โครงการ ป่าสิริเจริญวรรษฯ
สถานที่ตั้ง
ตำบล บางเสร่ อำเภอ สัตหีบ จังหวัด ชลบุรี
รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน
โครงการสวนป่าสิริเจริญววรษ จังหวัดชลบุรี
ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมชลประทานเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารชัยพัฒนาสวนจิตรลดา และได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณา
จัดทำโครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บริเวณเขาชีโอน ติดกับเขตวัดญาณสังวรารามวรวิหาร อยู่ในเขตตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาได้น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวนประมาณ 360 ไร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 และพื้นที่โดยรอบโครงการป่าสิริเจริญวรรษ มีอาณาเขตตามแนวสันเขาสูงทางด้านทิศเหนือและใต้ สำหรับด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ให้ใช้แนวที่พ้นจากเขตโครงการพอประมาณ สมควรจัดทำเป็น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อดูแลรักษาสวนป่าสิริเจริญวรรษให้มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนตลอดไป
2. เพื่อให้เป็นแหล่งทัศนศึกษาและที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
3. เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับฟื้นคืนสภาพป่าที่สมบูรณ์
ผลการดำเนินงาน
โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้สนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกทำลาย และมีสภาพเป็น
ป่าเสื่อมโทรมให้กลับฟื้นคืนเป็นสภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม โดยการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ คือ ปลูกไม้โตเร็ว สำหรับใช้สอย ปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับนก และสัตว์ป่าใช้ผลสุกเป็นอาหาร รวมทั้งปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อคืนสภาพป่า รวมทั้งอนุรักษ์ดินและน้ำ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2535 ได้ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 580 ไร่ ไม้ที่ปลูกในระยะ
เริ่มแรกเจริญเติบโต เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์จากป่า โดยการเก็บหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ยอดหวาย เป็นต้น
ประโยชน์ของโครงการ
โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน นอกจากปลูกป่าเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ
1. ป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่ไม้และสัตว์ป่าที่คงเหลืออยู่ให้คงอยู่ตลอดไป
2. เพื่ออนุรักษ์ดิน แหล่งต้นน้ำลำธาร และระบบนิเวศวิทยาของป่าดั้งเดิม
3. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนเป็นแหล่งพักสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
4. เกิดการจ้างแรงงานแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบ ๆ โครงการฯ และได้ใช้ประโยชน์ใช้สอยจากป่าของโครงการฯ
5. เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ สำหรับศึกษาหาความรู้ ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งจัดกิจกรรมด้านป่าไม้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน
ทั่วไป ในรูปของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
ที่มาของข้อมูล :
1. เอกสารจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
2. เอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
- ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม