พระราชดำริ ฝนหลวง

รายละเอียดองค์ความรู้

ประมวลพระบรมราโชวาทและข้อแนะนำทางเทคนิค (พ.ศ. 2512–2546)

ด้วยความเอาพระทัยใส่และทรงติดตามพัฒนาการของโครงการพระราชดำริฝนหลวงโดยใกล้ชิดตลอดมา
ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทและข้อแนะนำทางเทคนิค รวมทั้งพระราชทานแนวทางและรูปแบบการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด ดังบางส่วนที่ประมวลมา ดังนี้ :

1. พระปฐมบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะปฏิบัติการค้นคว้าทดลอง ณ ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2512

2. พระราชดำรัสพระราชทานแก่ชาวสวนจันทบุรี ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2515

3. พระบรมราโชวาทพระราชทานแด่รัฐมนตรีว่าการ ผู้บริหารและนักวิชาการฝนหลวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะทูตและผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2529

4. พระบรมราโชวาทพระราชทานแด่ คณะนักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง และคณะนายทหารของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกที่ร่วมในคณะปฏิบัติการฝนหลวงโครงการอีสานเขียว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2534

5. พระราชดำรัสพระราชทานแด่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด และคณะผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534

6. พระราชกระแสพระราชทานแด่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักบริหารในสังกัด นักวิทยาศาสตร์และนักบินของคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ. 2542 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2542

7. พระราชกระแสพระราชทานแก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัด ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2544

8. พระราชดำรัสพระราชทานแด่ ฯพณฯ องคมนตรีอำพล เสนาณรงค์ และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะผู้เกี่ยวข้อง รวม 31 นาย ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546  ณ ศาลาเริง พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เวลา 18:40–18:00 น.

9. พระราชดำรัสพระราชทานแด่ ฯพณฯ องคมนตรีอำพล เสนาณรงค์ และคณะในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับฝนหลวง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 เวลา 18:00 - 20:30 น.

10. ทรงบรรยายตำราฝนหลวงพระราชทานแก่นักเรียนโรงเรียนไกลกังวล ในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 เวลา 16:13 น.

พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชกระแสที่ประมวลไว้ดังกล่าวข้างต้นไม่รวมกับพระราชกระแสและข้อแนะนำทางเทคนิคที่ได้พระราชทานไว้โดยตรงผ่านทางข่ายวิทยุสื่อสารตำรวจและโทรพิมพ์ แด่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  เทวกุล และนักวิชาการฝนหลวงผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งยังมีอีกมากและมิได้นำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้

ประมวลพระบรมราโชวาทและข้อแนะนำทางเทคนิค (พ.ศ. 2512 – 2546)

1.  พระปฐมบรมราโชวาทแก่คณะปฏิบัติการค้นคว้าทดลอง

ณ ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เมื่อ พ.ศ. 2512

1)  การวิจัยและค้นคว้าทดลองเป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการต่อเนื่องไปเพราะการวิจัยและพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด

2)  อย่าท้อใจต่อข้อวิพากย์วิจารณ์  ให้มุ่งมั่นพัฒนาต่อไป

3)  ให้รวบรวมผลปฏิบัติการและประสบการณ์แล้วบันทึกไว้เป็นเป็นตำราของคนรุ่นหลัง

2.  พระราชดำรัสพระราชทานแก่ชาวสวนจังหวัดจันทบุรี

ณ  ศาลาดุสิตาลัย  สวนจิตรลดา  เมื่อวันที่  23 พฤศจิกายน

พ.ศ. 2515  ตอนหนึ่งว่า  …ท่านทั้งหลายก็เป็นประจักษ์พยาน

ว่า  การทำฝนเทียมได้ชุบชีวิตต้นไม้ ซึ่งมิฉะนั้นก็เสียหายไป

ฉะนั้น  จึงเกิดความยินดีมากที่ท่านหลายได้มาพบกันในวันนี้

ได้นำเงินมาสมทบในกิจการฝนเทียม และได้นำผลิตผลซึ่งเป็น

ประจักษ์พยานมาให้  ความดีใจนี้มีหลายประการ อย่างหนึ่งก็

ได้เห็นท่านทั้งหลายได้มีความสุขสบาย    อีกอย่างหนึ่งก็ที่เห็นว่ากิจกรรมการมีผลดีและท่านทั้งหลายทราบดี

ก็ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ร่วมมือทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ได้ร่วมมือในกิจการ และกำลังช่วยให้ประชาชนมีความสุข

ความเรียบร้อยทุกประการ  ตามหน้าที่อันนี้นำความปลาบปลื้มแก่ข้าพเจ้าอย่างมาก   ฉะนั้นก็ขอบขอบใจท่าน  ทั้งหลายทุกฝ่าย ที่ได้ที่ได้ร่วมมืออย่างมีสามัคคีที่กระชับแน่นแฟ้นที่สุดเป็นทางที่ทำให้ท้องที่มีความเจริญมั่นคง และเมื่อท้องที่มีความเจริญมั่นคงแล้วประเทศย่อมอยู่ได้มีทางที่จะก้าวหน้าเพราะทุกคนร่วมมือกันทุกคนช่วยซึ่งกันและกัน…”  

          (ทั้งนี้  สืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มชาวสวนจังหวัดจันทบุรีและระยองได้ทูลเกล้าฯ  ถวายฎีกาขอพระราชทานฝนหลวงช่วยเหลือสวนผลไม้ซึ่งประสบปัญหาแห้งแล้งรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ. 2515 

สวนผลไม้ต้นเล็กและใหญ่แห้งตายไปแล้วนับหมื่นไร่ หากมิได้รับการช่วยเหลือผลไม้ที่กำลังติดผลจะเสียหายหมด  และต้นจะแห้งตายเพิ่มมากขึ้น     ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจนรอดพ้นความเสียหายโดยสิ้นเชิง ทรงมีพระราชกระแสว่า  สวนผลไม้เป็นเศรษฐกิจที่สำคัญของทั้งสองจังหวัด  ให้เอาใจใส่ช่วยเหลือ  จึงมีการปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดทั้งสองและจังหวัดอื่น ๆ  ในภาคตะวันออกตามการร้องเรียนสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้)

 

3.  พระบรมราโชวาทพระราชทาน แด่รัฐมนตรีว่าการ ผู้บริหาร และนักวิชาการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  คณะฑูตและผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศสหรัฐอเมริกา  ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์   เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2529  สรุปได้ดังนี้

1)  ทรงเน้นความจำเป็นในด้านพัฒนาการ  และการดำเนินการปรังปรุงวิธีการทำฝนในแนวทางการออกแบบ  การปฏิบัติการและการติดตามประเมินผลทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์ของเครื่องคอมพิวเตอร์  เพื่อศึกษารูปแบบของเมฆ  และการปฏิบัติการฝนหลวงให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ

2)  ทรงย้ำถึงบทบาทของการดัดแปรสภาพอากาศหรือการทำฝนว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งในกระบวนการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ   เช่นการเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่แหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ  การบรรเทาปัญหามลภาวะ และการเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อสาธารณูปโภค  เป็นต้น

 3)  ทรงเน้นว่า  ความร่วมมือประสานงานอย่างเต็มที่ระหว่างหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะ      

เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ  ในอันที่จะทำให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้

4.  พระบรมชาโชวาทพระราชทานแด่นักวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบกที่ร่วมในคณะปฏิบัติการฝนหลวงโครงการ อีสานเขียว ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน  กรุงเทพมหานคร  เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2530

พอสรุปได้ดังนี้

1)  ทรงถ่ายทอดประสบการณ์   และข้อมูลที่ถูกต้องของที่มาของ โครงการพระราชดำริฝนหลวงนับตั้งแต่มูลเหตุ  ความมั่นพระทัยในความเป็นไปได้ของการทำฝน  การเริ่มต้นศึกษาวิจัยจนสามารถกำหนดข้อสมมติฐานในการค้นคว้าและทดลองการปฏิบัติการตามขั้นตอนและขบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยแท้จริงและอย่างเป็นระบบ  และทรงฟื้นความทรงจำของนักวิทยา-ศาสตร์ฝนหลวงที่เข้าเฝ้าฯ   ถึงข้อแนะนำทางเทคนิคและแผนปฏิบัติการที่เคยพระราชทานไว้  และเคยปฏิบัติการอย่างได้ผลมาแล้วให้นำมาถือปฏิบัติให้ครบถ้วนกระบวนการ

2)  ทรงแนะนำเทคนิคและศิลปะในการวางแผนปฏิบัติการ  การปรับแผนระหว่างปฏิบัติการ  การปฏิบัติการตามวิธีและเทคโนโลยีฝนหลวง  การนำเอาข้อมูลอุตุนิยมวิทยาใหญ่และอุตุนิยมวิทยาประจำถิ่นรวมทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมของพื้นที่เป้าหมายมาประกอบกับความรู้และประสบการณ์ในการวางแผน  ทรงอธิบายถึงศิลปในการใช้เทคนิคในการทำฝน  เช่น   เทคนิคการงัดเมฆหรือยกเมฆให้เคลื่อนตัวออกจากภูเขาสู่ที่ราบ  การกดหรือบังคับยอดเมฆมิให้ฟูขึ้นจนถูกลมตีแตกกระจายสลายไป  การดึงหรือลดฐานเมฆให้ลดต่ำลงโดยการปรับอุณหภูมิของมวลอากาศใต้ฐานเมฆให้ต่ำลง     เทคนิคในการชักนำเมฆให้เคลื่อนตัวเข้าหาพื้นที่เป้าหมายการโจมตีให้ฝนตกด้วย  เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิช เป็นต้น   ทรงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการปรับแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ การเปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายหวังผลให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสภาพเมฆหรือความจำเป็นทางเทคนิค   เชื่อมั่นแม้ในสภาพอากาศหรือสภาพพื้นที่ที่ยากลำบากต่อการเกิดฝนธรรมชาติ  หากได้มีการปฏิบัติการตามกรรมวิธีที่เคยปฏิบัติได้ผลมาแล้ว  และศิลปะในการปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะประสพผลสำเร็จ

3)  ทรงแนะนำว่าการติดตามประเมินผลปฏิบัติการประจำวัน ควรดำเนินการอย่างฉับพลันและต่อเนื่อง  ควรมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านอุตุนิยมวิทยา เข้าไปประจำสังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อรายงานผลอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะผลการปฏิบัติการนั้นมิใช่สิ้นสุดเมื่อหยุดปฏิบัติการในแต่ละวันเท่านั้น และต่อเนื่องไปถึงช่วงกลางคืน  เพราะอาจยังมีอิทธิพลต่อเนื่องไปจนถึงวันรุ่งขึ้น  ต้องส่งรายงานผลถึงศูนย์ปฏิบัติการภาคสนามอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ  ทั้งกลางวันและกลางคืน  โดยอาศัยข่ายสื่อสารของหน่วยงานต่าง ๆ  ศูนย์ปฏิบัติการภาคสนามควรรวบรวมและสรุปรายงานถึงศูนย์อำนวยการฝนหลวงพิเศษและสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง  ให้ได้ข้อมูลในเวลาประมาณ 20:00 น. ของวันนั้น ๆ  เพื่อให้สามารถศึกษาวิเคราะห์ความได้ผลหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น   ประกอบการพิจารณาให้ข้อแนะนำแก้ไขทางเทคนิค และการวางแผนหรือปรับแผนให้ปฏิบัติการสำหรับวันรุ่งขึ้น

4)  ทรงแนะนำด้านการบินปฏิบัติการ  ทรงโปรดฯ  ให้ฝ่ายวิชาการทำความเข้าใจกับฝ่ายการบิน  ทั้งนักบินและผู้ปฏิบัติการบนอากาศยานในแผนปฏิบัติการประจำวันให้ชัดเจน    รวมทั้งให้เรียนรู้จดจำสิ่งที่เป็นเครื่องหมาย    เช่น ภูเขาในพื้นที่เป้าหมายเพื่อโปรยสารเคมีในตำแหน่งที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง ทรงเห็นใจนักบินและผู้ปฏิบัติงานบนอากาศยานในสภาพอากาศยากลำบาก เหน็ดเหนื่อย และเสี่ยงภัย แต่ความสำเร็จที่ช่วยคลายทุกข์ยากของราษฎรคุ้มค่าต่อความเสียสละทั้งปวง

5)  ทรงเน้นเรื่องการประสานงานและความร่วมมือที่ดีระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภารกิจ  ทั้งการประสานงานภายในหน่วยงาน และประสานงานกับหน่วยงานภายนอก   ตามแนวทางที่ทรงเคยปฏิบัติเป็นแบบอย่างและที่เคยทรงแนะนำไว้

6)  ทรงพอพระทัยและขอบใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่ร่วมใจกันปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษตามพระราชดำริช่วยเหลือราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างได้ผล   ทรงห่วงใยต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติการที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอยู่เป็นประจำ ทรงให้ผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นในภารกิจที่กระทำอยู่ไม่ท้อถอย แม้ว่าสภาพอากาศจะยากลำบาก ปฏิบัติการ 3-4 วัน  มีฝนตกด้วยปริมาณปานกลางปกคลุมพื้นที่เป้าหมาย   เป็นบริเวณกว้างพอควร  เพียงหนึ่งวันก็เกิดประโยชน์คุ้มค่าแล้ว  ทรงให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานอย่างมีความสุขและเริงร่า ขอให้ทุกคนได้เป็นนักรบใจมั่น พลันเริงร่า

 

5.  พระราชดำรัสพระราชทานแด่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด และคณะผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2534  สรุปได้ดังนี้

1)   ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องทำการวิจัยและพัฒนากรรมวิธีฝนหลวงขึ้นมาเพื่อแก้ไขสภาวะแห้งแล้งทรงเล่าถึงมูลเหตุที่ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริฝนหลวงขึ้นมา  และทรงสรุปถึงความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาความสำเร็จในการปฏิบัติการ

2)  ประเทศไทยประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง     ในขณะเดียวกันขณะที่บางพื้นที่น้ำท่วมแต่บางแห่งประสบภาวะแห้งแล้งขาดแคลนน้ำต้องร้องเรียนของความช่วยเหลือ

3)  เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล   ปริมาณน้ำดังกล่าวมิได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ถูกปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเล  ฉะนั้น  การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้  นอกจากจะป้องกันอุทกภัยแล้วยังสามารถปล่อยออกไปผลิตกระแสไฟฟ้า  และจัดสรรเข้าสู่ระบบชลประทาน  รวมทั้งทำให้ป่าไม้และการอนุรักษ์สัตว์ป่าในอาณาบริเวณลุ่มรับน้ำของอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

4)  การทำฝนในบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อน/อ่างเก็บน้ำนั้น  ทำได้ง่ายกว่าการทำฝน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกโดยตรง เพราะพื้นที่ลุ่มรับน้ำกว้างใหญ่มีสภาพเป็นป่าไม้และเทือกเขา ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการตกของฝน   แต่การปฏิบัติการทำฝนช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมยังมีความจำเป็น  เพราะพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่นอกเขตของระบบชลประทาน

5)  การเก็บกักน้ำไว้ตามเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ยิ่งมากเท่าใดยิ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายิ่งขึ้นเท่านั้น    นอกจากนั้น ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมากจากการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบชลประทานจะช่วยลดพลังงานในการสูบน้ำเพื่อเกษตรกรรมอีกด้วย ปัญหาคือ จะมีวิธีการอย่างไรที่จะนำน้ำจากเขื่อนที่มีน้ำมากเกินระดับเก็บกักของเขื่อนหนึ่งไปยังอีกเขื่อนหนึ่งได้โดยไม่ใช้วิธีการสูบน้ำ  นั่นคือ การทำฝนโดยใช้เทคนิคในการเคลื่อนย้ายกลุ่มเมฆฝนไปยังพื้นที่ที่ต้องการเพิ่มปริมาณฝน

6)  การทำฝนนั้น  ต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า  การสร้างเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ

บริเวณเทือกเขา จะเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันน้ำท่วม และการทำฝนในพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนจะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อน

7)  ไม่ใช่แต่เครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เท่านั้น ต้องควรมีรายงานผลทุกวัน และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย

8)  นักทำฝนนั้นต้องมีศิลป์ (Art)  และวิญญาณ (Spirit) ของนักวิจัยด้วย   ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  เทวกุล สามารถ

