โครงการ พัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สถานที่ตั้ง

จังหวัด นครศรีธรรมราช

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

เรื่องเดิม

ลุ่มน้ำปากพนังตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีแหล่งต้นน้ำคือ  ทิวเขานครศรีธรรมราช  เกือบขนานกับชายฝั่งทะเล  โดยมีลักษณะภูมิประเทศ  3  แบบ คือ  ตอนบนของลุ่มน้ำ  เป็นที่ลาดชันมาก ตอนกลาง เป็น ที่ลุ่มต่ำท้องกระทะ มีสภาพเป็นป่าพรุกว้างใหญ่  ตอนล่าง เป็น ที่ราบลุ่มต่ำสู่ชายฝั่ง  มีแม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายหลัก  ยาวประมาณ  156  กิโลเมตร ไหลผ่านกลางพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอ ของ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์  อำเภอเชียรใหญ่  อำเภอหัวไทร  อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพระพรหมอำเภอเมือง และอำเภอลานสกา 2 อำเภอ ของจังหวัดพัทลุง ได้แก่ อำเภอควนขนุน และอำเภอป่าพะยอม1 อำเภอ ของ จังหวัดสงขลา ได้แก่อำเภอระโนด รวม 76 ตำบล 599 หมู่บ้าน ประชากร 544,918 คน  พื้นที่ประมาณ  3,100 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,937,500 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่นามากกว่า 500,000 ไร่ ในอดีตลุ่มน้ำปากพนังมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทุกนิเวศ ถูกประสานเกี่ยวโยงต่อกันอย่างสมดุลด้วยนิเวศแหล่งน้ำ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคใต้จากสภาพดินที่มีปัญหา จากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่หลากหลายแบบรีดเค้นทำลาย เป็นผลให้ นิเวศแหล่งน้ำขาดสมดุลเกิดปัญหา น้ำเค็มรุก จากการขาดแคลนน้ำจืด น้ำเปรี้ยวจากป่าพรุแพร่กระจาย น้ำเสียจากพื้นที่ทำนากุ้ง แปลงเกษตรกรรม และแหล่งชุมชน และเกิดน้ำท่วมในระดับสูงและยาวนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่รวมน้ำหลาก มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำและมีช่องทางระบายน้ำไม่เพียงพอ

แนวพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ ด้วยพระเนตรพระกรรณ ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องยาวนาน มาโดยลำดับถึง ๑๓ ครั้ง  แนวพระราชดำริโดยสรุปคือ  ทรงให้แก้ปัญหาด้าน ปริมาณ และคุณภาพน้ำ ขจัดความขัดแย้ง โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นให้ก่อสร้างประตูระบายน้ำและระบบระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำ อื่นๆเพิ่มเติมความสมบูรณ์ตามศักยภาพของพื้นที่   ให้รักษาฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาอาชีพส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ควบคู่กันไปอย่างครบวงจร  เพื่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรในพื้นที่ ได้อย่างยั่งยืน บนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล

ผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริของทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่กว่า 5 แสนคนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นลำดับแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2521 ก่อสร้างระบบส่งน้ำไม้เสียบ และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส  เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนเมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2535  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้ก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่พ้นวิกฤติจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ  ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการ

ได้มีการจัดตั้งองค์กรในการดำเนินงานโครงการฯ โดยเน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีม  โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2536 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธาน กปร. ในขณะนั้น ได้มีคำสั่งที่ 1/2536 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯ โดยมี ฯพณฯ นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ  เลขาธิการ กปร. เป็น กรรมการและเลขานุการ และมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการฯเพิ่มเติมในเวลาต่อมา และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ได้มีคำสั่งที่ 12/2546 ปรับปรุงองค์ประกอบและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯ โดยมี นายกรัฐมนตรี   เป็นประธานกรรมการฯ  อธิบดีกรมชลประทาน  เป็นกรรมการและเลขานุการ จนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรับผิดชอบงานในแต่ละด้าน  ซึ่งได้มีการปรับปรุงคำสั่งเรื่อยมาโดยลำดับ เพื่อให้เหมาะสมสอดรับ ตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการฯ  ล่าสุด กปร. ได้มีคำสั่งที่ 3/2553 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ  จนถึงปัจจุบันประกอบด้วย  คณะอนุกรรมการ (ส่วนกลาง)  2  คณะ  ทำหน้าที่   จัดทำแผนการพัฒนาด้านอาชีพ และพัฒนาสิ่งแวดล้อม  คณะอนุกรรมการ (ส่วนภูมิภาค)  1 คณะ  ทำหน้าที่  จัดทำแผนปฏิบัติการ และประสานการดำเนินงาน  และให้มี ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นสำนักงานเลขานุการโครงการและฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการ (ส่วนภูมิภาค)  ภายใต้การสนับสนุนและให้คำปรึกษาจากสำนักงาน กปร.  

