รายละเอียดองค์ความรู้
องค์ความรู้ด้านการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาสภาพดินที่มีปัญหา
ของประเทศ และทรงยกตัวอย่างการวิเคราะห์สภาพดินของโครงการต่างๆ ปรากฏในเอกสารพระราชทานดังนี้
1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ : ดินทราย มีแร่ธาตุน้อย
2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ : หิน กรวด แห้งแล้ง
3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ : ดินเปรี้ยว
4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ : ดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ดินดาน
5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ : ดินทราย ดินเค็ม ขาดน้ำ
6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ : ดินเค็ม
7. โครงการเขาชะงุ้ม : ดินแข็ง ดิน-หินลูกรัง
8. โครงการวัดมงคลชัยพัฒนา : ขาดน้ำ
9. โครงการปากพนัง : น้ำเค็ม ดินเค็ม ดินเปรี้ยว
10. ที่ดิน ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา : ดินเปรี้ยว น้ำท่วม น้ำแล้ง
11. โครงการหนองพลับ - กลัดหลวง : ดินลูกรัง ดินดาน
12. โครงการหุบกะพง - ดอนขุนห้วย : ดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ดินดาน ขาดน้ำ
13. โครงการสหกรณ์สันกำแพง : ดินลูกรัง ขาดน้ำ
กิจกรรมพัฒนาที่ดินของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่่องมาจากพระราชดำริ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาดินทรายมีแร่ธาตุน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากคนทำลายป่าแล้วปลูกพืชไร่ ทำให้ดินจืดและกลายเป็นดินทรายในที่สุด
พัฒนาพื้นที่โครงการโดยสร้างแหล่งน้ำ ทำให้ดินชุ่มชื้น ช่วยฟื้นฟูป่าให้อุดมสมบูรณ์ ปลูกแฝกในพื้นที่ลาดชัน ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและรักษาความชุ่มชื้น ปลูกพืชสมุนไพร ไม้ผล พืชล้มลุก โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินคืนสู่ความสมบูรณ์ขึ้นเรื่องๆ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาดินเป็นหิน กรวด แห้งแล้ง เนื่องจากหน้าดินถูกชะล้างจนเกลี้ยงเหลือแต่หินและกรวดซึ่งพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้
พัฒนาพื้นที่โดยการสร้างแหล่งน้ำและปลูกหญ้าแฝกเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เมื่อดินมีความชุ่มชื้นขึ้นแล้ว ป่าจะเริ่มฟื้นตัวสมบูรณ์ขึ้นโดยมีการปลูกป่าเสริมบ้าง ใช้เวลาประมาณ 20 ปี สภาพป่าก็ฟื้นคืนสู่สภาพเดิม
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาสเป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว เนื่องจากเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุสะสมอยู่จำนวนมากเป็นชั้นหนา เรียกว่า “ดินพรุ” มีธาตุกำมะถันอยู่ในดินเมื่อทำปฏิกิริยากับอากาศมีสภาพเป็นกรด ทำให้ดินเปรี้ยว ไม่สามารถเพาะปลูกได้
พัฒนาพื้นที่โดยวิธีการ “แกล้งดิน” คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน กลายเป็นดินที่เป็นกรดจัด แล้วใช้น้ำชะล้างควบคู่กับการใช้หินปูนฝุ่น ประกอบกับการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ลึกไม่เกิน 1 เมตร เพื่อป้องกันแร่กำมะถันที่อยู่ในดินชั้นล่างขึ้นมาสัมผัสกับอากาศกลายเป็นกรด
สำหรับโครงการศึกษาทดลองแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พัฒนาพื้นที่โดยใช้น้ำชะล้างไม่ต้องใช้วัสดุปูน ในการปรับปรุงดิน พบว่า มีพืชหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดี เช่น มะม่วง ขนุน ฝรั่ง เสาวรส ยางนา ตะเคียน กระถินเทพา และเสม็ด เป็นต้น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ดินดาน ที่มีลักษณะเป็นดินเนื้อละเอียด น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้ยาก ฤดูแล้งจะแห้งแข็งแตกระแหง รากไม้แทรกเข้าไปยาก จึงปลูกพืชได้ไม่ค่อยเจริญเติบโต
