องค์ความรู้เรื่อง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้"

รายละเอียดองค์ความรู้

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ

ร.9 เสด็จฯ ศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ ในช่วงเวลาต่างๆ

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ดิน ในเอกสาร“soil Dev การพัฒนาดิน” ที่พระราชทานแก่สำนักงาน กปร. เกี่ยวกับปัญหาดินของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่ สรุปว่า มีสภาพ : หิน กรวด แห้งแล้ง ต้นเหตุของปัญหา มีการตัดป่า ในฤดูฝนจะมีการชะล้างเนื่องจากน้ำเซาะ จนเหลือแต่ หิน กรวด

          ทรงเล่าไว้ในเอกสารพระราชทาน ความว่า ...

          เมื่อ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ ไปตรวจเขื่อนห้วยฮ่องไคร้ตอนล่าง ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับช่วยราษฎรในบริเวณ สหกรณ์สันกำแพง ได้ปรึกษากับ นายทินกร คมกฤต ผู้เชี่ยวชาญปศุสัตว์ เรื่องลู่ทางที่จะใช้บริเวณเหนือเขื่อนสำหรับการเลี้ยงโคนม เขาบอกว่ามีแต่หิน อาจเลี้ยงได้สักสองสามตัวเท่านั้น ไม่คุ้มค่าลงทุน ครั้งนั้นได้คิดว่าถ้าได้พื้นที่นั้นมา จะสามารถทำให้คนอิจฉาภายในห้าปี

สภาพพื้นที่ศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ ช่วงแรกเริ่มโครงการ

          วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ได้ขอใช้บริเวณลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ทั้งลุ่ม เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากการลอบตัดไม้ และจากไฟไหม้ป่า และดินถูกน้ำชะล้างเป็นส่วนใหญ่ เหลือเป็นหินลูกรังและกรวด

          ส่วนล่างของพื้นที่ มีอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ นอกจากนั้นร่องห้วยต่างๆ แห้งหมด ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำและฝาย เพื่อกลับคืนความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ และพัฒนาคุณภาพของดิน

อ่างเก็บน้ำห้วยฮ๋องไคร้ในอดีตและปัจจุบัน

ฝายชะลอน้ำ (check dams) 

          เริ่มด้วยการผันน้ำจากห้วยน้ำแม่ลาย และปล่อยน้ำลงมาเก็บไว้ในอ่างน้ำเล็กๆที่ได้สร้าง ลดหลั่นลงมาจากยอดของพื้นที่จนถึงอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ นอกจากนี้ได้สร้างฝายชลอน้ำ (check dams) ในร่องห้วยเล็กๆและได้ผันน้ำจากอ่างน้ำเล็กๆ ลงไปในร่องห้วยเล็กๆนั้นๆ เมื่อระบบเริ่มทำงาน ต้นไม้ที่ถูกทำลายก็ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจนเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกขึ้นใหม่มากนัก ส่วนที่มีความลาดชันน้อยและใกล้อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ก็สามารถปลูกพืชไร่ ในอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ก็สามารถเลี้ยงปลา การสร้างระบบน้ำ กระทำระหว่างปี ๒๕๒๗ กับปี ๒๕๓๒

          เมื่อมีระบบน้ำแล้ว จึงแบ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นเขตๆ

          ๑. ในที่สูงและที่ที่เคยเป็นป่าสมบูรณ์ ได้ส่งเสริมให้เป็นป่าไม้ โดยแบ่งเป็นเขตต่างๆ

                          ๑). ส่วนที่มีน้ำเลี้ยงจากระบบตลอดเวลา (ฝาย check dam และ เหมืองที่มีน้ำหล่อเลี้ยง)

                          ๒). ส่วนที่มีห้วยแห้ง แต่รับน้ำเป็นครั้งคราว (มี check dam ที่รับน้ำฝน หรือจากระบบเป็นครั้งคราว)

                          ๓). ส่วนที่มีห้วยแห้งที่รับน้ำตามธรรมชาติ (มี check dam ที่รับแต่น้ำฝน)

                          ๔). ส่วนที่มีห้วยแห้งที่รับน้ำตามธรรมชาติ (ไม่มี check dam ที่รับน้ำฝน)

  ใน ๔ กรณีนี้ ให้มีการปลูกต้นไม้เสริมบ้าง ไม่ปลูกเสริมบ้าง

            ๒. นอกจากนี้ ให้ทำการฟื้นฟูดินซึ่งส่วนมากเป็นหิน กรวด ทราย หินและดินลูกรัง ให้สามารถทำเป็น ทุ่งหญ้าสำหรับปศุสัตว์บ้าง ปลูกพืชไร่บ้าง พืชสวนบ้าง

            ๓. ที่ใกล้อ่างเก็บน้ำ ห้วยฮ่องไคร้ ให้ทำนาข้าว

            ๔. ในอ่างเก็บน้ำ ห้วยฮ่องไคร้ ให้เลี้ยงปลา โดยตั้งเป็นกลุ่มหรือสหกรณ์การประมง หลังจากดำเนินการมาประมาณห้าปี ก็เห็นผลของการปฏิบัติ หลังจากดำเนินการมาประมาณสิบปีก็ได้เห็นผลของการปฏิบัติยิ่งชัดขึ้นอีก การอนุรักษ์ดินโดยใช้น้ำและหญ้าแฝกควบกันจะสามารถทำให้พื้นที่นี้มีความสมบูรณ์เต็มที่

ภาพศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ในปัจจุบัน 

 

 


 

                                                                             กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                             ๘ มีนาคม ๒๕๖๒

curve