องค์ความรู้เรื่อง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ฯ "

รายละเอียดองค์ความรู้

 องค์ความรู้

เรื่อง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน”

 

            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดินของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา สรุปว่า เป็นดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ต้นเหตุของปัญหามาจากการตัดป่า แล้วปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลังซึ่งทำให้ดินจืดและกลายเป็นดินทราย ในฤดูแล้งจะมีการชะล้างเนื่องจากลมพัด ในฤดูฝนจะมีการชะล้างเนื่องจากน้ำกัดเซาะ

รัชกาลที่ 9 เสด็จไปศูนย์ฯ เขาหินซ้อนฯ

รัชกาลที่ 9 เสด็จไปศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522

รัชกาลที่ 9 เสด็จไปศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2540

 

          ทรงอธิบายไว้ในเอกสาร “Soil Dev การพัฒนาดิน” ซึ่งเป็นโทรสาร พระราชทานแก่สำนักงาน กปร. ดังนี้

          เรื่องเดิม ตอนแรกมีที่ดิน ๒๖๔ ไร่ ที่ผู้ใหญ่บ้านให้ “เพื่อสร้างพระตำหนัก” ในปี ๒๕๒๐ ด้วยความเห็นชอบของผู้ให้ที่ดิน  ตกลงทำเป็นพื้นที่ทดลองทางเกษตรกรรม และเป็นแหล่งการศึกษา ทางเกษตรกรรม ต่อมาได้ผนวกที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ ของค่ายลูกเสือพนมสารคามเข้ามาในโครงการ และมีบริษัทเอกชนอื่นๆ มาสมทบอีกจนรวมเป็นพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่

          ก่อนอื่นได้สร้างเขื่อนกั้นห้วยเจ็ก ซึ่งมีน้ำซับเมื่อไปทำพิธีเปิดพระบรมรูปสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่วัดเขาหินซ้อน ได้ไปสำรวจพื้นที่และกำหนดที่ทำเขื่อน (๘ ส.ค. ๒๕๒๒) ต่อจากนั้นได้สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม (นอกเขต) คือ อ่างห้วยสำโรงเหนือ และห้วยสำโรงใต้

อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก

          ที่ดินที่อยู่ในร่องห้วยคุณภาพพอใช้ได้ ไม่มีปัญหามาก ใช้ปุ๋ยตามปกติ ที่บนเนินปรากฏว่าเป็นทราย ดินดาน และหิน ต้องปลูกหญ้าตามแนวระดับเพื่อยึดดิน และให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์ ดิน (ทราย) ที่ไม่ปลูกหญ้าถูกชะล้างเมื่อฝนตกปลูกต้นไม้นานาชนิดเพื่อรักษาความชื้น

          เมื่อพัฒนาน้ำขึ้นมาบ้างแล้วก็เริ่มปลูกพืชไร่และเลี้ยงปลาในที่ลุ่ม ส่วนที่อยู่บนเนินก็เลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้า และต้นไม้ผลและป่า การเลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้าและต้นไม้นี้จะทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ในที่สุดจะใช้ที่ดินได้ทั้งหมด กรรมวิธีนี้อาจต้องใช้เวลานานจะสามารถเปลี่ยนจากกระบวนการที่ไปในทางเสื่อม มาเป็นทางพัฒนาให้เป็นพื้นที่สมบูรณ์

          ต่อมา มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการ กปร. และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑ ณ ศาลาดุสิดาลัย เกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ บางตอน ความว่า

          “...การเริ่มตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เริ่มที่ศูนย์ศึกษาฯ เขาหินซ้อน ประวัติมีว่า มีผู้ที่ได้ให้ที่ประมาณ ๒๕๐ ไร่ ที่เชิงเขาหินซ้อน ใกล้วัดหินซ้อน แล้วก็บอกว่าขอให้ถวายสำหรับสร้างพระตำหนัก ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่า ที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน ก็พยายามสืบถามและได้คิดมา ๒ ปี พยายามหาบนแผนที่ว่าสถานที่นี้เป็นอย่างไร แล้วก็สอบถามดูว่าลักษณะของพื้นที่เป็นอย่างไร ก็ได้พบบนแผนที่ พอดีไปอยู่มุมของระวางแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ ๔ ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน แล้วก็เลยถามผู้ที่ให้นั้น ถ้าหากไม่สร้างตำหนักแต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกว่ายินดี ก็เลยเริ่มทำในที่ ๒๕๐ ไร่ นั้น

 

สภาพดั้งเดิมของพื้นที่ศูนย์ฯ เขาหินซ้อนฯ

 

          อันแรกก็ได้ให้กรมชลประทานได้สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็แปลกเพราะว่าอ่างเก็บน้ำนั้นเท่ากันกับกินที่ของที่ที่ได้มาเกือบทั้งหมด จะมีเหลือเพียงไม่กี่ไร่ที่จะใช้การสำหรับการเพาะปลูก โดยใช้น้ำชลประทาน ก็เริ่มต้นอย่างนั้น คือ ไม่ถือว่าผิดหลักวิชา...มีที่เท่าไรก็มาใช้ ส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำแล้วก็มาใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกพืชไม่กี่ไร่ แต่ถือว่าทำเป็นตัวอย่าง และก็ผลประโยชน์ที่ได้ก็ไม่ใช่เฉพาะในที่ของเราเป็นในที่ที่ว่าลงไปข้างล่าง ก็คงได้รับประโยชน์จากน้ำที่กักเอาไว้

