โครงการ ศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา

สถานที่ตั้ง

ตำบล บึงทองหลาง อำเภอ ลำลูกกา จังหวัด ปทุมธานี

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการศูนย์บริการวิชาการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนา 
ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

 

ความเป็นมา

 นางพเยาว์ และนางสาวผุสนา คชาชีวะ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน เนื้อที่ 252 ไร่ 31 งาน ซึ่งอยู่ระหว่างคลอง 10-11 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ไว้ใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา โอนกรรมสิทธิ์เมื่อ 1 สิงหาคม 2540

 

พระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการจัดตั้งเป็น "ศูนย์บริการวิชาการเกษตร" และต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เกี่ยวกับราษฎร 8 รายที่เช่าอยู่เดิม โดยให้นำราษฎรเหล่านั้นเข้ามาทำกินโดยจัดทำในรูปแบบทฤษฎีใหม่

 

แผนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

          เนื่องจากพื้นที่ “โครงการศูนย์บริการวิชาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ได้ถูกจัดแบ่งเพื่อทำถนนเชื่อมระหว่างทางหลวงสายพหลโยธิน-ลำลูกกา และทางหลวงสายรังสิต-นครนายก ดังนั้นพื้นที่โครงการจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ฝั่งคลอง 10 จำนวน 219 ไร่ 31 ตารางวา และฝั่งติดคลอง 11 จำนวน 27 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา รวมพื้นที่คงเหลือที่ใช้ดำเนินงานโครงการทั้งสิ้น 246 ไร่ 2 งาน 43 ตารางวา แผนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ สรุปได้ดังนี้

          1. การจัดระบบชลประทาน : รับผิดชอบโดยกรมชลประทาน เป็นการดำเนินการขุดคลองส่งน้ำรอบพื้นที่โครงการและการก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากคลองรังสิต 11 เพื่อใช้ภายในโครงการ

          2. การจัดแปลงพื้นที่ : รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร มีแผนจัดแบ่งพื้นที่เพื่อกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

          ฝั่งคลอง 10

                   2.1 แปลงราษฎรที่เช่าที่นาอยู่เดิม 8 ครอบครัว เพื่ออาศัยทำกินครอบครัวละ 7 ไร่

                   2.2 แปลงเกษตรผสมผสาน 8 แปลงๆ ละ 7 ไร่ (2 แปลง) และ 5 ไร่ (6 แปลง)

                   2.3 แปลสาธิต ประกอบด้วย แปลงข้าวอินทรีย์ แปลงไม้ดอกไม้ประดับ แปลงผักปลอดสารพิษ แปลงไม้ผล แปลงไร่นาสวนผสม

                   2.4 อาคาร ประกอบด้วย โรงเก็บปุ๋ย โรงเก็บเมล็ดพันธุ์ ลานตากเมล็ดพันธุ์ และโรงสี

          ฝั่งคลอง 11

                   - ดำเนินการปลูกสร้างอาคารที่ทำการ อาคารบรรจุพืชไร่ อาคารจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และศาลาริมน้ำ

3. ผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

                   3.1 การจัดระบบชลประทาน : ปี 2541 สำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1,562,800 บาท แก่กรมชลประทาน เพื่อการขุดคลองส่งน้ำพร้อมคันกั้นน้ำรอบพื้นที่โครงการ การทำท่อลอดถนน การขุดสระเก็บน้ำในไร่นา และการขุดคูส่งน้ำ ซึ่งงานดังกล่าวแล้วเสร็จ 100%

                   3.2 การจัดการกับราษฎร 8 ครอบครัวที่เช่าที่นาอยู่เดิม : กรมวิชาการเกษตรได้จัด แบ่งแปลงให้ราษฎรเสียใหม่เพื่อให้สามารถทำนาได้ โดยไม่ขาดรายได้ในระหว่างที่การดำเนินการโครงการยังไม่แล้วเสร็จ 

 

4. แนวทางการดำเนินงานโครงการในระยะต่อไป

                  4.1 ด้านการก่อสร้างระบบชลประทาน : ปี 2542 สำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณปี 2542 แก่กรมชลประทาน จำนวน 5,807,500 บาท เพื่อการก่อสร้างถนนเส้นกลางเข้าพื้นที่ การก่อสร้างถนนรอบโครงการและการก่อสร้างโรงสูบน้ำ

                  4.2 ด้านการจัดแปลงพื้นที่ : กรมวิชาการเกษตรได้ขอรับการสนับสนุนงบ กปร. ปี 2542 จำนวน 6,255,868 บาท เพื่อดำเนินการจัดแปลงทฤษฎีใหม่ การปลูกข้าวอินทรีย์และพืชหลังนา การปลูกไม้ผล การปลูกพืชแซมไม้ผล การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ 1

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ

curve