โครงการ อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ตามพระราชดำริ (ห้วยสำโรงตอนบน)

สถานที่ตั้ง

ตำบล เขาหินซ้อน อำเภอ พนมสารคาม จังหวัด ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ตามพระราชดำริ (ห้วยสำโรงตอนบน) บ้านแหลมเขาจันทร์

ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม

-----------œ-----------

 

ความเป็นมา/พระราชดำริ

                    โครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน ตามพระราชดำริ  เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากผลงานต่อเนื่องจากงานจัดหาแหล่งน้ำ  สำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่ภายในเขตบริเวณของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนตามพระราชดำริ และต่อมาพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานที่จะทำการก่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  ไว้ตามบริเวณลำห้วยที่เป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำโจน เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่ของลุ่มน้ำโจนทั้งหมด ทางกรมชลประทานจึงได้ดำเนินการพิจารณาวางโครงการ พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน ตามพระราชดำรินี้ขึ้นมา  ส่วนรายละเอียดประวัติความเป็นมาของโครงการฯ  พอสรุปได้ดังนี้

                                                                  

ในปี  พ.ศ.  2522 ราษฎรในเขตอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้พร้อมใจกันน้อมเกล้าถวายที่ดินให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื้อที่ประมาณ 264 ไร่  ที่ดินบริเวณนี้อยู่ในเขตหมู่ที่  2  ตำบลเขาหินซ้อน  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา  ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ติดกับถนนทางด้านทิศใต้ของทางหลวงจังหวัดสายมิตรภาพ ฉะเชิงเทรา  -  นครราชสีมา  และมีถนนทางเข้าที่ดินแปลงนี้อยู่ที่ประมาณ  กม.  51.257 เนื่องจากสภาพที่ดินบริเวณดังกล่าว  ส่วนใหญ่มีต้นหญ้าขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น  ไม่มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นขึ้นอยู่เลย  บางส่วนเป็นที่ทำไร่มันสำปะหลัง  สภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย  พื้นที่มีความลาดชัน  ทำให้เกิดการกัดเซาะหน้าดินมากในฤดูฝน  ทางด้านทิศใต้ของที่ดินบริเวณนี้มีลำน้ำโจนไหลผ่าน  และมีลำห้วยเจ๊กซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำโจนไหลผ่านกลางพื้นที่บริเวณนี้                                                  

 

สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่รอบๆ  บริเวณที่ดินแห่งนี้  จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันโดยมีลำน้ำโจนไหลผ่านกลางพื้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่ดินบริเวณนี้จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงสภาพดิน น้ำและพืช  ให้มีคุณภาพดีขึ้นสามารถ
ที่จะนำมาใช้งานทางด้านเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ
ให้ใช้ที่ดินบริเวณที่ราษฎรน้อมเกล้าถวายฯ นั้น  จัดตั้งเป็นโครงการตัวอย่างทางด้านการเกษตรขึ้น โดยทางอำเภอพนมสารคาม (นายทิวา พลูสมบัติ)  เป็นผู้ริเริ่มดำเนินงานต่างๆ  และพยายามติดต่อกับหน่วยราชการต่าง ๆ  และได้รับความเห็นชอบจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา  เพื่อขอให้หน่วยงานต่าง ๆ  ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมช่วยดำเนินงานจนสามารถจัดตั้งเป็นโครงการขึ้นได้  เรียกว่า  "  โครงการพัฒนา และปรับปรุงพื้นที่ดินที่น้อมเกล้าฯ เพื่อการศึกษาด้านการเกษตร"  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ที่ดิน  และเพื่อเป็นศูนย์การศึกษาด้านเกษตรกรรมตามพระราชดำริ โดยโครงการเริ่มต้นดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2522 เป็นต้นมา                                                                               

วันที่ 19 กรกฎาคม 2522 ท่านอธิบดีกรมชลประทาน (นายสุนทร เรืองเล็ก) และคณะได้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐานพระราชวังดุสิต และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแส ให้กรมชลประทานเข้าไปดำเนินงานสำรวจตรวจสอบภูมิประเทศบริเวณที่ดินดังกล่าว  เพื่อพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  ปิดกั้นลำน้ำห้วยเจ๊ก ต่อไปด้วย    

