องค์ความรู้เรื่อง"การพัฒนาข้าวไทย"

รายละเอียดองค์ความรู้

 

การพัฒนาข้าวไทย

        ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและประชากรโลก เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินที่ผลิตข้าวเลี้ยงชาวโลกอยู่ในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า คนโบราณที่อาศัยอยู่ในถ่ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน รู้จักนำข้าวมาปลูกและหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ เมื่อประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว คนโบราณที่โนนนกทา จังหวัดขอนแก่น และบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี นำ “ข้าวป่า” มาปลูกจนหางข้าวป่าหดหายเปลี่ยนเป็น “ข้าวปลูก” ที่สมบูรณ์ เมื่อประมาณ 5,000 – 5,500 ปีมาแล้ว นักโบราณคดี จึงสรุปว่า ศูนย์กลางการเพาะปลูกข้าวอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยหินใหม่ แล้วต่อมาจึงแพร่กระจายขึ้นไปที่อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ตามลำดับ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เมืองไทยเราปลูกข้าวได้ก่อนใครในโลก

ภาพแกลบข้าวที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

           

ภาพเขียนสึ นาข้าวและวัว-ควาย ที่โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

           พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาทดลองทำนาปลูกข้าวด้วยพระองค์เองในบริเวณสวนจิตรลดา ทำให้ทรงทราบว่าการทำนานั้นมีความยากลำบาก จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดีและต้องใช้วิชาการต่างๆ จึงจะได้ผล อีกประการหนึ่งที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรจะปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย และช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืชทำให้ดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป

รัชกาลที่ 9 ทรงหว่านข้าว ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

         ทรงลึกซึ้งถึงมิติด้านวัฒนธรรม มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับปรุง “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร โดยเสด็จฯ มาทรงเป็นประธาน ตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ในการนี้ มีพระราชดำริให้จัดทำ “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” เพื่อแจกแก่ประชาชนที่มาเฝ้าฯ ในวันพระราชพิธีนี้และชาวนาในต่างจังหวัด เพื่อเป็นมิ่งขวัญสิริมงคล ความเจริญแห่งพืชผลของเกษตรกรต่อไป

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง

          สำหรับแปลงนาทดลองในสวนจิตรลดาอยู่ทางด้านถนนศรีอยุธยา เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้ แบ่งเป็น 3 แปลงๆ ละ 1,000 ตารางเมตร ทำนาด้วยวิธีปลูก 3 วิธี คือ นาดำ นาหยอด และนาหว่าน ผลผลิตข้าวที่ได้นำไปเข้าพิธีพืชมงคลฯ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพิธีแรกนา ในบริเวณท้องสนามหลวง ประมาณ 20 กิโลกรัม ส่วนข้าวในกระบุงของเทพีคู่หาบเงินและคู่หาบทองนั้น พระยาแรกนาจะนำไปปลูกในแปลงนาที่สวนจิตรลดาและเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหลือจะนำไปบรรจุในซอง พิมพ์ชื่อ “พันธุ์ข้าวพระราชทาน” ประมาณ 60,000 ซอง แจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและสิริมงคล
ในการเพาะปลูกต่อไป

ซองบรรจุพันธุ์ข้าวพระราชทาน

แปลงนาข้าวในสวนจิตรลดา

แปลงนาข้าว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ 

          การเตรียมดินในระยะแรกๆ ทรงขับรถไถเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าวและทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำขวัญข้าวหรือทำขวัญแม่โพสพด้วย ขณะที่ต้นข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง ตามประเพณีโบราณที่จะมีการปักฉัตรกับธงสีต่างๆ เจิมเครื่องหอม ตัดแต่งใบข้าว และร้องเพลงทำขวัญแม่โพสพ ซึ่งพิธีดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาไทยในการป้องกันนกลงกินข้าวในนา โดยการปักธงสีต่างๆ และการตัดแต่งใบข้าวจะช่วยให้ข้าวออกรวงมากขึ้น หรือมีผลผลิตมากขึ้นนั่นเอง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัชกาลที่ 9 ทรงขับรถไถนา
ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9
เสด็จพระราชดำเนินไปยังทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

                                รัชกาลที่ 9 ทรงเกี่ยวข้าว                                          รัชกาลที่ 9 ทรงเกี่ยวข้าว
                  ณ บ้านบางแตน จังหวัดปราจีนบุรี                      ณ ทุ่งมะขามหย่อง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหว่านข้าวในสวนจิตรลดา ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

          แปลงนาข้าวทดลองในสวนจิตรลดา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2504 โดยการทำนาสวนในฤดูฝน ปลูกข้าวไร่ในฤดูฝนโดยไม่ใช้น้ำชลประทาน และปลูกพืชหมุนเวียนในนาข้าวหลังฤดูทำนา จำพวกพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นการบำรุงดิน ซึ่งจากวิธีการดังกล่าว ประกอบกับมีการไถกลบตอซังข้าว พบว่า ทำให้ดินมีค่า pH สูงขึ้น จนเกือบเป็นกลาง มีการสะสมอินทรียวัตถุและปริมาณธาตุอาหารหลัก เช่น ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในดินเพิ่มขึ้น

          นอกจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อนำไปส่งเสริมแก่เกษตรกร การฟื้นฟูประเพณีเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ การสาธิตวิธีการทำนาที่ได้ผลดีแล้ว ยังทรงส่งเสริมการบริหารจัดการอย่างครบวงจร ได้แก่ การจัดตั้งโรงสีข้าว ธนาคารข้าว ธนาคารโคและกระบือ การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาข้าว โดยจะเห็นได้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และโครงการในลักษณะบูรณาการ จะมีงานทดลองทดสอบการปลูกข้าวอยู่ด้วยทุกแห่ง โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ดินตามแนวเกษตร “ทฤษฎีใหม่” จะต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการปลูกข้าวให้พอเพียงต่อการบริโภค

             โรงสีข้าวพระราชทานอ่าวน้อย                                  โรงสีข้าวพระราชทาน 
                   จังหวัดประจวบคีรีขันธ์                                           อ.ท่าวังผา จ.น่าน

                           ธนาคารข้าว                                           ธนาคารโคและกระบือ

 

          จากพระราชกรณียกิจและพระปรีชาสามารถในการพัฒนาข้าวไทย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ AGRICOLA ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 และสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539

         

เหรียญ AGRICOLA ของ FAO

                                                                                     

 

เหรียญเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 
ของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ

                                                                                                    

 

 

                                                                                                   กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                    
สิงหาคม 2561

สรุปพระราชดำริ รัชกาลที่ ๙ – ด้านการเกษตร (ข้าว)

เดือน พฤษภาคม ๒๕๐๔

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา

          “ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรจะปลูกพืชอื่น ๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้นเหมาะสำหรับ ทำนาในฤดูต่อไป”

๖ มีนาคม ๒๕๑๔

            พระราชดำรัส ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          “เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข่าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อน
แก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพงและข้าวที่ชาวนาขายถูก

          เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่ายุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉางก็เพราะเขาติดหนี้

          เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้น หรือ กะปิ น้ำปลา หรือแม้แต่ข้าวสารก็ต้องบริโภค
ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาดหรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำ อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง คือว่า ชาวนาทำนาไปตลอดปีก็ต้องบริโภค
เมื่อต้องบริโภคก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามาสำหรับหาสิ่งของบริโภคแล้วก็เอาเครื่องบริโภค ก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่าไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลแล้วก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้แล้วก็เชื่อของนั้นก็มีราคาแพง เพราะว่านำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขาย
ก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามักรับถึงที่ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญ

          ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็จะแก้จุดนี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกัน และอาจจะต้องตั้งหรือตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านมือหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่มแล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวเองสี ก็ผ่านมือเพียงที่ผู้ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป”

 

ปี พ.ศ. ๒๕๑๙

          พระราชดำรัส เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ในเขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

          “ให้มีคณะกรรมการควบคุมที่คัดเลือกจากราษฎรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษาพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับคืนตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคในยามจำเป็น ให้คงบัญชียืมข้าวไปใช้จำนวนหนึ่งเมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ ก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย (ข้าว) จำนวนเล็กน้อย ตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวเป็นดอกเบี้ย ดังกล่าว ก็จะเก็บรวมไว้ในธนาคารและถือเป็นสมบัติของส่วนรวม ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้ง
ที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียน จะไม่มีวันหมด แต่จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวก็จะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย”

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙

          พระราชดำรัส เมื่อครั้งเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังภาคเหนือ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานีทดลองข้าวแห่งเดียวในภาคเหนือ

          “ในอนาคต ข้าวไร่มีบทบาทมากเพราะไม่ต้องใช้น้ำมาก และอาศัยนำฝนตามธรรมชาติ สำหรับพวกข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ให้เป็นพืชเสริมสำหรับแปรรูป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวเขา และเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง”

