โครงการ บำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน

สถานที่ตั้ง

ตำบล ห้วยขวาง อำเภอ เขตห้วยขวาง จังหวัด กรุงเทพมหานคร

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระราชดำริ

โครงการบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 15 เมษายน และวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2528 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสียในคลองสามเสน โดยใช้รูปแบบ “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ความตอนหนึ่งว่า “...บึงมักกะสันนี้ ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช...”

หลักการบำบัดน้ำเสียโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา (Filtration) ตามแนวทฤษฎี       การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "บึงมักกะสัน" กล่าวคือ ให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วนี้ มา ทำหน้าที่ดูดซับความโสโครก รวมทั้งสารพิษจากน้ำเน่าเสีย โดยทรงเน้นให้ทำ การปรับปรุง อย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมบึง แนวพระราชดำรินั้นทรงให้ทำโครงการง่าย ๆ โดยสูบน้ำจากคลองสามเสนเข้าบึงทางหนึ่ง และสูบน้ำออกจากคลองสามเสนอีกทางหนึ่ง ระยะห่างกัน 100-200 เมตร หรือฝังท่อระบายน้ำออกทางระบายน้ำอโศก-ดินแดง โดยให้คงมีผักตบชวาอยู่ในบึงและทำการตกแต่งให้ดีไว้บริเวณกลางบึงเพื่อกรองน้ำเสียแต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บผักตบชวาขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวก็ให้นำไปใช้ประโยชน์ เช่นทำปุ๋ยหมักหรือเชื้อเพลิง แต่อย่านำ ไปทำอาหารสัตว์ เพราะมีธาตุโลหะหนัก หลักการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย "บึงมักกะสัน"ระบบบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสันเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติ ที่เรียกว่า ระบบ Oxidation Pondหรือ "ระบบสายลมและแสงแดด" ซึ่งจะมีบ่อดินที่มี ความลึก 0.5-2 เมตร สามารถให้แสงส่องลงไปได้ มีการใส่ผักตบชวาเพื่อเป็นตัวดูดซับ สารอาหารและโลหะหนักในน้ำเสียจากคลองสามเสน ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 30,000-100,000 ลูกบาศก์เมตร

การทำงานของระบบอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่าง พืชน้ำ ได้แก่ สาหร่าย หรือ อัลจี กับแบคทีเรีย โดยในเวลากลางวัน อัลจีซึ่งเป็น พืชน้ำสีเขียวจะทำการสังเคราะห์แสง โดยใช้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในน้ำและแสงแดด อัลจีจะนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้สร้างเซลล์ใหม่ ส่วนออกซิเจนที่เป็นผลพลอยได้นั้น ก็จะถูกแบคที่เรียนำ ไปใช้ในการย่อยสลายน้ำเสีย ซึ่งผลของปฏิกิริยานี้จะได้ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการ ดำรงชีพของอัลจี ดังนั้น อัลจี และแบคทีเรียจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้ โดยต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน การดำรงชีวิตในลักษณะนี้ เรียกว่าSymbiosis เนื่องจาก อัตราการเติมออกซิเจน ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น การเจริญเติบโตของแบคทีเรียจึงถูกกำจัดด้วยปริมาณออกซิเจนเมื่อเป็นเช่นนี้อัตราเร็วของปฏิกิริยาของการ ทำลาย BOD จึงค่อนข้างช้า ระบบ Oxidation Pond จึงต้องใช้บ่อที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากประสิทธิภาพของระบบบึงมักกะสันขึ้นอยู่กับ ปริมาณของออกซิเจนที่ได้จากการสังเคราะห์แล้ว ดังนั้น ในบึงต้องไม่ ปลูกผักตบชวามากเกินไป เพราะจะบดบังแสงแดดสำหรับผักตบชวานั้นก็จะทำหน้าที่ดูดซึมอาหารต่าง ๆ และโลหะหนักในน้ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผักตบชวามีการเจริญสูงสุด ในเวลาภายหลังการปลูก 16-17 สัปดาห์ จึงต้องดูแลระบบนี้โดยการเอาผักตบชวาออกทุก 10 สัปดาห์ ประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียของบึงมักกะสัน พบว่าสามารถลดค่า BOD ได้ระหว่าง 19-85% โดยเฉลี่ยได้ 51% มีประสิทธิภาพในการฟอกตัวด้านการ กำจัด Total Coliformแบคทีเรีย และ FeCA Coliform แบคทีเรียเฉลี่ย 90% และ 89% ตามลำดับ

