โครงการ อ่างเก็บน้ำคลองกระทูนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สถานที่ตั้ง

ตำบล กะทูน อำเภอ พิปูน จังหวัด นครศรีธรรมราช

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทูน

ความเป็นมา
ตามที่ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ทำให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก บ้านเรือน ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรและทรัพย์สินของรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้ระดมกำลังเข้าไปดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และวางแผนงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยลักษณะดังกล่าว มิให้เกิดขึ้นเช่นนี้อีกในอนาคต

พระราชดำริ
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยต่อปัญหาและความเสียหาย เนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้อย่างยิ่ง จึงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับวิธีการบรรเทาอุทกภัยและฟื้นฟูพื้นที่ ซึ่งได้รับความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ชลประทานและสำนักเลขานุการ กปร.เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ณ อาคารชัยพัฒนาในสวนจิตรดา ให้กรมชลประทานร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาสภาพพื้นที่ บริเวณบ้านกะทูนเหนือและบ้านกะทูนใต้ และพื้นที่เพาะปลูกจำนวนหลายพันไร่สองฝั่งคลองกะทูน ในเขตอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเมื่อคราวเกิดอุทกภัยน้ำได้ไหลลงมาจากภูเขาอย่างรุนแรงแล้วเกิดกัดเซาะและพัดพา ดิน ทรายกรวด ตลอดจนก้อนหิน กิ่งไม้ ต้นไม้ จำนวนมากมายตามน้ำลงมาจนเกิดการทับถมพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ติดเชิงเขาเป็นบริเวณกว้าง เป็นเหตุให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหายเพราะทราย กรวด และก้อนหินที่ทับถมมีความหนามาก จนยากที่จะฟื้นฟูพื้นที่กลับสู่สภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม หรือตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างปลอดภัยต่อไปได้ จึงสมควรพิจารณาให้ใช้พื้นที่บริเวณซึ่งได้รับความเสียหายเหล่านั้นมาสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สำหรับบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำตาปีตอนล่าง ในเขตอำเภอพิปูน และอำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุทกภัยรุนแรงเนื่องมาจาก
 
1. ฝนตกหนัก ตามปกติจะมีฝนตกหนักในเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน และปรากฏมีน้ำท่วมทุกปีในช่วงดังกล่าว แต่ในปี 2531 นับว่าฝนตกมีปริมาณมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาจึงมีน้ำไหลป่าลงมาท่วมหมู่บ้านและพื้นที่เพาะปลูกมากเป็นประวัติการณ์

2. พื้นที่ลาดเขามีความชันมาก ประกอบมีการตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติอย่างกว้างขวางในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ จึงมีการพังทลายของภูเขา เนื่องจากดินไม่สามารถต้านแรงกัดเซาะของน้ำฝนที่ตกปริมาณมากได้ ตะกอนทราย ทราย กรวด ก้อนหิน และไม้ต่าง ๆ ได้ไหลเทรวมมากับน้ำและตกตะกอนทับถม ณ พื้นที่เชิงเขาตอนล่างเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ราษฎรหมู่บ้านดังกล่าวเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

3. คลองกะทูนช่วงที่ไหลผ่านหมู่บ้านมีแนวโค้งและคดเคี้ยว ประกอบกับถนนที่สร้างผ่านหมู่บ้านนั้นได้สร้างตั้งฉากขวางกับแนวน้ำไหลและมีสะพานข้ามคลอง ซึ่งไม่สามารถระบายน้ำหลากจำนวนมากให้ไหลผ่านไปได้ทัน น้ำจึงล้นตลิ่งตัดบริเวณค้างตรงไปหาที่ต่ำ ขณะเดียวกันตามแนวลำน้ำเดิม ตะกอนทรายและต้นไม้นานาชนิดได้ปะทะอุดทางน้ำที่บริเวณสะพาน ถนน และตามโค้งลำน้ำ หลังจากนั้นน้ำด้านเหนือถนน จึงเอ่อสูงไหลบ่าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เพาะปลูกกระจายไปเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว

วัตถุประสงค์ของโครงการ
   การก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทูนนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ของลุ่มน้ำตาปีตอนล่าง และเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทานประมาณ 12,500 ไร่ นอกจากนั้นพื้นที่น้ำในอ่างเหนือเขื่อนยังใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดได้อีกด้วย

ลักษณะโครงการ
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทูนเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อประโยชน์การบรรเทาอุทกภัยพื้นที่สองฝั่งคลองกะทูนและแม่น้ำตาปีทางตอนล่าง ซึ่งเมื่อคราวเกิดอุทกภัยคราวที่ผ่านมา บ้านเรือนราษฎรและพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากสองฝั่งแม่น้ำตาปีทางตอนล่างได้รับความเสียหายเพราะน้ำท่วมเป็นหลัก และนอกจากนั้นน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีสามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูก สำหรับพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำตาปีดังกล่าวอีกด้วย มีรายละเอียดโครงการโดยสรุปดังนี้

ที่ตั้งโครงการ
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทูน ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านกะทูน ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำเลที่สร้างเขื่อนดินในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ระวาง 4926 III พิกัด 47 PNK 580-465

ลักษณะทั่วไป
งานก่อสร้างเขื่อนเก็บน้ำคลองกะทูนพร้อมอาคารประกอบ ประกอบด้วย

1. เขื่อนดิน (Main Dam)
เขื่อนดินประเภท Zone Type มีรายละเอียดดังนี้
- เขื่อนดินยาว 1,808 เมตร
- เขื่อนดินสูง 24 เมตร
- ระดับสันเขื่อน +63.000 ม.รทก.
- ระดับน้ำเก็บกักปกติ +59.000 ม.รทก.
- ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด +60.500 ม.รทก.
- ระดับน้ำต่ำสุด +51.000 ม.รทก.
- ระดับท้องคลอง (โดยประมาณ) +44.000 ม.รทก.
- ความจุของอ่างฯ ที่ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด 70.5 ล้าน ลบ.ม.
- ความจุของอ่างฯ ที่ระดับน้ำต่ำสุด 14.3 ล้าน ลบ.ม.
- พื้นที่อ่างฯที่ระดับน้ำเก็บกักสูงสุด 5,000 ไร่ 
- พื้นที่รับน้ำฝน 114 ตร.กม.

2. เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (Saddle Dam)
เขื่อนปิดช่องเขาต่ำมีระดับดังนี้
- เขื่อนดินยาว 125 เมตร
- เขื่อนดินสูง 9 เมตร
- ระดับสันเขื่อน +63.000 ม.รทก.

3. อาคารท่อส่งน้ำ (River Outlet)
อาคารท่อส่งน้ำ เป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก (Concrete Con
duit With Steel Lineer) ด้านท้ายท่อมี Butterfly
Valve จำนวน 2 บาน พร้อมอาคารควบคุม ต่อจากนั้นจะเป็น Transition Chute มีรายละเอียดดังนี้
- เส้นผ่านศูนย์กลางท่อระบายน้ำ 3 เมตร
- ความยาวท่อระบายน้ำ 270 เมตร
- ระดับธรณีท่อ (Invert Elevation) +51.000 ม.รทก.

4. อาคารระบายน้ำล้น (Spillway)
อาคารระบายน้ำล้น เป็นแบบ Side Channel Spillway
รับน้ำทางเดียว ลักษณะการรับน้ำเป็น Ogee Weir Crest
มีรายละเอียดดังนี้

- ระดับสัน Spillway +59.000 ม.รทก.
- ความยาวสัน Spillway 60 เมตร
- อัตราการไหลสูงสุดผ่าน 20 ลบ.ม./วินาที

5. อาคารท่อส่งน้ำเข้าคลอง (Cannal Outlet)
อาคารท่อส่งน้ำ เป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก (Concrete Conduit With Steel Liner) ด้านท้ายท่อมี Butterfly Valve จำนวน 2 บาน พร้อมอาคารควบคุมต่อจากนั้นจะเป็น Transition Chute
มีระเอียดดังนี้

-  เส้นผ่านศูนย์กลางท่อระบายน้ำ                                     0.80  เมตร
-  ความยาวท่อระบายน้ำ                                                  130  เมตร
-  ระดับธรณีท่อ (Invert Elevation)                    +51.000 ม.รทก.
-  อัตราการไหลสูงสุดผ่านท่อระบายน้ำ                             2 ลบ.ม./วินาที
6. งานก่อสร้างทางหลวง
   -  งานก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4224 สายอำเภอพิปูน-บ้านห้วยปริก ในท้องที่ตำบลกะทูน  อำเภอพิปูน  จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่าง กม.26+100.30-กม.39+069.58 ความยาว 12.969 กม.
ประโยชน์ของโครงการ
1. ช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่เพาะปลูกและบ้านเรือนราษฎรสองฝั่งแม่น้ำตาปีด้านท้ายอ่างน้ำ ร่วมกับอ่างเก็บน้ำคลองดินแดง ในเขตหลายอำเภอได้อย่างสมบูรณ์
2. น้ำในอ่างเก็บน้ำสามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำตาปีได้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 12,500 ไร่
3. เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่
4. บริเวณอ่างเก็บน้ำจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนอีกทางหนึ่ง              
ระยะเวลาในการดำเนินงาน
            เดิมได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการโครงการไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2532-2538 แต่เนื่องจากการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4224 ซึ่งจะต้องก่อสร้างแนวทางหลวงเดิมที่จะถูกน้ำท่วมเนื่องจากอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำระยะทาง 12.969 กม. จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการจัดหาที่ดิน และเข้าดำเนินการก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2539 จึงขอขยายระยะเวลาดำเนินการของโครงการเป็นปีงบประมาณ 2532-2540 รวม 9 ปี

งานปรับปรุงระบบส่งน้ำที่ดำเนินการแล้วและแผนงานปีต่อไป
ปีงบประมาณ  2549  (แล้วเสร็จ)
-   ก่อสร้างโรงสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำขนาดกำลังสูบ 1 ม.3/วินาที
 จำนวน 3 เครื่อง

ปีงบประมาณ 2550 (ดำเนินการต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2551)
    -  ก่อสร้างระบบส่งน้ำด้วยท่อ สาย 1 ซ้าย-สายใหญ่ฝั่งซ้าย
       ความยาว  3.400 กม.
ปีงบประมาณ 2552-2555 ก่อสร้างต่อเนื่อง จำนวน 5 สาย
ความยาว 8.312 กม.

การจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ
      โดยมีการเก็บกักน้ำพร่องน้ำและระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัย เพื่อการเกษตร อุปโภคและการระบายน้ำเลี้ยงลำน้ำธรรมชาติในช่วงฤดูแล้ง แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
      ระยะที่  1  มกราคม-พฤษภาคม เก็บกักที่ระดับ       +58.000 ม.รทก
      ระยะที่ 2  มิถุนายน-กันยายน เก็บกักที่ระดับ          +55.000 ม.รทก.
      ระยะที่ 3  ตุลาคม-ธันวาคม  เก็บกักที่ระดับ            +54.0 00 ม.รทก.

 

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ

curve