โครงการ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

สถานที่ตั้ง

จังหวัด นครนายก

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

 

 

โครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

 

ความเป็นมา

 

       มูลนิธิชัยพัฒนา ได้จัดซื้อที่ดินจำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา ราคา 2,520,716 บาท (สองล้านห้าแสนสองหมื่นเจ็ดร้อยสิบหกบาทถ้วน) โอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2532 ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติ ให้จัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมด้านหลัง จำนวน 3.5 ไร่  

 

พระราชดำริ

 

     เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย  ดำเนินการจัดทำศูนย์นิทรรศการแสดงแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ และพระราชทานชื่อโครงการว่า “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ”

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสให้ไปตรวจสอบที่ดินของสภากาชาดไทย จำนวน 2 แปลง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับโครงการ เพื่อใช้จัดสร้างหอพักและศูนย์ฝึกอบรม

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ พระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบริเวณพื้นที่ ที่จะจัดซื้อเพิ่มเติมบริเวณด้านหลังโครงการ และมีพระราชกระแส ดังนี้

1. ให้อนุรักษ์พื้นที่ที่จะจัดซื้อไว้ โดยไม่ให้ตัดต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้เดิมในพื้นที่

2. สำหรับพื้นที่ว่างเปล่าอื่นๆ ที่สามารถปลูกพืชได้ ให้ปลูกเพิ่มเติม โดยพัฒนาเป็น Food   Bank หรือ Supermarket ของโครงการ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนต่อไป

3. สำหรับการจัดสร้างหอพักของโครงการ ให้ประสานกับสภากาชาดไทย ในการจัดสร้างศูนย์ฝึกอบรมขึ้นในที่ดินของสภากาชาดไทย ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการ

หน่วยงานรับผิดชอบ

 

สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา

 

ผลการดำเนินงาน

 

1  ดำเนินการปรับปรุงสภาพพื้นที่โครงการเพื่อรวบรวม และจัดแสดงแนวคิด และทฤษฏีการพัฒนาด้านต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ โดยแบ่งพื้นที่ 2 ส่วน ได้แก่

      - อาคารพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง

- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต โดยจำลองแนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริต่างๆ มาจัดแสดงให้เห็นจริงในพื้นที่ด้านนอก และจัดตั้งเป็นภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้  รวมทั้งยังมีฐานงาน เพื่อใช้ฝึกปฏิบัติสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แก่ การเตรียมแปลงผัก นาข้าว เตาถ่าน อิฐประสาน บ้านดิน และธนาคารต้นไม้ เป็นต้น

2. จัดการฝึกอบรมหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำหรับให้ผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการ โดยในปี 2553 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 1,716 คน และมีผู้เข้ามาศึกษาดูงานทั้งสิ้น 43,807 คน

การดำเนินงานในระยะต่อไป

 

 1. ดำเนินการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ของโครงการ ให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้นและจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อจัดสร้างและปรับปรุงนิทรรศการภายนอกอาคารให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 2. ขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โดยการให้คำแนะนำด้านวิชาการให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงให้สามารถแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน เพิ่มศักยภาพการผลิต และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม

curve