องค์ความรู้เรื่อง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

เรื่อง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง”

         
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดินของ   ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส สรุปว่า เป็นสภาพ “พรุ” เก่า ดินประกอบด้วยพืช ที่ทับถมลงมาเป็นเวลานาน และผสมกับน้ำทะเลมีผลให้เป็นดินที่มีแร่กำมะถัน เมื่อสัมผัสกับอากาศ ก็กลายเป็นออกไซด์ และเมื่อผสมกับน้ำก็กลายเป็นกรดกำมะถัน (Sulfuric acid)

                                ร.9 เสด็จฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง

          เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๒ มีพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านยางแดง ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ให้นายทหารแผนที่สำรวจภูมิประเทศ ตามพิกัดที่พระราชทาน     

          เดือน กันยายน ๒๕๒๔ ทรงเร่งการสร้างอ่างเก็บน้ำ “ใกล้บ้าน” เพื่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่บ้านพิกุลทอง ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส

          เดือน มกราคม ๒๕๒๕ เริ่มดำเนินการตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง” และสร้างอ่างเก็บน้ำ“ใกล้บ้าน” สร้างเสร็จ ๒๕๒๖ ความจุ ๒,๘๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร   

         อ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน

          ๑๖ กันยายน ๒๕๒๗ ทดลองปลูกข้าวที่บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำ “ใกล้บ้าน” และเริ่มโครงการ “แกล้งดิน”     

          ๑ ตุลาคม ๒๕๓๑ ขุดดินในอ่างมาถมขอบให้สูงขึ้น เพื่อปลูกยางพาราและพืชอื่นๆ

          ๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ ขยายผลโครงการ “แกล้งดิน” ไปสู่พื้นที่อื่น ให้พิจารณาสูบน้ำจากบางนารามาเติมอ่างเก็บน้ำ “ใกล้บ้าน” โดยใช้ท่อ (สร้างเสร็จ ๒๕๔๐)

         แปลง“แกล้งดิน”

          ในเขตศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองมีดินสามชนิดใหญ่ๆ คือ ดินพรุ ดินลูกรัง ดินชุด “บ้านทอน”

          ๑) ดินพรุ (ที่ลุ่ม) ดินพรุชั้นบน เป็นดิน มีอินทรียวัตถุมาก ชั้นรองไป มีสารไพไรท์ (pyrite) ซึ่งประกอบด้วยเหล็กและกำมะถัน เมื่อสัมผัสกับอากาศจะกลายเป็นออกไซด์และผสมกับน้ำก็จะกลายเป็นกรดกำมะถัน

          ๒) ดินลูกรัง ส่วนใหญ่อยู่บนเนินเขา ชั้นบนมีอินทรียวัตถุบางๆ (ประมาณห้าเซนติเมตร) และถัดไปเป็นดินลูกรัง ซึ่งเป็นดินประกอบด้วยเหล็กถ้าระวังมิให้ถูกน้ำและลมชะล้างไป ดินนี้จะพัฒนาขึ้นมาเป็นดินอุดมสมบูรณ์ได้

          ๓) ดินชุด “บ้านทอน” ชั้นบนมีอินทรียวัตถุบางมาก ถัดลงไปเป็นทรายต่อด้วยดินดาน (แข็งมาก) ถ้านำดินชั้นบนของ ๑) ดินพรุ มาผสมกับ ๓) ดินชุด (บ้านทอน) จะได้ดินที่ใช้ได้ดี

          สำหรับ ๒) ดินลูกรัง ถ้าไม่มีอินทรียวัตถุเพียงพอจะต้องเติมจุลินทรีย์โดยปลูกหญ้าต่างๆ จะทำให้มีอินทรีย์วัตถุและปุ๋ยไนโตรเจน

          สำหรับ ๑) ดินพรุ ต้องทำกรรมวิธี “แกล้งดิน” โดยอาศัยน้ำจืดชะล้างความเปรี้ยวและผสมหินปูนฝุ่นเล็กน้อย

          เมื่อได้น้ำและชะล้างความเปรี้ยวแล้ว ปัญหาก็ไม่มากนัก ปลูกข้าว ปลูกถั่ว ปลูกผัก ปลูกต้นไม้นานาชนิด เลี้ยงปลาในบ่อได้

 

                                                                                                                                                  

 

                                                                                                 กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                                  ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

curve