ใช้เครื่องบินเพียงเครื่องเดียวทำการโจมตีเมฆให้เกิดฝนตกได้  โดยครั้งแรกจะบินไปโปรยสารเคมีที่ระดับยอดหรือไหล่เมฆ แล้วลดระดับลงอย่างเร็วเพื่อโปรดน้ำแข็งแห้งที่ใต้ฐานเมฆ ปรัชญาของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  เทวกุล  คือ  ปัญหาทุกเรื่องสามารถแก้ไขได้

9) เทคนิคการทำฝนของประเทศไทยนี้  ได้ถ่ายทอดให้กับประเทศต่าง ๆ  นำไปใช้ปฏิบัติการโดยไม่คิดมูลค่าและเคยให้นักวิชาการฝนหลวงของไทยไปสาธิตการทำฝนให้แก่นักวิชาการในต่างประเทศด้วย

10)   วิธีการทำฝนโดยสรุปคือ   กระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของเมฆจากพื้น (Upset) ทำให้เมฆหรือกลุ่มเมฆรวมตัวหนาแน่น  (Fatten)  แล้วบังคับให้ฝนตกลง (Attack)

11) การโปรยสารเคมีที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้การทำฝนล้มเหลวได้ ได้ใช้สารแคลเซี่ยมคลอไรด์โปรยเข้าไปในเมฆเหมือนทำระเบิดจะทำให้เมฆก่อตัวสูงขึ้น  เมฆรอบ ๆ  ข้างจะถูกเข้าไปรวมตัวกัน  ลักษณะการโปรยสารเคมีจะบินเป็นวงกลมและพยายามโปรยทางด้านหลังของก้อนเมฆ

12)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรประสานกับกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต   เพื่อให้เห็นความสำคัญของการทำฝนเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ 

 

6.  พระราชทานแด่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นักบริหารในสังกัด นักวิทยาศาสตร์และนักบินของคณะปฏิบัติ การฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ. 2542  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  พระราชวังดุสิต  เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2542 มีประเด็นที่พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

1)  ความเป็นมาของโครงการฝนหลวง  

(1)  การเริ่มต้นของฝนหลวงเริ่ม ปี 2498   ได้ไปเยี่ยมภาคอีสานและไปรู้ว่าแห้งแล้ง มีคนอดน้ำ ไม่มีน้ำบริโภค เงยหน้าดูฟ้า มีเมฆผ่านแต่ฝนไม่ตก  ให้หม่อมเทพฤทธิ์ ไปคิด ไปถาม ไปสืบ  ทั้งในประเทศและนอกประเทศ หายตัวไปนาน วันหนึ่ง มาบอกว่าทำได้แล้ว

-  หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์  เทวกุล   เป็นผู้ริเริ่ม เป็นบิดาฝนหลวง   

-  คุณเทพฤทธิ์  เสียสละทำฝน  หูหนวกเพราะสูตร 3  ปลิวเข้าหู  แต่เวลาขึ้นบินมีความสุขมากบอกบินแล้วสบายหู  หูไม่หนวก   หูดี  เพราะมีวิทยุเก่า ๆ  วิทยุ  F.M. 5  เปิดเสียงดังมาก  หม่อมเทพฤทธิ์  เคยบินผ่านที่หัวหิน  ใช้วิทยุเรียก   ก.ส.9  บอกว่าสายรุ้งผ่านมา  มีภารกิจอะไรบ้าง   หม่อมเทพฤทธิ์  พูดไม่เคยมี ว.6 ติดต่อตรงเลย  สมัยนั้นเป็นการปฏิบัติที่ครึกครื้น

(2)  สาธิตที่หัวหินเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว  นำเครื่องบินไปโปรย  เมฆขึ้นแต่ฝนไม่ตก ต้องวิจัยต่อ แต่การก่อเมฆทำได้แล้ว  ฟ้าไม่มีเมฆ  ทำให้เมฆขึ้นมาได้  ครั้งนี้ (การปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง) ขอให้ลองทำ  เกิดเมฆขึ้นมาได้  ถ้าจะเอาลงก็คงเอาลงได้

(3)   ฝนหลวงพิเศษ  เจ้าหน้าที่ฝนหลวงทำ  ทางสวนจิตรฯ  สนใจและช่วยค่าใช้จ่าย  สำหรับการปฏิบัติการใช้เครื่องบินซึ่งไม่ใช่ของราชการ แต่มอบให้สำนักฝนหลวงหรือกองบินตำรวจ เช่น เครื่องปอร์ตเตอร์ เมื่อมีภารกิจก็มอบให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ ไปทำฝนหลวงพิเศษ  เวลาส่งข่าวใช้ชื่อย่อว่า ฝลพ. ทำให้ได้ผลดี ไม่ต้องใช้เงินราชการ

(4)  ต่อมาตั้งศูนย์ฝนหลวง ศฝล.  ทำฝนหลวงเป็นประจำ  ทำได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง  บางครั้งมีคนของฝนมาโดยตรง  ก็บอกไปทางกระทรวง กระทรวงก็ตอบสนองได้ดี

2)  ประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต

(1)  อย่างที่ระยองสวนผลไม้แย่ ร้องขอมาที่กระทรวง  กระทรวงส่งฝนหลวงไปภายใน 3 –4 วัน สวนผลไม้ก็เติบโตได้  ไม่ตาย  ชาวบ้านเอาผลไม้มากองให้  บอกว่าผลไม้ของท่าน  ถ้าไม่ทำฝน  ผลไม้เสียหายแน่

(2)  ที่ตรัง  ต้นยางตาย  ส่งฝนหลวงไปทำ  ภัยแล้งที่ตรังหายไป  เมื่อก่อนเครื่องบินถูกผู้ก่อการร้ายยิงที่ตรัง  คุณเทพฤทธิ์  ก็เก่งเอาวิทยุติดต่อกับเขาว่าเรามาทำฝนให้  ไม่ได้มาก่อกวนอะไร  จึงเลิกยิง

(3)  แถวลี้  มีฝนตกลงมาแล้วก็แห้งไป  ขอฝนเทียม  มีเครื่องบินวนไปวนมาไม่มีฝนก็ต่อว่ามา เลยวางแผนไป  ปรากฏว่า ฝนหลวงไปทำฝนตกลงอ่างเก็บน้ำพอดี ใช้ได้ทั้งปีสบายไป  ช่วยสวนลำไย

3)  ภาพพจน์ของการดำเนินงานฝนหลวงในปัจจุบัน

(1) ฝนหลวงพิเศษเคยทำมา  30 กว่าปีแล้ว  ที่ผ่านมามีทั้งความเจริญขึ้น และความเสื่อม  มาตอนหลัง

รู้สึกว่าไม่คอยได้ผล

(2) ระยะนี้ทำเหมือนเช้าชามเย็นชามมีความไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่ นักบิน และฝ่ายบริหาร

(3) ตอนแรกที่ทำ  รู้สึกว่ายังมีความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่  และความไม่เข้าใจในเทคนิคของฝนหลวง    

ตอนแรกคิดว่าเข้าใจแต่ต่อมาก็เรื้อไป  การเรื้อทำให้สิ้นเปลืองและไม่ได้ผล

  1. การทำฝนต้องใช้เงิน  ค่าวัสดุ และเรี่ยวแรง  บางครั้งเป็นหมื่นเป็นแสน  ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลเป็นเรื่องน่า

สลดมาก คนก็ติเตียน เช่น เมื่อก่อนทำฝนเทียมเหมือนผี ฝนแล้งก็เป็นผี น้ำท่วมก็เป็นผี ฝนเทียมก็เป็นผี    ทำให้มีการพัฒนาขึ้นจนได้ผลดี     

(5)  ทำฝนเทียมไม่ได้ผล   ตอนหลังทราบว่าไม่มีวัสดุ  ไม่มีงบประมาณบ้าง  ไม่มีความรู้  ทำให้ทำฝนหลวง

ไม่ได้ผล    

4) ทรงเล่าถึงฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง ปี 2542

(1) ดีใจที่  (การปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง)  ครั้งนี้ได้ผล  เข้าใจกันและทำงานได้ผลสำเร็จ

(2) ครั้งแรกที่บอกไป  เมื่อวันที่ 21 มกราคม  บินไปเชียงใหม่  เห็นมีเมฆเหมาะสม  จึงแจ้งเจ้าหน้าที่

ให้ทำฝนหลวงช่วยปราบภัยแล้ง

(3) ภัยแล้งเกิดขึ้นทำให้คนตกใจมาก  ขวัญเสีย  สื่อมวลชลทั้งไทยและต่างประเทศก็วิจารณ์ว่าถ้า  เมืองไทย

เป็นอย่างนี้หลายเดือน  เศรษฐกิจเมืองไทยแย่อยู่แล้ว  ก็จะแย่ลงไปอีก  จึงขอให้ทำฝนที่นครสวรรค์   กับที่พิษณุโลก

(4) ตอนแรกที่ทำ  รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ และความเข้าใจเทคนิคของฝนหลวง  ซึ่งก็ไม่เข้าใจตอนแรกคิดว่าเข้าใจ  แต่ต่อมาก็เรื้อไป  การเรื้อทำให้สิ้นเปลืองและไม่ได้ผล

(5) ดีใจที่คุณเมธา  ยังแข็งแรง  สามารถถ่ายทอดความคิดที่มีอยู่ในใจ  แต่ไม่กล้าพูด  เพราะออกไปนานแล้ว  คราวนี้มาเป็นที่ปรึกษา คนนับถือ ก็ทำให้งานสำเร็จ

(6) ครั้งนี้ได้ช่วยกันคิด ขึ้นทำตอนเช้ามืด  ลงค่ำ  กองทัพอากาศก็ช่วยเรื่องไฟสนามบิน  แหวกแนวฝนหลวงพิเศษ  ทำให้มีวิธีทำที่ดีขึ้น  ทำให้มีการใช้สูตรต่าง ๆ  ซึ่งปีหลัง ๆ หายไประเหิดไปก็ได้

(7) สำหรับหน่วยอื่นของฝนหลวง จะไม่จ้ำจี้จ้ำไช  เพราะเป็นฝนหลวงไม่พิเศษ

(8) (ฝนหลวงพิเศษ)  นี้ให้เป็นหน่วยวิจัย  ต่อไปแยกย้ายกระจายไปหน่วยอื่น  ก็จะได้นำประสบการณ์ที่ได้มาไปแนะนำหน่วยอื่นเข้าใจ  เป็นอาจารย์แล้ว

(9)  งานที่ทำครั้งนี้ถือว่าน่าชื่นชมน่าปลื้มใจ  ไม่ใช่เสียเงินเปล่า  เสียแรงเปล่า เหน็ดเหนื่อยและเสี่ยง

(10)  ปีนี้ภัยแล้งของภัยแล้งไม่มี  เพราะทำฝนหลวง

(11)  ปีนี้ไม่มีลูกเห็บ  เพราะทำซุปเปอร์แซนด์วิช  ทำให้ฝนตก

(12)  เดี๋ยวนี้มีคนสนใจมาก  ออกทีวีบ่อยว่าได้ผล  คนปลาบปลื้ม  ฝรั่งก็ปลาบปลื้ม  ให้เงินมาล้านบาท      ไว้สำหรับทำฝนหลวง  ถ้าต้องการวัสดุอะไรจะให้ คนสนใจมากขึ้น  เราก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี  เพื่อให้ไม่เสียศรัทธาเขา

5) เกร็ดความรู้เรื่องฝนเทียม

(1) การทำฝนเขาเรียกว่า ดัดแปรสภาพอากาศ  ไม่เรียก ฝนเทียม  เพราะความจริงเป็นฝนธรรมชาติ  ถ้ารู้จริง

จะทำให้ไม่อันตราย   และสิ่งที่ลงมาเป็นคุณ 

(2)  ในหลายประเทศสมัย 40-50 ปี ใช้วิธีก่อไฟรอบ ๆ 100 เมตร ใส่น้ำมันลงไปเป็นการทำ updraft ให้ลมขึ้น

(3)  อินเดียแดงก่อกองไฟใหญ่  มีการรำขอฝนรอบกองไฟ  ร้องสูตร  เอาเงิน  เครื่องประดับที่เรี่ยไรมาจาก

พรรคพวกของเผ่า  โยนลงกองไฟ  ไฟแรงมากทำให้เงินละลาย และละเหิดขึ้นไปเป็นซิลเวอร์ไอโอไดด์  ขึ้นไปบนฟ้า  หมอผีก็ได้รับรางวัล  คือ ฝนลง

(4)  บ้องไฟขึ้นไประเบิดในเมฆ

  1. ฝรั่งก็มี  เวลาอยากให้ฝนตกก็ยิงปืนใหญ่เข้าไปในเมฆ  ก็เกิดฝน

(6)  อุตุนิยมวิทยาเคยประกาศว่ามีพายุฤดูร้อน  พายุแรง  ลมแรง  มีฝนลงหนักเป็นแห่ง ๆ โดยเฉพาะใน

ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะมีลูกเห็บ สำหรับฝนหลวงควรมีภารกิจป้องกันลูกเห็บ ลูกเห็บเป็นอันตรายมากสำหรับด้านเกษตรกรรม  ทำให้พืชผลเสียหายมาก คนบาดเจ็บ

 

(7) ลูกเห็บมาจากการก่อกวน  ตกเป็นฝน  ถูกลมตีกลับขึ้นไปสูง 20,000 ฟุต  มีอุณหภูมิเย็นมากแต่บิน

ผ่านเข้าเมฆไม่มีลูกเห็บ  เรียก Super Cooled  เมฆมีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศา ซ.  ตกลงมาเป็นเม็ดฝน  เมื่อกระเด้งขึ้นไปเป็นลูกเห็บ  ตกลงมาละลายเป็นฝน  กระเด้งขึ้นไปเป็นลูกเห็บ  มีขนาดใหญ่ขึ้น ตกลงมาไม่ละลายจนถึงพื้นบางทีเม็ดโตเท่าหัวแม่มือ

(8) ลูกเห็บทำองุ่นแตก ฝรั่งยิงปืนขึ้นไป ลูกเห็บตกเป็นฝน เพราะเม็ดน้ำลงมาไม่ขึ้นไป ไม่เป็นลูกเห็บ  เพราะละลายก่อน

(9)  ถ้าฝนหลวงไปทำก็เหมือนฝรั่งยิงปืนขึ้นไป ปีนี้ไทยไม่มีลูกเห็บ เพราะทำซุปเปอร์แซนด์วิช   ทำให้ฝนตก

(10) นักบินและเจ้าหน้าที่ต้องศึกษากลไกของอุตุนิยมวิทยา  มีหนังสือเป็นตั้ง ๆ  กระทรวงก็ควรมี   หนังสือ

เรื่อง อุตุนิยมวิทยา

  1.  เทคโนโลยีฝนหลวง

(1)  ฝนเกิดจากลมขึ้นลงในก้อนเมฆ    ตามธรรมชาติก็เป็นเช่นนั้น

(2)  ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร  จึงทำเป็นการ์ตูน  ใส่กรอบไว้เพื่อที่จะเป็นหลักฐาน

(3) เรามีสูตรสำคัญ  4 สูตร  สูตรรวมความชื้น  สูตร 1  ทำให้เกิดเม็ดฝน  สูตรร้อน  สูตร 6  ทำให้

เมฆเต้น  สูตรทำให้ลง  สูตร 4    สูตร 3  ทำให้เป็นฝน

(4) ใครบอกไม่มีเมฆ  ฝนหลวงไม่ต้องทำใส่สูตร 4 สูตร 6  และเกลือธรรมดา ก็ทำฝนได้ต้องศึกษา

(5) สูตร 3 สำคัญ ไม่ค่อยมีใครสนใจหลักอุตุนิยมวิทยา  ฝนหรือลมเกิดจากความร้อน   ความเย็น

(6) สูตร 3  เป็นสูตรสำคัญที่ทำให้เกิดฝนถ้าใส่มากเมฆระเบิด หายไป  เคยเห็น   คงเป็นที่ว่าเย็น

เกินไปทำให้ความชื้นที่เกาะอยู่มันดิ้น  ต้องใช้ให้ถูกต้อง  ตามเทคโนโลยีใหม่  ตอนนั้นเป็นแซนด์วิชธรรมดา

 

