โครงการ แก้มลิงหนองเจ็ดเส้น

สถานที่ตั้ง

ตำบล สายทอง อำเภอ ป่าโมก จังหวัด อ่างทอง

รายละเอียดโครงการ ถอดบทเรียน

โครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้น อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

....................................

พระราชดำริ

               โครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้น เกิดขึ้นจากการที่พื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอป่าโมก และอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ประสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก เกษตรกรและส่วนราชการต่างๆ จึงได้หารือร่วมกัน โดยเห็นควรที่จะได้นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องโครงการแก้มลิงมาใช้ประโยชน์ จังหวัดอ่างทอง จึงได้เสนอโครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้นมายังมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อพิจารณาดำเนินการขุดลอกแหล่งกักเก็บน้ำ โครงการมีพื้นที่รวมประมาณ 300 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ในฤดูฝน และสามารถปล่อยน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรในฤดูแล้งได้ 2,000 ไร่
               ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชกระแสในคราวประชุมคณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ให้ดำเนินการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการแก้มลิงของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุมัติให้ดำเนินงานโครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้น อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550
 

พื้นที่ดำเนินงาน

                โครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้น ตั้งอยู่ที่ ฝั่งตะวันตกของถนนพหลโยธิน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสายทอง ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าโมก และตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง มีพื้นที่ทั้งหมด 320 ไร่ ประกอบด้วยสระน้ำ จำนวน 3 สระ มีพื้นที่ 99 ไร่ 73 ไร่ และ 90 ไร่ ตามลำดับ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่คันดิน และพื้นที่พัฒนาการเกษตร

 

หน่วยงานรับผิดชอบ

             1. สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาสำนักชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน

             2.องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จังหวัดอ่างทอง

             3. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของจังหวัดอ่างทอง

             4.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำการเกษตร

 

ผลการดำเนินงาน

1.การขุดลอกหนองเจ็ดเส้น
การดำเนินการขุดลอกหนองเจ็ดเส้น และปรับปรุงท่อรับน้ำ และระบายน้ำ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาอุทกภัย และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง โดยการดำเนินงานที่แล้วเสร็จ สามารถรองรับน้ำได้ 1,467,200 ลูกบาศก์เมตร
2. การส่งน้ำให้แก่เกษตรกร
     2.1 บริเวณพื้นที่โครงการ เกษตรกรสูบน้ำจากสระเข้าพื้นที่การเกษตรโดยตรง
     2.2 พื้นที่บริเวณริมคลองระบายสายใหญ่ด้านใต้โครงการ เกษตรกรสูบน้ำจากสระลงสู่คลองระบายสายใหญ่ แล้วสูบน้ำจากคลองระบายสายใหญ่เข้าสู่พื้นที่การเกษตรอีกครั้งหนึ่ง
     2.3 พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของโครงการ เกษตรกรสูบน้ำจากสระลงสู่คลองยายนวลให้น้ำไหลไปตามคูน้ำ แล้วจึงสูบน้ำจากคูน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรอีกครั้งหนึ่ง
3. การพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบแก้มลิง
     3.1 บริเวณโครงการแก้มลิงหนองเจ็ดเส้น ดำเนินการบดอัดลูกรังผิวจราจรรอบคันหนอง ติดตั้งบานระบายอาคารประกอบ ขุดลอกคลองยายนวล และคูส่งน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำเข้าแก้มลิง และระบายน้ำออกจากแก้มลิง และบริหารจัดการน้ำตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้
     3.2.การพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบแก้มลิงให้เป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรตามแนวพระราชดำริ
 -  ปรับปรุงบำรุงดินบริเวณพื้นที่การเกษตรที่มีความเปรี้ยวจัดโดยใช้กระบวนการธรรมชาติ ได้แก่ ใช้น้ำล้าง ใช้ปุ๋ยพืชสด
 -  ปลูกต้นไม้ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ และเป็นพืชที่สามารถช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินได้
 -  พัฒนากิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การปลูกพืชผักของเกษตรกร การเลี้ยงปลาในกระชัง การปลูกข้าว ให้สามารถมีปริมาณที่เหมาะสม มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน หลังจากนั้น สำนักงานมูลนิธิ
ชัยพัฒนา จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และการจัดจำหน่ายสินค้า ต่อไป


การดำเนินงานในระยะต่อไป

      การดำเนินการบริหารจัดการน้ำภายในบริเวณพื้นที่  เพื่อประโยชน์ของราษฎรในพื้นที่ต่อไป และป้องกันน้ำท่วมและลดการเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง  รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบโครงการ

 

 

 

  • ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ

curve