โครงการ บำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9

สถานที่ตั้ง

ตำบล วังทองหลาง อำเภอ เขตบางกะปิ จังหวัด กรุงเทพมหานคร

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ความเป็นมา 

          “บึงพระราม 9” จัดได้ว่าเป็นบึงขนาดใหญ่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ และมีความยาวถึง 1,300 เมตร มีปัญหาภาวะมลพิษน้ำเน่าเสียอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากคลองลาดพร้าวเป็นคลองระบายน้ำหลักคลองหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งรับน้ำเสียมาจากแหล่งชุมชนที่อยู่สองฝั่งคลอง ดังนั้นในปี 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริ ว่า    “การใช้วิธีทางธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในการบำบัดน้ำเสียให้ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้เครื่องเติมอากาศลงไปในน้ำ โดยทำเป็นระบบสระเติมอากาศ (Aerated Lagoon)

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยวิธีการทางธรรมชาติผสมผสานกับการใช้เครื่องกลเติมอากาศโดยให้หน่วยงานกรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมที่ดิน รัฐบาลญี่ปุ่นและกรุงเทพมหานครร่วมมือกันดำเนินโครงการฯ จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2532

           นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ให้ทดลองบำบัดน้ำเสียโดยวิธีการเติมอากาศในบึงพระราม 9 โดยในเบื้องต้นได้มีหลายหน่วยงานร่วมกันดำเนินงานประกอบด้วยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมชลประทานและกรุงเทพมหานคร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดหาที่ดินประมาณ 53 ไร่ อยู่ติดกับคลองลาดพร้าวฝั่งตะวันตกใกล้กับบริเวณที่คลองลาดพร้าวบรรจบกับคลองแสนแสบเป็นที่ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 โดยกรมชลประทาน และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันทำการสำรวจ และทำการออกแบบ และรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือด้านการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 จนแล้วเสร็จและส่งมอบให้สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2532 เพื่อดูแลและเดินระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป
       
           โรงบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 เป็นโรงบำบัดน้ำเสียแบบสระเติมอากาศ (Aerated Lagoon)โดยใช้ เครื่องเติมอากาศ แบบทุ่นลอย ขนาด 11 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง น้ำเสียจากคลองลาดพร้าว ถูกสูบเข้าบ่อเติมอากาศ (Aeration Pond ) และได้รับเพิ่มออกชิเจน โดยเครื่องเติมอากาศซึ่งทำงานคราวละเครื่อง (จากที่มีอยู่ 3 เครื่อง) ตลอด 24 ชั่วโมง สลับกันไปเป็นเวลาประมาณ 16 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อนในน้ำเสียด้วยแบคทีเรีย จากนั้นจึงไหลถ่ายเทไปยังบ่อตกตะกอนซึ่งเป็นบ่อกึ่งไร้สารอากาศ ( Facultative Pond)และเก็บกักในบ่อนี้นานประมาณ 2 วันแล้วไหลเข้าสู่บ่อปรับสภาพ (Maturation Pond) ก่อนปล่อยลงสู่คลองลาดพร้าวในอัตราเฉลี่ยของการบำบัดได้ 28,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

การดำเนินงาน

            ในปี พ.ศ. 2535 สำนักการระบายน้ำได้จัดทำโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียของโรงบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 เพื่อให้สามารถรับสภาพความเน่าเสียของน้ำในคลองลาดพร้าวได้มากขึ้นเป็น 10 เท่า คือสามารถบำบัดได้ถึง 255,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดสูบ 60 ลูกบาศก์เมตร/นาที เพิ่ม 3 เครื่อง และติดตั้งเครื่องเติมอากาศเพิ่มอีก 4 เครื่อง และเนื่อง จากโครงการก่อสร้างทางด่วนพิเศษสายรามอินทรา - อาจณรงค์ พาดผ่านบริเวณบ่อสูบน้ำและอาคาร สำนักงานโรงบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9 จึงต้องมีการสร้างบ่อสูบน้ำเสีย และอาคารสำนักงานใหม่ ซึ่งขณะนี้ก็ได้ทำการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว

            อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดทำระบบบำบัดน้ำเสียบึงพระราม 9   ตามระบบสระเติมอากาศ (Aerated Lagoon) ประกอบด้วย บ่อบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ (บ่อติดตั้งเครื่องจักรกลเติมอากาศ) และบ่อบำบัดน้ำเสียแบบกึ่งไร้อากาศ (บ่อตกตะกอนและกำจัดตะกอน)ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง

            ปัจจุบัน นอกจากโครงการบึงพระราม 9 จะใช้ประโยชน์ในด้านการบำบัดน้ำเสียจาก คลองลาดพร้าวตามพระราชดำริแล้ว บริเวณพื้นที่โดยรอบบึงยังเป็นที่อยู่อาศัย ของชุมชนประมาณ 500 หลังคาเรือน ซึ่งได้มีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากบึงน้ำแห่งนี้ในชีวิตประวัน ทั้งในด้านการใช้น้ำจากบึงในช่วงปลายซึ่งผ่านกระบวนการบำบัด จนมีสภาพที่ใสสะอาด ปราศจากความสกปรกเน่าเหม็น และไม่เป็นที่น่ารังเกียจแต่ประการใด เพื่อใช้สำหรับการชำระล้างทำความสะอาด และยังใช้เป็นแหล่งในการจับสัตว์น้ำอาทิ เช่น ปลา กุ้ง ฯลฯ ที่มีอยู่ในบึงตามธรรมชาติอีกด้วย

            ในปี พ.ศ. 2537 สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการพัฒนาสภาพสิ่งแวดล้อมของบึงพระราม 9 ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย โดยการจัดสร้างถนนแอสฟัลต์ผสมร้อนพร้อมไหล่ทางลาดยาง และติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง โดยรอบบริเวณบึงทั้งหมด เพื่อทำให้ชุมชนบริเวณโดยรอบบึงพระราม 9 ซึ่งเป็น พื้นที่ในโครงการพระราชดำรินี้ ได้รับการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้มีความสวยงาม และสะดวกปลอดภัย สำหรับชุมชนผู้อยู่อาศัย และสำหรับผู้ที่จะเข้าใช้ประโยชน์จาก บึงพระราม 9 ในอนาคต

ประโยชน์ของโครงการ

                   บำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น จากเดิมค่า BOD ประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น ค่า BOD ประมาณ 9 มิลลิกรัมต่อลิตร อันจะทำให้สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบบึงพระราม 9 มีคุณภาพที่ดีขึ้น

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

curve