โครงการ สระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สถานที่ตั้ง
ตำบล คลองห้า อำเภอ คลองหลวง จังหวัด ปทุมธานี
รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน
โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง และตำบลคลองหก อำเภอธัญญบุรี
ความเป็นมา
เดิมที่ดินบริเวณ โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 เป็นพื้นที่สงวนไว้ใช้ในราชการของกรมประชาสงเคราะห์ กรมแรงงาน และกรมการศึกษานอกโรงเรียน มีสภาพเป็นที่ลุ่มและใช้ทำนา ในช่วงฤดูแล้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวขาดแคลนน้ำ สำหรับการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ที่ดินมีสภาพค่อนข้างรกร้าง มีต้นหญ้าและวัชพืชขึ้นอยู่เต็ม พื้นที่เป็นบริเวณกว้างและมีบ้านเรือนราษฎรปลูกอาศัยอยู่ตามแนวริมคลองด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพื้นที่
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นนำเจ้าหน้าที่ จากส่วนราชการต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินของส่วนราชการที่จับจองไว้และยังมิได้ทำประโยชน์ในเขต อำเภอคลองหลวง และอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3,032ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างแหล่งเก็บน้ำอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ตามพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และกรมชลประทาน ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำเก็บน้ำเอนกประสงค์ ในเขตที่ดินดังกล่าวด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพราะเมื่อแหล่งเก็บน้ำแห่งนี้ดำเนินการเสร็จแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนบางส่วนในเขตจังหวัดปทุมธานี ปริมณฑลและกรุงเทพมหานคร และที่สำคัญจะเป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ ทำนาปรังและกิจกรรมการเกษตรบริเวณดังกล่าวในช่วงฤดูแล้ง นำน้ำที่เหลือจากกิจกรรมด้านการเกษตร ไปบรรเทาน้ำเน่าเสียตามคลองและชุมชนบางแห่ง ในเขตปริมณฑลและกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นในช่วงฤดูน้ำหลากยังสามารถเก็บกักน้ำส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ตอนล่างได้อีกด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 คณะรัฐมนตรี และกระทรวงการคลังได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดินดังกล่าวในนามมูลนิธิชัยพัฒนา สำหรับดำเนินโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 ซึ่งเริ่มทำการก่อสร้างในปี 2534 และแล้วเสร็จเก็บกักน้ำตั้งแต่ปี 2538 ต่อมาได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่บริเวณโดยรอบสระเก็บน้ำพระราม 9 อีกด้วย
หลังจากทำการก่อสร้างโครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 ที่ประกอบด้วยสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง แล้วยังได้ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ ก่อสร้างถนนผิวจราจรลูกรังบริเวณโครงการ สะพาน รั้วเหล็ก และทางเข้าออก ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณที่ทำการโครงการงานหินเรียงป้องกันตลิ่งและติดตั้งระบบไฟฟ้า รวมทั้งปลูกต้นไม้ในบริเวณพื้นที่โครงการ
ผลการดำเนินงาน
1. ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบสูบน้ำ และจัดการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ (แก้มลิง) เพื่อรองรับและกักเก็บน้ำจากที่ต่างๆ
2. เป็นสถานที่สำหรับซ่อมแซมและจัดเก็บกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่จัดสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วจากกองโรงงานกรมชลประทาน สำหรับนำไปติดตั้งยังสถานที่ต่างๆ
3. เป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
4. ดำเนินกิจกรรมโครงการปลูกต้นไม้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย มูลนิธิสแตนเลย์ประเทศไทย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับอำเภอคลองหลวง และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5. ซ่อมแซมรั้ว ถนน และสิ่งปลูกสร้างภายในโครงการ
![]() |
การดำเนินงานในระยะต่อไป
1. ดำเนินการจัดสร้างถนนรอบโครงการ
2. ดำเนินการจัดซ่อมแซมทาสีรั้วรอบโครงการ
3. จะดำเนินโครงการเป็นศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไม้ให้กับหน่วยงานที่สนใจ
4. ดำเนินโครงการจัดทำโรงเพาะเห็ด และการปลูกผักไฮโดรโพนิค
5. ดำเนินการด้านสาธารณประโยชน์ให้แก่ชุมชน และหน่วยงาน
6. ดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม
ที่มา : http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php?option=com_content&task=view&id=665&Itemid=175
- ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