          นอกจากนี้ ยังได้มีพระราชปรารภให้กรมการข้าวจัดส่งพันธุ์ข้าวไร่ลูกผสมไปให้ประเทศเนปาลทดลองปลูกจำนวนหนึ่ง โดยมีพระราชดำรัส ว่า

          “ประเทศเนปาลเป็นประเทศเล็กมากเป็นประเทศที่น่าสงสาร เราจะต้องช่วยกัน มีมิตรจิต มิตรใจต่อกัน ถ้าหากไม่มีมิตรจิต มิตรใจต่อกันแล้ว สันติจะไม่มีในโลก”

๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐

          พระราชดำรัส ณ บ้านผาปู่จอม ตำบลกึ้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

          “การจัดเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกตามพื้นที่ลาดชัน จะต้องเก็บรักษาผิวดินเดิมซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ และต้องปลูกหญ้า หรือพืชอื่นปิดผิวดินไว้ไม่ให้ถูกฝน หรือกระแสน้ำชะล้างได้
และหากผิวดินถูกชะล้างทำลายเสียแล้ว ก็จะทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล เนื่องจากดินจะจืดและเสื่อมคุณภาพ”

 

 

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑

          พระราชดำรัส ณ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

          “ราษฎรน่าจะหมุนเวียนการปลูกพืชประเภทถั่วสลับกับการปลูกข้าวเพื่อการบำรุงดินและการใช้เนื้อที่ดินสำหรับการทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อประโยชน์ตลอดปี”

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๓

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ

          “ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโค และกระบือ โดยมีบัญชีควบคุมดูแลรักษาแจกจ่ายให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรและเพิ่มปริมาณโคและกระบือตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบัน
มีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน ธนาคารโคและกระบือพอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไปธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งที่มีค่า มีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคและกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม”

๓ มกราคม ๒๕๒๕

            พระราชดำรัส ณ วัดไทรโสภณ ตำบลบ้านเกาะ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          ให้กรมชลประทานและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหาความยากจน
ของเกษตรกรโดยปรับปรุงโครงการให้เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ปรับปรุงระบบเก็บกักน้ำ ปรับปรุงอาคารชลประทานต่าง ๆ ปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก และระบบส่งน้ำในเขตชลประทานให้สามารถเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่

๖ ธันวาคม ๒๕๒๕

          พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

          “เรื่องธนาคารโคกระบือนี่ก็เป็นสิ่งที่สนับสนุนมาตั้งแต่ต้น แล้วก็เป็นเรื่องของกรมปศุสัตว์ได้รับเป็นภารกิจ รับเป็นภาระที่จะดำเนินการ และก็ได้ทำเป็นผลสำเร็จอย่างดีมาหลายแห่งเพราะว่าบางทีมีผู้เลี้ยงสัตว์พาหนะเหล่านี้แล้วก็ไปขาย หรือให้เช่ากับชาวนาในราคาที่อาจจะแพงเกินไป
ทำให้ชาวนา กสิกรเดือดร้อน เพราะว่าจะต้องเสียเงินสำหรับสัตว์พาหนะอย่างหนัก ก็ทำให้
ทำมาหากินยาก ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ ถ้ามีก็ต้องใช้เงินแพง อันนี้เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในหลายปัญหา ธนาคารโคกระบือนี้ได้ขจัดให้ปัญหานี้ลุล่วงไปได้หลายแห่งแล้ว ให้ชาวกสิกรได้มีสัตว์พาหนะ
ได้มีสัตว์สำหรับใช้ในงานในราคาที่เป็นธรรม ก็โดยอาศัยที่มีผู้บริจาคโคกระบือเป็นตัวหรือเงิน
โคกระบือที่เป็นตัวนั้นก็เอาไปเลี้ยงในสถานีปศุสัตว์ทั่วประเทศ ต้องการที่ไหนก็จ่ายจากที่นั้น แล้วก็มีค่าใช้จ่ายจากการบริจาคทรัพย์เพื่อกิจการนี้เป็นทุน”

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำสหกรณ์ทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

