องค์ความรู้เรื่อง"โครงการปลานิลพระราชทาน"

รายละเอียดองค์ความรู้

 โครงการปลานิลพระราชทาน

          โครงการปลานิลพระราชทาน เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก โครงการปลาหมอเทศ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี ๒๔๙๕ โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทดลองเลี้ยงปลาหมอเทศที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นำเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวายที่สระน้ำในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน และมีพระราชดำริให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดที่เลี้ยงง่าย เติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

 

การเลี้ยงปลาหมอเทศในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน

     

     จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วราชอาณาจักร เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานลูกปลาหมอเทศที่ทรงเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ไว้ไปปล่อยขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มีปลาเป็นอาหารโปรตีนบริโภค ยกระดับภาวะโภชนาการ เป็นประโยชน์แก่การดำรงชีพของประชาชนในชนบททั่วประเทศ

          อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการเลี้ยงปลาหมอเทศไปสู่ประชาชน ปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมรับประทานแพร่หลายนัก เนื่องจากเป็นปลาชนิดใหม่ที่นำเข้ามาในประเทศไทย คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับกลิ่นและรสชาติ ปัจจุบันยังมีการเลี้ยงปลาหมอเทศอยู่ในบางพื้นที่ ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศแก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

          เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๘ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ขณะทรงดำรงพระยศเป็น มกุฎราชกุมาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกปลาสายพันธุ์ใกล้เคียงกับปลาหมอเทศ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia nilotica จำนวน ๒๕ คู่ ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปเลี้ยงไว้ที่บ่อปลา ในบริเวณสวนจิตรลดา ปลาดังกล่าวได้เจริญเติบโตขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานปลานิลให้แก่กรมประมง

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งดำรงอิสริยยศ มกุฎราชกุมาร แห่งประเทศญี่ปุ่น

          เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๙ ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” โดยทับศัพท์จากชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อพันธุ์ปลา “Nil” จาก “Nilotica” และได้พระราชทานพันธุ์ที่ทรงเพาะเลี้ยงกว่า ๑๐,๐๐๐ ตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้สถานีประมงจังหวัดต่างๆ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยงพร้อมกับปล่อยลงในแหล่งน้ำทั่วไปให้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชุมชนสำหรับการบริโภคต่อไป

 

การเลี้ยงปลานิลในบริเวณสวนจิตรลดา

          นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริให้กรมประมงรักษาสายพันธุ์ปลานิลแท้ เมื่อครั้งได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวาย ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าปลาที่พระราชทานไปขยายพันธุ์ต้องเป็นพันธุ์แท้ ซึ่งถ้ากรมประมงหาพันธุ์แท้ไม่ได้ก็ให้มาเอาที่สวนจิตรลดาและมีพระราชประสงค์ให้กรมประมงปรับปรุงพันธุ์ปลานิลให้ดีขึ้น ให้มีตัวโต มีเนื้อมาก ดังนั้น ปลานิลที่เพาะเลี้ยงในสวนจิตรลดา จึงมีชื่อเรียกว่า “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา” เพราะเป็นพันธุ์แท้นั่นเอง

 

ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 1

ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2

ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3

          ปัจจุบันสามารถพบปลานิลได้ในแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทย และพบได้ในตลาดสดของทุกจังหวัด แม้แต่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลทุรกันดาร ก็ยังพบว่ามีการเพาะเลี้ยงปลานิลอย่างแพร่หลาย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น เป็นผลให้ปลานิลเป็นที่รู้จักทั่วไป ประชาชนทั่วประเทศได้ประโยชน์นานัปการ เช่น ใช้เป็นอาหาร ใช้เพาะเลี้ยงเพื่อการค้า ใช้ในการทดลอง เป็นตัวอย่างในการศึกษาชีววิทยาของปลา และเป็นปลาชนิดหนึ่งที่กรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงและปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ เป็นจำนวนมากสมดังพระราชประสงค์ที่ทรงต้องการให้พสกนิกรมีอาหารโปรตีนบริโภคอย่างทั่วถึงไม่ขาดแคลน

          จากปลานิลจำนวน ๕๐ ตัว ในสระน้ำสวนจิตรดาสู่ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาที่กรมประมงนำไปขยายผลสู่ประชาชนไปแล้วกว่า ๑,๕๐๐ ล้านตัว คิดเป็นมูลค่ากว่า ๕,๗๐๐ ล้านบาท และมีการสนับสนุนพันธุ์ปลานิลให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องกว่า ๑ ล้าน ตัว/ปี เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ ช่วยยกระดับภาวะโภชนาการและสร้างอาชีพ รายได้ ให้แก่ประชาชนอย่างแพร่หลายและกว้างขวางในปัจจุบัน     

         

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงปล่อยปลา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงปล่อยปลา บริเวณบ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยทราย


      บ่อเลี้ยงปลาของเกษตรกร                   

                                                                                           

  กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                                ตุลาคม ๒๕๖๑

 

curve