องค์ความรู้เรื่อง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบนฯ "

รายละเอียดองค์ความรู้

 

องค์ความรู้

เรื่อง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบน”

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดินของ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี สรุปว่า ดินเค็ม เพราะน้ำทะเลขึ้นถึง

          มีพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการ กปร. และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑ ณ ศาลาดุสิดาลัย เกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบน บางตอน ความว่า

          “...ศูนย์ศึกษาคุ้งกระเบนจะเป็นการศึกษาเกี่ยวข้องกับชายทะเล ต้นไม้ต่างๆ ชายทะเลและปลา...”

          มีพระราชดำริกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ สรุปความว่า ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี

          มีพระราชดำริกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดจันทบุรีณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ สรุปความว่า ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตพื้นที่ชายทะเล

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาคุ้งกระเบน มีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานดำเนินการ ศึกษาทดลองและปรับปรุงสภาพแวดล้อมชายฝั่ง ฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งเติบโตของสัตว์น้ำมีพื้นที่โครงการประมาณ ๔๖,๐๐๐ ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางอ่าวคุ้งกระเบนประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ ให้ความรู้แก่ประชาชนในการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ป่าชายเลนให้มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งอย่างถูกวิธี การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ส่งเสริมให้นำเลนจากนากุ้งมาทำปุ๋ยเพิ่มผลผลิตและรายได้ ส่งเสริมการปลูกข้าวครบวงจร และพืชสมุนไพร เป็นต้น มีพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ ๑๖ หมู่บ้าน

          ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน ระบบชลประทานน้ำเค็ม การบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้ง การพัฒนาพื้นที่จากยอดเขาสู่ท้องทะเล เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่รอยต่อระหว่างเชิงเขากับป่าชายเลน

ป่าชายเลนบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน

     จากผลการศึกษาทดลอง นำองค์ความรู้มาจัดทำหลักสูตรขยายผล ดังนี้

  1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติท้องทะเล
  2. การอนุรักษ์ป่าชายเลน
  3. การอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า
  4. การเลี้ยงกุ้งทะเลในระบบปิด
  5. การเพาะและอนุบาลปลาการ์ตูน
  6. การผลิตปุ๋ยหมักจากดินเลนนากุ้ง
  7. การปรับปรุงบำรุงดิน ป้องกันโรคพืชและแมลงโดยชีววิธี
  8. การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ
  9. การผลิตผักปลอดสารพิษในพื้นที่ดินทราย
  10. การผลิตไม้ดอกในพื้นที่ดินทราย
  11. การผลิตไม้ผลเศรษฐกิจปลอดภัยจากสารพิษ
  12. การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันเพื่อทดแทนโปรตีนจากอาหารสัตว์
  13. การแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มรายได้
  14. การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
  15. การแปรรูปสมุนไพร
  16. การเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งและชันโรง

         

                                       การเลี้ยงกุ้ง                                            การทำปุ๋ยหมักจากดินเลนนากุ้ง

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

ข้าวครบวงจร

                                                              ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้าน

 

 กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                                    มกราคม ๒๕๖๒

 

 

 

 

 

 

 

 

 

curve