การดำเนินงาน

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำบ่อดินขนาดความลึก 0.5 – 2 เมตร ใส่ผักตบชวาเป็นตัวดูดซับสารอาหารและโลหะหนัก โดยมีการเปลี่ยนผักตบชวาทุก 10 สัปดาห์  สามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 30,000-100,000 ลูกบาศก์เมตร และต่อมามีการเสริมเครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอยร่วมบำบัดด้วย ทำให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้ วันละ 260.000 ลูกบาศก์เมตร

การพัฒนาและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน จากการที่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้างทางด่วนมหานครขั้น 2 ระยะที่ 1 โดยมีแนวผ่านบึงมักกะสันและมีตอม่อโครงสร้างอยู่กลางบึง ทำให้น้ำในบึง ไม่ถูกแสงแดด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้เครื่องพ่นอากาศเข้าช่วย มูลนิธิชัยพัฒนาและกรุงเทพมหานครจึงรับสนองพระราชดำริ ในการปรับปรุงบึงมักกะสัน เพื่อให้สามารถฟอก น้ำในคลองสามเสนให้สะอาดขึ้น วันละ 260,000 ลูกบาศก์เมตร ด้วยการใช้เครื่องเติมอากาศแบบทุ่นลอย ผสมกับ การใช้ผักตบชวา ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มจากเดิม10 เท่า โดยมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้จัดหา และติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ขนาด 11 KW จำนวน 10 เครื่องและกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกบึงพร้อมทั้งติดตั้ง เครื่องสูบน้ำและปลูกผักตบชวา

สำหรับน้ำที่ใสสะอาดขึ้นนี้ให้ระบายออกสู่คลองธรรมชาติตามเดิม แล้วรับน้ำเสียจำนวนใหม่มาดำเนินการผ่านกรรมวิธีเป็นวงจร เช่นนี้ตลอดไปในอนาคตเมื่อการกำจัดน้ำเน่าเสียด้วยผักตบชวาในบึงมักกะสันแห่งนี้ ได้ผลดี ก็จะได้นำไป ใช้เป็น แบบอย่างในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียที่แหล่งน้ำ หรือลำคลองอื่นต่อไปซึ่งในขณะนี้กรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ประโยชน์ และดูแลรักษาบึงแห่งนี้ให้คงมีสภาพที่ดีสืบไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบว่า "บึงมักกะสัน" เป็นเสมือนดั่ง "ไตธรรมชาติ" ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน นอกจากนี้ ยังมีผลพลอยได้หลายอย่างเช่น ปุ๋ย เชื้อเพลิง เยื่อสานจากผักตบชวาและการปลูกพืชน้ำอื่นๆ เช่น ผักบุ้ง เป็นต้น รวมทั้งการเลี้ยงปลาด้วย โดยมิได้มีพระราชประสงค์จะทำให้เป็น สวนสาธารณะแต่อย่างใด บึงมักกะสันจึงเป็นบึงที่สร้างภาวะแวดล้อมด้วยวิธีธรรมชาติ เรียบง่าย ประหยัด และที่สำคัญเป็น แหล่งค้นคว้าทดลองที่พระราชทานเพื่อปวงประชา  จักได้มีสุขถ้วนทั่วหน้ากัน การพัฒนาบึงมักกะสันจึงนับเป็นความสำเร็จที่เกิดจาก พระปรีชาสามารถในเชิงวิชาการด้านนิเวศวิทยาและการแก้ไขปัญหาภาวะมลพิษทางน้ำ ด้วย สายพระเนตรที่ยาวไกล จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง แก่ชาวไทยทั้งมวล

ประโยชน์ของโครงการ

          บำบัดน้ำเสียรวมทั้งได้ผักตบชวาสำหรับทำปุ๋ยหมักหรือเชื้อเพลิงและอาหารสัตว์ตามเหมาะสม รวมทั้งเป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชองประประชาชนในพื้นที่รอบบริเวณบึงมักกะสัน ให้ดีขึ้นอีกด้วย

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

curve