                   วันที่ 24 สิงหาคม 2522 ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก  เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์)  พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปตรวจงานบริเวณพื้นที่ดินดังกล่าว  ได้มีบัญชาให้ กรมชลประทานเข้าไปดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ
ห้วยเจ๊ก  ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ  ให้เสร็จเรียบร้อยภายในปีงบประมาณ  2523  โดยใช้เงินงบประมาณของโครงการชลประทานขนาดเล็ก

                                                         

                   วันที่ 5 กันยายน 2522 รัฐมนตรีช่วยว่าการปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง  เพื่อดำเนินการต่างๆ  ของโครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินน้อมเกล้าฯ  เพื่อการศึกษาด้านเกษตร  เรียกว่า  "  คณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษาพัฒนาที่ดิน  เขาหินเขาหินซ้อน  (ตามพระราชประสงค์)  "  โดยมีอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  เป็นประธานคณะกรรมการและมีผู้แทนกรมฯ ต่างๆ  ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  อีกจำนวน  6  กรม  เป็นกรรมการร่วมประกอบด้วย     

                    1.  ผู้แทนกรมชลประทาน                                                               

                    2.  ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร                                                      

                    3.  ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร                                                           

                    4.  ผู้แทนกรมป่าไม้                                                                       

                    5.  ผู้แทนกรมประมง                                                                     

                    6.  ผู้แทนกรมปศุสัตว์                                                           

และยังมีคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนของกรมฯ ต่างๆ  ตลอดจนผู้แทนของส่วนรัฐวิสาหกิจและส่วนเอกชนเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย สำหรับผู้แทนของกรมชลประทาน นั้น ได้มอบหมายให้  นายสุหะ  ถนอมสิงห์  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เป็นผู้แทนกรมฯ                                                                          

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2522 กรมชลประทาน ได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก  ตามที่ได้ตกลงกับคณะกรรมการไว้                                                                        

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2522 ท่านอธิบดีกรมชลประทานพร้อมด้วย นายเล็ก 
จินดาสงวน  และนายสุหะ ถนอมสิงห์ ได้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก  ทางด้านทิศเหนือของลำน้ำห้วยเจ๊ก บริเวณลำน้ำห้วยแยก 1 ซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำห้วยเจ๊กเพิ่มเติมอีก 1 อ่างฯ  ซึ่งทาง นายสุหะ ถนอมสิงห์ ได้รับพระราชดำรินี้  ไปดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อไป  สำหรับราคาค่าก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งนี้เป็นเงินทั้งหมดประมาณ 3,300,00 บาท  โดยใช้เงินงบประมาณเป็นเงิน  2,850,000 บาท  และได้รับพระราชทานเงิน
พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  (ที่ราษฎรฯ  ที่ได้น้อมเกล้าถวายฯ)  ให้กับกรมชลประทาน  สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการฯ  นี้  เป็นเงิน  450,000 บาท  และทางกรมชลประทาน  ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก  และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแยก 1 พร้อมระบบส่งน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  เมื่อวันที่  20  มีนาคม  2523                                                                            

ต่อมา  ชื่อของโครงการศูนย์ฯ นี้ ได้รับพระราชทานชื่อใหม่เป็น " โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน  ตามพระราชดำริ  "                                                                         

วันที่ 21 กรกฎาคม 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชมกิจการของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน  และมีพระราชกระแส
ให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 1 แห่ง ที่บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊กเดิม ซึ่งมีลำห้วยแยก 2 สาขาของลำน้ำห้วยเจ๊ก และให้พิจารณาเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งน้ำบริเวณลุ่มน้ำโจนทั้งหมด  ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ  40,000 ไร่ ต่อไปด้วย                                                                    

