สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

ด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

 

พ.ศ. ๒๕๐๒

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๐๒

          “...ภาระในการบริหารนั้นจะประสบผลด้วยดี ย่อมต้องอาศัยความรักชาติ ความซื่อสัตย์สุจริต ความสมัครสมานกลมเกลียวกัน ประกอบกับความร่วมมือของประชาชนพลเมืองทั่วไป ข้าพเจ้าจึงหวังว่า ท่านทั้งหลายคงจะพยายามปฏิบัติกรณียกิจในส่วนของแต่ละท่านด้วยใจบริสุทธิ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ เพื่อได้มาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนทั่วไป อันเป็นยอดปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น...”

๑๒ สิงหาคม ๒๕๐๕

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานในการอบรมกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          “...หน้าที่ของท่านทั้งหลายนั้นมีความสำคัญอยู่มาก เพราะนอกจากที่ท่านจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งใกล้ชิดกับราษฎรในท้องที่ของท่าน คอยช่วยดูแลทุกข์สุขของเขาแล้ว ท่านยังเป็นตัวแทนของราษฎรเหล่านั้น โดยรับเลือกและรับความไว้วางใจจากเขา เข้ามาช่วยเป็นสื่อในการติดต่อกับทางราชการบ้านเมืองอีกด้วย งานบริหารปกครองจะอำนวยผลบังเกิดความร่มเย็นแก่ประชาราษฎรได้เพียงไร ย่อมต้องอาศัยท่านทั้งหลายด้วยเป็นสำคัญ ท่านเป็นผู้ที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับราษฎรในท้องที่ของท่านมาอย่างใกล้ชิด ย่อมเข้าถึงจิตใจและความต้องการของเขาเหล่านั้นได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกล ราษฎรย่อมจะต้องหวังพึ่งท่านเมื่อมีความเดือดร้อน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงหวังว่าท่านทั้งหลาย จะเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ของเขาให้มากและทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งแก่เขา สมกับที่เขาได้ไว้วางใจเลือกท่านขึ้นมาเป็นหัวหน้า จงพยายามบำเพ็ญตนให้สมกับตัวอักษร ที่ตราหน้าหมวกเครื่องแบบของท่านที่ว่า “ระงับทุกข์บำรุงสุข”...”

๖ เมษายน ๒๕๑๒

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ในพิธีเปิดการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ณ ห้องประชุมศาลาสันติธรรม

          “...การเข้าใจถึงสถานการณ์และสภาพการของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือ
ที่ได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นในการช่วยเหลือแต่ละครั้งแต่ละกรณี จำเป็นที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราจะช่วย ให้เข้าใจด้วยว่า เขาอยู่ในฐานะอย่างไร สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรเพียงใด อีกประการหนึ่ง ในการช่วยเหลือนั้น ควรจะยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป...”

๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๒

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะผู้บริหารงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

          “...ที่เห็นแผนพุทธเจดีย์ นั้นก็ดูสวยดีว่าเป็นเจดีย์ รูปร่างเป็นเจดีย์มั่นคงดี พื้นฐานกว้างแล้วยอดแหลมขึ้นไป นำมาเปรียบเทียบกับงานพัฒนาก็ดูรู้สึกว่าทำให้น่าเลื่อมใสดี แต่ว่าวิธีการที่จะทำ บางทีจะเอามาเปรียบเทียบง่าย ๆ อย่างนั้นไม่ได้ เช่น ถ้ายกตัวอย่างในแผนตอนพื้นฐานนั้น มีตัวอย่างว่าจะต้องสร้างถนน สร้างชลประทานสำหรับให้ประชาชนใช้ สำหรับให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปปฏิบัติการได้ คือไปช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือในทางที่จะพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง ด้วยการให้การศึกษา และการรักษาอนามัย ขั้นที่สามถึงยอดนั้น ก็คือการให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเพราะปลูกหรือทำการงานและค้าขายได้ สามขั้นนี้อาจต้องกลับหัวกันบ้างก็ได้ เพราะว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ท้องที่ แล้วแต่บุคคลที่เราจะไปช่วย จะยกตัวอย่างเช่นว่า การสร้างถนนนั้นอาจไม่ใช่เป็นวิธีการพื้นฐานที่จะทำ เพราะว่าได้เคยประสบมาแล้วว่าการสร้างถนนก่อนแล้วไม่ได้นำสิ่งของที่อยู่บนยอดเจดีย์ ไปให้ทันทีจะกลับทำให้ได้ผลตรงกันข้าม ในภาคอีสานมีบุคคลหนึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่มีความรู้ดี ได้ไปเยี่ยมตามชนบทแล้วก็มาเล่าให้ฟังว่าไม่สร้างถนนเสียดีกว่า เพราะว่าสร้างถนนแล้วแทนที่จะเอาความเจริญไปให้เขากลับไปดูดจากเขาออกมา จึงทำให้เกิดการก่อการร้าย ข้อนี้ฟังเขาพูดแล้วก็อาจไม่เชื่อ เพราะว่า
ไม่น่าเชื่อว่าสร้างถนนแล้วจะไม่ดี สร้างถนนแล้วก็ควรจะทำให้เราสามารถเข้าไปแนะนำ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ข้างในสามารถนำสินค้าออกมาขายได้ราคาดีขึ้น ข้อนี้อาจจริงแต่ว่าก็มีข้อสำคัญซึ่งถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติทันทีจะเกิดหายนะจริง ๆ เหมือนกัน...”