(7) ซิลเวอร์ไอโอไดด์จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อไป

(7.1) การก่อเมฆ

-  เมฆไม่มีเลย  มาทำใช้สูตร 1   ความชื้นมาเกาะก็เป็นเมฆ

  • ทิ้งไว้  2 ชั่วโมง  ใส่สูตร 1  ไปบ้างฝนไปลงที่บรบือ  40  มิลลิเมตร ก่อนทำไม่มีเมฆฝนเลย

(7.2) การเลี้ยงเมฆ

-  เมฆอย่างนี้ ใช้สูตร 6 ใส่เข้าเมฆ  เมฆก็หมุนวน  เพราะสูตร 6  โดนความชื้นเกิดความร้อน

เป็นเรื่องธรรมชาติ   ความเย็นจมลงตามขอบเมฆ ความร้อนก็ขึ้นตรงกลางเหมือนในภาพ

- สูตรร้อน  ใช้แคลเซียมคลอไรด์  เห็นเมฆบอกหม่อมเทพฤทธิ์  ให้ใส่สูตร 6 เข้าไป  ทำนายว่า เมฆจะขึ้นเป็นดอกเห็ดเหมือนปรมาณู  ให้ศึกษาดู  ปรากฏว่า ไม่เป็นดอกเห็ด  แต่ขึ้นเป็นต้นสนยอดแหลม

(7.3) การโจมตี

- ทำแซนด์วิชบนล่าง   เกิดวนในก้อนเมฆ  สำคัญ เม็ดฝนที่ก่อข้างบนตกลงมา  ความร้อนข้างล่าง

ไหลขึ้นไป  ชนกัน  เกาะกัน  ทำให้ข้างล่างมีความชื้นหนาแน่น ก็เกิดฝน

          - เมฆเกิดแล้วฝนไม่ลง  เพราะความชื้นวนอยู่ในเมฆ ไม่ลง ต้องใช้สูตร 4  ซึ่งโดนความชื้นเกิดอุณหภูมิ 4 องศา  เรียกอุณหภูมิ dew point ใส่ที่ฐานเมฆ เกิดเป็นเม็ดฝน หนัก  ใช้สูตร 3 ต่อ  ก็จะลงทันที  เทคโนโลยีเหล่านี้หายไปนาน จึงเตือนไปว่าควรคิดอย่างไร

          - เหมือนตอนบินเข้าเมฆมีเม็ดฝนตกที่กระจกหน้าต่าง คิดว่าฝนลงแล้ว  แต่ไม่ใช่ ต้องใช้สูตร 3 ช่วยให้ฝนตกถึงพื้นดิน สูตร 3 สำคัญ ไม่ค่อยมีใครสนใจหลักวิชาอุตุนิยมวิทยา  ฝนหรือลมเกิดจากความร้อน  ความเย็น

          - เจ้าหน้าที่ฝนหลวงบอกฝนตกแน่  แต่ทราบจากการตรวจไม่มี  ข้างล่างอุณหภูมิร้อน  ต้องติดตามและควบคุมด้วยสูตรเย็น  เคยทำ  ฝนจะลงแต่ไม่ใส่สูตรเย็นก็หายไป

7)  เมฆเย็นและ  Super  Sandwich

(1)  เทคนิคใหม่ทำซิลเวอร์ไอโอไดด์อย่างเดียว   เมฆก่อขึ้นมาแล้วใช้ซิลเวอร์ไอโอไดด์  มันก็ใหญ่ก็ลดลง

(2)  เป็นเทคโนโลยีของฝรั่งทำ  ไทยไม่ได้ทำ  ตอนแรกไม่สนับสนุนเพราะ  (ซิลเวอร์ไอโอไดด์) แพงกว่าเกลือ  แต่ตอนหลังทำ

(3)  ทำซุปเปอร์แซนด์วิช  ใช้คิงแอร์ช่วยกดหัวลงไป  มันก็ลง  ฝนตกหนัก

8)  เทคนิคการวางแผนและปฏิบัติการ

(1)  ท่านเทพฤทธิ์  รายงานว่าทำอย่างนี้ อย่างนี้ ใช้สูตรนั้นสูตรนี้ ฝนไม่ตก  หัวเสียมาก  ตรวจสอบดูเห็นว่าทำแนวแรก  แนวที่ 2  หลังแนวแรก  แนวที่ 3  หลังแนวที่ 2  แนวแรกเดินทางไปแล้ว  แนวที่สองไล่ไม่ทัน  บางครั้งเครื่องบินต้องกลับมาเติมน้ำมัน กลับไปก็ไม่ทันแล้ว  ต้องรู้ความเร็วลม  คาดคะเนว่าลมจะผ่านไปทางไหน

(2)  ซี 123  สองลำไปทำบนเขาใหญ่  แนวต่อไปต้องทำที่บัวใหญ่  มาจากขอนแก่น  ต้องร่วมมือกันให้มาก  แต่ขาดการประสานงาน  คราวนี้ได้ผลดี  เพราะมีคอมพิวเตอร์  ติดต่อรวดเร็ว  ต้องทำได้ดีกว่า  เพราะการสื่อสารดีกว่า  ต้องสื่อสารกันให้ดี

(3)  มีซุปเปอร์แซนด์วิช   เอาลงได้แน่ ๆ  มีเมฆที่ไหนก็ทำได้  สร้างเมฆที่ไหนสะดวกก็ไปทำ เช่น ทำให้ห้วย-ขาแข้ง  เขาแหลม ทำที่เขาใหญ่  ให้เขื่อนลำตะคอง น้ำก็ขึ้น

(4)  ความจริงทำฝนลงเขื่อน  ก็จะปล่อยมาใช้ในการชลประทานได้  แต่บางครั้งถ้าคอยน้ำจากเขื่อนไม่ทันการ  ทำฝนตรงที่นา  ที่สวน  ที่ไร่  ได้ทันที  ทำวันนั้นลงวันเดียวกัน  ไปตรวจดูเกษตรกรยิ้มแย้มแจ่มใส

(5)  ทำแล้วไล่กวดเมฆแทบแย่ต้องมีความต่อเนื่องในเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย  ถ้าลงแม่น้ำโขงก็ได้ประโยชน์

(6)  ตามหลักการบินเห็นเมฆไม่ให้เข้าไป  เพราะมีกระแสลมขึ้นลง  เครื่องบินอาจปีกหัก   แต่ถ้ารู้อะไร  เป็นอะไรก็เข้าไปได้  ขลุกขลักนิดหน่อย  แต่ไม่เป็นอันตราย

 

(7)  ภาพเครื่องบิน  จะเข้าไปสำรวจฝน  เพราะเขายังต้องไปสำรวจฝน เวลานี้ไม่กล้า  ต่อไปจะกล้าเพราะมีเรดาร์ควรเข้าไป

9)  การวางนโยบาย

(1)  ประชาชนเดือนร้อนเมื่อใด  พื้นที่หนึ่งต้องการน้ำ  อีกพื้นที่หนึ่งข้างเคียงไม่ต้องการน้ำ ต้องสามารถประสานได้  ไม่ใช่ไปยืนที่เขตติดต่อแล้วร้องถามว่าต้องการน้ำหรือเปล่า  เขาบอกว่าไม่ต้องการ

(2)  เป็นนโยบายหลักของฝนเทียม  ทำฝนที่ไหนก็ตามในลุ่มน้ำ  ภาคกลางตอนบน     มีอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง บนเขาก็มี  ชาวบ้านจะมีน้ำใช้ตลอดปี

(3)  เรื่องที่กล่าวมานี้ต้องวางนโยบายจากระดับสูงลงมา  ทุกคนต้องรู้บ้าง พอมีรายละเอียดที่จะประสานกันได้

10)  แผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี

(1)  เมืองไทยฝนยังมีสภาพใช้ได้  มีคนบ่นฝนหลวงทำเท่าไหร ๆ ก็ไม่พอ  เพราะแห้งเหลือเกินเพราะเดือนธันวาคม ถึงเมษายน เป็นหน้าแล้งมันไม่มีฝน  เขาว่าฝนไม่พอ  ถ้าบอกว่าฝนไม่พอแล้วไม่ทำ  ฝนก็ไปกันใหญ่

(2)  ถ้าเกิดภัยแล้งกว้างขวาง  เอาลงที่ไหนก็ได้  ขอให้เอาลง

(3)  สู้น้ำฝนของเราไม่ได้ดันน้ำลงทะเลไป  ทำน้ำประปาให้ประชาชน  คนในเมือง  ได้น้ำประปาที่ดี

(4)  ทำฝนทำให้มีน้ำไหลในแม่น้ำปิง วัง ยม ได้ประโยชน์  ถ้าไม่ทำฝนก็แห้งหมด  ฝนที่ตกบริเวณนี้มี

ประโยชน์  

(5)  ตอนนี้ฝนหลวงพิเศษปิดรายการ  ฝนหลวงปกติเปิดรายการ  เมื่อต้นปีบอกให้ทำฝน  แต่บอกว่าทำไม่ทัน  โดยมากฝนหลวงออกสำรวจเดือนเมษา   เริ่มทำเดือนพฤษภา  เคยบอกมา 6 ปีแล้ว  บอกให้ทำฝนก็โอ้เอ้ไปโอ้เอ้มา  คอย 3 เดือน  บอกว่าให้ดีที่สุดต้องทำเดือนกันยา  มิตายกันหมด  ปีนี้เริ่มต้นมกราคม ก็ได้ผล  อาจจะเป็นเพราะพระอินทร์บินผ่านมาก็ได้  เราไม่เอาหน้าทั้งหมด

(6)  ชอบออกข่าวว่าฝนไม่มี ฝนไม่มี ภัยแล้ง  ทำให้พรรคพวก (ที่ทำฝน)  น้อยใจ    ปีนี้ภัยแล้งของหน้าแล้งไม่มี  เพราะทำฝนหลวง  เหตุการณ์ เอล นิโน ผ่านไปแล้ว  ปีนี้น่าจะดีกว่า 2 ปีที่แล้ว  ระหว่างช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เป็นหน้าที่ของฝนเทียม

(7)  ต่อไปมีเขื่อนที่ไหน  ก็ทำที่นั่น  ต้นฤดูกาล  ที่ไหนแล้งทำที่นั่น ความชื้นเกิน 60 เปอร์เซนต์ก็ทำได้ เดี๋ยวนี้ง่ายเครื่องบินคล่องตัว  เช่น เครื่องบินคิงส์แอร์  เครื่องบินกาซ่า  เครื่องบินคาราแวน  ไม่ต้องคอยไปตั้งฐานต้องเตรียมเครื่องบินให้พร้อม  วัสดุขนย้ายได้รวดเร็ว  น้ำแข็งแห้งติดต่อขอบริษัทได้  ถ้ากระทรวงไม่มีเงินก็เข้าใจว่ามีคนจะบริจาค  ถ้ามีเงินก็ต้องเข้าใจหาวัสดุที่เหมาะสม ถ้าท่านปลัดเข้าใจดีแล้วก็ใช้ได้

11)  การสื่อสารและประสานงาน

(1)  ตอนนั้นอยู่นราธิวาส ไอ.ที. มันไม่ดี  ส่งแผนที่อากาศดังครือ ๆ  ใช้รีพีทเตอร์ส่งทางวิทยุ ส่งจากกรุงเทพฯ ทางเทลเล็กซ์  บางทีเดี๋ยวหยุด  เดี๋ยวหาย  ไม่รู้ว่าได้รับหรือเปล่า เดี๋ยวนี้การสื่อสารดีแล้ว ใช้วิทยุเครื่องเล็ก ๆ  ติดต่อกันได้หมด  หรือแค่ยกโทรศัพท์ก็คุยกันได้

(2)  ต้องทำการติดต่อสื่อสารกันให้ดี  ครั้งหนึ่ง  บอกกองทัพอากาศที่ดอนเมืองให้เครื่องบิน ซี 123  จำนวน  2 ลำ  บินทำงานบริเวณเขาใหญ่  ไปลงที่ขอนแก่น  จากขอนแก่นบินมาโจมตี  แต่บอกว่าบินมาไม่ได้เพราะไม่มีน้ำมัน   ทำไมไม่บอกก่อน  เสียน้ำมันบินไปตั้งแยะ  ต้องทำการติดต่อสื่อสารกันให้ดี   ให้เข้าใจทั้งบนฟ้าและลงมา  สมัยนี้สบายกว่าเมื่อก่น

(3)  เดี๋ยวนี้วิทยุสะดวกมาก  โทรศัพท์ก็ได้ ให้ใช้เครื่องมือที่มี  เพื่อให้ภารกิจที่ดี  ข้อสำคัญต้องมีการประสาน  เข้าไม่ประสานเรา  เราก็ประสานเขา

12)  เทคนิคการประเมินผล

(1)  บางทีไม่มีกระป๋อง  เพราะราคาแพง ส่งคนไปถามชาวบ้านบอกว่ามีฝนตก ใช้มือแทนกระป๋องลองวัดน้ำฝน  ก่อนนี้ทำที่พิษณุโลก เอากระป๋องไปให้ รองน้ำฝน 20 กระป๋อง เอามาเทรวมกันบอกวัดได้ตั้ง 400 มิลลิเมตร  ความจริงไม่ถึง  ต้องเอกาแต่ละกระป๋องมาเฉลี่ยกัน

(2)  เทคโนโลยีทำฝน  เทคโนโลยีประเมินผล  ทุกอย่างสำคัญ  เมื่อก่อนฝนลงที่ไหน  ก็เอาการทำงานวันนั้นมาวิเคราะห์ มาดูแผนที่ประกอบ  เราก็ทราบว่าทำตรงไหน  ฝนตกตรงไหน  เราก็เอามาวางแผนวันต่อไป

(3)  เมื่อก่อนทำฝนถึงค่ำ  พอ 4 ทุ่ม ส่งข่าวเข้า ก.ส.9   ได้ทำการวิเคราะห์แผนที่ ตี 1  ก็ส่งแผนให้ทุกหน่วยได้  ตอนเช้าเขาก็ประชุมกันว่าจะทำอะไร ๆ เดี๋ยวนี้ ไอ.ที. ดีแล้ว  ต้องทำให้ได้ดี

(4)  ที่อธิบายกลไกฝนหลวงเพื่อให้พวกเราไปแจกจ่ายหน่วยงานอื่น ๆ  ให้เข้าใจกัน  ทั้งพวกที่ทำฝนและไม่ได้ทำฝน  ที่ไม่ได้ทำฝนก็ช่วยได้ เช่น เมื่อก่อนข้อมูลได้จากตรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ตำบล ใช้กระป๋อง ไม่มีกระป๋อง ก็ใช้ชามรองรับน้ำฝนก็บอกได้

(5)  ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย มีวิทยุ จส. 100 ต้องไปติดต่อช่วยกัน

(6)  ภาพเครื่องบิน จะเข้าไปสำรวจฝน  เพราะเขายังต้องไปสำรวจฝน  เวลานี้ไม่กล้า ต่อไปจะกล้า

เพราะมีเรดาร์ควรเข้าไป

13)  การศึกษาผลกระทบ

(1)  เอะอะว่าฝนหลวงเป็นพิษ  ทำให้พืชผลเสียหาย ความจริงไม่เป็นพิษ  ถึงบอกให้นำฝนมา

วิเคราะห์บ้างว่ามีสารอะไรในฝน

(2)  เคยมีในภาคเหนือ ใช้แคลเซียมคาร์ไบด์  ซึ่งเป็นวัตถุที่ใช้ทำอะเซตทีลีน ใช้ทำตะเกียงอะเซตทีลีน เดี๋ยวนี้ไม่ได้ใช้ทำฝนเพราะอันตรายสำหรับเจ้าหน้าที่ในเครื่องบิน ถูกความชื้นเป็นพิษ ถ้าโปรยต่ำเกินไป จะได้กลิ่นฉุนเป็นพิษ  ไม่ให้ทำ

(3)  คนที่บอกว่าฝนหลวงอันตราย  ก็เพราะไม่ได้ทำเอง  ก็อิจฉา

(4)  ที่กรุงเทพฯ  ไม่ได้ทำฝน  ฝนตกลงมาเป็นฝนเปรี้ยว  เพราะชะล้างควันรถยนต์  ซัลเฟอร์ไดออกไซด์  กลายเป็น ซัลฟูริคแอซิค  มันก็เป็นพิษ