วันที่ 11 ตุลาคม 2523 กรมชลประทาน  ได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการ
อ่างเก็บน้ำห้วยแยก 2 พร้อมระบบส่งน้ำจนเสร็จเรียบร้อย  เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2523 และได้รับเงินงบประมาณทั้งหมดเป็นเงิน 2,037,600 บาท      

                                     

วันที่ 3 สิงหาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมชมกิจกรรมของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน  และมีพระราชกระแส
ให้กรมชลประทานรีบดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่บริเวณลำห้วยมันปลา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำโจนที่อยู่ทางทิศใต้  ห่างจากโครงการศูนย์ฯ ประมาณ 1.500 กิโลเมตร เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่บริเวณโครงการศูนย์ฯ  และพื้นที่ของราษฎรที่อยู่ใกล้เคียง พร้อมทั้งให้กรมชลประทานช่วยจัดหาน้ำให้กับพื้นที่ดินของราษฎรในเขตหมู่บ้านสำโรง และหมู่บ้านไดขุนเพชร  ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการศูนย์ฯ  ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยให้พิจารณาร่วมกันกับคณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน                            

                                                                            

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2524 ทางสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้ดำเนินการพิจารณาวางโครงการและจัดทำสรุปรายละเอียดรายงานเบื้องต้นของโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน  ตามพระราชดำริ  เสร็จเรียบร้อย  โดยได้กำหนดจุดที่ควรจะทำก่อสร้างเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ทั้งหมดจำนวน  18  แห่ง  และได้กำหนดชื่อของอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง โดยใช้หมายเลขกำกับไว้ตั้งแต่แห่งที่  1  จนถึงแห่งที่  18  ส่วนรายละเอียดรายงานเบื้องต้นของอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง  ได้แนบรายละเอียดรายงานเบื้องต้นไว้พร้อมกันนี้แล้ว และโครงการ อ่างเก็บน้ำที่ได้
ทำการก่อสร้างจนเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ตามหมายเลขที่กำกับไว้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานต่างๆ  ต่อไปโดยได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ดังนี้ คือ                    

                    1.  โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก เปลี่ยนชื่อเป็น โครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน  แห่งที่  12 (อ่างฯ  ห้วยเจ๊ก)  ตามพระราชดำริ                                      

                    2.  โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแยก 1 เปลี่ยนชื่อเป็น โครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน  แห่งที่ 13  (อ่างฯ  ห้วยแยก  1)                                                   

                    3.  โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแยก 2 เปลี่ยนชื่อเป็น โครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน  แห่งที่ 14  (อ่างฯ  ห้วยแยก  2)                                                                      

 

ในการรวบรวมจัดทำรายละเอียดรายงานเบื้องต้น  ของโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน  ตามพระราชดำริขึ้นนี้  เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สำหรับที่จะทรงพิจารณาฯ คัดเลือกโครงการฯ ที่จะทำการก่อสร้างต่อไปตามความเหมาะสม 
จากการที่ทางกรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง จนเสร็จเรียบร้อยและสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ภายในเขตโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ทำให้
การดำเนินการต่างๆ ภายในเขตโครงการศูนย์สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้นมาก                                                                      

วันที่  9  ธันวาคม  2524  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ฯ  ซื้อที่ดินบริเวณติดต่อกับพื้นที่ดินของโครงการศูนย์ฯ ทางด้านทิศตะวันออก 
มีเนื้อที่ประมาณ 525 ไร่ โดยมีพระราชดำริที่จะให้ดำเนินการต่างๆ ภายในเขตบริเวณพื้นที่ดินแห่งนี้ ในลักษณะที่เป็นศูนย์ทางด้านวิจัยงานทางด้านการเกษตรไว้เคียงข้างกันกับโครงการศูนย์ศึกษาฯ                           