          “คำว่า สหกรณ์ แปลว่า การทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันนี้ลึกซึ้งมากเพราะว่าจะต้องร่วมมือกันทุกด้าน ทั้งในด้านงานการที่ทำด้วยร่างกาย ทั้งในด้านงานที่ทำด้วยสมองและงานการ
ที่ทำด้วยใจ ทุกอย่างนี้ขาดไม่ได้ ต้องพร้อม งานที่ทำด้วยร่างกายถ้าแต่ละคนทำก็เกิดผลขึ้นมาได้ เช่น การเพาะปลูกก็มีผลขึ้นมา สามารถที่จะใช้ผลนั้นในด้าน การบริโภค คือ เอาไปรับประทาน หรือเอาไปใช้ หรือเอาไปจำหน่ายเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงชีพได้ แต่ถ้าแต่ละคนทำไปโดยลำพังแต่ละคน งานที่ทำนั้นผลอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจจะไม่พอเพียงในการเลี้ยงตัวเอง ทำให้มีความเดือดร้อน ฉะนั้นจะต้องร่วมกันแม้ในขั้นที่ทำให้ครอบครัวมีชีวิตอยู่ได้ แต่ว่าถ้าร่วมกันหลาย ๆ คน เป็นกลุ่ม
เป็นก้อนก็จะสามารถที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถ มีผลได้มากขึ้น”

๒๖ กันยายน ๒๕๒๙

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร. (สำนักงาน กปร.) ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เกี่ยวกับระบบ
การปลูกข้าวในเขตน้ำฝน

          “ธรรมชาตินั้นได้ปรับตัวสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าสภาพภูมิประเทศได้ปรับตัวเองให้เป็นลักษณะหนอง คลอง บึง เพื่อเก็บกักน้ำ
ยามหลากมาในหน้าฝน ซึ่งทำให้มีน้ำใช้ในยามแล้ง แต่มนุษย์กลับละเลยไม่ดูแลสมบัติธรรมชาติ
อันล้ำค่านี้ และนอกจากไม่ดูแลแล้ว มนุษย์ยังมีความโลภที่ทำลายโครงสร้างธรรมชาตินี้ด้วย หนอง คลอง บึง จึงอยู่ในสภาพตื้นเขินจนใช้การไม่ได้ หลายส่วนถูกยึดครองโดยมิชอบธรรม ผลสุดท้าย ความทุกข์ยากจึงเกิดขึ้น ยามน้ำหลากก็ไหลบ่าเพราะไม่มีหนอง คลอง บึง คอยรองรับ เพื่อผ่อนคลายความรุนแรง และพอพ้นหน้าแล้งก็เกิดภาวะแห้งแล้งไม่มีปริมาณน้ำเก็บกักไว้ใช้”

          “การส่งเสริมให้ราษฎรเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ นั้น แม้จะใช้ระบบกึ่งน้ำฝน แต่ควรพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กด้วยเพื่อสามารถควบคุมน้ำ และเก็บสำรองน้ำในยามที่ไม่เป็น
ที่ต้องการ และสามารถจ่ายช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฝนแล้งได้อย่างทันการณ์ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างประหยัดในกรณีจำเป็นเท่านั้น”

 

๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๐

          พระราชดำรัส เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้ดำเนินการส่งเสริมอุตสาหกรรม น้ำมันปาล์มขนาดเล็กมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมทั้งคณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและเกษตรกร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อกราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าของโครงการ
ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส

          “เนื่องจากเกษตรกรในภาคใต้ที่ทำสวนปาล์มมีเวลาว่างมาก ควรหางานอื่นทำเพื่อเพิ่มรายได้ ไปด้วย สิ่งที่ควรกระทำ คือ ควรส่งเสริมให้ทุกท้องที่ทำการปลูกข้าว ถ้ามีทำเล ที่เหมาะสมโดยให้มีการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในท้องถิ่น จะได้มีข้าวไว้บริโภคยามขาดแคลนจึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรในนิคมสหกรณ์อ่าวลึกทำการปลูกข้าวต่อไป”

๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการ กปร. และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

          “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นั้น แม้จะมีการปลูกข้าวในลักษณะต่างกัน หรือดูว่าภูมิประเทศอย่างนี้เราจะปลูกอย่างไร อาจจะไม่ถูกหลักวิชาก็ได้ แต่ว่าชาวบ้านเค้าทำอย่างนั้น เราก็ทดลองบ้าง หรือว่าถ้าปลูกข้าวไม่เกิดประโยชน์ก็ลองแก้ไขโดยใช้วิธีอื่นด้านชลประทานก็ได้ หรือด้านพัฒนาที่ดินหรือด้านวิชาการเกษตร นำมาประยุกต์เพื่อที่จะให้ได้ผลมากขึ้น รวมทั้งตอนปลูกข้าวแล้วทำอย่างไร สีอย่างไร หรือขายอย่างไร ก็หมายความว่าให้สามารถที่จะแก้ปัญหาทั้งทางต้น และทางปลาย แต่การแก้ปัญหานั้นอาจจะมีคนว่าไม่ถูกหลักวิชาก็ได้ ไม่เป็นไร โดยมากเราพยายามที่จะทำอะไร
ที่ง่ายแล้วในที่สุดถ้าทำง่ายแล้วได้ ก็จะเป็นหลักวิชาโดยอัตโนมัติ”