(5)  ทำฝนหลวงไม่เป็นกรด  อาจจะเค็มบ้างไม่เท่าไหร่  เพราะวัสดุเค็มที่ใช้  เปรียบเทียบกับน้ำฝนจำนวนมากที่ตกลงไปก็เจือจาง  ไม่เสียหาย  พิสูจน์ได้  ไปถามประปานครหลวงมีจดไว้ ปี 34  (ปริมาณเกลือ)  เคยขึ้นไปเกิน 0.31  กรัมต่อลิตร  เพราะน้ำทะเลหนุน  ครั้งนี้ทำฝนแค่ 0.05 – 0.07  ตลอด  ไม่อันตราย

(6)  สู้น้ำฝนของเราไม่ได้  ดันน้ำทะเลลงไป ทำน้ำประปาให้ประชาชน  คนในเมือง  ได้น้ำประปาที่ดี

(7)  รัฐมนตรีต่างประเทศของลาวกับท่านนายกของลาว มาหัวร่อ บอกว่าทำฝนหลวง ลาวได้รับด้วย  แต่ก็ดีได้ประโยชน์  เป็นสัมพันธไมตรีที่ดี  ไทยก็ซื้อไฟฟ้าลาวในราคาถูก

(8)  พวกขึ้นเขาใหญ่ไปเที่ยว  ฝนตกก็บ่น  ทนไม่ได้เลยโทรไปบอกว่าจะไปเที่ยวกันหรืออยากจะให้มีฝนชุ่มฉ่ำ

14)  ตำราฝนหลวง

(1)  ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร  จึงทำเป็นการ์ตูน  ใส่กรอบไว้เพื่อที่จะเป็นหลักฐาน

(2)  ตอนแรกเกวียนไม่มีคนขับ  ทำใหม่  ตัดครึ่งแล้วดึงยืดตรงกลางจะได้เห็นคนขับ  คนขับไม่ใช่ 

คนธรรมดา  เป็นพระอินทร์  พระสักกะเทวราช  แปลว่า  มารดาเทวดา  เชิญมาช่วย

(3) มีรูปเครื่องบินที่ใช้งาน  ความจริงควรใส่เครื่องบินชนิดอื่น ๆ ด้วย แต่ต้องใช้เวลานาน จะทำไม่เสร็จทัน  แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝนตกดี

(4)  ภาพนางมณีเมขลา  ตั้งเป็นหัวหน้าสำนักงานอุตุนิยม  ที่อยู่บนเขาไกรลาส  สันนิษฐานว่าเป็นเขาเอเวอเรส

(5)  ตอนแรกในภาพฐานเมฆรั่ว  เดี๋ยวนี้แก้ไปให้แล้วเมฆไม่รั่วแล้ว  ใครมีภาพเก่าก็ไปอุดรูรั่วเอาเอง

(6)  มีพระมหาชนก มีพระอินทร์  ทำให้ทุกคนมีกำลังใจ

(7)  (ภาพการ์ตูน)  ควรย่อให้เล็กพกติดตัวได้

(8)  ต้องให้เข้าใจตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาลงมาถึงเจ้าหน้าที่ธรรมดา  ต้องรู้ทั่วกัน  ต้องประสานกันให้

ทราบ เลยทำตำรานี้มา

(9)  (ภาพการ์ตูน)  ยังไม่ครบ  มีอย่างอื่นอีกเยอะต้องทำ

(10)  ตำรานี้ใช้ได้  ไปคิดเอาเองต่อไปว่าจะทำตำราอย่างไร  แล้วเสนอมา

15)  พระราชทานพร

ขอให้ทุกคนทำงานเข้มแข็ง  เหน็ดเหนื่อย  ปลอดภัย  มีความสำเร็จ

7.  สรุปพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวลเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2544  เวลา 18:40–21:05 น.

1)  ทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับตำราฝนหลวง สรุปได้ว่า :

(1.1) การอธิบายยังเข้าใจยากและยังไม่ครบสมบูรณ์

 

(1.2)  ทรงอธิบายความหมายเกี่ยวกับภาพการ์ตูนในตำราฝนหลวงว่า

      (1.2.1)  นางแมว  เป็นพิธีกรรมด้านจิตวิทยา  เมื่อฝนแล้งเกิดความเดือดร้อน ปั่นป่วน วุ่นวาย  จึงต้องมีจิตวิทยา  บำรุงขวัญให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่มีกำลังใจ

      (1.2.2)  กบ   เลือกนายหรือขอฝน กบถ้าไม่มีความชื้น กบเดือดร้อน  กบเตือนให้มีความพยายามมิฉะนั้นกบตาย  ไม่มีฝนเกษตรกรตาย

      (1.2.3)   บ้องไฟ    เป็นประเพณีเรียกฝน ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นของจริง ทำฝนหลวง  ฝนเทียมด้วยการยิงบ้องไฟ  จรวด ปืนใหญ่ ได้ผลจริง บ้องไฟขึ้นสูงมาก ขึ้นข้างบนเป็นแก๊ส (ควันเป็นแกน)  ทำให้ความชื้นมาเกาะแกนที่เป็นควัน  ทำให้เกิดเมฆ เกิดฝน ต่างประเทศใช้ปืนใหญ่ยิ่งขึ้นบนท้องฟ้า  ทำให้ฝนตกลงมา ถ้าไม่ตกเป็นฝนจะกลายเป็นลูกเห็บ ทำให้ไร่องุ่นเสียหาย บ้องไฟจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งเป็นวิทยาศาสตร์

      (1.2.4)  เครื่องบิน   สมัยก่อนนักบินไม่กล้าเข้าเมฆ  หลังทำการการ์ตูน มีความเชื่อมั่นขึ้นกล้าเข้าเมฆ

2)  คุณเมธา  เป็นผู้เชี่ยวชาญฝนหลวง วางแผนให้นักบิน นักบินไม่เชื่อ ไม่กล้าบินไปไกล กลัวอันตราย ทำฝนเกิดลมแรง นักบินแก้ว่าน้ำมันหมด  จึงบินไม่ถึงเป้าหมาย  จึงไม่เกิดฝน  ประชาชนจึงว่าฝนหลวงเป็นเรื่อง โคมลอย  ไม่ได้ผล

          หลังจากทำการ์ตูนแล้ว  นักบินเข้าใจขึ้น กล้าบินเข้าใกล้เมฆไหล่เมฆ เมื่อเมฆก่อยอดสูงทำให้นักบินเห็นผลและเชื่อเพราะเห็นฝนตก  บางครั้งกลับมาลงสนามบินไม่ได้  ต้องไปลงสนามบินอื่น  นักบินมีความเข้าใจช่วยกันเลือกเมฆ  นักบินและนักวิชาการจึงเข้าใจกัน  ฝนตกนักบินก็ดีใจ  ความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่  นักบินและนักวิชาการดีขึ้น  ต้องสร้างเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยา  ทั้งในท้องที่และกรม  เริ่มแรกโครงการอธิบายกรมอุตุนิยมวิทยาไม่ยอมรับนัก ว่าฝนหลวง โคมลอย  เราไม่ว่าอะไร  แต่รับว่าจริง  แต่เป็นที่ลอย  ลอยขึ้นไปเหมือนโคมลอยในอากาศที่ไม่มีเมฆเลย  สามารถสร้างเมฆได้  เมฆลอยขึ้นเหมือนโคมลอย ต่อมาท่านยอมรับว่าฝนหลวงเป็นส่วนหนึ่งของฝนเทียม

3)  ในอดีตคนสงสัยว่าเมืองไทยทำฝนหลวงได้  ทำไมฝรั่งไม่ทำ  ฝรั่งจ้างบริษัททำฝนลงเขื่อนเป็นการค้าด้านเศรษฐกิจ แต่กระแสลมหอบไปตกลงไร่ข้าวโพด  ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกัน ขาดทุนต้องเลิก

(1)  การทำฝนต้องรู้จักพื้นที่ ท้องที่ต้องการฝน ต้องเข้าใจคำว่า  ลุ่มน้ำ  ฝนตกลงสู่ลุ่มน้ำต้องขีดเส้นแสดงขอบเขตลุ่มน้ำจากยอดส่วนบนของลุ่มน้ำลงมาจนถึงตัวเขื่อน ฝนลงในลุ่มน้ำไม่เสียมีแต่ประโยชน์ลงบนเขาก็ได้ แต่ต้องอยู่ในเขตลุ่มน้ำ ไม่ใช่ลงที่ลุ่ม (ถ้ามากทำให้น้ำท่วมได้)  ลงในป่าทำให้ป่าชุ่มชื้น  และบางส่วนไหลลงมา

(2)  แม้ไม่ไหลลงสู่เขื่อน กลางคืนป่าเย็นมีความชื้น น้ำจะลงมา ถ้าไม่มีป่าไม้พื้นดินจะร้อน ถ้าฝนตกเหนือพื้นที่ดินร้อน จะสะท้อนหรือระเหยและถูกพัดพาไป ฝนตกในป่าทำให้ป่าเจริญเติบโต

(3)  ในการปฏิบัติการที่นี่  (ว.4 ให้แก่งกระจานและปราณบุรี)  ปีที่แล้ว (2543)  เขื่อนเร่งปล่อยน้ำออกเมื่อเก็บกักได้ถึง 65%  เพื่อรอรับฝนที่เคลื่อนมาจากทะเล  (เกรงว่าเขื่อนจะรับน้ำไม่ไหว)  แต่การเร่งปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนทำให้พื้นที่เพาะปลูกใต้เขื่อนชุ่มชื้นจนอิ่มตัว  เมื่อฝนจากทะเลเข้ามาจะตกลงสู่พื้นที่ใต้เขื่อน ไม่เคลื่อนเข้าสู่เขื่อน ทำให้น้ำท่วมได้ (ก.ส.9)  จึงแนะนำให้เก็บกักจนถึงอย่างต่ำ 80% ก่อน  เพื่อมิให้ฝนตกท้ายเขื่อนก่อน  จูงให้เคลื่อนเข้าตกในลุ่มรับน้ำของเขื่อนทั้งสอง  ปรากฏว่าได้ผลตามนี้ (2544)  จึงมีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงพอ สามารถระบายน้ำได้ทัน กรณีฝนตกหนักเหนือเขื่อนและสามารถจัดสรรไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากรณีฝนน้อย

(4)  เขื่อนป่าสักเป็นอีกรณีหนึ่งที่ให้กักน้ำถึงเกือบ 100%  ช่วยให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างสุด และ กทม. ไม่เกิดอุทกภัย

(5)  ฉะนั้น ต้องรู้วิชาการอุตุนิยมวิทยา  หากมีปริมาณฝนน้อยในที่แห่งหนึ่ง  อาจจูง (ชักนำ) ฝนจากที่หนึ่งที่มีปริมาณฝนสูงกว่าเข้ามาสู่ที่น้อยกว่าได้ แม้พายุยังอาจชักจูงเข้ามาได้

          ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  เคยจูงพายุเข้าสู่ไร่ข้าวโพดทำให้รอดพ้นความเสียหายโดยทำฝนหลวงกับที่กลุ่มพายุหมุนเล็ก ๆ (ที่นำหน้าพายุใหญ่)  ให้ก่อรวมตัวเป็นเมฆฝนต้องพิจารณาทิศทางลม (ก.ส.9)  แนะนำให้วางแผนปฏิบัติการตามแนวทิศทางลมตามลำดับ 1-2-3 ต้องทำซ้ำเรื่อย ๆ โดยวางแผนส่งข่าวผ่านข่ายวิทยุตำรวจ  (ในสมัยนั้น)

4)  การทำฝนต้องศึกษาทิศทางลม สมัยก่อนคุณเมธา เคยถามว่า ทำฝนแนวไหนจึงจะได้ผล ได้ให้คำแนะนำว่าต้องทำต้นลม เมื่อทำแล้วต้องติดตามผล แต่ก่อนได้รับรายงานจากราษฎรและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจภูธร เจ้าหน้าที่ระดับตำบล ทำให้ทราบผล และวางแผนได้ สมัยก่อนใช้กระป๋องวัดฝนต้องเทน้ำใส่ที่ตวงวัดฝนจึงจะทราบว่า ฝนตกกี่มิลลิเมตร บางครั้งราษฎรที่รายงานไม่เข้าใจ บางครั้งฝนตกเพียงหนึ่งมิลลิเมตร ดูน้อยจึงเอามารวมกันจนเป็น 100 ม.ม. หรือ เลื่อนกระป๋องไปรองรับที่ชายคา  วัดได้ถึง 300 ม.ม. จึงต้องทำความเข้าใจหน่วยวัดฝน

5)  (ทรงเล่าถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดแนวพระราชดำริที่ก่อให้เกิดฝนหลวงขึ้นมา)  ไปอีสาน (ปี พ.ศ.2498)  ลงจากเทือกเขาภูพาน  ถึงสี่แยก อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พบประชาชนเจอสภาพแห้งแล้ง (ดินแห้งแตกระแหง)  ไม่มีฝน แต่เมื่อฝนตกน้ำท่วมเพราะไม่มีป่า (เก็บกัก)  สังเกตเห็นว่ามีเมฆ (แต่ฝนไม่ตก)  (ทรงแนะนำ)  แนวทางแก้ไข ถ้ามีเมฆ ทำฝนได้ (เมื่อ)  มีฝนต้องสร้าง Check-dam  เมื่อมีเขื่อนมี   Check-dam  ให้ทำฝน Check-dam (ทรง)  คิดทำมานานแล้วกว่า 50 ปี แม้ที่ทะเลน้อย (ในวังไกลกังวล)  ไม่มีน้ำสำหรับทำน้ำประปา หัวหินเพิ่งมาคิดทำ Check-dam  ภายหลังสร้างเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี ฝนหลวงช่วยได้มาก  ซึ่งด้านหลังมีค่ายทหารช่วยดูแลป่า  ป่าไม้จึงยังดีและสมบูรณ์ เพราะฝนหลวง เกิดระบบชลประทาน (ตามมา)  (รักษา) ป่าไม้ให้คงไว้ (และเจริญงอกงาม)  ความร่วมมือทั้งชลประทาน ป่าไม้ ฝนหลวง จึงมีความสำคัญมาก ข้าราชการผู้ใหญ่ทุกกรมกองต้องช่วยกัน (ร่วมมือกัน)

6)  (ทรงเน้นเรื่องลุ่มน้ำ)  ชลประทาน และ (การทำ)  ฝนหลวงต้องดูลุ่มน้ำ  ฝรั่งจ้างบริษัททำฝนให้ตกลงสู่อ่าง (เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในอ่าง)  แต่ (เมฆฝน) ผ่านเลยไปตกลงสู่พื้นที่เพาะปลูก (ข้าวโพดเก็บเกี่ยวเสียหาย) เกิดความเสียหาย ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากมาย บริษัท (เอกชน) จึงขาดทุนและล้มเลิกไป ฉะนั้น ต้องรู้จักสภาพพื้นที่เพาะปลูก – ปลูกพืชอะไร (ปี 2542 กุมภาพันธ์ เกิดภัยแล้ง ให้มาทำ มาทำล่าช้า)

7)  ทรงเล่าถึง ELNINO  ที่เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงในปี 2535  เคยบอกให้ทำฝนแต่ไม่ได้ทำ (ก.ส.9) เคยอ่านเรื่อง ELNINO มาก่อนแล้ว เป็นครั้งแรกที่ทราบ ปัจจุบันนี้แม้เดือนกุมภาพันธ์ทำฝนได้แม้จะตกไม่มาก แต่ได้ผลมากเพราะเป็นการสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ฝนดี สมัยนายกชวนเข้ามา เกิดเดือดร้อนเพราะภัยแล้ง ให้ทำฝนหลวง ฝนกลับดีในช่วงปลายปี   (ก.ส.9) จึงให้โหมฝนหลวง (ติดต่อมาตามลำดับ) รัฐบาลจึงโชคดี ไม่เดือดร้อนเพราะภัยแล้ง

8)  (ก.ส.9 เน้นว่า) ฝนหลวงจูง (เมฆเข้าพื้นที่ต้องการฝน) ได้ ต้องศึกษาทิศทางลมให้ดี (ทรงอธิบาย)  วิธีการจูงฝน  โดยสร้างหรือก่อรวมตัวให้เกิดเมฆอีกจุดหนึ่งเหนือลม เปลี่ยนทิศทางลมได้

(8.1)  เคยทดลองที่อำเภอบรบือ ใช้ CaCl2  เข้าไปในเมฆ ก่อยอดสูงขึ้นรวดเร็วและสลายตัวไปก่อตัวใหม่ใต้ลมประมาณ 20 ก.ม. จูงฝนเข้าสู่อำเภอบรบือ วัดได้ถึง 40 ม.ม.

