สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน

๑๖ มกราคม ๒๕๑๒

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาและวิชาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความตอนหนึ่งว่า

      “...ทุกคนมีชาติบ้านเมืองเป็นที่เกิดที่อาศัย ทุกคนจะมีความสุขความเจริญได้ก็เพราะบ้านเมืองเป็นปรกติมั่นคง ผู้ที่ทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ย่อมได้รับประโยชน์เป็นส่วนของตนด้วย ผู้ที่ทำงานโดยเห็นแก่ตัวเบียดเบียนประโยชน์ส่วนรวม ย่อมบั่นทอนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ และที่สุดตนเองก็จะเอาตัวไม่รอด ขอให้ทุกคนเตรียมกายเตรียมใจทำงานเพื่ออนาคตของชาติไทยของเราต่อไป...”

๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๑

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๐ ความตอนหนึ่งว่า 

         “...การใช้เทคโนโลยีนั้นย่อมกระทำได้หลายแง่หลายมุม แง่หนึ่งที่ควรเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ก็คือ ใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านประหยัด เพราะการประหยัดเป็นสิ่งพึงประสงค์อย่างยิ่ง ในที่ทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ เท่าที่ปรากฏแล้ว เทคโนโลยีช่วยให้ประหยัดได้อย่างดีเลิศ ในการสร้างเครื่องมืออิเลคโตรนิคส์ แต่ก่อนเครื่องมืออิเลคโตรนิคส์ทำได้ยากยิ่งและมีราคาสูงมาก คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องมือดังกล่าว แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยให้สร้างและผลิตได้โดยง่าย และสะดวกด้วยราคาต่ำ อย่างเครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์ เวลานี้ใช้กันได้อย่างไรแพร่หลาย ทำให้คนทั่วไปได้รับประโยชน์ในด้านข่าวสารและการบันเทิงโดยทั่วถึงในด้านอื่น ๆ เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม แม้จะเป็นเพียงงานระดับชาวบ้าน เทคโนโลยีก็อาจช่วยได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่นการทำยางพารา ถ้าทำตามแบบพื้นบ้าน ซึ่งทำกันตามมีตามเกิด ขาดความระมัดระวังในความสะอาดเรียบร้อย ก็มักได้ยางแผ่นที่มีคุณภาพต่ำ ทำให้ขายไม่ได้เต็มราคา แต่ถ้านำเทคโนโลยีอย่างง่าย ๆ มาใช้ ให้มีการใช้กรรมวิธีที่ถูกต้องและแน่นอนสม่ำเสมอ ก็จะได้ยางแผ่นที่มีคุณภาพได้มาตรฐานขายได้เต็มราคา...”

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า 

         “...การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญขึ้นนั้น จะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดี หรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้นยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่านอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังจะต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคงไม่บกพร่องพร้อม ๆ กันไปด้วย...”

พ.ศ. ๒๕๒๘

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๘ ความตอนหนึ่งว่า 

          “...ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไป ให้ทันการณ์ ทันเวลา โดยเต็มกำลังความรู้ความสามารถ และโดยบริสุทธิ์จริงใจ ผลงานของแต่ละคนจักได้ประกอบส่งเสริมกันขึ้นเป็นความสำเร็จและความมั่นคงวัฒนาของประเทศชาติในที่สุด...”

พ.ศ. ๒๕๓๓

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๓ ความตอนหนึ่งว่า 

          “...การแก้ปัญหานั้น ถ้าไม่ทำให้ถูกเหตุถูกทาง ด้วยความรอบคอบระมัดระวังมักจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากและยุ่งยากขึ้น แต่ละฝ่ายจึงควรจะตั้งใจพยายามทำความคิดความเห็นให้กระจ่างและเที่ยงตรง เพื่อจักได้สามารถเข้าใจปัญหาและเข้าใจกันและกันอย่างถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องแน่ชัดนี้ จะช่วยให้เล็งเห็นแนวทางปฏิบัติแก้ไขอันเหมาะสม ซึ่งจะนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่ง อันเป็นข้อสำคัญ ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักในใจเสมอ ว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลัก ในการปฏิบัติตนและปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน...”

๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๔

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๕ ความตอนหนึ่งว่า

          “...การทำนุบำรุงบ้านเมืองนั้น เป็นงานส่วนรวมของคนทั้งชาติ จึงเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง จะให้ทุกคนทุกฝ่ายมีความคิดเห็นสอดคล้องต้องกันตลอดทุก ๆ เรื่องไป ย่อมเป็นการผิดวิสัย เพราะฉะนั้น แต่ละฝ่าย แต่ละคน จึงควรจะคำนึงถึงจุดประสงค์ร่วมกัน คือความเจริญไพบูลย์ของชาติ เป็นข้อใหญ่ ทุกฝ่ายชอบที่จะทำใจให้เที่ยงตรงเป็นกลาง ทำความคิดความเห็นให้กระจ่างแจ่มใส ทำความเข้าใจอันดีในกันละกันให้เกิดขึ้น แล้วนำความคิดเห็นของกันและกันนั้นมาพิจารณาเทียบเคียงกันโดยหลักวิชา เหตุผล ความชอบธรรม และความเมตตสามัคคี ให้เห็นแจ้งจริง ทุกฝ่ายจะสามารถปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีปฏิบัติ ให้สอดคล้อง เข้ารูปเข้ารอยกันได้ทุกเรื่อง...”

๑ เมษายน ๒๕๓๖

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน

          “...ข้าราชการมีหน้าทีสำคัญส่วนหนึ่ง ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลทั้งปวงด้วยความสุจริตจริงใจ วางตัวให้พอเหมาะพอสมกับฐานะตำแหน่ง พร้อมกับรักษาความสุภาพอ่อนโยนไว้ให้เหนียวแน่นสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังจะต้องมีความเสียสละ อดทน รู้จักเกรงใจ ให้อภัย ทั้งโอนอ่อนผ่อนตามกันและกันด้วยเหตุผล และสำคัญที่สุดจะต้องหัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดความเห็นแม้กระทั่งคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาด เพราะการรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้น แท้จริงคือการระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลายหลาก มาอำนวยประโยชน์ในการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง...”

๔ ธันวาคม ๒๕๓๗

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ความตอนหนึ่งว่า

        “...ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ ไม่เป็นบอสเนียเป็นไทยแลนด์ เป็นเมืองไทยที่จะมีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนา ตามที่ได้ตั้งชื่อ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ชัยของการพัฒนานี้ มีจุดประสงค์คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี...”

๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๘

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา นำคณะข้าราชการตุลาการ และคณะผู้พิพากษา สมทบศาลเยาชนและครอบครัวทั่วประเทศ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ ศาลาดุสิดาลัย ความตอนหนึ่งว่า

          “...มูลนิธิชัยพัฒนา มิได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติ มีหน้าที่ในการสร้าง หรือเรียกว่าพัฒนาชีวิตของประชาชนให้มีกิน ให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่สร้างสรรค์ โดยช่วยในการให้มีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์หรือจะเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัย ให้สามารถที่จะทำการทำมาหากินโดยมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับโครงการในด้านการเกษตรก็ได้ทำมาก และในด้านเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ก็ได้ทำเพื่อที่จะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ดังที่ได้กล่าวเมื่อตะกี้ เป้าหมายก็คือความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะ...”

 

๒๑ มกราคม ๒๕๔๒

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          “...คนเราถึงจะมีความรู้ความคิดสักเพียงใด ถ้าไม่ลงมือทำ ก็มีแต่พาตัวให้ ฟุ้งเฟื่องไปต่าง ๆ โดยปราศจากประโยชน์และความสำเร็จ เมื่อลงมือทำ ประโยชน์และความสำเร็จจึงจะเกิดมีขึ้น...”

 

อ้างอิง

          ๑. สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

          ๒. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แนวพระราชดำริการพัฒนาสู่ความยั่งยืน., ๒๕๖๓

 


 

กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                            ๓๐ เมษายน ๒๕๖๖

curve