โครงการ เกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามพระราชดำริ

สถานที่ตั้ง

ตำบล แม่น้ำคู้ อำเภอ ปลวกแดง จังหวัด ระยอง

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

 

 “...ในการพัฒนาเด็กถ้าไม่สามารถพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในด้านสุขภาพอนามัยก่อน เด็กก็จะไม่มี ความพร้อมสำหรับการพัฒนาด้านอื่นๆ ไม่อาจนับว่าเป็นอนาคตของชาติได้ การที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้ มีโอกาสในเรื่องการกินดีขึ้นนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังทุกฝ่าย...”

        “ พระราชกระแส สามสิบปีการพัฒนาเด็กและเยาวชน : ร่วมกันสร้างโอกาสที่ดีกว่า” ในการประชุมวิชาการ “ทางสู่โอกาสที่ดีกว่า” ทรงบรรยายเนื่องในโอกาสสามทศวรรษการพัฒนาเด็กและเยาวชน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ทดลองทำโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยจุดมุ่งหมาย คือ “...เราต้องการช่วยให้นักเรียนในโรงเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง
รับประทานอาหาร ที่ถูกสุขลักษณะและถูกตามส่วนประกอบที่จะบำรุงร่างกาย...อยากให้เป็นพืชผักหรืออุปกรณ์
แล้วให้นักเรียนมาทำการเกษตร ซึ่งเป็นวิธีที่อ้อมและยากขึ้นมาอีกทางหนึ่ง อาหารที่จะให้รับประทานนั้น เป็นอาหาร
ที่ได้มาจากผลิตผลของนักเรียนผู้รับประทานเอง ซึ่งอาจจะได้ผลช้า แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะได้รับอาหาร และคิดว่าจะ
ได้รับประโยชน์เป็นผลพลอยได้ที่สำคัญ คือ ความรู้ทางด้านการเกษตรและด้านโภชนาการ ซึ่งจะเป็นวิชาติดตัวไป
จนนักเรียนเหล่านั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และได้ประกอบอาชีพ ทางด้านการเกษตรกรรม วิชาการใหม่ๆ เหล่านั้น
อาจจะนำมาช่วยในการครองชีพได้มากทีเดียว...” 

(จากหนังสือ พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน)

              ภายหลังจากที่ได้ทดลองโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัวเป็นเวลา ๑ ปี ซึ่งได้ผลดีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยาย
ไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศใน พ.ศ. ๒๕๒๔ เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วยจึงเรียกชื่อใหม่ว่า
“โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน”

              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชประสงค์ให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง โดยอาศัยบริโภคอาหารที่ได้
จากการเกษตรในโรงเรียน อีกทั้งมีความรู้ทางการเกษตรจากการเข้าร่วมทำการเกษตร และทรงหาแนวทางที่จะช่วยพัฒนาชุมชน โดย
ให้โรงเรียนเป็นส่วนนำในการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้จากเด็กนักเรียนไปยังชุมชน               
              สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงให้เด็กนักเรียนร่วมกันทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารสำหรับนำไปบริโภค เด็กนักเรียนได้เรียนรู้
เทคนิคการปลูกผัก ผลไม้ โดยใช้พันธุ์พื้นบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การเก็บเกี่ยวการแปรรูป และการถนอมอาหาร ฯลฯ

อาหารเพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

                 เด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารมักประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร เพราะครอบครัวไม่สามารถผลิตอาหาร
ได้เพียงพอกับความต้องการ และไม่สามารถเข้าถึงอาหารแหล่งอื่นได้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชดำริในการแก้ปัญหา
การขาดอาหารในเด็กวัยเรียน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนร่วมกันทำการเกษตร
เพื่อผลิตอาหารสำาหรับนำไปบริโภค ในระยะแรกโรงเรียนสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาประกอบ
เป็นอาหารกลางวันได้ ๑ มื้อต่อสัปดาห์ ต่อมาเพิ่มเป็น ๒ มื้อต่อสัปดาห์ จนในที่สุดสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาประกอบ
อาหารกลางวันทุกวันเรียน การจัดบริการอาหารกลางวันในโรงเรียนตามพระราชดำริ เป็นเครื่องมือสำคัญที่เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง
สมาชิกชุมชน และครูในโรงเรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ

อาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา
           สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวัยเรียน ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความ
เป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังมีพระราชดำรัส ไว้ว่า
              “...เราต้องการช่วยให้นักเรียนในโรงเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและถูก
ตามส่วนประกอบที่จะบำรุงร่างกาย...” (จากหนังสือ พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเกี่ยวกับโรงเรียน
ตำรวจตระเวนชายแดน)           
           สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงสรุปภาพรวมของการจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียน ทั่วไปไว้ ๔ แบบ ตามลักษณะของเด็กนักเรียน
ซึ่งอาจใช้เป็นตัวแบบในการจัดอาหารในโรงเรียนต่างๆ ต่อไปได้ ได้แก่
                     ๑. เด็กนักเรียนที่มีฐานะ มีอาหารรับประทานเพียงพอ การจัดอาหารให้เป็นเรื่องของการให้ได้สารอาหารครบถ้วน และฝึกมารยาท
การรับประทาน
                     ๒. เด็กนักเรียนพอมีฐานะ จะห่อข้าวไปรับประทานเอง แต่จะซื้อขนมที่ไม่มีประโยชน์มากนัก
                     ๓. เด็กนักเรียนฐานะยากจน ไม่มีอาหารรับประทานเพียงพอหรือไม่มีเลย การจัดอาหารก็เพื่อ “แก้ความหิวโหย”
                     ๔. เด็กนักเรียนมีฐานะปะปนกัน อาจจัดอาหารขายราคาถูก หรือให้นักเรียนทำงานแลกกับอาหาร

อาหารกลางวันสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
              แต่เดิมการจัดการบริการอาหารกลางวันของสถานศึกษามุ่งเน้นที่เด็กเล็กและเด็กนักเรียนประถมศึกษาเท่านั้น ขณะเดียวกัน
เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ชนบทและห่างไกลหลายคน มีสุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงเพราะได้รับอาหารไม่เพียงพอ สมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดา ฯ จึงทรงขยาย โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันไปสู่เด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ชนบทและห่างไกล
พร้อมทั้งพระราชทานเงินให้ด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ ทำให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและสะอาดปลอดภัย

ภัตตาหารเพล 
            ใน พ.ศ. ๒๕๔๗ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชดำริให้ส่งเสริมโภชนาการของสามเณร ที่ศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม
แผนกสามัญศึกษา ในจังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และตาก โดยพระราชทานเงินแก่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ
ศึกษา เพื่อจัดภัตตาหารเพลและนมถวาย ปัจจุบันมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั้งสิ้น ๓๙ โรง และมีสามเณร ๖,๒๖๗ รูป
(ข้อมูลปีการศึกษา ๒๕๕๓) ได้รับภัตตาหารเพล  ปีละ ๒๐๐ วันเรียน (ข้อมูลปีการศึกษา ๒๕๕๔ มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
ทั้งสิ้น ๕๓ โรง และมีสามเณร ๗,๖๓๑ รูป)

อาหารสำหรับนักเรียนบ้านไกล 
             โรงเรียนหลายโรงตั้งอยู่ในเขตป่าเขา การคมนาคมยากลำบาก เด็กนักเรียนบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียน
และกลับบ้านได้ในวันเดียว นักเรียนจำต้องพักค้างแรมที่โรงเรียน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพัก
แล้วทำโครงการเกษตรเพื่อนำผลผลิตประกอบเป็นอาหารรับประทานทั้งสามมื้อ

อาหารเสริม 
              “สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางโภชนาการต้องมีอาหารเสริมพิเศษ แต่แรกเงินที่ให้ไป เป็นพิเศษทางกองกำกับการ
ตชด. จัดซื้อไข่ให้ ต่อมาเลี้ยงไก่ไข่และเอาไข่เข้าโรงครัว นอกจากนั้น มีการเพิ่มโปรตีนด้วยการให้ (เด็กขาดอาหาร) ดื่มนมถั่วเหลือง...”

(จากหนังสือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)

ข้อมูลจาก หนังสือ สืบสานพระราชปณิธาน สามทศวรรษจรัสหล้า การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

 

 

จาก  :  http://kanchanapisek.or.th/kp14/projects/child/child_web/nutrition.html

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร

curve