รายละเอียดองค์ความรู้
กังหันไฟฟ้าพลังน้ำ
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายรุ่งเรือง จุลชาต อธิบดีกรมชลประทาน พลตำรวจเอก จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และนายจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรมชลประทานและกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งศึกษาพิจารณาวางโครงการและดำเนินการปรับปรุงขุดลอก พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบในคลองลัดโพธิ์ตามความเหมาะสม ซึ่งเมื่อได้ปรับปรุงแล้วเสร็จ สามารถลดระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงคุ้งน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จากเดิมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เหลือประมาณ 600 เมตรเท่านั้น การระบายน้ำที่รวดเร็วนี้ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล
กรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ (กว้าง 80 เมตร ยาว 665 เมตร) และติดตั้งบานระบายน้ำจำนวน 4 บาน ทำให้มีอัตราระบายน้ำประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที สามารถลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 5-13 เซนติเมตร
ในอดีต คลองลัดโพธิ์เป็นคลองลัดแนวเหนือ-ใต้ของคุ้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ที่ 9 ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แต่มีสภาพตื้นเขิน หากปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ จะช่วยให้แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลัดลงทะเลได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานน้ำอันมหาศาลที่ระบายผ่านประตูระบายน้ำนี้ และความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ประโยชน์ ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 กรมชลประทานได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ ร่วมศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำโดยโครงการนี้สืบเนื่องมาจากโครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหานํ้าท่วมตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้อำนวยการโครงการคึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำกล่าวว่า “โครงการคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งอยู่ที่ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับหน้าที่ในการศึกษาทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังน้ำ (Hydro Power) ที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับคลองลัดโพธิ์และโครงการชลประทานทั่วประเทศในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำด้วยความเร็วกระแสน้ำตามลักษณะทางกายภาพของโครงการ ฯ ศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการประตูคลองลัดโพธิ์ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งที่เหมาะสมรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย”
รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “ทีมนักวิจัยได้ออกแบบชุดกังหันพลังน้ำต้นแบบที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการประตูคลองลัดโพธิ์ มีประสิทธิภาพสูง สะดวกต่อการปฏิบัติงานและซ่อมบำรุง มีราคาประหยัด 2 แบบ คือ แบบหมุนตามแนวแกน (Axial Flow) และแบบหมุนขวางการไหล (Cross Flow) โดยใบพัดต้นแบบที่วิเคราะห์และผลิตขึ้นแบบหมุนตามแนวแกนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00 เมตร และแบบหมุนขวางการไหลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ยาว 2.50 เมตร ที่ความเร็วน้ำออกแบบ 2.0 เมตร/วินาที (Design Velocity) จะได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5 kW. ซึ่งชุดกังหันพลังนํ้าต้นแบบทั้ง 2 จะประกอบและติดตั้งกับโครงเหล็กที่ปรับขึ้น ลงได้ที่ท้ายประตูคลองลัดโพธิ์ ใช้กังหันพลังนํ้า เป็นต้น กำลังที่เชื่อมต่อกับเกียร์ทดรอบไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรที่บรรจุอยู่ภายในกล่องที่จมน้ำได้ โดยโครงเหล็กจะอยู่ในช่องใส่บานซ่อมบำรุง (Bulkhead) ที่ตอม่อท้ายประตูคลองลัดโพธิ์ เมื่อเดินชุดกังหันน้ำต้นแบบจะได้พลังงานไฟฟ้าเป็นแบบกระแสสลับ แล้วใช้ Rectifier เปลี่ยนเป็นกระแสตรงแล้วเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์แปลงและควบคุมกระแสไฟฟ้า (Inverter & Controller) ซึ่งจะปรับแรงดันและความถี่เพื่อเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง โดยได้ทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าไป เมื่อวันที่22 พฤศจิกายน 2551 ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 kW. ซึ่งสูงกว่าที่ได้วิเคราะห์และคำนวณออกแบบไว้ ทำให้มั่นใจได้ว่าการวิจัย และออกแบบ ชุดกังหันต้นแบบในครั้งนี้ สามารถจะนำไปขยายผลในการผลิตไฟฟ้าที่ประตูระบายของกรชลประทานที่มีอยู่ทั่วประเทศได้”
จากผลการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังน้ำสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ไปต่อยอดและขยายผลการผลิตกังหันพลังน้ำในประเทศ ซึ่งการผลิตชุดกังหันพลังน้ำต้นแบบดังกล่าวได้ใช้อุปกรณ์จากต่างประเทศคือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวร (Permanent Magnet Generator) และอุปกรณ์แปลงและควบคุมกระแสไฟฟ้า (Inverter & Controller)
ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมชลประทาน ดำเนินการทดลองติดตั้งกังหันพลังน้ำ แบบหมุนตามแนวแกน และแบบหมุนขวางการไหล ในช่องประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ เพี่อเป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวร ซึ่งเมื่อทดลองเดินเครื่องวันที่ 22 พฤศจิกายน 2551 พบว่า สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์
กังหันพลังน้ำดังกล่าว สามารถนำไปขยายผลที่ประตูระบายน้ำต่างๆ ที่มีศักยภาพพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ เช่น ประตูระบายบรมธาตุ ประตูระบายพลเทพ และประตูระบายมโนรมย์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อเป็นการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าและช่วยลดสภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรกังหันพลังน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้วและจะได้นำไปใช้ในพื้นที่ชลประทานอื่นๆต่อไป
กังหันไฟฟ้าพลังน้ำ “คลองลัดโพธิ์” |
|