วันที่  25  มกราคม  2525  ได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 5 (อ่างเก็บน้ำห้วยสำโรงใต้)  ตามพระราชดำริ  ซึ่งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำฯ แห่งนี้ ทางสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้พิจารณาแล้วว่า มีความเหมาะสมกว่าการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 6 (อ่างเก็บน้ำห้วยมันปลา)  ตามพระราชดำริ  ทั้งนี้  เพราะจำนวนปริมาณน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้จำนวนมากกว่า และสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ดินในเขตหมู่บ้านสำโรงใต้ และพื้นที่ดินบริเวณเขตโครงการศูนย์ฯ ได้อย่างเต็มที่ และราคางานค่าก่อสร้างใกล้เคียงกัน สำหรับการก่อสร้างโครงการฯ นี้ เสร็จเรียบร้อย ในวันที่  31  สิงหาคม  2525  ได้รับเงินงบประมาณทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ  6,227,000 บาท                      

วันที่  1  มีนาคม  2525  กรมชลประทาน  ได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมอีกมีรายละเอียดของงานต่างๆ  ดังนี้                           

                    -  โครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 8 (อ่างฯ ห้วยสำโรงเหนือตอนบน) ตามพระราชดำริ พร้อมระบบส่งน้ำ ได้รับเงินงบประมาณเป็นเงินจำนวน 10,230,000 บาท

                    -  โครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 10 (อ่างฯ ห้วยสำโรงเหนือตอนล่าง) ตามพระราชดำริ พร้อมระบบส่งน้ำและงานอาคารประกอบ  เป็นสระเก็บน้ำขนาดต่าง  ๆ  พร้อมระบบส่งน้ำ และระบายน้ำภายในเขตพื้นที่บริเวณหัวงานโครงการฯ ได้รับเงินงบประมาณเป็นเงิน  8,005,000 บาท งานต่าง ๆ นี้ เสร็จเรียบร้อยในวันที่ 30 กันยายน 2525

วันที่ 15 ตุลาคม 2525 กรมชลประทาน  ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณจาก กปร. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 2 (อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำโจนตอนบน) ตามพระราชดำริ  โดยได้เงินงบประมาณเป็นเงินประมาณ 16,525,900 บาท ซึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะมีทำนบดินปิดกั้นลำน้ำโจนที่อยู่ทางด้านเหนือน้ำของพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนา
เขาหินซ้อน  และโครงการศูนย์วิจัยเขาหินซ้อน  ประมาณ 3  กิโลเมตร  อ่างเก็บน้ำแห่งที่เป็นอ่างฯ  ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน ทั้งหมด โดยมีความจุของอ่างฯ  เก็บน้ำประมาณ 1,800  ล้านลูกบาศก์เมตร ระบบส่งน้ำมีคลองส่งน้ำดาดคอนกรีตทั้งสองฝั่ง
งานก่อสร้างต่างๆ  เสร็จเรียบร้อยในวันที่ 30 กันยายน  2526         

                            

วันที่ 28 เมษายน 2526 กรมชลประทานได้รับอนุมัติเงินงบประมาณจาก  กปร.  เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 6 (อ่างเก็บน้ำห้วยมันปลา)  ตามพระราชดำริ  โดยได้รับเงินงบประมาณเป็นเงิน  6,200,000 บาท  ซึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะมีความสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ  250,000 ลบ.ม. มีระบบส่งน้ำเป็นคลองดาดคอนกรีตส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทางด้านฝั่งขวาเพียงด้านเดียวโดยมีคลองส่งน้ำยาวประมาณ 1,171 เมตร  ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 200 ไร่ งานต่างๆ เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 17 กันยายน  2526            

ในเดือน เมษายน 2527 กรมชลประทาน  ได้รับอนุมัติเงินงบประมาณจาก  กปร.  สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 ประจำปีงบประมาณ  2527  เป็นเงิน 9,573,500  บาท  ซึ่งโครงการฯ  นี้  มีราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด 
เป็นเงินประมาณ  25,372,300 บาท โดยกำหนดแผนงานการก่อสร้างไว้ 2 ปี บริเวณที่ทำการก่อสร้างของโครงการฯ จะอยู่ที่ลำน้ำสาขาของลำน้ำโจน  โดยอยู่ทางด้านท้ายน้ำห่างจากโครงการศูนย์ฯ ประมาณ  4.000  กิโลเมตร งานที่จะดำเนินการก่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำมีความจุประมาณ 1,970,000  ลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำเป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต จำนวน  2 สาย ส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรทั้งหมดประมาณ 3,600 ไร่                      