ในปี พ.ศ. 2538  เริ่มก่อสร้าง ปตร.อุทกวิภาชประสิทธิ์  เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไปปี พ.ศ. 2542  ก่อสร้าง  คลองระบายน้ำ และปตร. 4 แห่ง เพื่อช่วยระบายน้ำบรรเทาอุทกภัยปี พ.ศ. 2543  ก่อสร้างคันแบ่งเขตน้ำจืด-น้ำเค็ม เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งของราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่มีความต้องการคุณภาพน้ำไม่สอดคล้องกัน ได้มีการก่อสร้างระบบชลประทานน้ำเค็มบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง มี กรมประมง เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนา และก่อสร้างระบบชลประทานน้ำจืด มี กรมชลประทาน เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนา

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำได้มีการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่  มีประตูระบายน้ำขนาดใหญ่ป้องกันน้ำเค็มบริเวณชายฝั่ง 4 แห่ง มีระบบส่งน้ำด้วย Gravity รวม117,400 ไร่  ระบบส่งน้ำที่เกษตรกรต้องสูบน้ำขึ้นสู่แปลงเกษตรกรรมเอง รวม 439,100 ไร่  มีการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาสำหรับแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนในปัจจุบัน สามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสความจุ 80 ลูกบาศก์เมตร ได้เพียงแห่งเดียว นอกนั้นจำเป็นต้องชะลอโครงการจากปัญหาเรื่องที่ดิน

สภาพปัญหา และการดำเนินการแก้ไข

หลังจากได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทานหลักๆแล้วเสร็จ เป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง  ในระยะต่อไป คือปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ ด้านเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรในพื้นที่ให้ดีที่สุด  เพื่อให้บรรลุ  ตามพระราชประสงค์ที่จะให้โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์  เฉกเช่นที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของภาคใต้จากสภาพปัญหา ด้านต่างๆในพื้นที่กล่าวคือ

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีปัญหาจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม   การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ ป่าพรุ และป่าชายเลน  การแพร่ระบาดของวัชพืชน้ำ   น้ำเสียจากพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งชุมชน  การกัดเซาะชายฝั่ง  ตะกอนทรายปิดปากร่องน้ำ  และตะกอนดินเลน ในท้องน้ำแม่น้ำปากพนัง และคลองสาขา

ด้านการประกอบอาชีพ  มีปัญหาจากคุณภาพดินไม่เหมาะสมกับการผลิตทางการเกษตร มีสภาพดินเปรี้ยวจัดบริเวณพื้นที่ป่าพรุ และสภาพดินเค็มบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล   ดินและน้ำเสื่อมโทรมจากการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบรีดเค้นทำลาย   ในพื้นที่บริเวณเดียวกันมีความซับซ้อนในการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงมาก   ฐานทรัพยากรพืชและสัตว์น้ำลดลง  การทำการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม   การเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณท้ายน้ำของประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ  และการฟื้นฟูการใช้ประโยชน์จากบ่อกุ้งร้าง

ด้านทรัพยากรน้ำ  มีปัญหาจาก ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนอย่างเพียงพอ   ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน   มีความยุ่งยากในการบริหารจัดการน้ำจากความซับซ้อนในการใช้ประโยชน์ที่ดินสูง  พื้นที่ส่วนใหญ่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังไม่มีการจัดทำข้อตกลงการใช้ทรัพยากรน้ำ  และการกัดเซาะพังทลายของผิวหน้าดินลงสู่แหล่งน้ำ เนื่องจากพืชคลุมดินถูกทำลาย

ทีผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการพัฒนาอาชีพ อนุกรรมการประสานการดำเนินงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้บูรณาการจัดแผนงานและงบประมาณ สอดคล้องตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ เข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายอย่างต่อเนื่องโดยลำดับ

ผลสัมฤทธิ์

ผลสัมฤทธิ์ จากการบริหารจัดการน้ำ  บังเกิดผลให้  สามารถป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็ม  มีแหล่งน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม รักษาสิ่งแวดล้อม ได้เต็มพื้นที่ปตร.อุทกวิภาชประสิทธิ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ปี 2553 ระดับน้ำทะเลด้านท้ายน้ำ สูงกว่าระดับน้ำจืดด้าน เหนือน้ำ ถึง 2 เมตร แต่ไม่ทำให้คุณภาพน้ำจืดด้านเหนือน้ำเสียหาย ราษฎรสามารถใช้น้ำจากในระบบโครงข่ายคูคลองในพื้นที่ บรรเทาความขาดแคลนน้ำ ยังผลให้รอดพ้นวิกฤติรุนแรงไปได้คุณภาพน้ำ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสามารถบรรเทาอุทกภัย  ลดระดับและระยะเวลาน้ำท่วมในพื้นที่ลงได้เป็นอย่างมากโดยสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้วันละประมาณ 100 ล้าน ลูกบาศก์เมตรระบายน้ำท่วมขังออกจากคลองสายหลักได้ภายใน 20 วัน ลดความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตร และแหล่งชุมชนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลสัมฤทธิ์จากโครงการ เห็นได้ชัดเจนจากการทำนาปรัง เพิ่มจาก 52,000 ไร่ เป็น 200,000 ไร่ ในปัจจุบัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ ในช่วงฤดูแล้ง ไม่น้อยกว่า 950 ล้านบาทต่อฤดูกาล  สำหรับในช่วงฤดูฝน เกษตรกรสามารถทำนาได้เต็มพื้นที่นาข้าว  โดยมีน้ำสนับสนุนอย่างเพียงพอผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2552  ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 27.74%สำหรับในปี พ.ศ. 2553 ราษฎรในพื้นที่ มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น และเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจเจ้าหน้าที่  เป็นอย่างมาก ในความกระตือรือร้นเอาใจใส่ช่วยเหลือราษฎรในทุกๆด้าน

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ

curve