โครงการ ขุดลอกคลองระบายน้ำและคลองชักน้ำในพื้นที่การเกษตร

สถานที่ตั้ง

ตำบล ท่าวัง อำเภอ เมืองนครศรีธรรมราช จังหวัด นครศรีธรรมราช

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

พระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี พลโทเทียนชัย จั่นมุกดา สมุหราชองครักษ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร. และนายจริย์ ตุลยานนท์ อธิบดีกรมชลประทาน ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 สรุปสาระสำคัญได้ว่า ให้ดำเนินการขุดลอกลำน้ำที่ผ่านตัวเมืองให้ลึก พร้อมกับขยายลำน้ำเหล่านั้นให้มีความกว้างมากขึ้น รวมทั้งพิจารณาขุดทางระบายน้ำใหม่เพิ่มอีกตามความเหมาะสม ก็จะช่วยระบายน้ำที่ไหลลงมายังตัวเมืองให้ผ่านลงสู่อ่าวไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ผลการดำเนินงาน

ปี 2534 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยขุดลอกลำน้ำธรรมชาติที่ผ่านตัวเมืองให้ลึกพร้อมขยายลำคลอง ผันน้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองให้ไหลออกไปทางทิศเหนือ และทิศใต้ ตามความเหมาะสม ได้แก่

1. ลอกคลองท่าซัก (คลองท่าวัง) กว้าง 5.50 เมตร ยาว 1.830 เมตร ลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร

2. คลองนครน้อย (คลองหน้าเมือง) กว้าง 4.50 เมตร ยาว 1.313 เมตร ลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร

(กรมชลประทานได้ดำเนินการ ได้ศึกษาและวางแผนการพัฒนารวมทั้งระบบ โดยมีแผนงานก่อสร้างเดือนมีนาคม 2532 ซึ่งได้เข้าดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 1 พฤษภาคม 2532 เป็นงานขุดลอกคลองธรรมชาติ ได้แก่ คลองท่าซัก,คลองหัวตรุด,คลองสวนหลวง,คลองคูพาย,คลองนครน้อย,คลองบ้านหัวมีนา,ตลองเสาธง รวมประมาณ 19,955 กม.
สำหรับระยะที่ 2 เป็นการขุดลอกคลองระบายน้ำรายใหม่ และงานก่อสร้างอาคารบ้านบังคับน้ำ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษา และวางแผนการพัฒนารวมทั้งระบบแล้ว แต่แล้วปัจจุบัน ไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดเนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดิน และสภาพการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนไป)

ประโยชน์

ทำให้ราษฎรริมคลองทั้ง 2 แห่ง คือ คลองท่าซัก และคลองนครน้อย ตลอดจนราษฎรในพื้นที่ ต.ท่าวัง ต.คลัง ต.ในเมือง จำนวน 16,119 ครอบครัว/74,214 คน มีความปลอดภัยจากภาวะของน้ำที่อาจจะเกิดการท่วมในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงฤดูฝน

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ

curve