โครงการ พัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ(ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่)

สถานที่ตั้ง

ตำบล ท่าตะเภา อำเภอ เมืองชุมพร จังหวัด ชุมพร

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

เรื่องเดิม

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยมีพระราชดำริให้หนองใหญ่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ และได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน  ดังนี้

  1. ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง
  2. ควรจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตัก ทิ้งลงทะเลเป็นการล่วงหน้า จะทำให้หนองใหญ่สามารถรองรับน้ำที่ไหลหลากลงมาใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่แล้วทยอยระบายทิ้งทะเล มีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วจึงค่อย ๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร
  3. ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร และอุปโภค – บริโภค และในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายน้ำทิ้งทะเลผ่านทางคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตัก
  4. ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1,2 และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาที่ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรลงได้ในระดับหนึ่ง
  5. ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก (ด้านท้ายคลองท่าแซะบรรจบกับคลองรับร่อ) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับเมืองชุมพร

ผลการดำเนินงาน 

ปี 2546 กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างท่อระบายน้ำ (ทรบ.) ขนาด 2´2´3 เมตร จำนวน 3 ช่อง ก่อสร้างอาคารระบายน้ำในคลองละมุ และอาคารป้องกันการกัดเซาะจำนวน 4 แห่ง ในพื้นที่ตำบลบางลึก อำเภอเมือง ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 

ประโยชน์ที่ได้รับ

สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ของราษฎรจำนวน 150 ครัวเรือน ได้เป็นอย่างดี ไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อพื้นที่บ้านเรือน และพื้นที่การเกษตรของราษฎร จำนวน 500 ไร่ นอกจากนี้ ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ

curve