องค์ความรู้เรื่อง"ทฤษฎีใหม่"

รายละเอียดองค์ความรู้

 

           ทฤษฎีใหม่

             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินไม่มากนัก เฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 15 ไร่และส่วนใหญ่อยู่ในเขตใช้น้ำฝน (นอกเขตชลประทาน) ซึ่งปกติจะมีน้ำใช้อย่างเหลือเฟือในช่วงฤดูฝน แต่จะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินการทดสอบ “ทฤษฎีใหม่” ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เมื่อต้นปี 2536

รัชกาลที่ 9 เสด็จไปทอดพระเนตร โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ จังหวัดสระบุรี

หลักการ คือ ในพื้นที่ประมาณ 10 – 15 ไร่ ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ประมาณร้อยละ 30 ขุดบ่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน สำหรับใช้อุปโภคบริโภคและใช้ให้น้ำพืช เมื่อฝนแล้ง หรือใช้ปลูกพืชที่มีราคาดีในฤดูแล้ง

ส่วนที่ 2 ประมาณร้อยละ 30 ใช้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อให้ครอบครัวมีข้าวบริโภคพอเพียงตลอดปี ในฤดูแล้งถ้ามีน้ำพอก็ใช้ปลูกถั่วเพื่อบำรุงดินหรือพืชผักที่มีราคาดี

ส่วนที่ 3 ประมาณร้อยละ 30 ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักและพืชไร่ แบบผสมผสานหลายๆ ชนิดเพื่อใช้บริโภคและจำหน่าย

ส่วนที่ 4 ประมาณร้อยละ 10 ใช้สำหรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ยุ้งข้าว คอกสัตว์ พืชผักสวนครัว

 

พื้นที่แปลง “ทฤษฎีใหม่” โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ จังหวัดสระบุรี

 

               จากนั้น ปลายปี 2537 มีพระราชดำริให้ทดสอบ “ทฤษฎีใหม่” ในที่ดินที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร และทรงพบว่ามีความทุกข์ยากเดือดร้อนจากความแห้งแล้ง ทำนาได้ผลผลิตเพียง 2 - 3 ถัง/ไร่ เท่านั้น ทำให้ราษฎรต้องอพยพทิ้งที่ทำกินไปทำงานในเมือง

รัชกาลที่ 9  เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎร อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

 

          ที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าว สภาพเดิมเป็นนา อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติอย่างเดียว เมื่อดำเนินการตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” แล้วทำให้มีข้าวและอาหารพอเพียงสำหรับการบริโภคและมีรายได้ตลอดปี จากการจำหน่ายผลผลิต พืชผัก ไม้ผล สัตว์เลี้ยง และปลาในบ่อน้ำ ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมดีขึ้น มีความชุ่มชื้นจากบ่อน้ำ มีร่มเงาของพืชพันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้อย่างหลากหลายตลอดปี

             นอกจากนี้ หากที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่ส่งน้ำชลประทาน ก็สามารถส่งน้ำมาเสริมบ่อกักเก็บน้ำของแต่ละแปลงได้ จะช่วยให้ความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำลดลง และถ้าทำหลายๆ แปลงเป็นกลุ่ม ก็จะทำให้พื้นที่รับน้ำชลประทานขยายขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า เพราะการใช้น้ำตามแนว “ทฤษฎีใหม่” เป็นการใช้น้ำตามความจำเป็นและประหยัด โดยกระจายกันได้รับประโยชน์ในพื้นที่กว้างขวางกว่า เช่น กรณีแปลงทฤษฎีใหม่วัดมงคลชัยพัฒนา มีการนำน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว และน้ำจากอ่างฯ ห้วยหินขาว มาเติมสระน้ำของเกษตรกร หรือที่เรียกว่า “อ่างใหญ่” เติม อ่างเล็ก และ “อ่างเล็ก” เติม “สระน้ำ” และกรณีที่อำเภอเขาวงก็เช่นเดียวกัน มีการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็น “อ่างใหญ่” มาเติมพื้นที่อ่างเก็บน้ำลำพะยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอ่างเล็กส่งน้ำเติมสระน้ำ “ทฤษฎีใหม่” ในพื้นที่อำเภอเขาวง

โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

       

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาวฯ ตำบลเขาดินพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี

อ่างเก็บน้ำลำพะยังฯ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ฯ จังหวัดกาฬสินธุ์

 

            ปัจจุบัน ได้มีการขยายผล “ทฤษฎีใหม่” ในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง จนอาจกล่าวได้ว่ามีแปลงเกษตร “ทฤษฎีใหม่” อยู่ในทุกตำบลทุกหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยของสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวแปรทำให้การดำเนินงานในแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกันออกไปตามสภาพของดิน ฟ้า อากาศ และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำไปพิจารณาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และ “ยืดหยุ่น” ตามสภาพ“ภูมิสังคม” ต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการแบ่งสัดส่วนพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แปลง “ทฤษฎีใหม่” อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

แปลง “ทฤษฎีใหม่” อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

 

               การพัฒนาตามแนว “ทฤษฎีใหม่” แบ่งออกเป็น 3 ขั้น ดังนี้

ทฤษฎีใหม่

ขั้นที่หนึ่ง

 

             1. ถ้าพูดอย่างสรุปที่สุด เป็นวิธีปฏิบัติของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย แปลงเล็ก (ประมาณ 15 ไร่)