ปี พ.ศ. ๒๕๓๖

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้ตามเสด็จ และผู้เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ไปทอดพระเนตรโครงการโคกกูแว อำเภอสุไหงโก - ลก จังหวัดนราธิวาส

          “แต่ก่อนนี้เมืองไทยมีพลเมือง ๒๐ ล้านคน เดี๋ยวนี้ ๖๐ ล้าน ข้าวก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าบอกว่า ปลูกข้าวไม่ดี ขายไม่ออกในเมืองไทยก็ใช้ข้าวมาก แต่ก่อนนี้ผลิต ๒๐ ล้านตัน Export ก็ ๓ ล้าน
๔ ล้านตัน เคยเป็นอย่างเดิม ถ้าไม่ Export เกือบจะไม่เป็นไร เพราะเมืองไทยบริโภคเอง ถึงว่า
ถ้าไม่ควรปลูกข้าวนะเป็นสิ่งแย่ ถ้าลดจำนวนข้าวที่จะปลูกเราจะต้องซื้อข้าว ลงท้ายต้องซื้อข้าว
มาจากญวน พม่าเดี๋ยวนี้ก็อาจจะขึ้น แต่ญวณเขากำลัง Export แล้ว ถ้าหากเราต้องไปซื้อข้าว
จากญวน จะนึกอย่างไร เมืองไทยต้องไปซื้อข้าวจากเวียดนาม นับเป็นสิ่งที่แย่มากในแง่เศรษฐกิจ เราต้องบรรทุกมา แบกมาเสียค่าขนส่ง ไม่นับกำไรของใคร ๆ ต่าง ๆ เราถึงพยายามศึกษาข้าว
ให้ปลูกให้ได้ อื่น ๆ ช่างข้าวต้องปลูก เพราะอีก ๒๐ ปี ประชากรอาจจะ ๘๐ ล้านคน ข้าวจะไม่พอถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก ฉะนั้น นี่แหละ น่าชื่นใจที่สุด ดูได้ผลแต่ก่อนนี้เรามายืนตรงนี้ เห็นพื้นที่เขาทำน้อยกว่านี้ แต่ว่าเป็นจุดที่เขียวที่สุด ใช้ได้ นี่ที่มาที่นี่ ดีใจมากที่ทั้งเจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมกันทำและชาวบ้านร่วมกัน ช่วยกันทำ เห็นผล จึงต้องมาดูที่นี่ จะอธิบายได้"

๖ ธันวาคม ๒๕๓๘

          พระราชดำรัสตอบในโอกาสที่คณะทูตานุทูตและกงสุลเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