๒๖ กันยายน ๒๕๑๒

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอล “ส.ส. มหากุศล” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          “...จะต้องช่วยกันทุกวิถีทางที่จะทะนุบำรุงให้บ้านเมืองเจริญ ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
มีความสงบไม่เบียดเบียนกันและกัน จะทำอย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีใดก็ตามไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่การกระทำนั้นทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะว่าทำอะไรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น
ก็นับว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้น ถ้าบ้านเมืองมีความสงบมีความเจริญ ประชาชนที่อยู่อาศัยในบ้านเมืองนั้นก็มีความเจริญ มีความสงบ และสามารถที่จะทำมาหากิน มีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าได้ ไม่ทำให้ต้องหวาดกลัวต่ออันตราย ต่อความยากลำบาก...”

 

๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น
ซึ่งเดินทางมารับการอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนวัยฉกรรจ์บ้านบางพูน จังหวัดปทุมธานี
ณ ศาลาผกาภิรมย์

          “...คำว่า “พัฒนา” ก็หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคน
มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข ฉะนั้น จึงเข้าใจได้ว่า การพัฒนาทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ และความพอใจของแต่ละบุคคลในประเทศ การพัฒนา
คำเดียวนี้ก็กินความหมายมากมาย ดังที่ว่านี้ จึงต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างที่จะให้สำเร็จผลตามที่ต้องการ ความมั่นคงและความสงบสุขของส่วนรวมเป็นอันที่หนึ่งสำหรับการพัฒนา วิชาการ
ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม จะเป็นอุตสาหกรรมหรืออื่น ๆ เป็นปัจจัยที่สอง ปัจจัยที่สาม
ที่สำคัญที่สุดก็คือความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ที่จะพัฒนาและผู้ที่อยู่ในกลุ่มชนจะเป็นหมู่บ้าน จะเป็นตำบล หรือจะเป็นอำเภอ เป็นจังหวัด และประเทศ ต้องมีความสามัคคีกลมเกลียวไม่ขัดซึ่งกันและกัน จึงจะพัฒนาได้...”

๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต

          “...งานที่จะต้องทำด้วยความรู้ คือความรู้หลักวิชาในแต่ละงานที่ท่านได้ประกอบอยู่ นอกจากความรู้ในหลักวิชาการแล้ว จะต้องมีความรู้ที่จะมาปฏิบัติ นำเอาวิชานั้นมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามเหตุการณ์ ซึ่งบางทีก็ไม่มีอยู่ในตำรา และจะต้องอาศัยความคิดพิจารณาที่รอบคอบของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บางสถานการณ์ เมื่อเราไปเจอก็พยายามจะซักเอาหลักวิชาที่ได้เล่าเรียนมาหรือได้ประสบมา มาปฏิบัติก็ไม่สามารถที่จะทำให้ลุล่วงไปโดยเรียบร้อย แต่ถ้ามาใช้ความพิจารณา
ที่รอบคอบ ที่ลึกซึ้ง ก็จะผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลายนั้นไปโดยดีเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม...”

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่งคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียวโดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยาก ล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
อย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้...”

๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

          “...ผู้ที่ออกไปนึกว่าจะไปพัฒนา คือไปให้ประโยชน์ต่อผู้อื่นก็จะต้องมีความรู้รอบด้าน และติดต่อกับผู้อื่นที่อยู่ในระดับเดียวกันของตัวให้สอดคล้องกัน หมายความว่า ผู้ที่เป็นนักศึกษาที่จะออกไปพัฒนา ออกไปช่วย และในเวลาเดียวก็ให้ความรู้ ขอให้มีความสอดคล้อง มีความรู้จัก และปรึกษาหารือกับนักศึกษา เพื่อนนักศึกษาที่ศึกษาในแขนงอื่น วิชาการอื่น ๆ ด้วย ปรึกษาหารือกัน
ในกิจการที่กำลังทำ และในกิจการอื่นที่ไม่ใช่ว่ากำลังทำ แต่ว่าก็เกี่ยวข้องกับตัวเหมือนกัน
ให้ปรึกษาหารือกัน รู้จักกันทุกคนในทางราบ หมายความว่า จำพวกผู้ที่มีความรู้พอ ๆ กัน และที่มีความคิดคล้าย ๆ กัน ไม่ใช่ว่าได้รับคำสั่งให้ออกพัฒนาก็ไปพัฒนา ไปถามคนอื่นที่รับคำสั่งพัฒนา
ถามเขาว่า เขารับคำสั่งจากที่ไหน ถามเขาว่าเขามาพัฒนาอะไร แล้วก็แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นอันนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตน ประโยชน์ต่อชาวบ้าน ผู้ที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มเปี่ยม มิฉะนั้นผู้ที่รับการพัฒนาจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะว่า ต่างคนต่างเอาวิชาของตัวเป็นใหญ่มาให้ ซึ่งอาจจะไม่เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้าน ถ้าประสานกันกับวิชาอื่น แนวอื่น สายอื่น ก็จะมีประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะว่าผู้ที่ไปพัฒนาก็สอดคล้อง ผู้ที่ได้รับการพัฒนาก็จะได้รับวิชาการ หรือได้รับบริการช่วยเหลือที่สอดคล้องเหมาะกับชีวิต เหมาะกับพื้นที่...”

๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๐

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ในโอกาสที่กลุ่มสโมสรโรตารีต่าง ๆ ทั่วประเทศและผู้มีจิตศรัทธา เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุนโครงการเนินดินแดง ณ ศาลาดุสิดาลัย

          “...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา เพื่อที่จะให้เหมาะสมทุกประการและให้ผู้ที่เราจะไปช่วยไม่กลายเป็นศัตรูของเรา...”

๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๒

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยี
พระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

          “...เทคโนโลยีนั้น โดยหลักการ คือการทำให้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดเป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เทคโนโลยีที่ดี ที่สมบูรณ์แบบ จึงควรจะสร้างสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และมีความ
สูญเปล่าหรือความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด แม้แต่สิ่งที่เป็นของเสีย เป็นของเหลือทิ้งแล้ว ก็ควรจะได้ใช้เทคโนโลยีแปรสภาพให้เป็นของใช้ได้ เช่น ใช้ทำขยะและมูลสัตว์ให้เป็นแก๊สและปุ๋ย เป็นต้น โดยทางตรงข้ามเทคโนโลยีใดที่ใช้การได้ไม่คุ้มค่า ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายได้มาก จัดว่าเป็นเทคโนโลยีที่บกพร่อง ไม่สมควรจะนำมาใช้ไม่ว่าจะกรณีใด...”

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          “...ในการสร้างความเจริญก้าวหน้านี้ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องค่อยสร้างค่อยเสริมทีละเล็กละน้อยตามลำดับ ให้เป็นการทำไป พิจารณาไป และปรับปรุงไป ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหาย
ที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกความใหม่ เพราะความจริงสิ่งที่ใหม่แท้ ๆ นั้นไม่มี สิ่งใหม่ทั้งปวงย่อมสืบเนื่องมาจากสิ่งเก่า และต่อไปย่อมจะต้องกลายเป็นสิ่งเก่า ในเมื่อมีวิวัฒนาการคืบหน้าต่อไปอีกลำดับหนึ่ง การพัฒนาปรับปรุงงานจึงควรจะค่อย ๆ ทำด้วยความมีสติรู้เท่าทัน ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแต่ประการใด ผลที่บังเกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ และเป็นประโยชน์แท้แต่ฝ่ายเดียว...”

๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๘

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ในโอกาสที่นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ ๒๗ เฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินรายได้จากการแข่งขันกอล์ฟและโบว์ลิ่ง เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

          “...มีข้อสังเกตอยู่ว่าแม้จะมีความรู้ความสามารถในการทำงานในสาขาของแต่ละคนนั้นได้เต็มเปี่ยมแล้ว งานจะไม่เสร็จถ้าหากว่า ไม่ได้เห็นวิชาการข้างเคียงหรือวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานของตัว และยิ่งกว่านั้นบางวิชาการ ก็มีความไม่เกี่ยวข้องกันเลย โดยเฉพาะวิชาการแต่ละอันที่อยู่ของตัว แต่แท้จริงวิชาการทั้งหมดทุกด้าน ทั้งในด้านศิลปะทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ย่อมต้องเกื้อกูลกัน เพราะว่าแต่ละคนหรือแต่ละบุคคลจะต้องใช้ทุกอย่างเพื่อจะมีชีวิตได้ ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน
ก็ต้องใช้วิชาการทุกด้านเพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศชาติ...”

