โครงการ พัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา

สถานที่ตั้ง

ตำบล นาดี อำเภอ นาดี จังหวัด ปราจีนบุรี

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาสระแก้ว-ปราจีนบุรี ตามพระราชดำริ  

 

ความเป็นมา

                  เมื่อปี พ.ศ. 2520 – 2521 บริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาบรรทัด ในเขตอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา ซึ่งเป็นเขตติดต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างมาก กล่าวคือ

                   1. พื้นที่ตั้งเคยเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่อุดมสมบูรณ์ได้ถูกราษฎรบุกรุกเข้าไปเผาและถางเพื่อปลูกพืชไร่เป็นจำนวนมาก จนทำให้พื้นที่บริเวณนี้ กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมจนสิ้นสภาพป่า ดินขาดความอุดมสมบูรณ์และขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการเพาะปลูก

                    2. ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ได้ใช้พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งฐานที่จะแยกประเทศไทยโดยอาศัยแนวสันเขาบรรทัด อันเป็นเทือกเขาเชื่อมติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา

พระราชดำริ

                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ จึงได้พระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาขึ้น โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อวางโครงการพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรีตามพระราชดำริ โดยร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 จังหวัดปราจีนบุรี กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เข้าดำเนินการตามโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมสานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนหมู่บ้านโครงการฯ จำนวน 7 ครั้ง

                  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาของจังหวัดปราจีนบุรี โดยทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ 3 ด้าน คือ

                  1. การพัฒนาทางด้านจิตใจราษฎร

                  2. การพัฒนาความรู้ด้านการประกอบอาชีพ

                  3. การจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

ที่ตั้ง

                 โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาสระแก้ว-ปราจีนบุรี  ตั้งอยู่ที่บริเวณที่ราบเชิงเขาบรรทัด ในเขตอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว มีเนื้อที่ประมาณ 404,730 ไร่ จำนวน 94 หมู่บ้าน  6,916 ครัวเรือน จำนวนประชากรประมาณ 44,179 คน เริ่มดำเนินงานตามโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521- ปัจจุบัน

ผลการดำเนินงาน

                  1. การพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรให้มีระบบชลประทานที่ดี โดยโครงการชลประทานสระแก้ว ได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ ทำฝาย  น้ำล้น คลองซอย ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อให้ราษฎรได้มีน้ำใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร และหน่วยทหารพัฒนา ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายชะลอความชื้น ปี 2551 จำนวน 31 ฝาย โครงการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน จำนวน 3,700 ต้น และโครงการพลิกฟื้นผืนป่าด้วยพระบารมี (ปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง) พื้นที่ 85 ไร่ กล้าไม้จำนวน 39,000 ต้น

                  2. การจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่ 2  กรมป่าไม้ ได้มอบให้หน่วยจัดที่ดิน ใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นในโครงการจำนวน 14 หมู่บ้าน และจัดสรรที่ดินให้บ้านละ 15 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินอยู่อาศัย 1 ไร่ และที่ดินทำกิน 14 ไร่

                  3. การพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้กับราษฎร เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยศูนย์ศึกษาและพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่ 2  กรมป่าไม้ ดำเนินการเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่าย และจัดสร้างหนึ่งตำบลหนึ่งสวนสาธารณะ และสถานีวิจัยทดสอบพันธ์สัตว์สระแก้ว กรมปศุสัตว์ ดำเนินการขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแก่ราษฎร รวมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสระแก้ว กรมประมง ดำเนินการขยายพันธุ์ปลา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กับราษฎรในพื้นที่ อีกทั้งปล่อยพันธ์ปลาที่ผลิตได้สู่แหล่งน้ำในพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง

                 4. ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำ  ลำธาร โดยอุทยานแห่งชาติปางสีดา กรมอุทยานแห่งชาติ    สัตว์ป่า พันธุ์พืช ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพ/รักษาสภาพป่า ตลอดจนจัดฝึกอบรมราษฎร ในพื้นที่ให้มีจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า และร่วมกันปลูกป่าไม้เศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ และจัดชุดร่วมตรวจ และฝึกอบรมให้ความรู้ราษฎรเกี่ยวกับการดับไฟป่า สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสระแก้ว กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการจัดสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน

                  5. ส่งเสริมให้ราษฎรมีความเข้าใจและการดำรงชีพระบบสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการจัดตั้งระบบสหกรณ์ในชุมชนตามหมู่บ้านหลักของโครงการ ให้อยู่ในระบบของสหกรณ์ อีกทั้งยังได้จัดตั้งโรงสีข้าวขนาด 24 ตัน/วัน โดยรับซื้อข้าวจากราษฎร เพื่อแปรรูปและจำหน่ายในราคายุติธรรม

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ

curve