 

ในปีงบประมาณ  2528 ทาง กปร. ได้อนุมัติเงินงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ นี้ ต่อให้เสร็จเรียบร้อยภายในปีงบประมาณ  2528  เป็นเงิน  15,798,800 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งหมดของโครงการฯ นี้ที่ได้รับอนุมัติเป็นเงิน  25,372,300  บาท งานก่อสร้างโครงการฯ นี้  ได้เสร็จเรียบร้อย ภายในเดือน กรกฎาคม 2528

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้  เป็นประวัติความเป็นมาของโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจนตามพระราชดำริ  ตำบลเขาหินซ้อน  อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา  เกี่ยวกับงานก่อสร้างของโครงการฯ ต่างๆ  ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าในเขตลุ่มน้ำนี้  ได้มีการพิจารณาวางโครงการ  ไว้หลายแห่งต่อเนื่องกันไปตลอดลุ่มน้ำ  โดยได้กำหนดจุดพิจารณาวางโครงการที่จะทำการก่อสร้างไว้  14  โครงการ  โดยเรียกชื่อของโครงการต่างๆ กำหนดเป็นหมายเลขเรียงกันไปตั้งแต่โครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 1 ถึง แห่งที่  14  จะอยู่ตอนบนทางด้านเหนือน้ำของบริเวณพื้นที่โครงการศูนย์ฯ สำหรับการพิจารณาวางโครงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองลุ่มน้ำโจนตอนล่าง นั้น ทางสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้กำหนดจุดที่จะทำการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมอีกจำนวน  4  แห่ง  รวมเป็นโครงการทั้งหมดในเขตลุ่มน้ำโจน จะมีจำนวน  18  โครงการ  รวมความจุของอ่างเก็บน้ำทั้งหมดประมาณ  9.362  ลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดได้ประมาณ 12,410 ไร่ ราคางานค่าก่อสร้างทั้งหมดเป็นเงินประมาณ  162,425,500 บาท โดยได้กำหนดแผนงานการก่อสร้างในช่วงแรกนี้ไว้ 6 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2523  ถึงปีงบประมาณ  2528  ดูรายละเอียด  Master  Plan และรายงาน เบื้องต้นของโครงการฯ  ต่างๆ  ซึ่งตามแผนงานนี้  จะกำหนดไว้เฉพาะโครงการอ่างเก็บน้ำที่มีความเหมาะสมดีที่สุดก่อน  ส่วนโครงการฯ  ที่เหลือจัดอยู่ในประเภทโครงการที่ดำริจะก่อสร้างต่อไป  เมื่อปริมาณน้ำต่างๆ ของอ่างฯ  ที่ได้ก่อสร้างไว้มีจำนวนไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม จะได้พิจารณาจากโครงการที่ได้วางไว้แล้วนี้ต่อไป สรุปผลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ  ขณะนี้ได้ทำการก่อสร้างจน เสร็จเรียบร้อยถึงปีงบประมาณ 2530  จำนวน  9  แห่ง                    

 

อนึ่ง  สำหรับพื้นที่ดินในเขตบริเวณโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน  ตามพระราชดำริ  ซึ่งแต่เดิมจะมีพื้นที่ดินบริเวณโครงการศูนย์ฯ ที่ราษฎรได้ทูลเกล้าถวายฯ
มีจำนวนประมาณ  264  ไร่ ต่อมาราษฎรที่มีที่ดินอยู่ในเขตข้างเคียงได้ทูลเกล้าถวายที่ดินเพิ่มเติมตลอดเวลา  จนปัจจุบันนี้จะมีพื้นที่บริเวณโครงการศูนย์ฯ ทั้งหมดประมาณ 1,200 ไร่ และ
พื้นที่ดินในเขตโครงการศูนย์วิจัยเขาหินซ้อน  ตามพระราชดำริ  ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินไว้จำนวน  525 ไร่ ต่อมาได้มีการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมขึ้นเป็นประมาณ 800 ไร่

