โครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชบริเวณเกาะแสมสาร (ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์)
สถานที่ตั้ง
อำเภอ สัตหีบ จังหวัด ชลบุรี
รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย)
พระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสแนะนำแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชนไว้หลายครั้งหลายครา ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2536 ได้มีพระราชกระแสว่า "การสอนให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความสนใจ และก่อให้เกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอน การอบรมให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว"
ในโอกาสเดียวกันนี้ ยังได้ทรงมีพระราชกระแสเพิ่มเติมด้วยว่า " ตามเกาะต่าง ๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย" ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้พระราชทานแนวทางการปฏิบัติแก่กองทัพเรือในการดำเนินงานกิจกรรมสร้างจิตสำนึกของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ ที่เกาะแสมสารว่า ควรพิจารณาปฏิบัติตามรูปแบบของอุทยานแห่งชาติเกาะปอร์กอรอลส์ และเกาะโคร์ส ที่ฝรั่งเศส ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนมาในปี พ.ศ. 2538 และทรงมีความประทับใจในวิธีการให้ความรู้ความเข้าใจในด้านพันธุ์ไม้และระบบนิเวศต่อเยาวชน ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต อันก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ
|
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้ฝากงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนี้ไว้ต่อกองทัพเรือด้วย โดยมีพระราชกระแสต่อผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อ 31 พฤษภาคม 2544 ว่า
“ให้กองทัพเรือทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ” อันเนื่องมาจากพระราชกระแสและพระราชดำริ
หลายครั้งหลายครานี้เอง กองทัพเรือจึงมุ่งหน้าดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่เกาะแสมสาร และในส่วนของกิจกรรมสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชน กองทัพเรือได้พิจารณาจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย" ขึ้นบนฝั่งสัตหีบตรงข้ามเกาะแสมสาร รวมทั้งจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสารเพื่อเป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกแก่เยาวชนตามแนวทางพระราชดำริในการนี้ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นชอบและยังพระราชทานแนวทางการดำเนินงาน
เพิ่มเติมด้วยว่า
- " ควรให้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนฝั่งมากกว่าที่จะไปรบกวนบนเกาะ "
- " ที่เกาะแสมสาร จะทำแบบเกาะปอร์กอรอลส์ไม่ได้ เพราะเกาะของเราเล็ก ฉะนั้นควรให้คนมาดูแล้วกลับไป ไม่มีที่ให้ค้าง "
- " เนื้อหาที่จะจัดแสดง (ในพิพิธภัณฑ์) จะต้องให้เป็นการสอนและปรับปรุงให้ใหม่อยู่เสมอ และควรมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง "กองทัพเรือได้น้อมเกล้าฯ รับพระราชดำริ มาประมวลเป็นรูปแบบการก่อสร้างและหลักการการจัดการพิพิธภัณฑ์ฯ จนกระทั่งบัดนี้การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยบนฝั่งแสมสาร รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติได้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ตั้งอยู่ริมทะเลบริเวณเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี ในจุดที่อยู่ตรงข้ามเกาะแสมสาร มีอาณาบริเวณประมาณ 16 ไร่ สิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นอาคารไต่ระดับเขา ถึงยอดเขา เพื่อให้มองเห็นทัศนียภาพมุมกว้าง ไกล และความลึกของทะเลโดยมุ่งที่จะให้ผู้ชมเห็นความงดงามของท้องทะเล แล้วเกิดจินตนาการและความปิติที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ตามแนวพระราชดำริในหลักวิชาว่าด้วยการพิพิธภัณฑ์ ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สากลเรียกว่า Natural History Museum อันเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงวัตถุธรรมชาติ ทั้งในด้านธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ ทางทะเลเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
สำหรับเนื้อหาการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสารจะประมวลมาจากผลการสำรวจเกาะต่าง ๆ ของไทยในโครงการอนุรักษ์
พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กองทัพเรือ ตามแนวทางพระราชทานที่ว่า "ให้สำรวจตั้งแต่ยอดเขาถึงใต้ทะเล" โดยคณะปฏิบัติงานวิทยาการ หรือคณะนักวิชาการหลายสาขา
จากหลายสถาบัน ที่อุทิศตนอาสาสมัครเข้ามาปฏิบัติงานร่วมในโครงการฯ ได้นำตัวอย่างและงานวิจัยในเรื่อง พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ดิน หิน แร่ มาจัดแสดงและต่อไปจะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม
ในโอกาสที่เหมาะสมด้วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ในโอกาสงานประชุมวิชาการนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 (ข้อมูลจาก http://www.tis-museum.org/history.html)
- ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม