องค์ความรู้เรื่อง"การบริหารจัดการน้ำ"

รายละเอียดองค์ความรู้

การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร


    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริในการบริหารจัดการน้ำที่มีความเรียบง่ายและสอดคล้องกับธรรมชาติอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นจากน้ำฝนบนท้องฟ้าตกลงมาสู่ต้นน้ำ - กลางน้ำ - ปลายน้ำ ตามลำดับ ดังนี้
    โครงการฝนหลวงหรือฝนเทียม ทรงศึกษาทดลอง ตั้งแต่ปี 2498 และสามารถบังคับเมฆให้เกิดฝนได้จริงจากปฏิบัติการบนท้องฟ้า เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2515 บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นเวลาแห่งความพากเพียรของการศึกษาทดลองถึง 14 ปี จึงสามารถทำให้ฝนตกได้จริง โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บันทึกผลการทดลองไว้เป็นตำราฝนหลวง ผลการดำเนินงานช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้ง ปัญหาหมอกควัน สร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ประมาณ 160 ล้านไร่/ปี

 


    โครงการอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำที่ยั่งยืน โดยการรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำซึ่งเป็นยอดเขาและเนินสูง โดยการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอยหรือไม้ฟืนที่ประชาชนสามารถตัดไปใช้ได้ ปลูกป่าทดแทนซึ่งจะช่วยให้อากาศชุ่มชื้น ทำให้ฝนตกอีกทั้งต้นไม้ยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายอีกด้วย ตัวอย่างความสำเร็จ ได้แก่ โครงการอนุรักษ์และพัฒนาป่าไม้ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่างๆ 


    ฝายต้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้ดินและป่า โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะเพื่อเก็บกักน้ำและตะกอนดิน โดยน้ำที่กักไว้จะซึมเข้าไปในดินและแผ่ขยายความชุ่มชื้นออกไปทั้งสองข้างของฝาย ทำให้สามารถปลูกพันธุ์ไม้ ป้องกันไฟป่า ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำให้มีความสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ยังช่วยกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่างด้วย 


    อ่างเก็บน้ำและเขื่อนบริเวณเชิงเขาและที่ราบลุ่ม เป็นแหล่งกักเก็บน้ำผิวดิน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรรวมทั้งบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก เช่น อ่างเก็บน้ำยางชุม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก ห้วยแม่ประจันต์ จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำลำพะยัง จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

อ่างเก็บน้ำยางชุม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                อ่างเก็บน้ำยางชุม จังหวัดเพชรบุรี                              อ่างเก็บน้ำหวยผาก จังหวัดเพชรบุรี

          อ่างเก็บน้ำลำพะยัง จังหวัดกาฬสินธุ์                           เขือนป่าสักชลสิทธิ์  จังหวัดลพบุรี

     เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก                        เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน  จังหวัดพิษณุโลก

    โครงการ “ทฤษฎีใหม่” เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งแปลงที่ดินออกเป็นสัดส่วน ได้แก่ สระน้ำ นาข้าว พืชไร่ไม้ผล และที่พักอาศัยรวมทั้งคอกสัตว์และพื้นที่ปลูกผักสวนครัว ที่สำคัญคือการมีแหล่งน้ำสำรองในที่ดินของตนเองเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้ง หากอยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนก็สามารถรับน้ำที่มาเติมได้ ตามแนวพระราชดำริอ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ อย่างไรก็ตามการแบ่งสัดส่วนของที่ดินมีความยืดหยุ่นไปตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละภูมิภาค

                                              วัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี                            

         โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแดนสามัคคี จังหวัดกาฬสินธุ์

    โครงการ “แก้มลิง” เป็นชื่อที่มาจากพฤติกรรมการกินอาหารของลิงที่จะกักตุนอาหารไว้ที่แก้มก่อนแล้วค่อยนำออกมาเคี้ยวกินภายหลัง จึงนำมาใช้เรียกวิธีระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วม กล่าวคือ ในขณะที่มีน้ำมากก็ระบายมาเก็บไว้ในแหล่งเก็บน้ำ ที่เรียกว่า “แก้มลิง” ก่อน และในช่วงฤดูแล้งก็สามารถนำน้ำที่เก็บไว้มาใช้ประโยชน์ได้ เช่น สระเก็บน้ำพระราม 9 จังหวัดปทุมธานี คลองมหาชัย - คลองสนามชัย จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น