ลักษณะสภาพภูมิประเทศ                         

                    ต้นลำน้ำโจน เกิดจากบริเวณเนินดินเตี้ยๆ ในเขตตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม  มีลำน้ำเล็กๆ  หลายสาขาไหลมารวมกัน เป็นลำน้ำโจน ไหลลงคลองท่าลาดที่บริเวณห่างจากหัวงานฝาย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าลาด ประมาณ 1.500 กิโลเมตร ไปทางด้านท้ายน้ำ
ตัวลำน้ำโจนยาวทั้งหมดประมาณ 20 กิโลเมตร พื้นที่รับน้ำฝนทั้งหมดประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร มีน้ำไหลตลอดปี สภาพภูมิประเทศของลุ่มน้ำโจน มีลักษณะเป็นลูกเนินเตี้ยๆ และ
มีความลาดชันลงมาหาตัวลำน้ำโจน ซึ่งอยู่บริเวณตรงกลาง ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายละเอียด ลำน้ำเล็กๆ ที่เป็นลำน้ำสาขามีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมที่จะทำการก่อสร้างอ่างขนาดเล็กได้หลายแห่ง  พื้นที่ที่อยู่ติดตัวลำน้ำโจนในช่วงตอนล่างเป็นพื้นที่ราบเหมาะกับการเพาะปลูก  จำนวนปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตบริเวณนี้ เฉลี่ยปีละประมาณ 1,610  มิลลิเมตร       

 

อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่  16  ( ห้วยเจริญสุข )            

โครงสร้าง :  เขื่อนดิน  มีร่องแกนและตัวเขื่อนเป็นดินเหนียวถมบดอัดแน่น  สร้างปิดกั้นลำห้วยเจริญสุข  ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำโจนตั้งอยู่ด้านฝั่งซ้ายของลำน้ำโจนไหลลงสู่ลำน้ำโจนบริเวณด้านท้ายของพื้นที่

ที่ตั้ง   บ้านเตาลวดโยง  หมู่ที่ 1  ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม

รายละเอียดโครงการ

พื้นที่รับน้ำฝน  3.330  กม2.

ทำนบดินยาว  600.00  เมตร  สูง  10.00  เมตร

ระดับเก็บกัก  +33.500  เมตร  ( รทก. )

ระดับท่อส่งน้ำ  + 29.500  เมตร

ความจุอ่างฯ  1,970,000  ลบ. เมตร

ลาดตัวทำนบดินด้านเหนือน้ำ   1 :  3

ลาดตัวทำนบดินด้านท้ายน้ำ   1 :  2.5

อาคารประกอบระบบชลประทาน

อาคารระบายน้ำล้น    ( Spillway  Water )

ทำหน้าที่ระบายน้ำที่ระดับเก็บกัก  ลักษณะโครงสร้างของอาคาร

ระบายน้ำล้นเป็นท่อ คสล.  Ø 1.50  เมตร ยาว 23.00 เมตร  จำนวน

2 แถว สูง 3.70 เมตร ระดับน้ำล้น  +33.500  เมตร ( รทก. )

ระบบส่งน้ำ

-  คลองส่งน้ำฝั่งซ้าย  เป็นคลองดาดคอนกรีตขนาดก้นคลองกว้าง 0.40 เมตร ลึก 0.50 เมตร ลาด Slope 1 :  1 ยาว  5,800.00 เมตร  ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 3,300 ไร่  ได้แก่พื้นที่การเกษตรของเกษตรกร

-  คลองส่งน้ำฝั่งขวา  เป็นคลองดาดคอนกรีตขนาดก้นคลองกว้าง 0.40 เมตร ลึก 0.50 เมตร ลาด Slope 1 :  1 ยาว  1,500.00 เมตร  ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 1,500 ไร่ ได้แก่พื้นที่การเกษตรของเกษตรกร

ระยะเวลาก่อสร้าง

-  1 ตุลาคม 2526 ถึง 30 กันยายน 2528

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ

curve