          “ท่านเอกอัครราชทูตและผู้มีเกียรติทุกท่าน ข้าพเจ้ามีความชื่นชมยิ่งนัก ที่ท่านทั้งหลายพรั่งพร้อมกันมาอำนวยพรวันเกิดด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต คำอวยพรที่ท่านคณบดีทูตได้กล่าวในนามของคณะทูตานุทูตและผู้แทนฝ้ายกงสุล ตลอดจนคำพรรณนายกย่องของท่านผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาตินั้น เป็นที่ประทับใจมาก ข้าพเจ้าขอสนองพรและไมตรีของท่านทุกคนด้วยความจริงใจขอขอบใจท่านเป็นอย่างยิ่งที่ร่วมแสดงความเศร้าสลดใจ ในการที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต และแสดงความห่วงใยในการ
ที่ประชาชนชาวไทยต้องได้รับความเดือดร้อนลำบากจากภัยธรรมชาติรวมทั้งที่ได้กล่าวถึงการปฏิบัติงานของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวยืนยันแก่ท่านว่าคนไทยนั้นมีจิตสำนึกอยู่ทั่วกันว่า ตนเองมีภาระหน้าที่อยู่มากมายที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของชาติบ้านเมือง เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้นในปีนี้ทุกคนทุกฝ่ายจึงต่างร่วมแรงร่วมใจขวนขวายหาทางป้องกันแก้ไขโดยเต็มกำลังความสามารถที่มีอยู่ ความเห็นอกเห็นใจและความร่วมมือช่วยเหลือ
ของมิตรประเทศ เราถือว่าเป็นกำลังสนับสนุนส่วนหนึ่งที่เกื้อกูลให้การปฏิบัติงานของเราบรรลุผลสมบูรณ์ขึ้นพร้อมกันนี้เราก็มีความบริสุทธิ์จริงใจที่จะธำรงรักษาสัมพันธไมตรีกับประเทศทั้งปวง
ที่เป็นมิตรไว้ตลอดไป ในส่วนการปฏิบัติงานพัฒนาของข้าพเจ้าที่ท่านผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้กล่าวถึงความสำเร็จโดยประการต่าง ๆ นั้น ข้าพเจ้าใคร่แจ้ง
ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบทั่วกันอีกว่า ความสำเร็จทั้งนี้ก็ด้วยได้รับความร่วมมือสนับสนุนเป็นอันดีจากบรรดามิตรประเทศ รัฐบาล และประชาชนทั่วไปอย่างพร้อมพรัก เหรียญแอกริโคลาที่ยกย่องข้าพเจ้าในฐานะที่ได้ปฏิบัติงานพัฒนาอันยั่งยืนเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ในอนาคต ที่ท่านนำมามอบให้ในท่ามกลางคณะทูตานุทูตนี้ จึงทำให้ข้าพเจ้าปลื้มปีติมาก เพราะมิใช่เป็นเกียรติเฉพาะข้าพเจ้าเท่านั้น หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนชาวไทยทั้งปวงต่างมีส่วนได้รับโดยทั่วกัน ข้าพเจ้าจึงขอขอบใจแทนประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง และมีความเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้เฝ้าติดดามการปฏิบัติงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติด้วยความชื่นชมในความเพียรพยายามที่จะช่วยเหลือพลโลกให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งนี้ เพราะข้าพเจ้ามีความเชื่อมันเสมอมาว่า การเกษตรเป็นรากฐานของชีวิด ด้วยเป็นแหล่งผลิตอาหารและเป็นวัตถุติบสำหรับการอุตสาหกรรมหลายอย่าง ข้อสำคัญ ขบวนการผลิตทางการเกษตรนี้อาศัยธรรมชาติเป็นหลักใหญ่ ดังนี้ เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ ให้เป็นปัจจัย สนับสนุนในการเพิ่มพูนผลผลิตเพื่อสร้างเสริมความอยู่ดีกินดีของประชากรในโลก หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยความสามารถของท่านและผู้ร่วมงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสประชาชาติ จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการช่วยเหลือมนุษยชาติให้รอดพ้นจากความทุกข์ยากและความ
อดอยากหิวโหยดังวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ

          ข้าพเจ้าขออวยพรให้ท่านทั้งหลายประสบความสุขสวัสดี พร้อมด้วยความสำเร็จและความก้าวหน้า ทั้งขอให้ทูตานุทูตและประเทศซึ่งท่านเป็นผู้แทนอยู่ ในราชอาณาจักรนี้มีความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

          ในท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขออนุญาตท่านนำเหรียญแอกริโคลาไปถวายสักการะพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้ทรงอนุโมทนา ด้วยมีพระราชปรารถนาตลอดมา
ที่จะให้ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติงานพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประเทศและโลก”

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๑

          เสด็จ ฯ ไปทรงเกี่ยวข้าวในโครงการแปลงนาส่วนพระองค์ ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และมีพระราชดำรัสกับผู้สื่อข่าวพระราชสำนัก เรื่อง ข้าวกล้อง ความว่า

          "ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง ข้าวขาวเม็ดสวย แต่เขาเอาของดีออกไปหมด แล้วมีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี้แหละเป็นคนจน"

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

            “การทำนานี่ หรือถ้าไม่ใช่การทำนาก็การปลูกพืชทำกสิกรรมนี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก สำคัญยิ่งสำหรับประเทศชาติ ถ้าไม่มีใครทำนา ถ้าไม่มีใครทำการเพาะปลูกในสิ่งที่รับประทานได้ หรือเพาะปลูกในสิ่งที่เป็นวัตถุดิบ สำหรับไปสร้างอะไรต่ออะไร หรือไปผลิตสิ่งอื่น ๆ ประเทศชาติก็ไม่มีทางจะอยู่ได้ โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบัน การอาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูกก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้น ต้องทำการกสิกรรม”

 

 

curve