องค์ความรู้เรื่อง"การฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้"

รายละเอียดองค์ความรู้

 

การฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ให้คืนความอุดมสมบูรณ์และมีความยั่งยืนโดยมีวิธีการที่เรียบง่าย ประหยัด เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ท้องถิ่น ดังนี้

 

งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้่ของศูนย์ศึกษาฯ ทั้ง 6 แห่ง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

 

          การปลูกป่าทดแทน ควรใช้ต้นไม้โตเร็วที่มีประโยชน์หลายๆ อย่างคละกันไป และปลูกพืชคลุมแนวร่องน้ำต่างๆ เพื่อยึดผิวดินและรักษาความชุ่มชื้น นอกจากนั้น จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมือง ไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองข้างของฝาย ซึ่งจะทำให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นให้บริเวณนั้นด้วย ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย ปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา โดยการปลูกไม้สนสามใบ ไม้ประดู่ และหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนฯ จังหวัดมุกดาหาร ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ได้แก่ ไม้สัก ไม้สะเดา ไม้ผล กล้วย หวาย สำหรับเป็นแหล่งอาหารของชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงฯ จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ต้นน้ำ โดยการปลูกไม้พื้นเดิม ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ป่าค่อยๆ ฟื้นตัวตามธรรมชาติ โครงการปลูกป่าสิริเจริญวรรษ์ฯ จังหวัดชลบุรี เป็นการปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ  โดยปลูกไม้มีค่าประเภทต่างๆ กว่า 40 ชนิด ผสมผสานกันทั้งไม้โตเร็วและไม้ผล เพื่อช่วยยึดดินและรักษาความชุ่มชื้น ตลอดจนมีผลไม้ไว้บริโภคและจำหน่าย การปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ฟืน ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน ซึ่งนอกจากมีประโยชน์ตามชื่อของไม้ดังกล่าวแล้ว ยังให้ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำและปลูกอุดช่องไหลตามร่องห้วยเพื่อรับน้ำฝน ตัวอย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร ปลูกไม้ใช้สอย ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ ทำให้พื้นที่ภูเขาที่เคยถูกทำลายป่าจนมีสภาพแห้งแล้ง ฟื้นคืนความร่มเย็นชุ่มชื้นตลอดปี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ มีการปลูกไม้ใช้สอยและไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ ไม้สัก ไม้แดง ไผ่ หวาย ไม้ฟืน ได้แก่ กระถินยักษ์ ไม้กินได้ ได้แก่ สะเดา แค ขี้เหล็ก มะไฟ มะขามป้อม มะเกี๋ยง ซึ่งให้ประโยชน์แก่ชุมชนและช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร

โครงการป่าสิริเจริญวรรษ์ฯ จังวัดชลุรี

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนฯ จังหวัดมุกดาหาร

โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย

 

           

โครงการพัฒนาพิ้นที่ลุ่มแม่น้ำกวงฯ จังหวัดเชียงใหม่

 

          ป่าเปียก เป็นการใช้น้ำช่วยสร้างแนวป้องกันไฟป่า ทำได้หลายวิธี ได้แก่ ใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลอง สร้างแนวป้องกันไฟโดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน ปลูกไม้โตเร็วคลุมร่องน้ำเพื่อให้ป่าชุ่มชื้น สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อกักเก็บน้ำและตะกอนดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้างของฝาย สูบน้ำขึ้นไปบนที่สูงแล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อยๆ ไหลซึมลงดิน เพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูง หรือที่เรียกว่า “ภูเขาป่า” ปลูกต้นกล้วยเป็นแนวกว้างประมาณ 2 เมตร ในพื้นที่ที่กำหนดเป็นช่องว่างของป่าหากเกิดไฟป่าก็จะปะทะกับแนวต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้มากกว่าพืชอื่น ตัวอย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี  พื้นที่ลาดชันมีปัญหาชะล้างพังทลายของดิน และมีสภาพพื้นที่แห้งแล้ง ฟื้นฟูโดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นและทำร่องน้ำตามแนวระดับชั้นความสูง ทำให้ดินอุ้มน้ำและเป็นแนวกันไฟอย่างดี

ฝายชะลอความชุ่มชื้น

 

          การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก คือ การปล่อยพื้นที่ป่าทิ้งไว้ให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการรบกวน ในช่วงระยะเวลา 5 ปี จะพบว่าป่าสามารถเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องปลูก ตัวอย่างเช่น โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จังหวัดราชบุรี ควบคุมไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าและดูแลไฟป่าโดยปล่อยให้ป่าฟื้นฟูเอง ค่อยๆ คืนสภาพจากป่าเต็งรังเป็นป่าเบญจพรรณ มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้มีสัตว์ป่ามาอาศัยเพิ่มขึ้นด้วย

โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ จังหวัดราชบุรี

 

          การปลูกป่าในที่สูง โดยนำไม้ที่มีเมล็ดไปปลูกบนที่สูง เมื่อไม้นั้นโตแล้วออกฝักหรือเมล็ดก็จะตกลงมา งอกขึ้นเองในที่ต่ำต่อไป ตัวอย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกกระถินยักษ์
บนที่สูงเพื่อให้เมล็ดตกลงมาขึ้นเองในพื้นที่ตอนล่าง

          การปลูกป่าชายเลน โดยเฉพาะต้นโกงกาง ขยายพันธุ์ค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเจริญเติบโต พื้นที่ป่าชายเลนที่ปลูกมาแล้วถ้าแน่นเกินไปแสงแดดส่องลงไปไม่ถึง ไม่มีออกซิเจน สัตว์น้ำก็ไม่สามารถอยู่ได้จำเป็นต้องตัดสางนำไปเผาถ่านหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น ตัวอย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จังหวัดจันทบุรี และโครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ จังหวัดเพชรบุรี ฟื้นฟูป่าชายเลนที่ถูกทำลายไปให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เป็นแนวกันลมและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง กรองน้ำเสียให้ดีขึ้นก่อนลงสู่ทะเล อีกทั้งยังช่วยให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นด้วย

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยฯ จังหวัดเพชรบุรึ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

          การฟื้นฟูป่าพรุ ป่าพรุเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรรอบพื้นที่พรุ อีกทั้งยังเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่ชะลอการไหลบ่าของน้ำจากเทือกเขาต่างๆ ก่อนระบายลงสู่ทะเล วิธีการฟื้นฟูป่าพรุที่เสื่อมโทรมคือ ให้รักษาสภาพพื้นที่พรุส่วนหนึ่งไว้ให้คงสภาพเดิม เพื่อความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและควบคุมระดับน้ำในพื้นที่พรุในระดับที่เหมาะสม เพื่อเจือจางน้ำเปรี้ยวและรักษาความชุ่มชื้นไม่ให้ดินพื้นที่พรุแห้งเกินไปจนเกิดปัญหาไฟป่า ซึ่งเมื่อเกิดแล้วจะมีความรุนแรงดับไฟได้ยาก เนื่องจากพื้นที่พรุมีสภาพเป็นอินทรียวัตถุทับถมกันเป็นชั้นหนาซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ตัวอย่างเช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จังหวัดนราธิวาส ฟื้นฟูพรุโต๊ะแดง โดยมีการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการสร้างความสมดุลระบบนิเวศ มีพันธุ์ไม้เด่นที่เติบโตได้ดี คือ ไม้เสม็ดขาว และพันธุ์ไม้ป่าพรุกว่า 400 ชนิด นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่ามาอาศัยในป่าพรุกว่า 200 ชนิด

ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาาส

          ปลูกป่าในใจคน เป็นปรัชญาเพื่อสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ด้วยการช่วยกันปลูกป่า อนุรักษ์ ดูแลรักษาป่า ป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและเฝ้าระวังไฟป่า
โดยสามารถใช้ประโยชน์จากป่าในการนำพืชอาหารมาใช้บริโภค มีการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายและกฎกติกา ในการดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และประชาชนที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จเมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงงาน ณ โครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำหน่วยที่ 1 (หน่วยจัดการต้นน้ำทุ่งจ๊อ) จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2519 ตอนหนึ่ง ความว่า “...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อนแล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

 

                                                                                       

 

                                                                                                     กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                                      กรกฎาคม 2561

 

 

 

 

curve