(8.2)  (สมัยเริ่มแรก ก.ส.9  ทรงบัญชาการเอง)  ทำที่หัวหิน อยู่ 3-4 วันฝนไม่ตก คุณเมธา ท้อใจหนีไปขอนแก่น (วันหนึ่ง ก.ส.9)  บินกลับจากอำเภอทุ่งสง พบกลุ่มเมฆ (ทางเหนือลมของหัวหิน) จึง ว.0 ให้ ว.4 กับกลับกลุ่มเมฆนั้น สามารถจูงกลุ่มเมฆฝนให้เคลื่อนเข้าสู่อำเภอหัวหิน ได้ฝนเป็นที่พอใจ คุ้มค่าที่ ก.ส.9 ลงทุนเองหลายหมื่นบาท (ในขณะนั้น)

9)  ทรงย้ำถึงคุณสมบัติสารเคมี (เข้าใจว่าทรงกล่าวถึงคำอธิบายความเข้าใจตำราฝนหลวง)  การพูดถึงสารเคมีทำให้คนเข้าใจผิดว่าตัวสารเคมีทำฝน ที่จริงเป็นการใช้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ ทำให้เกิดความร้อน ความเย็น  ความร้อนก็จะไล่ความชื้น เป็นต้น  เคยใช้สูตรร้อนแคลเซียมคาร์ไบด์ ให้ความร้อน (ทางฟิสิกส์)  ดี แต่กลิ่นเหม็นรุนแรง และติดไฟได้อันตราย  (การทำฝนหลวง)  ต้องระวังความสิ้นเปลืองด้วย แต่ทำแล้วคุ้มค่า

10)  (ทรงแนะนำว่า)  ก.ส.9 ไม่ใช่นักวิชาการมาก่อน  แต่ซื้อตำรามาอ่าน หารือผู้รู้ (ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตุนิยมวิทยา)  และสังเกตธรรมชาติ ปรึกษาหารือกับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  และต้องไม่โกรธเมื่อมีผู้ขัดแย้ง เช่น    ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ ไม่โกรธเลยเมื่อมีคนไม่เชื่อและขัดแย้ง

11) ทรงเน้นเรื่องลุ่มน้ำและลุ่มรับน้ำ (ซ้ำอีกครั้ง)

12)  วรุณ 1  ขอพระบรมราชวินิจฉัยตำราฝนหลวงพระราชทานที่ทูลเกล้าฯ ขึ้นมา ทรงทักท้วงว่าในการ์ตูน เป็นเขาพระสุเมรุ  ไม่ใช่เขาไกรลาส  และยังสะกดผิดเป็นเขาไกรลาด ทั่ว ๆ ไปใช้ได้ 

หมายเหตุ :  พระบรมราโชวาทที่ประมวลไว้ดังกล่าวข้างต้นไม่รวมกับพระราชกระแส ข้อแนะนำทางเทคนิคที่พระราชทานโดยตรงผ่านข่ายวิทยุสื่อสารตำรวจแด่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล และนักวิชาการฝนหลวงที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งยังมีอีกมากไม่ได้นำมาประมวลไว้ในที่นี้

 

 

 

8.  สรุปสาระสำคัญบางส่วนจากพระราชดำรัสพระราชทานแด่ ฯพณฯ องคมนตรีอำพล เสนาณรงค์
และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะผู้เกี่ยวข้อง รวม 31 นาย ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ณ  ศาลาเริง พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เวลา 18:40–18:00 น.

1)  ฯพณฯ องคมนตรีอำพล  เสนาณรงค์ กราบบังคมทูลถวายรายงานและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เบิกตัว  ฯพณฯ นายรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร หลังจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร กราบบังคมทูลถวายราชสดุดีแล้วทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนโดยเทคโนโลยีฝนหลวงที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 แล้ว ทรงประทับยืนมีพระราชดำรัสต่อคณะผู้เข้าเฝ้า สรุปได้ดังนี้

(1)  ทรงขอบพระทัยที่นำสิทธิบัตรมาทูลเกล้าฯ ถวาย

(2) ทรงดำเนินงานมาเป็นเวลานาน  มีประสบการณ์  สนุกดี  เมื่อได้รับสิทธิบัตรว่าเราทำได้  สบายใจ  เพราะพูดได้ว่าว่าเราคิดเอง  คนไทยคิดเอง  ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์  และในหลวง

(3) บางทีต่างประเทศมาดู  ต่างประเทศดูถูกคนไทยว่า คนไทยไม่รู้เรื่อง  เราต้องยืนยันว่า  ฝนหลวงนี่เป็นฝนที่คนไทยคิด  ไปดูในตำราของฝรั่ง  ฝรั่งมีตำราแต่ได้ดูตำราของเขาฝรั่งไม่เหมือน  ไม่เหมือนของเราหลายอย่าง  จึงยินดีรับสิทธิบัตรที่ท่านได้ออกให้  รับโดยไม่รู้สึกผิด ต้องขอขอบใจที่ท่านได้ยกย่องว่าเป็นคนคิดฝนหลวง ขอให้ความดี   ยกความดีให้กับเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญฝนหลวงที่ได้ทำร่วมกัน ผู้ที่ได้ทำให้ฝนหลวงสำเร็จ

(4)  ที่ท่านนำสิทธิบัตรมา  ก็ต้องขอขอบใจและให้เข้าใจสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่มีค่าและก็เฉพาะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติและปฏิบัติอย่างดี

(5)  ไม่ใช่เพื่อพระเจ้าอยู่หัวแต่สำหรับชาวบ้าน  ทำฝนนี่ทำสำหรับชาวบ้านสำหรับประชาชน  ไม่ใช่ทำสำหรับพระเจ้าอยู่หัว  พระเจ้าอยู่หัวอยากได้น้ำ  ก็ไปเปิดก๊อกเอาน้ำมาใช้  อยากได้น้ำสำหรับทำการเพาะปลูกก็ไปสูบน้ำจากคลองชลประทานได้ แต่ชาวบ้านชาวนา   ที่ไม่มีโอกาส มีน้ำสำหรับการเกษตรก็ต้องอาศัยฝน  ฝนไม่มีก็ต้องอาศัยฝนหลวง

(6)  เคยมีครั้งหนึ่ง  ทางภาคตะวันออกแห้ง  ทั้งจันทบุรีระยอง  ผลไม้กำลังเสียหมด  ต้นไม้แห้ง ต้นไม้จะตาย ขอฝนหลวงภายใน 3 วัน  ทางกระทรวงเกษตรได้อนุมัติเครื่องบินฝนหลวงให้  และได้ผล  ทำให้ผลไม้รอดพ้นจากความแห้งแล้งนี่มีหลักฐาน  ผู้ว่าราชการจังหวัดในครั้งนั้น  ได้นำราษฎรมาที่สวนจิตรฯ แล้วเอาผลไม้  เงาะทุเรียนมาให้  บอกเงาะ  ทุเรียนเป็นของท่าน  เพราะถ้าไม่มีฝนหลวง  เงาะ  ทุเรียน  เหล่านี้จะต้องตาย  ต้นไม้เสียไป  เสียไปหลายปี  เพราะเมื่อต้นไม้ตายเสียไป  ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นขึ้นมาได้

(7)  ฝนหลวงพิเศษนี้  ตามปกติเรียกว่า “ฝล”  เวลามีเอกสารเรียก ฝล.123  แต่อันนี้เป็น ฝล.พิเศษ  เขียนไว้ในการสื่อสาร  ออกพิเศษที่พิเศษ  นี่เพราะว่าค่าใช้จ่ายบางส่วนไม่ใช่ของรัฐบาล  เป็นเงินบริจาค  พระเจ้าอยู่หัวบริจาค  ก็พวกที่เป็น  ที่รู้ ที่จำได้ก็บริจาคให้  ฉะนั้น ฝนหลวงนี้เป็นกิจการที่ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย

2)  หลังจากทรงพระกรุณาฉายภาพร่วมกับคณะผู้เข้าเฝ้าฯ  ยังทรงประทับนั่งมีพระราชดำรัสต่อคณะผู้เข้าเฝ้าฯ  ซึ่งนั่งราบกับพื้นอีกชั่วระยะหนึ่ง  พอสรุปได้ดังนี้

(1)  ทรงเล่าประสบการณ์ และความสำเร็จที่ทรงบัญชาการทำฝนหลวง  ในหลายเหตุการณ์และในวโรกาสต่างๆ   รวมทั้งความสำเร็จของฝนหลวง

(2)  ทรงรับสั่งว่า  ฝนหลวงเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติ แต่ฝนหลวงต้องมีค่าใช้จ่าย  ขอให้  ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  ให้การสนับสนุนด้วย  ซึ่ง ฯพณฯ  นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปดำเนินการ

(3)  ขณะนี้เครื่องบินที่ใช้ทำฝนหลวงเก่ามาก กลัวจะตก ขอให้นายกช่วยดูด้วย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ขอน้อมรับใส่เกล้าฯ  จะดำเนินการให้

 

9.  สรุปพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแด่  ฯพณฯ องคมนตรีอำพล  เสนาณรงค์  และคณะ ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับฝนหลวงและขอพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระบรมราชวินิจฉัย ณ  พระตำหนักเปี่ยมสุข  พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 เวลา 18:00 - 20:30 น.

คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

 1.  ฯพณฯ นายอำพล   เสนาณรงค์         องคมนตรี

 2.  นายปีติพงศ์   พึ่งบุญ ณ อยุธยา         อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 3.  นายเมธา       รัชตะปีติ                  ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง

 4.  นายดิสธร     วัชโรทัย                    ผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์

 5.  นายแววจักร   กองพลพรหม             ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร

 6.  นายอนันต์    ภู่สิทธิกุล                   เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 9 ชช.

                                                  หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบงานบริหาร

 7.  นายวราวุธ    ขันติยานันท์                ผู้อำนวยการส่วนฝนหลวง

 8.  นายวัฒนา   สุกาญจนาเศรษฐ์           หัวหน้าศูนย์วิจัยปฏิบัติการฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ
                                                จังหวัดนครราชสีมา

 9.  นางกาญจนา   ปานข่อยงาม              เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ 8 

                                                  หัวหน้ากลุ่มงานกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการ
                                                ประดิษฐ์คิดค้น  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ประมวลพระราชดำรัส

1. ฝนหลวงพิเศษ

(1) เมื่อมีพระราชกระแสโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ถ้าใช้งบประมาณปกติเป็นฝนหลวงปกติของรัฐบาล เช่น การทำฝนหลวงพิเศษที่โคราช สุโขทัย ภาคใต้ จังหวัดจันทบุรี สมัยปลัดปรีดา [ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น พ.ศ. 2515] ให้การสนับสนุนอนุมัติอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน ให้ทำฝนหลวงพิเศษช่วยจันทบุรีได้ผล ซึ่งได้ผลทุกที [การปฏิบัติการที่จัดว่าอยู่ในข่ายฝนหลวงพิเศษ ยังมีอีกมากนอกเหนือจากที่ทรงยกตัวอย่าง ซึ่งทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ทั้งหมด พระราชทานพระราชทรัพย์บางส่วน รวมทั้งที่ทรงแจ้งว่าจะพระราชทานพระราชทรัพย์ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดสรรงบประมาณให้เพื่อมิให้เป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท]

(2)  เป็นการปฏิบัติการฝนหลวงโดยความร่วมมือของส่วนราชการต่างๆ [ทรงประสานงานด้วยพระองค์เอง ให้หน่วยราชการเหล่านั้นร่วมปฏิบัติการ เช่น กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กรมตำรวจ  กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น]

(3)  ฝนหลวงเดี๋ยวนี้ บางครั้งทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่มีวินัย ฝนหลวงเดี๋ยวนี้ทำแบบเช้าชาม เย็นชามเช้าขึ้นบิน เสร็จแล้วกลับลงมากินข้าวหนึ่งชามแล้วเลิก ลืมไปว่ามีคนคอยผลการทำฝน [เคยมีพระราชกระแสทำนองนี้มาแล้วหลายครั้งแด่คณะเข้าเฝ้าฯ ในหลายวโรกาส]

(4)  การปฏิบัติการฝนหลวงที่หัวหิน [ขณะนี้] ไม่ใช่พิเศษ การปฏิบัติการฝนหลวงที่ชะอำเป็นพิเศษ [เข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติการที่โครงการสหกรณ์หุบกะพงเป็นเป้าหมายในขณะนั้นๆ เป็นพิเศษ เป็นทุนทรัพย์ส่วนพระองค์]  ได้ผลทุกที

(5)  การใช้ฝนหลวงพิเศษ จะทำให้ผู้อื่นหมั่นใส้ [คงหมายถึงหน่วยราชการอื่นหรือแม้แต่ในกระทรวงเกษตรฯ เอง] 

(6)  ต้องให้ทุกคนเข้าใจกันให้ได้ [หน่วยราชการต่างๆ] ต้องให้ผู้ใหญ่ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บังคับบัญชา [ในสายงาน] ให้ความร่วมมือ [สนับสนุน] จึงเรียกว่าฝนหลวงพิเศษ

(7) กส.9 รับสั่งให้ทำฝน ถือเป็นฝนหลวงพิเศษ โดย กส.9 ติดต่อ [ทรงประสานงานด้วยพระองค์เอง]
หน่วยงานอื่น [เช่น กองทัพอากาศ  กองทัพเรือ  กรมตำรวจ  กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นต้น มาร่วมปฏิบัติ]

2. ระบบข้อมูล  การติดตามและรายงานผล

(1)  ข้อมูลต้องทันเวลาและทันสมัยตลอดเวลา  ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาจะได้ในตอน 07:00 น.เช้า  แต่กว่าจะได้รับรายงานก็เป็นตอนบ่าย ทำให้ไม่ทราบข้อมูลที่ทันสมัย ทันเวลา ฝนอาจตกตอน 4 ทุ่ม เคยทรงได้รับรายงานจากสถานีตำรวจภูธร ทำให้รู้ [ได้เร็วและทันเวลา] [เคยทรงให้รายงานผลปฏิบัติการประจำวัน ถึง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง สวนจิตรลดาไม่เกิน 22:00 น.  เพื่อทรงวิเคราะห์ผลจากรายงาน  ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและ
พระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคให้คณะปฏิบัติการในภาคสนามในช่วงเวลาระหว่าง 24:00 น.ในวันเดียวกัน หรือในราว 01:00 - 02:00 น. ผ่านข่ายวิทยุตำรวจเพื่อให้ใช้ประกอบการพิจารณาในการวางแผนทดลองหรือปฏิบัติการในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น  พระราชกระแส ในลักษณะดังกล่าว นักวิชาการฝนหลวงในยุคนั้นเคยทำข่าวขอ ว.0 จาก กส.9  กส.9 ทำข่าวตอบว่า  กส.9 ว.0 ไม่ได้  ให้ได้แต่ข้อแนะนำทางเทคนิค จึงใช้คำว่า ข้อแนะนำทางเทคนิค ตั้งแต่นั้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน]

(2)  Internet  ของ กส.9 ถูกล๊อคใช้งานไม่ค่อยได้ [เช่น ข้อมูลอุทกวิทยาของกรมชลประทาน]

(3)  เดี๋ยวนี้ [ศูนย์ฯ] หัวหิน [มีการรายงาน] ผ่าน NECTEC ใช้  Internet [ของ NECTEC]  แต่ของ [กส.9]  ถูกเซ็นเชอร์ กดแล้วไม่ขึ้น อยากรู้ข้อมูลน้ำ เมื่อกดเข้าไปดูจะทราบว่าจะกดตรงไหน ต้องทราบ ว่าต้องการฝน หรือ ไม่เอาฝน  แม้มีระบบ Internet ที่ทันสมัยแต่ทำไม่ได้ คุณดิสธร [ผอ.กองงานส่วนพระองค์] ทำงานหลายอย่าง [แต่มีปัญหา เช่น บางที กรมชลประทานไม่ส่ง]

(4) ปัจจุบันการเข้าหาข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ [ของ กส.9] ถูกเซ็นเชอร์ กดคอมพิวเตอร์แล้วไม่โชว์ผล อยากทราบน้ำเขื่อนก็กดไม่ได้ ระบบไม่ดี  แต่ของ ICT ดี ระบบการใส่ข้อมูลไม่ดี เดี๋ยวนี้จ้องคนนี้ไม่ได้แล้ว [ทรงชี้ไปที่อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายปีติพงศ์]