           2. หลักสำคัญ : ให้เกษตรกรมีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวได้ (Self sufficiency) ในระดับชีวิตที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น

           3. มีการผลิตข้าวบริโภคพอเพียงประจำปี โดยถือว่าครอบครัวหนึ่ง ทำนา 5 ไร่ จะมีข้าวพอกินตลอดปี อันนี้เป็นหลักสำคัญของทฤษฎีนี้

          4. เพื่อการนี้ จะต้องใช้หลักว่า ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ฉะนั้น 5 ไร่ ต้องมี 5,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ละแปลง (15 ไร่) ทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผล ฯลฯ 5 ไร่ (= 10 ไร่) จะต้องมีน้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

                    

                                            จึงได้ตั้งสูตรคร่าวๆ ว่า แต่ละแปลงประกอบด้วย

                                    นา 5 ไร่ และพืชไร่และสวน 5 ไร่

                                   สระน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร จุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร (19,200)

                                   ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ 2 ไร่

                                  รวมทั้งหมด 15 ไร่

              5. อุปสรรคสำคัญที่สุดคือ : อ่างเก็บน้ำ หรือสระที่ได้รับน้ำให้เต็มเพียงปีละหนึ่งครั้ง จะมีการระเหยวันละ 1 เซนติเมตร โดยเฉลี่ย ในวันที่ฝนไม่ตก หมายความว่า ในปีหนึ่งถ้านับว่าแห้ง 100 วัน ระดับน้ำของสระจะลดลง 3 เมตร (ในกรณีนี้ ¾ ของ 19,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำที่ใช้ได้จะเหลือ 4,750 ลูกบาศก์เมตร) จึงจะต้องมีการเติมน้ำเพื่อให้เพียงพอ

                6. มีความจำเป็นที่จะมีแหล่งน้ำเพิ่มเติม สำหรับโครงการวัดมงคลชัยพัฒนา ได้สร้างอ่างเก็บน้ำจุ 800,000 ลูกบาศก์เมตร สำหรับเลี้ยง 3,000 ไร่

                7. ลำพังอ่างเก็บน้ำจุ 800,000 ลูกบาศก์เมตรจะเลี้ยงได้ 800 ไร่ (โครงการวัดมงคลชัยพัฒนา มีพื้นที่ 3,000 ไร่ แบ่งเป็น 200 แปลง) อ่างนี้จึงเลี้ยงได้ 4 ไร่ต่อแปลง ลำพังสระในแปลงเลี้ยงได้ 4.75 ไร่ จึงเห็นได้ว่าหมิ่นเหม่มาก (4.75 ไร่ + 4.00 ไร่ = 8.75 ไร่) ถ้าคำนึงว่า 8.75 ไร่นั้น จะทำเกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์ได้อีก 6.25 ไร่ จะต้องอาศัยเทวดาเลี้ยง แต่ถ้าคำนึงว่า ในระยะที่ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้น้ำ หรือมีฝนตก น้ำฝนที่ตกมาจะเก็บไว้ได้ในอ่างและในสระ สำรองไว้สำหรับเมื่อต้องการ อ่างและสระจะทำหน้าที่เฉลี่ยน้ำฝน (regulator) จึงเข้าใจว่าในระบบนี้น้ำจะพอ

               8. ปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่ง คือ ราคาการลงทุนค่อนข้างสูง เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก (ทางราชการ ทางมูลนิธิ และ ทางเอกชน) แต่ค่าดำเนินการไม่สิ้นเปลืองสำหรับเกษตรกร

 

ทฤษฎีใหม่

          มูลนิธิชัยพัฒนา

     วันที่ 15 มีนาคม 2537

 

ทฤษฎีใหม่

ขั้นที่สอง

 

            เมื่อตั้งศูนย์บริการที่วัดมงคลชัยพัฒนา และแปลงตัวอย่างที่ “ทางดิสโก้” สำเร็จแล้ว เกษตรกรที่เริ่มเข้าใจวิธีการ จึงขอให้ดำเนินการในที่ดินของตน เมื่อได้ผลก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงใน

                            1) การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)

                            2) การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)

                            3) การเป็นอยู่ (กะปิน้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)

                            4) สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)

                            5) การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)

                            6) สังคมและศาสนา

ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน

 

ทฤษฎีใหม่

                                                                                              มูลนิธิชัยพัฒนา

                                                                                        วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2538

         

ทฤษฎีใหม่

ขั้นที่สาม

 

               ติดต่อร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และ กับแหล่งพลังงาน (บริษัทน้ำมัน) ตั้งและบริหารโรงสี (2) ตั้งและบริหารร้านสหกรณ์ (1, 3) ช่วยการลงทุน (1, 2) ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต (4,5,6)

              ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกร และฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์

              : เกษตรกรขายข้าวในราคาสูง (ไม่ถูกลดราคา)

                ธนาคารกับบริษัทซื้อข้าวในราคาต่ำ

                (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง) (2)

                เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาต่ำ

                (เป็นร้านสหกรณ์ ราคาขายส่ง) : (1, 3)

                : ธนาคารกับบริษัท จะสามารถกระจายบุคลากร

 

                                                                                        ทฤษฎีใหม่

                                                                                              มูลนิธิชัยพัฒนา

                                                                                       วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2538

แผนผังการแบ่งที่ทำกินตามสัดส่วนของ “ทฤษฎีใหม่”

         


                                 

                                                                                             กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                               กันยายน 2561

 

 

curve