โครงการ พัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สถานที่ตั้ง

ตำบล ปะเสยะวอ อำเภอ สายบุรี จังหวัด ปัตตานี

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

หมู่ 1, 2, 4 ตำบลบางเก่า  หมู่ 4, 5 ตำบลปะเสยะวอ อำเภอสายบุรี

หมู่ 1, 3 ตำบลพ่อมิ่ง  หมู่ 1, 2, 3 ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ  จังหวัดปัตตานี

ประวัติโครงการ

เมื่อวันที่  30  กันยายน  2535  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร  สภาพบริเวณ ลุ่มน้ำคลองน้ำจืด – คลองแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมและมีน้ำท่วมขังเกือบทั้งปี  จึงได้พระราชทานพระราชดำริ  เกี่ยวกับงานชลประทาน  ให้พิจารณาวางโครงการก่อสร้าง  ขุดลอกคลองระบายน้ำและอาคารบังคับน้ำ  เพื่อระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่และเก็บกักน้ำจืดไว้ให้เกษตรกรใช้ทำการเพาะปลูกและอุปโภค – บริโภคตลอดปี

ตั้งแต่ปี  2536 – 2543  โครงการก่อสร้างที่ 7 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำ 5 (เดิม) กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างงานระบบระบายน้ำและงานระบบส่งน้ำ  ซึ่งประกอบด้วย  คลองระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ  ขุดลอกคลอง  และสร้างถนนเลียบคลองพร้อมอาคารประกอบ  ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ  สร้างสถานีสูบน้ำ  รวมทั้งสร้างระบบส่งน้ำ  โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 40,000  ไร่  ครอบคลุมเขตอำเภอปะนาเระ  และอำเภอสายบุรีของจังหวัดปัตตานี

เพื่อรองรับการใช้น้ำในกิจกรรมต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด  จังหวัดจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ  และคณะทำงานโครงการพัฒนาอาชีพการเกษตรพื้นที่พรุแฆแฆ  อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  ขึ้น  เมื่อเดือนมิถุนายน 2541  โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานกรรมการบริหาร  และมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นประธาน  และหัวหน้าฝ่ายประสานราชการและบริหารทั่วไป  สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ  ส่วนคณะทำงานมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นประธาน  และหัวหน้าฝ่ายประสานราชการและบริหารทั่วไป  สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ  ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงคณะกรรมการและคณะกรรมการและคณะทำงานดังกล่าวให้สอดคล้องเหมาะกับภาระกิจอีก 2 ครั้ง  เมื่อ  เดือน  มิถุนายน  2542  และเดือนพฤศจิกายน 2544

 วัตถุประสงค์ของโครงการ

วัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ   (อันเนื่องมาจากพระราชดริ)    อำเภอปะนาเระอำเภอสายบุรีจังหวัดปัตตานี

-เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่พรุ

-เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกและอุปโภค – บริโภค

-เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณพรุให้สามารถทำการเพาะปลูกหรือใช้ประโยชน์

-เพื่อเป็นแหล่งแพร่เพาะและขยายพันธ์ปลาน้ำจืด

-เพื่อป้องกันน้ำเค็มไม่ให้เข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก

ลักษณะทั่วไปและที่ตั้ง

                                ที่ตั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ  (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ)  ตั้งอยู่ในระหว่างละติจูด   06 , 42,    N  และ  06, 50, N  พิกัด   47   NQH   830  -  561  แผนที่มาตราส่วน  1:50,000  ระวาง  5322  

 IV  อยู่ในเขตหมู่ที่  1  บ้านแฆแฆ  ตำบลน้ำบ่อ  อำเภอปะนาเระ  จังหวัดปัตตานี  การเดินทางไปยังหัวงานสามารถเดินทางไปยังรถยนต์     จากจังหวัดปัตตานีไปอำเภอปะนาเระ      ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข      42(ปัตตานี – นราธิวาส) ระยะทางประมาณ 43 กิโลเมตร ถึงอำเภอปะนาเระ แล้วเลี้ยวขวาไปทางบ้านบางเก่าระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ตั้งหัวงาน รวมระยะทางจากปัตตานีทั้งสิ้น 50 กิโลเมตร