(5) คอมพิวเตอร์ของ กส.9 ใช้งานมานานกว่า 15 ปี [บุโร] แล้ว [ในเครือข่าย] มีคอมพิวเตอร์ใหม่ 4 ชุด แต่ใช้งานไม่ค่อยได้  [ถูกล๊อค]  ข้อมูลจึงไม่ค่อย Update

(6)  [ระหว่าง] การปฏิบัติการ นักวิชาการ นักบิน รายงานว่ามีฝนตกแล้ว แต่ตรวจสอบแล้วไม่มีฝนตกข้างล่าง  [ตกไม่ถึงพื้นดิน]

(7)  รายงานข่าวผลปฏิบัติการฝนหลวง [ประจำวัน] ทางศูนย์ฯ ต้องเป็นผู้รวบรวมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ มาประกอบการวิเคราะห์แล้วจึงรายงานมาให้ [กส.9]  ทราบ

(8)  รายงาน [ผลการปฏิบัติการประจำวัน] วิเคราะห์เองไม่ได้ [ไม่มีการวิเคราะห์ยืนยันผลการปฏิบัติการ]  ให้ กส.9 วิเคราะห์ [คงหมายถึงการรายงานที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน]

(9)  องคมนตรีอำพลฯ กราบบังคมทูลว่า ต่อไปจะดีขึ้น และ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปีติพงศ์ กราบบังคมทูลว่าข้อมูล CONSOLIDATE ช้า [กส.9 ทรงแนะว่า] ศูนย์อยู่ตรงไหนต้องมีคอมพิวเตอร์ เอากับเรา [กส. 9] ไม่ได้นะ กองงาน [ส่วนพระองค์] ยังโดนบล๊อค [ข้อมูล]  ทั้ง  4  เครื่อง [เครื่องประจำ กส.9]  มี  1 เครื่อง  ใช้งาน  [มานาน] กว่า 15 ปี บุโรแล้ว [คงทรงหมายความว่า เก่าและล้าสมัยมากแล้ว]

(10) คุณดิสธร [ผอ.กองงานส่วนพระองค์] กราบบังคมทูลว่า Data ที่ได้รับไม่ Update [กส.9 ทรงเสริมว่า] เมื่อก่อนทำได้ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ เคยส่งเข้ามา 4-5 layers โดยตรง กำลังดูหายวูบๆ เดี๋ยวนี้ใช้ไม่ได้ ฝนหลวงต้องทำอุตุเองว่าฝนแล้งจะบอก

3.  เครื่องบิน

(1)  เจ้าหน้าที่อยากได้กาซ่า คุณทักษิณ [นายกรัฐมนตรี] จะแลกข้าว กาซ่าดี ไม่ใหญ่ ไม่เล็กเกินไป [เข้าใจว่าทรงหมายถึง กาซ่า Series 100, 200, 300] C-123 [ของ ทอ. ใหญ่ไป แต่แข็งแรงกว่า Dakota ของ ทอ.] C-130 [ของ ทอ.] ก็ใช้ได้ น่าสนุก [บรรทุกสารเคมีได้มาก]

(2)  เคยใช้ C-123 [บรรทุกสารเคมี] บินจากดอนเมืองไปทำฝนภาคอีสาน ลงบรรทุกสารเคมีที่ขอนแก่น แล้วบินกลับดอนเมือง ได้ผลดี [ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ พ.ศ. 2515 เนื่องจากประสบภัยแล้งรุนแรงเป็นบริเวณกว้างทั่วทั้งภาค ในการบินกลับต้องบินฝ่าฝนมาลงดอนเมือง ]

(3)  กาซ่าน่ารักกว่า ปีกบน Stable กว่า ปีกล่างโครงส่าย นักวิชาการ อาจารย์เมธา [ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง] ซึ่งเป็นผู้ใหญ่  [สูงอายุ]  แล้วขึ้น  [ไปปฏิบัติการ]  สบายขึ้น

(4)  คาราแวนก็ดี  เครื่องขนาดเล็กเหมือนปอร์ตเตอร์ คล่องตัว

(5)  แต่อันตรายพอๆ กัน [ไม่ว่าเครื่องบินขนาดเล็ก หรือใหญ่] ทั้งนักบินและนักวิชาการมีความเสี่ยงเหมือนๆ กัน

(6)  นักวิชาการกลับลงมาแล้วต้องพิจารณาเขียนข่าวผลการปฏิบัติการ นักบินรู้จักเมฆ รู้อุตุนิยมวิทยา และแผนที่ ต้องบินเข้าเมฆทำตามแผน ไม่ใช่บินหนีเมฆ เมื่อก่อนมีผู้เชี่ยวชาญการทำฝน คุณเทพฤทธิ์ [ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  เทวกุล] เป็นคนกล้า มักชอบ [กล้า] บินเข้าเมฆ ต้องมีคนแบบ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ มากๆ นักทำฝน [นักวิชาการ] และนักบินไม่ถูกกัน แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้นแล้ว เพิ่งเข้ากันได้ในปี 2542 [ทรงฟื้นฟูการปฏิบัติการและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ในการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง พ.ศ. 2542] 

(7)  เครื่องบินคิงแอร์แพงและเปลือง มีการนำไปใช้บิน VIP ต้องทำความเข้าใจ เพราะใช้งบประมาณหลวง
การใช้เครื่องบินในการทำฝนไม่ได้ทำทุกวัน มีการใช้เพื่อ การป่าไม้ การประมง

(8)  รูปที่เขียนโดยคอมพิวเตอร์ [การ์ตูนตำราฝนหลวง] เป็นรูปกาซ่า [รับสั่งถามว่า] เหมือนไหม นายเมธาฯ กราบบังคมทูลว่าเหมือน ดูรู้ว่ามีเครื่องบินคาราแวน และ คิงแอร์อยู่ด้วย ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใช้เมื่อปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง พ.ศ. 2542 [เป็นเครื่องบินที่เหมาะสม และมีศักยภาพที่จะปฏิบัติการตามตำราฝนหลวงพระราชทานได้อย่างครบถ้วน]

(9)  กองบินไม่ได้ใช้ทำแต่ฝน [หลวง] เอาไปบินป่าไม้ VIP เมื่อต้องการทำฝนไม่มี ทำฝนไม่มีประสิทธิภาพ

(10)  เคยใช้เครื่องบินบรรทุก [สารเคมี] 5 ตัน [เข้าใจว่า C-123 2 เครื่อง C-130 1 เครื่อง] จากกรุงเทพฯ บินจากสนามบินกรุงเทพฯ [ดอนเมือง] ไปขอนแก่น โปรยที่เขาใหญ่ จะต้องมีปอร์ตเตอร์โจมตีไปโปรยที่ชัยภูมิ  แต่ บ.ปอร์ตเตอร์  นักบินอ้างว่าลมแรง ไปโปรยที่ชุมแพ  ที่โปรยไปก็เสียเที่ยวเปล่า [ฝน] ไม่ลง [ในเป้าหมาย] แต่ไปตกที่หนองคาย เจ้าหน้าที่ [นักวิชาการฝนหลวง] ไม่รู้ แต่ฉัน [กส.9] ติดตาม [ปรากฎว่า ] ไปตกลาว ต้องไปถามลาว [ประธานประเทศลาวเคยเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลว่า ไทยทำ ลาวได้รับฝนดีผลิตกระแสไฟฟ้าขายไทย]

(11)  ถึงมีปอร์ตเตอร์ มาบินวนๆ ทิ้งเคมี  แต่ไม่ต่อเนื่อง [ให้] บินจากขอนแก่นไป ชัยภูมิ ต้องไปให้สุด [ถึงจุดที่กำหนด] [นักบินและนักวิชาการ] บอกว่าลมแรงเกินไป เลยทิ้งก่อนถึงจุด [ที่กำหนด] ไปลง [ฝนตก] มหาสารคาม [พื้นที่ใต้ลมของเป้าหมายที่ต้องการ] ไม่ทราบทิศทางลม ต้องร่วมมือกับอุตุฯ

4. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ  (ณ ท่าอากาศยานหัวหิน)

          ฯพณฯ องคมนตรีอำพล กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตปรับปรุงศาลาที่ประทับ และขอพระราชทาน ชื่อเรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมศูนย์ดังกล่าว  สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

          นายเมธาฯ ทราบบังคมทูลเสริมว่า เป็นเจตนาและนโยบายของอดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปีติพงศ์ ให้ปรับปรุง และพัฒนาอาคารศาลาที่ประทับ ณ ท่าอากาศยานหัวหิน ที่เคยเสด็จมาทรงงานและประกอบพระราชภารกิจฝนหลวงเป็นครั้งคราวจนถึงปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติในฐานะทรงเป็น พระบิดาแห่งฝนหลวง ให้เป็นสถานที่ๆ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝนหลวง ประกอบด้วย ศูนย์ข้อมูลวิชาการที่ระบบมีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ พร้อมที่จะถวายรายงานโดยตรงต่อ กส.9 โดยเฉพาะ พร้อมทั้งมีหน่วยงานพัฒนาสารเคมีฝนหลวง [ภายใต้แผนงานพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวงของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร] และคณะปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์

          นายวัฒนาฯ กราบบังคมทูลถวายงานความพร้อมของระบบเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ ระบบรับสัญญาณภาพเรดาร์จากดาวเทียม [ ขณะนี้ถวายรายงานผ่านระบบ Internet ของ NECTEC แต่ศูนย์ฯ สามารถพัฒนาระบบของตนเองให้เชื่อมโยงกับระบบของพระราชวังไกลกังวล ถวายรายงาน กส.9 ได้โดยตรง ] ระบบ LAN เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ภายในศูนย์ฯ และสามารถเชื่อมระบบ LAN ทางไกลกับระบบคอมพิวเตอร์พระราชวังไกลกังวล และระบบ Internet เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการในรูปแบบ WEBSITE SERVER นอกจากนั้นได้พัฒนาระบบที่จะถวายรายงานตรงต่อ กส.9 คือ ทำการเชื่อมโยงศูนย์ข้อมูลวิชาการที่มีอยู่แล้วไปยังระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ กส.9 โดยผ่านทางคู่สายความเร็วสูง [ LEASED Line or Fiber Optics] และ / หรือ ผ่านระบบสื่อสารไร้สายเช่น ระบบไมโครเวฟ [ MICROWAVE ] ถวาย USER ID และ PASSWORD แด่ กส.9 โดยเฉพาะ เพื่อให้ กส.9 เข้าชมข้อมูลและรายงานปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันได้ตลอดเวลา และทำการเชื่อมโยงระบบเข้าสู่อินเทอร์เนต โดยเชื่อมต่อไปยังหน่วยบริการอินเทอร์เนตที่เรียกว่า ISP [ Internet Service Provider ] ผ่านระบบ ADSL [ Asymmetric  Degital Subscriber Line] เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลความเร็วสูง โดยใช้คู่สายโทรศัพท์ที่มีอยู่เดิมหรือติดตั้งขึ้นใหม่ พร้อมและสามารถดำเนินการระบบต่างๆ ดังกล่าวได้ทันทีที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจาก กส.9

          อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ ปีติพงศ์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายอัลบั้มภาพศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งรวมทั้งภาพแสดงองค์ประกอบในห้องทรงงาน และ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของศูนย์ข้อมูลวิชาการ ซึ่งอยู่ในห้องทรงงาน [ ศาลาที่ประทับเดิม ] พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจสำหรับเข้าห้องศูนย์ข้อมูลวิชาการดังกล่าว

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทอดพระเนตรภาพในอัลบั้มแล้ว ทรงมีพระราชดำรัสและพระราชวินิจฉัย พอสรุปได้ดังนี้ :

(1)  องคมนตรีอำพล กราบบังคมทูลว่า มีการปรับปรุงศาลาที่ประทับ เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการ ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ  ณ  ท่าอากาศยานหัวหิน

(2) นายเมธาฯ [กราบบังคมทูลเสริมว่า] เป็นนโยบายของอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
[นายปีติพงศ์] ต้องการให้เป็นศูนย์ฯ ที่เป็นต้นแบบ ทั้งศูนย์ข้อมูลวิชาการ การปฏิบัติการและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติ ในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งฝนหลวง ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

(3)  [กส. 9]  เคยไปสอน [ทรงบรรยายแก่นักเรียนโรงเรียนไกลกังวล ในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการฝนหลวง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ ท่าอากาศยานหัวหิน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 และทรงสาธิตปฏิบัติการฝนหลวงด้วย ได้ทรงอธิบายและสาธิตทฤษฎีการเกิดเมฆ เกิดฝน ด้วยวิธีการที่เข้าใจได้ง่ายและเห็นได้จริง] การทำฝนเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ฝนเกิดจากความชื้นในอากาศและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ โดยทรงเปรียบเทียบน้ำเป็นอากาศ ผงเกลือแป้งเป็นความชื้น ทรงสาธิตโดยเอาเกลือ  [ความชื้น] ละลายในน้ำร้อน [อากาศที่อุณหภูมิสูง] เกลือที่สมมติว่าเป็นความชื้น จะละลายหายไป แต่เมื่อทำให้น้ำที่สมมุติเป็นอากาศ อุณหภูมิเย็นลง เกลือจะตกผลึกคืนมา [หรือความชื้นจะกลั่นตัว] ซึ่งเป็นหลักการที่นำมาใช้ทำฝน

          นายเมธาฯ กราบบังคมทูลเสริมว่า เป็นการสาธิตที่อธิบายทฤษฎี การทำฝนที่เข้าใจได้ง่าย และเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม  ได้บันทึกไว้และนำไปใช้ในการบรรยาย

(4)  การใช้ชื่อฝนหลวงพิเศษ จะทำให้คนอื่นหมั่นไส้ เป็น SUPER หมั่นไส้  [คนอื่นคงหมายถึงส่วนราชการ หรือกระทรวงอื่นๆ รวมทั้งบางบุคคลหรือหน่วยราชการอื่นๆ ของกระทรวงเกษตรฯ เองด้วย] คำว่าหลวง [ฝนหลวง] บ่งบอกความสำคัญอยู่ในตัวว่าใหญ่ และ หมายถึงผู้ใดอยู่แล้ว การทำฝนให้น้ำ คนเขาก็ขอบคุณอยู่แล้ว  เป็น SUPER ใต้ดิน [คงหมายถึงเป็นการปิดทองหลังพระ] 

(5)  สำหรับชื่อศูนย์ฯ นี้ ไม่น่าเป็น พิเศษ [ใช้งบประมาณรัฐ] น่าจะเป็น ฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ควรสนใจและตั้งใจปฏิบัติงานให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ก็เป็นการเฉลิมพระเกียรติเพียงพออยู่แล้ว [ทรงยกตัวอย่างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เฉลิมพระเกียรติ]

(6)  ที่ถวายกุญแจ [ห้องศูนย์ข้อมูลวิชาการและห้องทรงงาน] จะขังฉันหรือ [คงหมายถึงให้ทรงงานในห้องนั้น] ไม่ได้ทรงงาน [ที่ทรงเคยเสด็จมา ณ ท่าอากาศยานหัวหินเป็นการเสด็จมาประกอบพระราชกรณียกิจฝนหลวงเป็นครั้งคราว]

(7)  [เมื่อทอดพระเนตรภาพห้องทรงงานและระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์ข้อมูลวิชาการ] มีพระราชกระแสว่าโก้ ระบบคอมพิวเตอร์ของ กส.9 ยังมีปัญหาทั้ง 3 ระบบ มีการล้มบ่อยๆ แม้ในห้องทรงงานที่พระราชวังไกลกังวลยังถูกล๊อค และข้อมูลไม่ UPDATE  [ดังนั้น] การติดตั้งตามแผนที่เสนอ [ในอัลบั้มภาพ] ต้องวางแผนและแนวทางป้องกันการล้มของระบบทุกรูปแบบ

(8)  [กส.9] จะหาโอกาสมาเยี่ยม [ศูนย์ฯ นี้] อีก

5.   การพัฒนาองค์กร  (ให้เป็นองค์กรอิสระ)

ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชทานข้อแนะนำ  พอสรุปได้ดังนี้

