โครงการ ทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

สถานที่ตั้ง

จังหวัด กรุงเทพมหานคร

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์

 

ความเป็นมา

พระราชทานกำเนิดมูลนิธิ เมื่อได้ช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกแล้วยังเหลือเงินอีกสามล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า เงินสามล้านบาทนี้ควรตั้งเป็นทุนเพื่อหาดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็ก ซึ่งครอบครัวต้องประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูประการหนึ่ง และสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎร ผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเงินสามล้านบาทให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน “พระบรมราชูปถัมภ์” กับทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธินี้ด้วย ชื่อของมูลนิธินี้หมายความว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยได้ทรงมีพระราชดำริว่าภัยธรรมชาติหรือสาธารณภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะคาดหมายได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุกจังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัดภาคใต้ มูลนิธิฯ ได้ทุนดำเนินงานจากเงินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เงินอุดหนุนจากรัฐบาล จากผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาค จากทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้ และจากดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินอันเป็นทุนของมูลนิธิฯ การใช้จ่ายเงินของมูลนิธิฯ อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ ซึ่งมีการควบคุมตรวจสอบอย่างรอบคอบ การดำเนินงานยึดมั่นในพระบรมราโชบาย “...ให้ไปให้ความอบอุ่นไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยฉับพลัน ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือ มีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไป...”

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้มูลนิธิฯ จัดทุนพระราชทานการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั้ง 30 แห่ง ถึงแม้ผู้ปกครองจะมิได้ประสบภัยใด ๆ ก็ตามในปัจจุบันมูลนิธิฯ ดูแลเยาวชนที่รับทุนพระราชทานอยู่ 500 กว่าคน พ้นภาระมูลนิธิไปแล้ว 250 คน จบปริญญาเอก 1 คน จบชั้นอุดมศึกษา 65 คน กำลังรับทุนพระราชทานอยู่ 200 กว่าคน

“...การช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นจะต้องช่วยในระยะสั้นหมายความว่า เป็นเวลาที่ฉุกเฉินต้องช่วยโดยเร็ว และต่อไปก็จะต้องช่วยให้ต่อเนื่อง...ส่วนเรื่องการช่วยเหลือในระยะยาวก็มีความจำเป็นเหมือนกัน... เป็นผลว่าเขาได้รับการดูแลเหลียวแลมาจนกระทั่งได้รับการศึกษาที่สามารถทำมาหากินได้โดยสุจริตและโดยมีประสิทธิภาพ เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ...”

คณะกรรมการบริหารได้มอบหมายหน้าที่ให้กรรมการช่วยปฏิบัติงานแบ่งออกเป็น 6 ฝ่าย คือ ฝ่ายหาทุน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายบรรเทาทุกข์ ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ ฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ และฝ่ายฝึกอบรม คณะกรรมการเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครต่างๆ ได้เสียสละเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ ดำเนินตามพระบรมราโชบายตามเบื้องพระยุคลบาท ออกช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชน ผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนทั่วราชอาณาจักร ยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพสกนิกรทั้งใกล้ไกล ที่ได้ทรงห่วงใยเอื้ออาทรอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะสนิทแน่นอยู่ในดวงกมลของคนไทยต่อไป

วัตถุประสงค์ :

1. เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
2. เพื่อให้การสงเคราะห์ด้านการศึกษา 
2.1 ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีเยี่ยมในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และเด็กกำพร้า หรืออนาถา ที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย
2.2 บูรณะ ซ่อมแซม ปรับปรุง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 
3. เพื่อให้มีการป้องกันสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
4. เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นส่วนรวมแก่ประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการ อื่น ซึ่งคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควร และได้รับความเห็นชอบจากนายกมูลนิธิฯ

ที่มาhttp://www.rajaprajanugroh.org/intro.aspx

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา

curve