โครงการ พัฒนาพื้นที่อำเภอปรางค์กู่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สถานที่ตั้ง

2 ตำบล ตำบล กู่ อำเภอ ปรางค์กู่ จังหวัด ศรีสะเกษ

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอปรางค์กู่

ตำบลปราค์กู่ และ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

เรื่องเดิม

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2542 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณโรงเรียนเกาะกระโพธิ์ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ และมีพระราชดำริสรุปความว่า

1. ให้พิจารณาจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรให้แก่ราษฎร ตลอดจนตรวจสอบและแก้ไขปัญหาน้ำขุ่นของราษฎรในหมู่บ้านเกาะกระโพธิ์ ตำบลกู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ตามที่ นายคมสัน เจนพิทักษ์คุณ กำนันตำบลกู่ กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ

2. ให้พิจารณาจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรช่วยเหลือ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ตามที่ นายพิชัย  ธรสาธิตกุล กำนันตำบลตูม กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ

ผลการดำเนินงาน ปี 2543

จังหวัดศรีสะเกษ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. กรมทหารราบเฉพาะกิจที่ 16  

- ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำขุ่น โดยการคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่บ้านเกาะกระโพธิ์ที่มีสระน้ำประจำไร่นา จำนวน 4 ราย ซึ่งประสบปัญหาน้ำขุ่นแดง มีสารแขวนลอยไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และการเลี้ยงสัตว์ได้ โดยการทดลองใช้สารจุลินทรีย์อีเอ็มผสมกากน้ำตาลและน้ำสะอาด รวมปริมาตรน้ำ 1 ลิตร เทใส่น้ำขุ่นแดงมีสารแขวนลอยปริมาตร 30 ลิตร ปัจจุบันบ่อน้ำทั้ง 4 บ่อ สารแขวนลอยได้ตกตะกอนน้ำใสขึ้นกว่าเดิม สามารถเลี้ยงปลาและนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้แล้ว

- ก่อสร้างโรงเรือนสุกรพันธุ์แม่บนบ่อปลา ขนาด 3 X 3 เมตร  4 โรง ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ ขนาด 6 X 8 เมตร  4 โรง ฝึกอบรมเพิ่มทักษะการทอผ้า 30 คน แจกจ่ายปัจจัยการผลิต ได้แก่ ไม้ผล สัตว์ปีก สุกร ปรับพื้นที่และแปลงนา พร้อมจัดทำระบบน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรกร 4 ราย

2. กรมชลประทาน ดำเนินการทดลองในสระของเกษตรกรอีก 1 ราย โดยการดาดดินเหนียวก้นสระและรอบขอบสระบ่อทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันตะกอนใต้ดินขึ้นมาละลายน้ำ

3. กองพันทหารช่างที่ 6 กองกำลังสุรนารี  ดำเนินการขุดคลองเชื่อมห้วยหวะกับห้วยฆ้อง และขุดสระน้ำเพื่อการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ขนาด 40 X 40 X 3.50 เมตร จำนวน 30 ราย ในพื้นที่ตำบลตูม ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำแต่น้ำไม่ขุ่น

ประโยชน์ของโครงการ

ทำให้ราษฎรได้รับประโยชน์โดยตรง จำนวน 7 หมู่บ้าน 344 ครัวเรือน 2 ตำบล ได้แก่ บ้านเกาะ บ้านกระโพธิ์ ตำบลกู่ และบ้านตะเภา บ้านขี้นาค  บ้านรงระ บ้านตรอก บ้านตูมใต้ ตำบลตูม

สระน้ำประจำไร่นาของเกษตรกร ซึ่งเดิมมีปัญหาน้ำขุ่นแดง มีสารแขวนลอยได้ทดลองโดยใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม

ผสมกากน้ำตาลและน้ำสะอาด 

ผลการดำเนินงาน ปี 2544

1. กรมชลประทาน ดำเนินการขุดลอกห้วยพราน ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ในเขตตำบลกู่ พร้อมอาคารประกอบเสร็จเรียบร้อย สามารถกักเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ประโยชน์ได้แล้ว (ใช้งบปกติ)

2. กองทัพภาคที่ 2 ดำเนินการขุดสระเพื่อการเกษตรโครงการขยายผลทฤษฎีใหม่ ขนาดประมาณ 1 ไร่ จำนวน 30 สระ

3. กรมพัฒนาที่ดิน อบรมผู้นำเกษตรกร 50 ราย สาธิตทำปุ๋ยหมัก 2 ตัน ส่งเสริมการทำปุ๋ยพืชสด 250 ไร่ สาธิตการใช้ปุ๋ยพืชสด 10 ไร่ ปรับสภาพความเป็นกรด เป็นด่างของดิน 250 ไร่

4. กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการก่อสร้างถังเก็บน้ำฝนคอนกรีตเสริมเหล็กให้แก่โรงเรียน จำนวน 1 แห่ง เพื่อเก็บสำรองไว้ให้เด็กนักเรียน และครูได้มีน้ำใช้ 

ประโยชน์ของโครงการ

1. ราษฎรมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอตลอดปี

2. ราษฎรได้รับการฝึกอบรมและมีอาชีพเสริม สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จำนวน 14 หมู่บ้าน 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลกู่ และตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ขยายผลโครงการเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่

สภาพห้วยพรานที่ขุดลอก

แปลงนาของเกษตรกรมีการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน

โดยกรมพัฒนาที่ดินก่อนทำนา 

แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ในบริเวณพื้นที่รับประโยชน์ของโครงการฯ 

ผลการดำเนินงาน ปี 2545

กองทัพภาคที่ 2 ได้ดำเนินการดังนี้

1. ขุดสระน้ำภายในโรงเรียนขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร สูง 1.3 เมตร และขุดบ่ออนุบาลปลาภายในโรงเรียน ขนาด กว้าง 15 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 1 เมตร จำนวน 18 บ่อ 

2. ขุดลอกห้วยหวะ บ้านขี้นาคน้อย ตำบลตูม ความยาวประมาณ 2,200 เมตร 

3. ขุดลอกคลองส่งน้ำบ้านขี้นาคน้อย ความยาวประมาณ 1,200 เมตร  

4. ขุดสระน้ำเพื่อการเกษตรขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 3.5 เมตร จำนวน 32 สระ 

ประโยชน์ของโครงการ

ทำให้ราษฎร ตำบลตูม ตำบลโพธิ์ศรี ตำบลหนองเชียงทุน และตำบลสวาย จำนวน 14 หมู่บ้าน จำนวน 1,640 ครัวเรือน 5,080 คน ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ ทำให้มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี รวมทั้งพื้นที่การเกษตร จำนวนประมาณ 3,200 ไร่

การปรับปรุงสระน้ำของโรงเรียนบ้านตูม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมประมง

 

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ

curve