โครงการ ฟื้นฟูสภาพธรรมชาติห้วยน้ำหยาด

สถานที่ตั้ง

ตำบล ค้อเขียว อำเภอ วาริชภูมิ จังหวัด สกลนคร

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติห้วยน้ำหยาด
เพื่อสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์และจัดการน้ำ
อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

เรื่องเดิม

            เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรและสมาชิกสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ และทอดพระเนตรสภาพลำห้วยน้ำหยาด ซึ่งทางกรมชลประทานได้วางแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือราษฎรบ้านโคกตาดทองและบ้านป่าโจด ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมกิจการของศูนย์รวมนมสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์สกลนคร ในโอกาสนี้ มีพระราชดำริให้พิจารณาหาวิธีการจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาด และทำให้มีรูปแบบที่เหมาะสม

           เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2543 มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้พิจารณาจัดการรักษาสภาพป่าต้นน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาด เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินจากภูเขาลงอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะทำให้อ่างเก็บน้ำตื้นเขิน และระบบกระจายน้ำบริเวณท้ายอ่างได้รับความเสียหาย รวมทั้งทรงเห็นประโยชน์ของการขุดบ่อน้ำขนาดเล็กของ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่จะให้แก่ราษฎรซึ่งอาศัยอยู่นอกเขตระบบส่งน้ำให้สามารถประกอบการเกษตรได้มากขึ้น ตลอดจนพัฒนาฟื้นฟูลำห้วยธรรมชาติเดิม เพื่อให้ราษฎรมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง

ผลการดำเนินงาน ปี 2543

- กรมป่าไม้ ก่อสร้างฝายกั้นน้ำขนาดเล็ก 44 แห่ง ปลูกต้นไม้ข้างร่องน้ำป้องกันการบุกรุกป่า ป้องกันไฟป่า โดยทำแนวกันไฟเปียกระยะทาง 5 กิโลเมตร และจัดตั้งกลุ่มราษฎรอาสาสมัคร 500 คน

- กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดอบรมกลุ่มผู้ใช้น้ำ 130 คน

- สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ติดตั้งระบบส่งน้ำแบบประหยัดในพื้นที่เกษตรกร 64 ราย และระบบให้น้ำแบบประหยัดสำหรับแปลงศึกษาและฝึกอบรมในพื้นที่ของสถานีอาหารสัตว์สกลนคร

- กรมปศุสัตว์ ดำเนินการส่งเสริมการทำแปลงพืชอาหารสัตว์แบบประณีต พื้นที่ 50 ไร่ แปลงศึกษา และฝึกอบรมการผลิตอาหารสัตว์ และส่งเสริมการผลิตอาหารแห้งจากวัตถุดิบในท้องถิ่น

- กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชสวน และทำการเกษตรแบบผสมผสาน จำนวน 16 ราย

- กรมประมง ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาในบ่อ โดยสนับสนุนพันธุ์ปลา และจัดฝึกอบรมเกษตรกร จำนวน 54 ราย

- กรมชลประทาน ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ ขนาด 4,768 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 10 แห่ง

ประโยชน์ของโครงการ

1. สามารถส่งน้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์ และการเกษตรให้แก่พื้นที่ของเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ และสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมของสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ

2. จัดหาน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคให้แก่ราษฎรใน 2 หมู่บ้าน คือ บ้านโคกตาดทอง จำนวน 100 ครัวเรือน บ้านป่าโจด จำนวน 30 ครัวเรือน ตลอดจนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของหมู่บ้าน

การติดตั้งระบบสปริงเกอร์ในแปลงพืชอาหารสัตว์แบบประปาเกษตร                     จัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) 

                                                                                                                                       บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาด

ผลการดำเนินงาน ปี 2555

ก่อสร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสาน 100 แห่ง จัดทำแนวกันไฟและกำจัดวัชพืชเชื้อไฟ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จัดทำป่าเปียกโดยปลูกกล้วยป่าเป็นแนวพื้นที่ 10 ไร่ ปลูกป่าเพื่อปรับปรุงระบบนิเวศต้นน้ำ 100 ไร่  ปลูกป่าหวายเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยปลูกในที่เสื่อมโทรมและล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลาย 100 ไร่

ประโยชน์ของโครงการ

ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูและมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น และทำให้ราษฎร 178 ครัวเรือน สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำซับ
ที่ได้จากผืนป่าโดยต่อน้ำเป็นระบบท่อส่งน้ำไปใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน

ผลการดำเนินงาน ปี 2556

ดำเนินการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน 50 แห่ง จัดทำแนวกันไฟ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จัดทำป่าเปียก 10 ไร่  ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง 50 ไร่ปลูกหวายเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ 50 ไร่ และเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายราษฎร 50,000 กล้าเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ

ประโยชน์ของโครงการ

ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารได้รับการบำรุงรักษา ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และลดการกัดเซาะพังทลายของดิน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหยาดมีน้ำเก็บกักได้ตามศักยภาพ

 

คำอธิบาย: C:\Users\supaporn.j\AppData\Local\Microsoft\Windows\Temporary Internet Files\Content.Word\น้ำหยาด.JPG

 

 

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

curve