                                โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ     (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ)    มีสภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม  และบางส่วนจะเป็นพรุน้ำท่วมขัง มีลักษณะที่ดินลาดเทจากแนวเทือกเขา ทางทิศตะวันตก ไปทางทิศตะวันออกสู่ฝั่งทะเลอ่าวไทยมีคลองธรรมชาติหลายสายที่รับน้ำจากพื้นที่ราบลงสู่ทะเล      คลองสายสำคัญมี    2 สาย     คือ   คลองน้ำจืด  และคลองแฆแฆ  ทำหน้าที่เป็นทั้งคลองระบายน้ำในช่วงฤดูฝน และช่วยเก็บน้ำไว้ในลำน้ำช่วงฤดูแล้ง

 

ผลการดำเนินงาน

          สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแก่เกษตรกร โดยการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ จำนวน 295 ไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชผักจำนวน 117.25 ไร่ ส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี จำนวน 81.5 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้ผล จำนวน 77.75 ไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ จำนวน 40.95 ไร่ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามศักยภาพ จำนวน 1,834 ตัว ส่งเสริมการปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ จำนวน 367,494 กิโลกรัม ขณะนี้ได้ดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณฝั่งซ้ายคลองระบายน้ำพรุแฆแฆ จำนวน 30 ไร่ พร้อมทั้งขุดคูรับน้ำหลังแปลงเพื่อเก็บน้ำจืดไว้ใช้ทำการเกษตรแล้ว และจะทยอยปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาลต่อไป

ลักษณะโครงการ

                                โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ประกอบด้วยลักษณะงาน 2 ลักษณะ คือ

1.  งานระบายน้ำ                   

                       ก.  ระบบระบายน้ำและเก็บกักน้ำ  ประกอบด้วย

                              - คลองแฆแฆ ความยาว 3.502  กิโลเมตร  พร้อมอาคารประกอบ

                              - คลองบ้านเคียน ความยาว 2.20 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ

                       ข.  อาคารบังคับน้ำ

                               -อาคารบังคับน้ำปากคลองระบายน้ำและเก็บกักน้ำพรุแฆแฆตะวันออก ขนาด 3 - ð  2.40 x 2.00 เมตร  สามารถระบายน้ำได้ 24 ลุกบาศก์เมตรต่อวินาที

                               -อาคารบังคับน้ำกลางคลอง (ทรบ.บ้านบางหมู) ขนาด 3 - ð 2.75x 2.50 เมตร  จำนวน  1  แห่ง   และขนาด   4   -   ð    2.00 X 2.00   เมตร  จำนวน 1 แห่ง  รวมจำนวน  2  แห่ง  สามารถ

ระบายน้ำได้  58  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

                               -อาคารบังคับน้ำปลายคลองแฆแฆ (ปตร.แฆแฆ) ขนาดกว้าง 6.00 เมตร จำนวน 2 ช่วง สามารถระบายน้ำได้ 58 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

                      ค.  สถานีสูบน้ำและท่อผันน้ำจากแม่น้ำสายบุรี

                                -สถานีสูบน้ำจากแม่น้ำสายบุรีขนาด Æ 0.50 เมตร  จำนวน  4  เครื่อง (มอเตอร์ไฟฟ้า)  สามารถสูบน้ำได้  0.9  ลูกบาศน์เมตรต่อวินาที

                                -ท่อผันน้ำ  เป็นท่อยางชนิดเหนียว (HDPE) ขนาด 1 - Æ 1.20 เมตร ยาว 5.399 กิโลเมตร

 2. งานระบบส่งน้ำ

                               -โรงสูบน้ำย่อยจากคลองระบายน้ำและเก็บกักน้ำพรุแฆแฆตะวันอก  มีจำนวน  27 แห่ง  เครื่องสูบน้ำขนาด Æ 4.00 นิ้ว (เครื่องยนต์ดีเซล)  จำนวน  58 เครื่อง  สามารถสูบน้ำได้ 0.30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีต่อเครื่อง

                              - คูส่งน้ำจากโรงสูบน้ำย่อย ความยาวรวม 34.235 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 5,512  ไร่  แยกเป็นในเขตพื้นที่

                               -อำเภอสายบุรี จำนวน 2,683 ไร่ (ตำบลปะเสยะวอจำนวน 1,155 ไร่และตำบลบางเก่า  จำนวน  1,528  ไร่

                               - อำเภอปะนาเระ  จำนวน  2,829  ไร่  ในเขตตำบลน้ำบ่อ

 

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

                                สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฏร  ในเขตพื้นที่โครงการให้มีศักยภาพในการทำการเพาะปลูกนาข้าว   พืชผัก   สวนผลไม้   การประมง   และเลี้ยงสัตว์ได้  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่  2  อำเภอ  คือ   อำเภอปะนาเระ  และอำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  จำนวน  5,512  ไร่