พัฒนาพื้นที่โดยการสร้างแหล่งน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ปลูกไม้ผล พืชล้มลุก ปรับปรุงหน้าดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดโดยปลูกพืชตระกูลถั่วและไถกลบ ปลูกหญ้าแฝกขวางแนวลาดเทขนานกับหลายๆ แนวเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลาย ลดปริมาณน้ำไหลบ่าผ่านหน้าดิน ใช้เวลาประมาณ 30 ปี สภาพพื้นที่ซึ่งเคยเสื่อมโทรมได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวมีสภาพแวดล้อมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาดินแข็ง ดิน-หินลูกรัง โดยพื้นที่เดิมเป็นฟาร์มปศุสัตว์หน้าดินถูกขุดไปใช้ประโยชน์ สภาพเป็นหลุมบ่อ ไม่เหลือต้นไม้ใหญ่เลย พัฒนาพื้นที่โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า แล้วไถกลบ ใช้หญ้าแฝกฟื้นฟูและรักษาความชุ่มชื้นในดิน ปลูกพืชคลุมดิน เช่น ถั่วลาย ถั่วคาโลโปเนียม ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินดีขึ้น มีปริมาณอินทรียวัตถุ จากเดิม 0.58 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เปอร์เซ็นต์
โครงการแก้ปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร เป็นตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาดินเค็ม ซึ่งเป็นดินที่มีเกลืออยู่เป็นจำนวนมาก มีความเป็นด่างสูงจนมีผลต่อการปลูกพืชพัฒนาพื้นที่โดยการขุดลอกแหล่งน้ำจืด สร้างคันดินกันน้ำเค็มไม่ให้ไหลลงแหล่งน้ำจืด และเร่งระบายน้ำเค็มให้ไหลลงสู่แม่น้ำโดยเร็ว เป็นการใช้ระบบชลประทานในการนำน้ำจืดมาล้างเกลือที่อยู่ในพื้นที่ดินเค็มให้ความเค็มจางลงและสามารถใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้
โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มห้วยบ่อแดง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร
โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาดินถูกชะล้าง ซึ่งเป็นดินที่ถูกกระแสน้ำและลมพัดพาเอาหน้าดินที่มีอินทรียวัตถุไปหมด พัฒนาพื้นที่โดยศึกษาทดลอง วิจัยเพื่อนำหญ้าแฝกมาปลูกตามสภาพพื้นที่ด้วยวิธีการปลูกที่เหมาะสม เช่น ปลูกขวางทางแนวลาดภูเขากันดินพังทลายปลูกรอบแหล่งน้ำเพื่อกรองมลพิษไม่ให้ลงไปในน้ำ ปลูกเป็นแนวกันไฟป่า ปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้น เป็นต้น ผลสำเร็จจากการใช้หญ้าแฝกกว่า 4,500 ล้านกล้า สามารถปรับปรุงพัฒนารักษาหน้าดินกว่า 10 ล้านไร่ทั่วประเทศ และมีงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกกว่า 200 เรื่องรวมทั้งขยายผลไปดำเนินการในประเทศเครือข่ายหญ้าแฝกทั่วโลก ผลจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าวทำให้ International Erosion Control Association(IECA) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “The International Erosion Control Association’s International merit” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 และผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำแห่งธนาคารโลก ทูลเกล้าฯ ถวาย “แผ่นเกียรติบัตรเป็นภาพรากหญ้าแฝกชุบสำริด” เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2536
แผ่นเกียรติบัตรเป็นภาพรากหญ้าแฝกชุบสำริด
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ยังผลให้การพัฒนาที่ดินการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงดินเสื่อมโทรมและดินที่มีปัญหา ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสม เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เกษตรกรโดยทั่วหน้า สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555
สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวาย รางวัล
"นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม"
เมื่อวันที่่ 16 เมษายน 2555
กลุ่มนโยบายพิเศษ
พฤษภาคม 2561