(1) ให้ทำความเข้าใจ จำแนกขอบเขตฝนหลวงพิเศษ [ทรงมีส่วนร่วมประสานงานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาร่วมปฏิบัติการ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ หรือบางส่วนมีพระราชกระแสให้ปฏิบัติ และทรงแสดงเจตจำนงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้เป็นค่าใช้จ่าย กระทรวงเกษตรฯ ปฏิบัติตามพระราชกระแสและจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท] และฝนหลวง [เป็นฝนหลวงปกติ เป็นการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐ]

(2)  ระบบข้อมูลต้องทันเวลาและทันสมัย ให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ [มิให้ข้อมูลขาดหาย ต้องวางแนวทางป้องกันมิให้มีปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการระบบข้อมูล] ทั้งระบบของฝนหลวงที่เชื่อมโยงกับระบบของกส.9 ทุกศูนย์ต้องมีระบบคอมพิวเตอร์

(3)  การขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น น่าจะทำได้ เช่น กปร. มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นต้น  อาจทำในลักษณะกองทุนหมุนเวียน เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ แต่ต้องดูให้รอบคอบว่าจะใช้ทำอะไร ให้ กปร. ทราบ [องคมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงฯ กราบบังคมทูลเสริมว่าต้องมีระบบตรวจสอบและวิธีการ]

(4)  ต้องทำความเข้าใจ อธิบายให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เมื่อเข้าใจแล้วจะให้ความยอมรับก็จะให้การสนับสนุน

(5)  [การพัฒนาองค์กร] ในลักษณะคล้ายกับ กปร.  โดยใช้ [การออกเป็น] ระเบียบสำนักนายก  ให้ทำความเข้าใจ และหารือ กปร. ให้บอก [ทำความเข้าใจ]  กับนายกรัฐมนตรีให้ช่วย

(6) [บุคลากร] การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต้องระมัดระวังทางมหาวิทยาลัยอาจจะไม่พร้อมในระยะเวลานี้  [เพราะอยู่ในระหว่างการปฏิรูป]

6. สาระสำคัญอื่นๆ

(1)  อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปีติพงศ์ฯ กราบบังคมทูลว่า ถูกย้ายจากตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไปดำรงตำแหน่งที่สำนักแปลงสินทรัพย์เป็นทุนตามคำสั่งรัฐบาล แต่เห็นคุณประโยชน์ของโครงการพระราชดำริฝนหลวง จึงขอถวายตัวรับใช้ในโครงการนี้สืบไป แม้จะไม่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ แล้ว

(2)  ฯพณฯ องคมนตรี อำพลฯ กราบถวายบังคมทูลว่า คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงได้มีมติ [ในการประขุมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ครั้งที่ 1/2546  เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546] ให้เชิญนายปีติพงศ์ ฯ เข้าร่วมในคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิอีกท่านหนึ่งแล้ว

(3)  ทรงรับทราบและมีพระราชกระแสว่า เป็นเรื่องที่ดีที่เอาคนที่มีความรู้การทำฝนหลวงมานานเป็นที่ปรึกษา คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำให้ฝนหลวงมีความปึกแผ่นและถาวร แต่เมื่อรัฐบาลสั่งย้ายต้องปฏิบัติตาม แต่คุณอำพลฯ และนายเมธาฯ ใครเอาออกไปไหนไม่ได้ เมื่อก่อนท่านจักรพันธ์ [อดีตองคมนตรี] ดูแลอยู่ [ขณะนี้] ได้คุณอำพลฯ [ทำหน้าที่ดูแล] แทนท่านจักรพันธ์ เป็นผู้มีความรู้ด้านเกษตร และรู้ความต้องการของน้ำ

(4)  ทรงพระราชทานข้อแนะนำว่า ฝนต้องไปลงในอ่างเก็บน้ำ [ลุ่มรับน้ำ] แต่ไปตกในที่ราบ [ทรงยกตัวอย่าง] เขื่อนแก่งกระจานปล่อยน้ำทิ้งท้ายเขื่อน [ทำให้น้ำขังในกระทงนามาก] เพราะเขื่อนปล่อยน้ำ [ทำให้ปริมาณเก็บกักน้ำ] ลดลงจาก 70% เหลือ 50% เมื่อพายุมาฝนจึงตกท้ายเขื่อน [ที่มีน้ำมากอยู่แล้ว] ไม่ไปตกในอ่าง [ลุ่มรับน้ำ] น้ำจึงท่วมท้ายเขื่อน ทำให้ขาดทุน 2 ต่อ คือปล่อยน้ำทิ้ง [ทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักลดต่ำลง] และน้ำท่วมท้ายเขื่อน ต้องทำนิทรรศการ [สาธิต]  ให้เข้าใจ   ใช้ศูนย์หัวหินเป็นที่แสดงนิทรรศการ [สาธิต] ก็ได้

(5)  ทั้งหมดที่ [กส.9] พูดมาได้จากประสพการณ์หาความรู้ทางวิชาการ ไม่ได้ต้องดูจากตำรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่ง [กส.9] มีเป็นปึก Weather Modification ของเขาไม่เหมือนของเรา เขาใช้ AgI ของไทยใช้เกลือ [เป็นตัวอย่าง แต่มีสารเคมีอื่นด้วย] เคยใช้แคลเซี่ยมคาร์บาย ได้ดีแต่อันตราย แคลเซี่ยมคลอไรด์ใช้ได้ดีเช่นกัน ร้อน โปรยเข้าเมฆคาดว่า [เมฆจะเจริญก่อตัว] เป็นรูปเห็ดคล้ายระเบิดปรมาณู แต่เป็นต้นสน แต่ดีไม่เลว ได้ฝน 40 มม. ความชื้นก็เอาขึ้นไป [ตาม updraft] ดูดความชื้น [โดยรอบ] เข้ามาอีก [ลอย] ขึ้นไป เมื่อทำให้เย็นก็จะตก [จม] ลงมากองที่ด้านล่าง [ฐานเมฆ] ก่อนตกเป็นฝน

(6)  [ให้] เอาไปอธิบายให้ [นายกรัฐมนตรี] รัฐมนตรีเข้าใจ เขาก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่ [อย่างที่] อ้างกันว่า [เพราะ] พระบารมี  ทำต้องใช้เงิน  ต้องทำให้ดู

(7)  คณะจัดทำ [นักวิชาการฝนหลวง] ต้องพยายามบันทึก / ตำราฝรั่งมีเยอะ [ฝนหลวงควรรวบรวมสะสมไว้]

(8)  นายเมธาฯ กราบบังคมทูล ที่ผ่านมาใช้เวลา และเสียเวลาทำความเข้าใจในพระบรมราโชบาย ตำราฝนหลวง และข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทาน รวมทั้งสิทธิบัตรที่ทรงจดไว้และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้แล้ว นักวิชาการรุ่นหลังยังไม่ยอมรับและเชื่อมั่นนัก เคยเสนอปลัดกระทรวงเกษตรฯ และท่านเห็นด้วยก็พยายามผลักดัน แต่ไม่บรรลุผลเท่าที่ควร [นอกจากนั้น] ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาต้องมีความเข้าใจเชื่อมั่นและยอมรับในพระบรม
ราโชบาย ตำราฝนหลวง [เทคโนโลยีฝนหลวง] และข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทาน [กระทรวงเกษตรฯ เคยทำเรื่องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ปฏิบัติตามตำราฝนหลวงพระราชทาน และใช้สิทธิบัตร ที่ กส.9 เป็นผู้ทรงสิทธิ ซึ่งทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อย่างเป็นทางการ ผ่านหนังสือตอบของราชเลขาธิการ] เมื่อผู้บังคับบัญชาเข้าใจแล้ว และให้การสนับสนุนจึงจะแก้ไขปัญหา และพัฒนาโครงการพระราชดำริฝนหลวงให้เข้มแข็งและถาวรได้ เวลาที่เหลือน้อย [ของนายเมธาฯ] ต่อไปนี้จะทุ่มเทให้ กับการรวบรวมให้เป็นตำราฝนหลวงให้สำเร็จโดยเร็ว

(9)  ฯพณฯ องคมนตรี อำพลฯ เห็นว่าได้รบกวนเบื้องยุคลบาทนานกว่า 2 ชั่วโมง จึงได้นำคณะผู้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา แต่กระนั้นยังทรงพระกรุณาพระราชทานข้อแนะนำอีกชั่วครู่หนึ่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่โต๊ะวางสิ่งของที่จะทูลเกล้าฯ ถวาย อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ [นายปีติพงศ์ฯ] ได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่เฉลิมพระเกียรติในฐานะทรงเป็น พระบิดาแห่งฝนหลวง จำนวน 3 เล่ม
[คือ โครงการพระราชดำริฝนหลวงเฉลิมพระเกียรติ ประมวลผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติการฝนหลวงตามพระบรม
ราโชบาย พ.ศ. 2542 - 2545 และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเฉลิมพระเกียรติ]

(10)  ฯพณฯ องคมนตรี อำพลฯ มอบให้นายเมธาฯ ทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองคำจารึกคำถวายราชสดุดี
พระบิดาแห่งฝนหลวง ในวโรกาสนี้ นายเมธาฯ ขอพระบรมราชานุญาต กราบบังคมทูลว่า แผ่นทองคำจารึกนี้ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ [นายปีติพงศ์] เจตนาให้เป็นเครื่องรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นเชิดชูพระเกียรติแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวที ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขณะนี้อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ [นายปีติพงศ์] กำลังจะพ้นหน้าที่ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายแผ่นทองจารึกคำถวายพระราชสดุดีในวันนี้ [ทรงรับและทอดพระเนตรข้อความในแผ่นทองคำ ทรงขอบพระทัย และยังคงมีพระราช
ปฏิสัณฐานกับคณะผู้เข้าเฝ้าฯ อีกครู่ใหญ่ก่อนที่จะเสด็จขึ้น]

 

 

 

10. ทรงบรรยายตำราฝนหลวงพระราชทานแก่นักเรียนโรงเรียนไกลกังวลในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษา
ทางไกลผ่านดาวเทียม ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2544  เวลา 16:13 น. (คัดย่อจากแถบวิดีทัศน์ที่มูลนิธิฯ บันทึกไว้ ตอนตามเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการฝนหลวง)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ไปยังอาคารทรงงานปฏิบัติการฝนหลวงท่าอากาศยานหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทรงบรรยายแผนภาพตำราฝนหลวงพระราชทาน และทรงบรรยายประกอบการสาธิต การวางแผนปฏิบัติการตามขั้นตอนกรรมวิธี การดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนโดยเทคโนโลยีฝนหลวง รวมทั้งการโปรยสารฝนหลวงในอากาศ มีสาระสำคัญที่พอประมวลพระราชกระแส ได้ดังนี้

          “ความชื้นสัมพัทธ์ อาจารย์เมธา ได้พูด เราไม่เข้าใจ ความชื้นสัมพัทธ์ คือ ความชื้นที่อยู่ในอากาศที่ยังไม่เห็น ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ 100 % หมายความว่ามีเต็มอากาศ มันไม่สามารถที่จะเก็บไว้ในอากาศแล้ว จะเห็นเป็นหมอก จะลงมาเป็นน้ำค้างหรือลงมาเป็นฝน 100 % ทีนี้มีคำว่าความชื้นสัมพัทธ์ หมายความว่า จำนวนน้ำที่อยู่ในอากาศรวมทั้งหมดเท่าไหร่ แต่นี่เราไม่สนใจ เราสนใจความชื้นสัมพัทธ์เท่าไหร่ เมื่อไม่เห็นความชื้นสัมพัทธ์ก็ไม่เข้าใจ”

          ทรงสาธิตประกอบคำอธิบายถึงหลักการเกิดเมฆ เกิดฝน ให้เข้าใจได้ง่ายและเป็นรูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า :-      “ตอนนี้เอาถ้วยน้ำ น้ำอุ่น (น้ำร้อน) น้ำเย็น น้ำที่อยู่ในบิกเกอร์ สมมุติว่าน้ำเป็นอากาศ สมมุติว่าเกลือที่จะใส่เป็นน้ำเข้าใจไม๊ นี่น้ำเย็น นี่น้ำอุ่น เราจะใส่เกลือในสองอันนี้ นี่น้ำเย็น นี่น้ำร้อน
น้ำร้อนคนเกือบละลายหมดแล้ว ละลายไม๊ เกือบหมด อันนี้คนเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ละลายเพราะว่า มันอิ่มตัว
น้ำคืออากาศ มันอิ่มตัวด้วยเกลือ คือน้ำ เราพูดอย่างนี้เข้าใจไม๊ เราสมมุติว่าน้ำเป็นอากาศ สมมุติว่าเกลือเป็นน้ำในอากาศ ในนี้มีน้ำเราจับไม่ได้ แต่ว่าถ้าทำให้ในนี้ให้เย็นลงมันก็จะค่อยๆ เห็น เราก็เคยเห็นถ้วย แล้วใส่น้ำเสร็จแล้วเราใส่น้ำแข็งวางเอาไว้ น้ำก็จะมาเกาะข้างนอก เคยเห็นไม๊ น้ำเย็นๆ มาเกาะข้างนอก
น้ำนั่นน่ะไม่ใช่น้ำที่อยู่ในข้างในไต่ออกมา เป็นน้ำที่อยู่ในอากาศมาเกาะที่เย็นๆ ที่เขาเรียกว่าเหงื่อมาจับถ้วย นี่แหละทำฝนเทียม ทำฝนเทียม วางถ้วยน้ำไว้บนถาดสักพักหนึ่ง มีความเย็นในถ้วยข้างนอกไม่เย็น
ความเย็นในถ้วยข้างนอกอากาศธรรมดา มีความชื้นจะเข้ามาเกาะถ้วย และเมื่อเกาะถ้วยแล้วมันก็หยดลงไปในถาด ในถาดนั้นหน่ะเป็นลุ่มรับน้ำน๊ะ มันรับน้ำลุ่มรับน้ำต้องเข้าใจ พวกฝนบางทีไม่เข้าใจ ลุ่มรับน้ำคืออะไร ลุ่มรับน้ำที่มันลงมา น้ำนั้นน่ะเป็นน้ำเท่ากับน้ำฝนที่เราเอามาจากอากาศมาลง แต่เคยเห็นแล้วก็เข้าใจเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ยอมละลาย ไอ้นี่ละลายเกือบหมดแล้ว เพราะไอ้นี่มันร้อน ทำให้ความชื้นหรือเกลือน่ะ มันละลายเข้าไปในน้ำคืออากาศ
ถ้าอากาศร้อนจะอุ้มน้ำมาก ถ้าอากาศเย็นมันจะคายน้ำออก  ถ้าสมมุติว่า อันนี้เราทำให้เย็นมันจะคายเกลือออก แบบเดียวกันกับที่เวลาเราเอาวัสดุที่ทำให้เย็น มันจะคายน้ำออก มันจะลงมาเป็นฝน”