          ต่อมาฝ่ายกรมต่างๆ ก็บอกว่าที่แถวนี้ดินมันไม่ดีใช้ไม่ได้ ไม่ควรจะทำโครงการ ไม่คุ้ม แต่ว่าก็ได้เรียกว่าดินไม่ดีนั้นเองมีเยอะแยะในประเทศไทย ถ้าหากว่าบอกว่าที่นี่ดินไม่ดี ไม่ช่วย ไม่ทำ ลงท้ายกลายเป็นประเทศไทยทั้งประเทศจะกลายเป็นทะเลทราย เพราะว่าไม่ช่วย เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจ ก็เลยพยายามหาวิธีที่จะฟื้นฟูดินให้เป็นดินที่ใช้การได้ คือ มาบัดนี้ปลูกข้าวได้ ปลูกพืชอะไรต่างๆ ก็ได้ โดยที่ถ้าดูตามสูตรที่เขาใช้กันว่า ลงทุนเท่าไร แล้วมีผลประโยชน์เท่าไร มีสัดส่วนอย่างไร ก็ออกจะไม่ได้ แต่ว่าถ้าหากว่านึกดู เราปรับปรุงแล้ว พื้นที่ที่ได้ประโยชน์ต่อไปก็มากขึ้น และมีผลผลิตมากขึ้น นอกจากนั้นผลผลิตนอกเขตก็จะได้มาก เป็นอันว่าเหมาะสมในการทำโครงการ...”

          “...ต่อจากนั้นที่เขาหินซ้อนก็มีพื้นที่เป็นประโยชน์ของโครงการ ก็ได้ให้ที่เพิ่มเติมขึ้นไป และได้รวมที่ที่เป็นค่ายลูกเสือของกระทรวงศึกษาเข้ามาอยู่ในเขตด้วย จนกระทั่งเป็นที่พันกว่าไร่ และได้ทำการค้นคว้าหลายอย่าง เช่น ปลูกต้นยางพารา...”

          ต่อมาพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ว่าราชการจังหวัดระบบบูรณาการ (ผู้ว่าซีอีโอ) เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ณ วังไกลกังวล หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ บางตอน ความว่า

          “...ตอนศึกษาดูพื้นที่นั้น พัฒนายากมาก เพราะว่ามีแต่หิน แล้วก็เขาปลูกที่มีปลูกที่นั่น มีปลูกมันสำปะหลังก็เลยนึกว่าอาจจะสาธิตการปลูกมันสำปะหลัง แต่มันสำปะหลังนั้นแม้จะไม่มีน้ำ ก็ยังปลูกได้โดยง่าย แต่ที่นี่เขาปลูกมันสำปะหลังไม่ขึ้นหมายความว่าอะไร ปุ๋ยไม่มี น้ำไม่มี มีแต่ทรายก็เลยว่า ก็จะต้องพัฒนาที่นี่ให้เป็นที่ที่สามารถปลูกแม้แต่มันสำปะหลังอย่างนี้...”

          “...ความจริงที่ตรงนั้นจะราคาแพงขึ้นเยอะ...เดี๋ยวนี้ที่นั่นปลูกมะม่วงปลูกผักได้อย่างดีมีกำไร ที่รักที่ตรงนั้นไม่ใช้ที่จะทำให้มีกำไร ไม่เคยเอาเงินที่ได้มา เป็นถือว่าเป็นกำไร แต่ว่าสร้างเพิ่มเติม และซื้อที่เพิ่มเติมให้สามารถที่จะเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ซึ่งคนก็รู้จักกันทั้งนั้น...”

          “...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนนั้น ปี ๒๕๒๐ ที่ได้มาเริ่มต้น ๒๕๒๒...”

          ปัจจุบัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ดินทรายที่มีความลาดชันมีปัญหาการชะล้างพังทลายสูง ให้กลายเป็นดินอุดมสมบูรณ์ปลูกพืชได้ มีความโดดเด่นด้านการใช้หญ้าแฝก แก้ปัญหาการชะล้างหน้าดิน การฟื้นฟูป่า การปลูกและแปรรูปสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

          จากผลการศึกษาทดลอง นำองค์ความรู้มาจัดทำหลักสูตรขยายผล ดังนี้

  1. การปลูกยางพารา
                                                     
     
  2. การเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจร

     
  3. การปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕
                           

     
  4. หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในระบบเกษตรยั่งยืน
     
  5. การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง
  6. การผลิตและใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก
                      
  7. เกษตรทฤษฎีใหม่

     
  8. การใช้หมากดิบในการถ่ายพยาธิไก่พื้นเมือง

                                                

     
  9. การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร

                                         
      
  10. การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนท์และกระชัง
     
  11. การจักสานจากเส้นใยพืช
                         
  12. การเลี้ยงเป็ดไข่ปากน้ำ
                                                
  13. การปลูกมะนาวนอกฤดูในบ่อซีเมนท์

 

 

                                ---------------------------------------------------------------------------                                                                                              

 

    กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                                    ธันวาคม ๒๕๖๑

 

curve