 

สภาพปัญหา  และอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ

1.ปัญหาทั่วไปในพื้นที่โครงการ

อันเนื่องมาจากเป็นโครงการที่ทำการพัฒนาในพื้นที่ราบลุ่ม     ปัญหาการระบายน้ำจึงมีบทบาทสำคัญ   และจะต้องควบคุมระดับน้ำใช้การให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม    อีกทั้งจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ (ไฟฟ้า)  จากแม่น้ำสายบุรี  ส่งมายังคลองแฆแฆ  ตะวันออกด้วย   จากประเด็นเหล่านี้พอสรุปสภาพปัญหาได้ดังนี้

1.1  ขาดระบบระบายน้ำ  โดยน้ำที่เหลือจากกิจกรรมการใช้น้ำของไม่สามารถระบายลงสู่คลองระบายน้ำ  ประกอบกับช่วงฤดูฝนก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร

1.2  ขาดระบบทดน้ำกลางคลองพรุแฆแฆตะวันออก   เพื่อเก็บกักน้ำและการทำน้ำเป็นช่วง   ซึ่งจะต้องสูบน้ำเป็นปริมาณมากตลอดสายคลอง   เพื่อยกระดับน้ำใช้การให้อยู่ในระดับที่ต้องการ   ซึ่งในบางเวลามีความต้องการใช้น้ำเฉพาช่วงต้นคลองเท่านั้น 

1.3  ขาดระบบส่งน้ำ เพื่อช่วยในการส่งน้ำกระจายให้แก่พื้นที่ การเกษตรของราษฏรที่ขยายเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น

1.4 ตามแผนของโครงการเดิม    ได้วางแผนนำน้ำจากคลองน้ำจืด   เข้ามาเติมในระบบคลองพรุแฆแฆตะวันออก  แต่ในสภาพปัจจุบันคลองน้ำจืดได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของน้ำทะเล  จึงไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้  ทำให้ต้องสูบน้ำจากแม่น้าสายบุรีเพียงแห่งเดียว

1.5  ราษฏรยังเปิดพื้นที่การเกษตร        ตามแนวคลองพรุแฆแฆตะวันออกน้อยเพียงเฉพาะแห่งเท่านั้นทำให้เพื่อเติมลงในคลองพรุแฆแฆตะวันออก  ในแต่ละครั้งจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก   เพราะต้องสูบน้ำเติมในคลองพรุแฆแฆตะวันออกตลอดทั้งสาย

1.6  สภาพปัจจุบันของคลองพรุแฆแฆตะวันออก        มีสภาพตื้นเขินและวัชพืชปกคลุมจำนวนมากเป็นอุปสรรในการระบายน้ำ

1.7  สภาพพื้นที่เดิม  ลักษณะเป็นพื้นที่พรุ  มีน้ำท่วมขัง   ทำให้ดินมีสภาพขาดธาตุอาหาร   และอุ้มน้ำได้น้อย  และมีสภาพเป็นกรด

1.8  เนื่องจากราษฏรมีฐานะยากจน     มีอาชีพทางด้านทำการประมง    และไม่มีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มพูนรายได้  โดยเฉพาะช่วงว่างจากการประกอบอาชีพอาชีพตามข้อจำกัดของฤดูกาล    ทำให้รายได้มีจำกัดไม่เพียงพอ   อีกทั้งเกษตรกรมีพื้นที่ทำกินน้อย โดยเฉลี่ย 5 ไร่       ต่อครัวเรือนและอยู่กระจัดกระจายไม่รวมเป็นผืนเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ

1. พื้นที่การเกษตรเดิมเป็นพื้นที่พรุ   จะต้องทำการปรับปรุงสภาพดินก่อนที่จะทำการเพาะปลูก  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการส่งเสริมการเกษตร

2. ราษฏรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  มักจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ

3.  เกษตรกรมีความคุ้นเคยกับอาชีพดั้งเดิม       คือ      การทำประมงพื้นบ้าน    และมีทักษะด้านการเกษตรน้อย    ในช่วงเริ่มต้นทางราชการจะต้องทำแปลงทดลองตัวอย่างก่อน    เมื่อราษฏรเห็นผลตอบแทนที่ได้รับ    ก็ควรจะส่งเสริมกิจกรรมทางการเกษตรต่อไป    เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร   ในการประกอบอาชีพการเกษตรสำหรับการขยายผล  ซึ่งในปัจจุบันก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการต่าง ๆ

 

 

 

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ

curve