          “ไอ้นี่ นานๆ ไปเย็นมากมันจะหยดลงไป นี่ไม่ใช่น้ำข้างในออกมา เป็นน้ำในห้องนี้ออกมาจับ อันนี้เข้าใจถึงน้ำอยู่ในอากาศและเป็นน้ำที่เป็นน้ำ อันนี้น้ำไม่ยอมละลายในอากาศ น้ำคือ เกลือมันละลายในอากาศเป็นหลักของฝน ทำอย่างไรให้น้ำที่อยู่ในอากาศมันคายออกมาจากอากาศแล้วลงมาถึงพื้น เพราะว่าน้ำที่อยู่ข้างบนมันถูกความเย็น มันก็เป็นเมฆแต่เวลาเมฆนั้น ถ้าเราเอาลงมาได้ให้ลงต่ำลงมาใกล้พื้นมันร้อน น้ำก็ละลายไปในอากาศ เราก็จะไม่ได้ผล วิธีที่สำคัญที่จะต้องให้น้ำออกมาเป็นอยู่อย่างนี้ ร้อนน่ะ อยู่ในอากาศ ให้มันเย็น ให้ออกมานอกอากาศแล้วให้ลงมาถึงพื้นเพราะว่าใกล้พื้นร้อน อากาศร้อน แล้วก็ระเหยขึ้นไป ไม่ทราบเคยเห็นหรือเปล่า เมฆแล้วก็เห็นฝนลงเป็นสายลงมา แต่ถ้าไม่อยู่ตรงนั้น ฝนไม่ลง เพราะมันลงมาถึงพื้นแล้วมันร้อน มันกลับคืนขึ้นไป อันนี้เป็นข้อสำคัญ หน้าที่ของอาจารย์เมธา ก็คือ ไม่ให้เม็ดฝนที่ลงมาแล้วกลับคืนไป ระเหยขึ้นไปใหม่ หรือบอกว่าต้องมีสูตรเย็นมาใส่ข้างล่าง ถ้าให้ดีจริงๆ ต้องใส่สูตรเย็น เย็นจัด อยู่ใกล้พื้นจะเห็นเครื่องบินผ่านสัก 200 เมตร 100 เมตร เอาน้ำแข็งแห้งโปรยแล้วก็ฝนก็จะลง อันนี้หลักการทีนี้ฝนเราอยากได้ฝนต้องใส่ฝนไว้ให้ในที่ที่เหมาะสม   นี่เขาจะทำในทะเลฝนจะลงในทะเลเป็นนิทรรศการ เป็นการสาธิต แต่ว่าที่เราต้องทำ ต้องดึงให้ฝนนั้นไปลง ในที่ที่เรียกว่าลุ่มรับน้ำ
ที่เราต้องการรับน้ำ   แต่วันนี้ไม่สน เพราะว่าอันนั้นต้องทำหลายวันให้รู้ แต่วันนี้พยายามที่จะให้เครื่องบินขึ้นไปแล้วก็ไปปล่อยวัสดุ ไม่ค่อยชอบที่จะบอกเป็นวัสดุเคมี  เพราะว่าฝนนี่ไม่ใช่เคมี  มันเป็นฟิสิกส์
คือเกี่ยวข้องกับความร้อน ความเย็น เกี่ยวข้องก็ที่จะให้ความร้อนทำให้น้ำระเหย ความเย็นทำให้
น้ำควบแน่น  แล้วความเย็นเพื่อจะดึงให้น้ำที่เป็นน้ำลงมาถึงพื้น  ไอ้นี่เป็นหลักการสำคัญ   ต่อไปจะแสดงได้ว่าฝนเป็นเมฆก้อนโต  แล้วก็อยากจะนำเมฆไปที่ไหน  ต้องล่อเขา  ต้องจูงเขา  อะไรนี่ไม่ว่ากันวันนี้ แต่ว่าสำคัญที่จะก่อเมฆขึ้นมาอันนี้เป็นการบ้านคือการก่อเมฆ”

“ทีนี้ให้ดูรูปที่ถ่ายด้วยกล้องนี้  มันอยู่ในทะเลนี่เราไม่ได้ทำ  อาจารย์เมธาไม่ได้ทำ ธรรมชาติเขาทำ เป็นเมฆแล้วก็มีความเย็น  ฝนก็ลงมาถึงพื้น  ถึงทะเล ส่วนนี้เขามีความร้อนก็ได้ขึ้นไป แต่นี่ก็หน้าตาเหมือนผี 
เขาหัวเราะฮ่า..ฮ่า..ฮ่า.. ทำฝนได้  นี่รูปนี้ภูมิใจมากที่ได้ถ่าย  ถ่ายจากที่ไกลกังวล  ก็เห็นอันนี้เป็นการสรุปฝนที่ทำ  ต้องทำให้เกิดก่อนเม็ดก้อนเมฆมี  แล้วก็เสร็จแล้วทำให้ลงมานี่   แล้วให้รักษาความเย็นให้ลงมาถึงพื้น  แล้วลงในที่เป้าหมาย ถ้าอยากจะจูงไอ้นี่มีวิธีคือ ใส่สูตรให้ร้อนมันก็ขึ้นไปใหม่ ความร้อนเมื่อร้อน  เวลาขึ้นไปมันมี (Vacuum) สูญญากาศ ไอ้นี่ก้อนนี้มันก็จะลงมา จะแล่นมา จูงมาที่ตรงไหนที่ต้องการก็ได้ ถึงเวลาถึงตรงนั้นแล้วเราก็ใส่เย็นมันก็ลงไป ส่วนไอ้นี่คล้ายทำพวกนี้ ส่วนอันนี้เขาอธิบายในแผนอันนี้ได้สรุปแล้ว ในอากาศมีอณูฝนทั่วๆไป
เป็นความชื้นแล้วก็ต้องใส่วัสดุตัวหนึ่งก็คือเกลือ ใส่สูตร 1 เกลือมันดูดความชื้นก็เข้ามากลายเป็นเมฆ จากเมฆนี้ก็จะทำให้ อันนี้ใส่ความร้อนให้มันก็ขึ้นไปสูง สูงมากในนี้ก็มีเขาเรียกว่า (Circulation) คือการหมุนเวียนของลมมันขึ้นๆ ลงๆ แล้วตรงนั้นก็ขึ้นๆ ลงๆ หมุนเวียนเมื่อหมุนเวียนเม็ดฝนที่เกิดขึ้นในนั้นแล้วมันชนกัน  ก็เป็นเม็ดฝนใหญ่
นี่มันขึ้นไปแล้วก็ลงข้างๆ แล้วก็ ขึ้นไป (Circulation)  นี่คือจราจรของฝนขึ้นลงๆ แล้วมันมากขึ้น ถ้าเราเติมสูตร 1 ขึ้นลงๆ   จนกระทั่งข้างล่างนี่สีดำ  เมื่อสีดำ ก็เอาสูตรที่เย็นใส่ คือสูตร 3 เป็นน้ำแข็งแห้ง  แต่ที่ใส่นี่จะใส่ยูเรีย
ซึ่งไม่เย็นมากนักก็จะทำให้ฝนลง  ตอนหลังเมื่อเย็นน้ำแข็งแห้งใส่ข้างล่าง ไม่ใช่ใส่ข้างบน สูตร 4 ทำให้เป็นอย่างนี้ แล้วก็เวลามาเป็นอย่างนี้แล้วก็ใส่น้ำแข็งแห้ง ฝนก็ถูกดูดลงมา ฝนจะตก แล้วก็ถ้าจะทำอีกแบบอีกอย่าง
ซึ่งเรือบินลำนี้ไม่บินวันนี้ ซึ่งต้องบินขึ้นไปสูง 20,000 ฟุต ไอ้พวกเล็กๆ บินไม่ไหว มันช้า  นี่ลมมามันก็หมุนมา
ทำให้เมฆข้างล่าง (Circulation) ทำให้ฝนลงมามากๆ ถ้าไม่ดีก็ต้องแห่นางแมว แห่ Cat แล้วเขียนภาษาฝรั่ง
ก็ว่าไปสิ เดี๋ยวคนจะหาว่าบูโร  แห่ Cat สมัยใหม่ดี  ถ้าอย่างนั้นก็ใช้กบให้เขาร้องหานาย ซึ่งในเมืองไทย กบร้องหานายเยอะ เมื่อกบหานายแล้วฝนก็ตก ฝนหลวงที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขาใช้บ้องไฟ ไอ้นี่ไม่ใช่โคมลอย
ใช้บ้องไฟขึ้นไปเพราะว่าขึ้นไป ระเบิดข้างบน มันทำให้เกิดร้อน แล้วมันลง  บ่อยๆ ที่ภาคอีสานเวลาแห้งแล้งเขาใช้บ้องไฟขึ้นแล้วลงอันนี้  วิธีนี้ทำมานานแล้วต่างประเทศทำมานานเหมือนกัน เขาใช้ยิงปืนใหญ่สมัยนานแล้ว เรายังไม่เกิด   สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาใช้ยิงปืน ตอนหลังใช้บ้องไฟ ใช้ Rocket  ใช้จรวดขึ้นไป  แต่ว่าไม่ทราบว่านางแมวนี่ ที่ไหนๆ ที่อาฟริกา ที่ยุโรปก็มีเหมือนกันแห่นางแมว ข้อสำคัญทำให้คนมีกำลังใจ เกี่ยวข้องกับบ้องไฟนี้ ได้เห็น หรืออาจจะเคยเห็นทางทีวี มีอินเดียนแดง เขาเต้นๆ แล้วร้องวู๊ๆ แล้วก็เอาวัสดุอะไรโยนเข้าไปในกองไฟ
ก็คืออันนี้ ไอ้นี่ไอโอดีน ไอ้นี่เงิน (ซิลเวอร์ไอโอไดด์) ไอ้วัสดุอันนี้ถ้ายิงเข้าไปในเมฆมันจะทำให้หมุน แล้วก็ทำให้มีจราจรของเม็ดฝนในนี้ให้ดี แล้วก็เดี๋ยวลงมาในนี้แล้วฝนก็ลง ก็หมายความว่าไฟ ที่เขาเอาวัสดุลงไปในไฟนี่
โดยมากเป็นเครื่องเงิน มันก็ซิลเวอร์ เอาลงไป มันก็ขึ้นไป เขาก็ถูกต้องตามวิทยาศาสตร์  ฉะนั้น ไอ้พวกที่อยู่
ด้านล่างนี้ ก็น่าจะดูท่าทางเป็นของโบราณๆ แต่มีเหตุผลที่จะมาเข้ากันนี้  ส่วนกบนี่ โดยมากเวลากบร้องมันมีความชื้น กบถ้าไม่มีความชื้น กบนี่เขาไม่ยอมร้อง  เขาไม่ไหว ร้องไม่ไหว ก็หมายความว่า ถ้ามีกบร้องเขาก็ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะทำฝนเทียม   เดี๋ยวดู  อาจารย์เมธาจะอธิบายอะไรต่อไป”

“ที่ใส่สูตรร้อนนี่ เพื่อจะให้มันขึ้น คล้ายให้เมฆขึ้นไป ถ้าเมฆขึ้นไป ไปชนกับอากาศที่เย็นอยู่
ข้างบน ข้างบนอากาศมันเย็น ทุก 1000 ฟิต มันจะลง 1 องศา ตามหลักของฟิสิกส์ ถ้าลงมาทุก 100 เมตร มันก็ขึ้น 1 องศา ถ้าเราก่อเมฆแล้วลงมา 100 เมตร ไอ้เมฆนี่เราเห็นได้ เราลงมา 100 เมตร มันร้อนขึ้น 1 องศา มันก็ละลายเข้าไปในอากาศ มันก็ไม่เห็น ถึงต้องใส่สูตรเย็น ให้สามารถมันลงมา  แต่สูตรร้อน สำหรับขึ้นไปข้างบน มันก็จะไปเจอเย็น มันก็จับมีน้ำหนักมาก มันก็จะลงมาๆ  ก็ใส่ร้อนเพิ่มให้กระดอนขึ้นไป มันหมุนๆ อย่างนี้  เม็ดฝนมันเริ่มเป็นเม็ดฝนแล้ว  มันชนๆ กัน  เม็ดฝนก็อ้วนโตขึ้น ที่เขาบอกว่าให้เลี้ยงให้อ้วน  ก็เนี่ยเลี้ยงให้อ้วน  แต่ที่จริงอันนี้  โน่นตรงโน้นก็อ้วนแล้ว ถ้าเราอยากทำ ไปทำตรงโน้นมันก็ลง แต่อันนี้เขาไม่อยากให้ฝนราษฎร์ นั่นฝนราษฎร์น๊ะ เขาไม่ยอมใช้ฝนราษฎร์ เขาจะทำให้ฝนหลวง เขาจะทำรูปแบบนี้”

(อาจารย์เมธา)  ขอพระบรมราชานุญาตสั่งนักบินโปรยสารฝนหลวงสาธิต

“ให้จัดการเลย เพราะว่าไม่อย่างนั้น ทิศนี้น๊ะ (ทิศ 005) เดี๋ยวจ้องดู ต้องดูมัน เดี๋ยวคอยดู นี่ๆ แต่นี่เขา
4 ลำ เขาไปทิศเดียวกัน เขาทำเมื่อไหร่ นี่เขาหมุน อีกรอบไปหาเมฆ ที่จริงควรจะทำเมฆนี้ แต่นี่ฝนราษฎร์ (ไอ้นี่ก็เห็นอันนี้ อันนี้ฝนหลวง แต่ที่หลังนี่มันควรจะ….)   เอ้าโปรยแล้ว  อ้อ! นี่  ไอ้นี่ไม่ใช่เคมี ไม่ใช่วัสดุ มันเป็นความชื้น
ที่มาเกาะ กับเคมี แล้วก็อีกหน่อยก็จะต้อง ไปอีก ต้องหมุนให้ได้ ต้องวนอยู่ในเมฆ ต้องซ้ำให้เมฆนี้หนาขึ้น
เหมือนนี่ เมฆที่สร้าง แล้วก็สูตร 4 ก็ไอ้ปุ๋ยยูเรีย”

(อาจารย์เมธา) จะยิ่งเย็นกว่าเกลือ พระพุทธเจ้าค่ะ

“ตามปกติใช้สูตร 4 เท่านั้นเอง ไม่ใช่สูตร 3 คือ น้ำแข็งแห้ง ซึ่งมีความเย็นต่ำมาก -78°C ก็นี่
เขาเห็นมี 2 ลำ เขาก็สวนกัน ให้ได้ลงมาสมทบกัน”

(อาจารย์เมธา) อันนี้เป็นสูตร 8 ก่อนนี้ใช้แคลเซียมคลอไรด์ ที่ไม่ร้อนเท่า

แต่ก่อนใช้แคลเซียมคาร์ไบด์ ด้วย

“แคลเซียมคาร์ไบด์ไม่ใช้อันตราย เหม็นฉุย เป็นแก๊ส อันตรายสำหรับนักบิน อันตรายถ้ามันหล่นลงมา ติดไฟ ระเบิดโป้ง แต่นี่ถ้าอันที่เขากำลังมานี่ ควรจะโตขึ้น เมื่อโตขึ้นเราต้องมาซ้ำตรงที่โตขึ้น ไม่ใช่ไปตามนี้ มันจะละลาย”

(อาจารย์เมธา) ถ้ามีเมฆเดิมก็ช่วยเมฆเดิมด้วย

“ก็ช่วย เพียงแต่ว่า เราต้องสร้างของเรา เมื่อสร้างของเราแล้ว ก็ควรจะใช้ได้ ที่ร้อนเพราะว่า แคลเซียมออกไซด์ มาเจอความชื้น มันก็เกิดความร้อน เขาเรียกว่า (Exothermic) Exo ก็แปลว่า ออก thermic ก็ความร้อน แปลว่าความร้อนที่มันออกไป สมมุติเอาไอ้นี่ใส่เข้าไป มันก็จะร้อนขึ้นมา เคยไปจับมาแล้วใช่ไหม ร้อนไหม (ร้อนเพค่ะ)  เพราะว่า เราเหงื่อแตกแล้ว ใส่ไอ้นั่นมันร้อน เราก็เป็นฝนเทียม เราก็พุ่งขึ้นไป แต่ว่าไปจับสูตร 3 น้ำแข็งแห้ง
จับแล้ว ถ้าจับเห็นแล้วไปจับเสียวไส้ จับไปนะ สักครู่เอาออกไม่ได้มันก็ ความชื้นในตัวมันเป็นน้ำแข็ง แล้วก็ต้องสละเนื้อออก ไม่มีทางอื่น เพราะว่ามันเจ็บ ถึงเห็น ที่เห็น แหมเป็นเล่น อุ๊ยสนุก ไม่ควร ไม่เอาอันที่อยู่ใกล้กับอันขาว ใกล้ๆ แล้วดึงดูดมา แต่ว่าทำหลายอย่างไม่ได้ แค่นี้ก็สวยแล้ว”

(อาจารย์เมธา) ขอพระบรมราชานุญาต ว.4 เที่ยวที่ 2 แซนด์วิช

“แต่นี่ให้เห็นแค่นี้  ก็สวยกว่า 3 ชั้นอีก 3 ชั้นก็อยู่ ถ้าทำมีความเพียรหน่อย ที่จริงมาทำตอนนี้
มันร้อน ความชื้นต่ำ (อาจารย์เมธา ต่ำกว่าตอนเช้า)   ถ้าเมื่อเช้าก็เปรี้ยง..เปรี้ยง.. แล้ว แต่นี่ยัง พระอาทิตย์มันร้อน”

“อีกชุดหนึ่งอันตรายหน่อย หรือเข้าไปในไอ้ใหญ่ๆ ถ้าออกมาแล้ว เข้าไปที่มันใหญ่ๆ หน่อย เข้าไปไอ้ใหญ่ๆ (อาจารย์เมธา อาจจะเข้าในเมฆที่กำลังก่อตัวใหม่ ที่ลอยอยู่ข้างหน้า)  นั่นน่ะๆ ที่เขาทำอยู่ แต่ว่าได้ประโยชน์ได้ผล”

------------------------------------------------------

ที่มา : กรมการฝนหลวง

 

curve