โครงการ ศูนย์รวมน้ำนมภูพานฯ สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนคร

สถานที่ตั้ง

ตำบล พังขว้าง อำเภอ เมืองสกลนคร จังหวัด สกลนคร

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการศูนย์รวมน้ำนมภูพาน

จังหวัดสกลนคร

เรื่องเดิม

            เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรดำเนินงานของสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนคร และได้พระราชทานพระราชดำริสรุปได้ว่า “ให้สถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนครร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร และจังหวัดสกลนคร พิจารณาจัดทำ “โครงการนมพาสเจอร์ไรส์” ในลักษณะเป็น Pilot Project และให้เริ่มดำเนินการโดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กไปก่อน เพื่อใช้เป็นการทดสอบและวิจัยการแปรสภาพนมสด ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพน้ำนม ซึ่งหากการทดสอบดังกล่าวได้ผลดีและได้รับความสนใจจากผู้บริโภค รวมทั้งราษฏรในพื้นที่ให้การสนับสนุนมากขึ้น ก็อาจจะขยายและปรับปรุงการดำเนินงานในรูปแบบระบบสหกรณ์ในโอกาสต่อไป และถ้าหากมีปริมาณนมสดเหลือมากพอก็อาจแปรสภาพเป็นนมผงได้

            หลังจากที่ได้รับพระราชดำริ แล้ว กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการศูนย์รวมน้ำนมภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นที่บริเวณสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในระยะแรก จำนวน 250,000 บาท ต่อมาในปี 2530 บริษัท เอสโซ่สแตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2,556,613 บาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์ฆ่าเชื้ออุปกรณ์บรรจุน้ำนมขนาดประมาณ 2,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่อีก 1 หลัง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก

             เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์รวมน้ำนมภูพาน ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปได้ดังนี้ “ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์รวมน้ำนมภูพานฯ นี้ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกรและนำน้ำนมดิบมาทำเป็นนมสดพาสเจอร์ไรซ์ โดยดำเนินการเป็นขนาดเล็กเพื่อเป็นการสาธิตและเป็นตัวอย่างให้แก่ราษฎรก่อน”

ผลการดำเนินงาน ปี 2533

               นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งโครงการศูนย์รวมน้ำนมภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เมื่อปี 2529 ก็ได้มีการจัดตั้งสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมขึ้นในจังหวัดสกลนคร ดำเนินงานต่อเนื่องมาจนกระทั่งกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม ได้ขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2532 โดยมีชื่อว่า “สหกรณ์โคนมสกลนครจำกัด” เริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 มีสมาชิกจัดตั้ง จำนวน 115 ราย และมีสมาชิกเพิ่มเติม จนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 171 ราย แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม มีจำนวนโคนมทั้งหมด 473 ตัว และมีโคนมที่สามารถรีดนมได้จำนวน 169 ตัว

ประโยชน์ของโครงการ

                 1) ดำเนินการทดสอบและวิจัยการแปรสภาพนมสด ตลอดจนการตรวจสอบคุณภาพน้ำนม

                 2) ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อย มีรายไดเพิ่มมากขึ้น

                 3) ส่งเสริมให้ราษฎรบริโภคน้ำนมที่สะอาด บริสุทธิ์ และได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มสุขภาพพลานามัยให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์

                 4) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของราษฎรในการดำเนินงานตามโครงการฯ ให้ราษฎรมีความรู้ ความเข้าใจต่อการดำเนินงาน ในลักษณะการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาไปสู่การดำเนินงานตามระบบสหกรณ์ในโอกาสต่อไป

ผลการดำเนินงาน ปี 2534

              กิจกรรมขยายการผลิตโรงนมเพื่อรองรับน้ำนมดิบให้ได้วันละ 2 ตัน กิจกรรมตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำนมเพื่อรองรับน้ำนมดิบวันละ 2 ตัน

ประโยชน์ของโครงการ

              1) ช่วยให้เกษตรกรของอำเภอเมือง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร จำนวนประมาณ 200 คน ที่เป็นสมาชิกการเลี้ยงโคนมของศูนย์รวมน้ำนมภูพานได้มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น

              2) ส่งเสริมให้ประชาชนในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียงได้บริโภคน้ำนมสด สะอาดบริสุทธิ์ และได้มาตรฐานเป็นประจำทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 2 ตัน

   

ผลการดำเนินงาน ปี 2535

            1. กิจกรรมขยายการผลิตโรงนม เพื่อรองรับน้ำนมดิบให้ได้วันละ 2 ตัน/วัน โดยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 1,000 กิโลวัตต์ แบบอัตโนมัติ

            2. กิจกรรมตรวจสอบและควบคุม คุณภาพน้ำนมเป็นค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทน และค่าวัสดุวิทยาศาสตร์

ประโยชน์ของโครงการ

             ช่วยให้เกษตรกรในเขต 7 หมู่บ้านของอำเภอเมือง อำเภอพรรณนานิคม จำนวน 200 ราย ที่เป็นสมาชิกการเลี้ยงโคนมของศูนย์รวมน้ำนมภูพานได้มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้ประชากรในเขตจังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียงได้บริโภคน้ำนมสด สะอาด บริสุทธิ์และได้มาตรฐานเป็นประจำทุกวัน

ผลการดำเนินงาน ปี 2536

ผลการดำเนินงานในปี 2536 มีสมาชิก

1. สมาชิกผู้เลี้ยงโคนม 9 กลุ่ม จำนวน 171 ราย มีโคนมทั้งหมด 912 ตัว รีดน้ำได้ 256 ตัว โคฟักรีดนม 195 ตัว และโคขนาดต่างๆ อีก 461 ตัว

2. การรับซื้อน้ำนมดิบ  รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร เฉลี่ยวันละ 2,235 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 7 บาท ทำให้สมาชิกสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปใช้สอยในชีวิตประจำวันได้

3. การผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ ศูนย์รวมน้ำนมภูพานฯ สามารถได้วันละประมาณ 10,000 ถุง และสามารถจำหน่ายได้หมด รวมทั้งสามารถนำนมไปให้เด็กได้รับประทานอย่างต่อเนื่อง

4. รายรับ-รายจ่าย จากบัญชีแสดงยอดเงินหมุนเวียนประจำเดือนตุลาคม 2535 จนถึงเดือนกันยายน 2536 ศูนย์ฯ มียอดเงินสะสมแล้วประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฐานะการเงินในปัจจุบันค่อนข้างจะมั่งคง

ประโยชน์ของโครงการ

บำรุงพันธุ์สัตว์และเป็นแหล่งส่งเสริมอาชีพในการเลี้ยงสัตว์ให้แก่ราษฎร

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ

curve