โครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สถานที่ตั้ง

จังหวัด กระบี่

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่

เรื่องเดิม

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ ดังนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 พระราชทานพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณสำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อและจัดทำธนาคารข้อมูล เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2541 พระราชทานพระราชดำริกับ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาและ ดร. พิศิษฐ์ วรอุไร ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ให้ดำเนินการศึกษาทรัพยากรบนเกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง โดยให้ดำเนินการตั้งแต่ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 พระราชทานพระราชดำริกับนายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ให้ดำเนินการห้องปฏิบัติการกลางที่คลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยให้ค่อยๆ ทำและหาหน่วยงานเอกชนมาช่วย และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2544 พระราชทานพระราชวินิจฉัยว่า หากมีความจำเป็นก็ให้ทำเฉพาะหน่วยที่จำเป็นที่ต้องย้ายไปก่อน เมื่อ พ.ศ. 2544 พระราชทานพระราชดำริกับ ดร. จันทรวิภา ธนโสภณ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในระยะต่อไปโดยให้รักษางานเดิม ยังไม่ควรขยายงานเพิ่ม และงานใดไม่ได้ผล สมควรเลิกหรือชะลอเพื่อให้การดำเนินงานในระยะต่อไปมีความชัดเจนและเหมาะสม เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2544 พระราชทานพระราชดำริกับนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เลขาธิการ กปร. ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปความว่าให้สำนักงาน กปร. และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทเพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยไม่ควรขยายพื้นที่ดำเนินการออกไปมาก

ผลการดำเนินงาน

1. อนุรักษ์พืชพรรณและความหลากหลายทางชีวภาพทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และจัดสร้างธนาคารพืชพรรณและธนาคารข้อมูล เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลความรู้ในการอนุรักษ์ และพัฒนาพันธุ์พืช รวมทั้งสำรวจขึ้นทะเบียนรหัสต้นพืชที่มีอยู่เดิมและที่หายากใกล้สูญพันธุ์ไปปลูกรักษาพันธุกรรมไว้
2. ศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเก็บรักษาพันธุกรรมพืชในรูปแบบต่างๆ การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้วิทยาการไปสู่การพัฒนาและใช้ประโยชน์
3. ศึกษาประเมินพันธุกรรมพืชที่เก็บรวบรวมได้ด้านสัณฐานวิทยา สรีรวิทยา ชีวเคมี พันธุศาสตร์ การพัฒนาพันธุ์และชีวโมเลกุลเพื่อให้ได้ข้อมูลพันธุกรรมพืชอันจะนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นสมบัติของประเทศสืบไป
4. เผยแพร่และสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของพันธุกรรมพืช รู้จักการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศวิทยาเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และพัฒนาทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. ทำให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในรูปการเก็บรักษาเมล็ดและเนื้อเยื่อ ที่ทำในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว เพื่อเป็นการรักษาพันธุกรรมพืชรูปแบบต่างๆ
2. เป็นธนาคารพืชพรรณและเป็นแหล่งฐานข้อมูลในการพัฒนาพันธุ-กรรมพืช รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันได้
3. เป็นหน่วยปฏิบัติการพื้นฐานในการศึกษาความหลากหลายทางชีว-ภาพและวิเคราะห์จำแนก ศึกษาองค์ประกอบ พฤติกรรม ชีวโมเลกุล รวมทั้งผลการออกฤทธิ์เบื้องต้นของสารสกัดหยาบในชีวภาพต่างๆ
4. เป็นหน่วยประสานข้อมูลผลการวิจัยที่ได้ ให้แก่สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ที่สนใจนำไปศึกษารายละเอียดและประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

 

 
 

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

curve