โครงการ แปลงสาธิตเกษตรแบบผสมผสานในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา

สถานที่ตั้ง

ตำบล ท่าไข่ อำเภอ เมืองฉะเชิงเทรา จังหวัด ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

แปลงสาธิตเกษตรแบบผสมผสานในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินซึ่ง นางกอบกุล ศาสตรี ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 25 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ บ้านท่าไข่ ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินการรับโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2543

พระราชดำริ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2543 สำนักราชเลขาธิการ ได้แจ้งให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าวให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดทำเป็นแปลงสาธิตเกษตรผสมผสานโดยมีการทำนาร่วมกับการปลูกไม้ผลและเลี้ยงปลา เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อปรับใช้ในที่ดินของตนเองได้ ต่อมา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติการเปลี่ยนชื่อโครงการจากโครงการจัดทำแปลงสาธิตเกษตรผสมผสานไปเป็นโครงการฟาร์มทดสอบและสาธิต มีนเกษตร “สองน้ำ” บ้านท่าไข่ ตำบลท่าไข่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

การดำเนินงานตามพระราชดำริ

1.เพื่อทำการทดสอบและขยายผลเทคโนโลยีภาคสนาม โดยนำทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกัน

2.เพื่อทำการสาธิตให้เกษตรกรนำไปเป็นตัวอย่างในการปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือ การแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาซึ่งกันและกัน

3.เพื่อให้ได้ผลผลิตสัตว์น้ำที่ปลอดภัยพอเพียงต่อการพึ่งพาตนเอง โดยกระบวนการเพาะเลี้ยงต่างๆ สามารถบำบัดตัวเองให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลได้อย่างปลอดภัย

การดำเนินงาน

โครงการฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” บ้านท่าไข่ เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเขตพื้นที่สองน้ำ ได้แก่ น้ำกร่อยและน้ำจืด โดยไม่ใช้สารเคมี และไม่เติมจุลินทรีย์ลงในน้ำ เพื่อให้สัมพันธ์กับวงจรชีวิตสัตว์น้ำและวงจรห่วงโซ่อาหาร ผ่านศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น นิเวศวิทยา ปฐพีวิทยา อุตุนิยมวิทยา เป็นต้น มีการดำเนินงานในรูปแบบของการเกษตรแบบทางเลือก และเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการใช้พื้นที่ต่างๆ ที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. กิจกรรมด้านสัตว์น้ำ เป็นกิจกรรมหลักของโครงการ ดำเนินการพัฒนาสภาพนิเวศน์ภายในฟาร์มให้สามารถเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนโดยไม่ใช้สารเคมี เน้นการเลี้ยงกุ้งขาววานาไมแบบปิด นอกจากนี้ ได้ทดลองกิจกรรมการเลี้ยงกบในกระชัง การเลี้ยงปลานิลแดง และการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น ปลาการ์ตูน ปลาแรด เพื่อสร้างรายได้และทางเลือกเสริมให้กับผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ดีโครงการฯ ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และอากาศแปรปรวน มีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้ง ทำให้ต้องรีบจับกุ้งเพื่อนำไปจำหน่ายก่อนกำหนด เพื่อป้องกันการขาดทุน ประกอบกับค่าวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

2. กิจกรรมด้านปศุสัตว์และพืช ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเลี้ยงสุกรตามแนวทางเกษตรธรรมชาติ การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกพืชผักประเภทต่างๆ ได้แก่ พืชผักสวนครัว การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (ไฮโดร โพนิกส์) การทดลองการทำนา การผลิตน้ำหมักชีวภาพ และการทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น โดยเป็นการพัฒนาที่ดิน และใช้ประโยชน์จากที่ดิน รวมทั้งเป็นกิจกรรมเสริมให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปใช้ประโยชน์

3. กิจกรรมการบริการ ให้บริการและอนุเคราะห์ในด้านสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ แก่หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และชุมชนใกล้เคียง

4. กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การแปรรูปผลผลิตจากกุ้ง ดำเนินการแปรรูปผลผลิตกุ้งขาวเล็ก ซึ่งใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณครั้งละไม่เกิน 2 เดือน ให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริกกุ้งเสียบทรงเครื่อง จัดส่งจำหน่ายให้กับภัทรพัฒน์ จนเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่มีคนสนใจ และสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับโครงการ

5. โครงการฯ มีรายได้ จากการจำหน่ายกุ้งขาว และกุ้งกุลาดำ รวมทั้งการแปรรูปเป็นน้ำพริกกุ้งเสียบทรงเครื่อง รวมทั้งสิ้น 450,000 บาท

การดำเนินงานในระยะต่อไป

1. พัฒนาแนวทางการบริหารจัดการฟาร์มที่มีลักษณะเฉพาะ มีวัตถุประสงค์ให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องเหมาะสม กับสภาพพื้นที่ มีความหลากหลายด้านเกษตรกรรม ประมง และปศุสัตว์ เพื่อเป็นพื้นที่สาธิต และเป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถนำแนวทางไปปรับใช้ในที่ดินอื่นๆ ต่อไป

2. ขยายผลการดำเนินกิจกรรมประเภทต่างๆ ให้อยู่ในรูปของศูนย์สาธิตเกษตรพอเพียงของชุมชน เช่น การฝึกอบรมด้านอาชีพ และร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่จัดทำกิจกรรมเพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ

3. รวบรวม สะสม ปลูกบำรุงรักษา ขยายพันธุ์พืชพรรณสองน้ำ และพืชที่รับประทานได้ ยืนต้น ทนเค็ม ไม่ผลัดใบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน

4. ศึกษาทดลองการแปรรูปผลผลิตจากสัตว์น้ำในหลายๆ รูปแบบ เช่น การแปรรูปผลผลิตจากกุ้งและปลา เพื่อเป็นทางเลือก และเป็นรายได้เสริมให้กับโครงการต่อไป

http://www.chaipat.or.th/intranet/module/picture/m_image.php?id=9450

http://www.chaipat.or.th/intranet/module/picture/m_image.php?id=10725

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร

curve