                                        สระเก็บน้ำพระราม 9 จังหวัดปทุมธานี

                                     คลองมหาชัย-คลองสนามชัย จังหวัดสมุทรสาคร

    คันกั้นน้ำ เป็นระบบบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การสร้างคันกั้นน้ำในเขตเพาะปลูก ไม่ให้ไหลเข้าท่วมชุมชน ความยาว 74 กิโลเมตร โดยใช้แนวถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ และถนนกิ่งแก้ว จนถึงบริเวณสถานตากอากาศบางปู และคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมบริเวณคลองชายทะเล จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น

    ทางผ่านน้ำ เป็นร่องน้ำที่กำหนดให้น้ำผ่านเมื่อถึงคราวน้ำหลากจะเข้าท่วมตัวเมือง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ ได้แก่ การปรับปรุงคลองธรรมชาติสายต่างๆ ทางทิศตะวันออกของถนนสายบางกะปิ - บางนา การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ หรือเปิดทางน้ำในจุดที่ผ่านทางหลวงหรือทางรถไฟ นอกจากนี้ ยังให้ใช้เครื่องยนต์ติดใบพัดผลักดันน้ำผ่านท่อลอด และบริเวณใต้สะพานเพื่อเร่งการระบายน้ำเพิ่มขึ้น


    กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นเครื่องกลเติมอากาศเพื่อบำบัดน้ำเสีย มีรูปแบบคล้ายกับ “หลุก” หรืออุปกรณ์วิดน้ำเข้านาซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในภาคเหนือ มีหลักการทำงานโดยการหมุนกังหันด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อวิดตักน้ำขึ้นมาแล้วปล่อยให้น้ำตกลงไปยังผิวน้ำตามเดิม ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เพิ่มออกซิเจนในน้ำได้ 1.2 กิโลกรัม/แรงม้า/ชั่วโมง เหมาะสำหรับแหล่งน้ำที่มีความลึกกว่า 1 เมตร กว้างมากกว่า 3 เมตร สามารถบำบัดมลพิษในน้ำ ทำให้น้ำใสขึ้น ลดกลิ่นเหม็นได้มาก สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้ เป็นการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ 

กังหันน้ำชัยพัฒนา

    การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี สาธิตวิธีการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะและการฟื้นฟูป่าชายเลน โดยสัมพันธ์เกื้อกูลกัน โดยรับขยะเปียกมาจัดทำเป็นปุ๋ยหมัก รับน้ำเสียจากเมืองเพชรบุรีมาบำบัดโดยผ่านบ่อผึ่งแสงแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค บ่อกรองด้วยพืชน้ำ เช่น กก ธูปฤาษี ผักตบชวา เป็นต้น แล้วปล่อยน้ำให้เจือจางกับน้ำทะเลตามเวลาขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อให้เกิดตะกอนของสารอินทรีย์ในน้ำเสีย อาศัยรากพืชป่าชายเลนช่วยในการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดินเพื่อให้เกิดการย่อยสลาย ทำให้น้ำเสียมีคุณภาพดีขึ้นก่อนปล่อยลงสู่ทะเล และป่าชายเลนงอกงามขึ้นจากตะกอนของน้ำเสียที่เป็นปุ๋ยธรรมชาติ

                                                             การบำบัดน้ำเสียด้วยพืช


    กล่าวโดยสรุป การบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เรียกได้ว่า มีความ “เป็นระบบ” ตั้งแต่น้ำฝนจากฟ้าลงมาสู่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ มีการใช้น้ำทุกหยดอย่างคุ้มค่า และมีความ “ครบวงจร” ของการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ น้ำแล้ง นำท่วม และน้ำเสีย

 

 


                                        กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                          มิถุนายน 2561

curve