่งก้อนเชื้อเห็ดและใช้ในครัวเรือนบริเวณบ้านพักเจ้าหน้าที่แปลงผักไฮโดรพอนิกส์ รวมทั้งใช้เป็นปุ๋ยสำหรับใส่ต้นไม้และปลูกผัก

                          - ได้เลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา จำนวน ๒๖๐ ตัว ซึ่งเติบโตดี โดยจำหน่ายไข่ไก่ได้เป็นเงิน ๑๑๐,๕๓๓  บาท และจำหน่ายเนื้อไก่ได้จำนวน ๒๕๕.๓ กก.

                   ๑.๗  ได้นำน้ำแข็งยูนิคที่ผลิตได้ไปใช้เพื่อการเก็บรักษาปลาและกุ้งขาว และจำหน่ายเป็นผลพลอยได้

            ๒. กิจกรรมการสาธิตการใช้พลังงานทดแทน มีเป้าหมาย ดังนี้

                   ๒.๑  การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม  โดยติดตั้งกังหันลมขนาดต่างๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นฟาร์มพลังงานลมในการผลิตไฟฟ้า และเพื่อการศึกษาถึงศักยภาพในการนำพลังงานลมมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมการเกษตรของพื้นที่ชายทะเล

                   ๒.๒ ทำการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ได้จำนวน ๖,๒๑๐ ลิตร นำไปใช้กับเครื่องยนต์ขนาดเล็กเพื่อตีน้ำในบ่อกุ้ง และเครื่องจักรกลการเกษตรในโครงการฯ และสวนจิตรลดา และจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลให้กับประชาชนและเกษตรกร จำนวน ๓,๔๗๖ ลิตร

                   ๒.๓ ได้ติดตั้งตู้อบก้อนเชื้อเห็ดประหยัดพลังงานและเตาเศรษฐกิจสำหรับใช้ผลิตอาหารปลาอย่างละ ๑ ตัว

                   ๒.๔ ได้สร้างโรงตากแห้งแบบเรือนกระจก ขนาด ๔/๑๒ เมตร ๑ โรง และโรงตากแห้งขนาดเล็ก ขนาด ๑/๑๕ เมตร ๑ โรง เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาการตากแห้งปลาสลิดให้สะอาด ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

            ๓. การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ การฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติงาน และการเยี่ยมชมศึกษาดูงานในพื้นที่

                   - การจัดการศึกษานอกระบบตามโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ได้จัดฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นหลักสูตร ๓ ชั่วโมง ๑ วัน และ ๕ วัน จำนวน หลักสูตร ๓๒ ครั้ง คือ   การทำน้ำข้าวกล้องงอกและไอศกรีมข้าวกล้องงอก การทำคานาเป้กุ้ง กุ้งพร่า กุ้งผัดซอส ก๋วยเตี๋ยวลุยสวนและการทำน้ำสลัดผัก การแปรรูปปลาสลิดรมควันและน้ำพริกปลาสลิด การเพาะเห็ด   การปลูกผักไฮโดรพอนิกส์ การปลูกกล้วยไม้ การจัดสวน การเลี้ยงปลานิล การผลิตไบโอดีเซล    การดูแลรักษาเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร และการซ่อมรถจักรยานยนต์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจากทั่วประเทศ จำนวน ๗๓๙  คน

                   - ได้รับนิสิต นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ารับการฝึกงานเรื่องการทำการเกษตรแบบผสมผสานในโครงการฯ ทั้งหมด ๑ สถาบัน ได้แก่ วิทยาลัยประมงปัตตานี จำนวน ๒๘ คน

                   - การศึกษาตามอัธยาศัย คือการศึกษาดูงานตามอาศรมต่างๆ ได้รับคณะบุคคลและผู้สนใจเข้าชมกิจการโครงการฯ ในประเทศ จำนวน ๘๕ คณะ รวม ๑,๐๐๐ คน และต่างประเทศ จำนวน ๔ คณะ รวม ๒๘ คน 

ประโยชน์ที่ได้รับ

๑. เป็นสถานที่สำหรับใช้ฝึกอบรมนักเรียนพระดาบส หลักสูตรการเกษตรพอเพียงและหลักสูตรอื่นๆ ประมาณปีละ ๓๐ ราย และยังใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ฝึกปฏิบัติงานด้านการเกษตรของนักเรียน นักศึกษา เกษตรกรและประชาชนผู้สนใจ ปีละกว่า ๕๐๐ ราย

๒. ดำเนินกิจกรรมการเกษตรแบบผสมผสานในลักษณะพึ่งพาตนเองตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่ ๔๖๗ ไร่ และสามารถสร้างรายได้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนพระดาบส และมูลนิธิพระดาบส ปีละประมาณ ๒ ล้านบาท

๓. เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในด้านการเกษตร รวมทั้งการใช้พลังงานทดแทน แก่นักเรียนนักศึกษา เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและใกล้เคียงปีละ ๑,๐๐๐ ราย

ที่มา : รายงานประจำปี ปี 2553 

สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา

curve