๕ ธันวาคม ๒๕๒๙

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๙

          “...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...”

๒ กรกฎาคม ๒๕๓๐

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร

          “...การใช้วิชาความรู้ให้ถูกต้องเป็นประโยชน์ มีหลักสำคัญพึงยึดถือดังนี้ ประการแรก ในฐานะผู้มีวิชาการและวิชาชีพระดับสูง จะต้องซื่อตรงบริสุทธิ์ใจต่อวิชาการและวิชาชีพระดับสูง จะต้องซื่อตรงบริสุทธิ์ใจต่อวิชาการและวิชาชีพของตน หมายความว่า แต่ละคนจะต้องพยายยามควบคุมความคิดจิตใจให้มั่นคง หนักแน่นและรอบคอบในหลักการ ไม่ให้มักง่าย ไม่ให้ประมาทเลินเล่อ แล้วนำวิทยาการซึ่งเป็นของสูง ไปใช้อย่างผิดพลาด เพราะการกระทำ ดังนั้น เป็นการทำลายวิชาและทำลายเกียรติภูมิของตนโดยตรง ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงมากมายขึ้นได้อย่างคาดไม่ถึง ประการที่สอง จะต้องเข้าใจให้ถูกว่า การซื่อตรงบริสุทธิ์ใจต่อวิชาการนั้น มิได้หมายถึง การยึดตำราหรือยึดทฤษฎีจนเหนียวแน่นอย่างเอาหัวชนฝา หากมุ่งหมายให้ทุกคนตระหนักว่า หลักวิชาทั้งหลายจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ด้วยวิจารณญาณ ให้ถูกเหตุถูกผลให้ถูกสัดถูกส่วน และให้ประสานสอดคล้องกับวิชาการอื่น ๆ อย่างพอเหมาะพอดี...”

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณ ฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

          “...การใช้หลักวิชาหรือใช้ทฤษฎีให้เกิดประโยชน์ได้แท้จริงนั้น จะต้องใช้ให้ถูกต้อง และสอดคล้องพอเหมาะพอดีกับความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อถือ และวัฒนธรรม ตามสภาพที่เป็นจริงในภาคพื้นต่าง ๆ ามคิด ความเชื่อถือ และวักับความเปจะกรมสต่สิ่งที่เปะพอดีหลักวิชาทั้งหลายจำเปี่สอง จะต้องเข้าใจให้ถ...”

๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

          “...ในการกระทำใด ๆ ถ้าเรายอมลงทุนลงแรงไปก็เหมือนเสียเปล่า แต่ในที่สุดเรากลับจะได้รับผลดี ทั้งทางตรง ทางอ้อม เรื่องนี้ตรงกับงานของรัฐบาลโดยแท้ ถ้าหากว่าอยากให้ประชาชนอยู่ดีกินดี รัฐจะต้องลงทุน ต้องสร้างโครงการซึ่งต้องใช้เงินจำนวนเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน ถ้าทำไปก็เป็น “loss” เป็นการเสีย เป็นการขาดทุน เป็นการจ่าย คือ รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่าย ซึ่งมาจากเงินของประชาชน แต่ว่าถ้าโครงการดี ในไม่ช้าประชาชนก็จะได้กำไร จะได้ผล ราษฎรจะอยู่ดีกินดีขึ้นจะได้ประโยชน์ไป ส่วนรัฐบาลไม่ได้อะไร แต่ข้อนี้ถ้าดูให้ดี ๆ จะเห็นว่าถ้าราษฎร อยู่ดีกินดี มีรายได้ รัฐบาลก็เก็บภาษีได้สะดวก ไม่มีการหนีภาษี เพราะเมื่อมีรายได้ดีขึ้น เขาก็สามารถเสียภาษีได้มากขึ้น     การที่คนอยู่ดีมีความสุขนั้น เป็นกำไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ แต่ว่าถ้าจะคิดให้เป็นมูลค่าเงินจริง ๆ ก็คิดได้ เราต้องจ่ายในสิ่งที่ไม่น่าจะต้องจ่าย เช่น ทางรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมประชาสงเคราะห์ หรือกรมอื่น ๆ จะต้องไปสงเคราะห์ราษฎร
ที่ยากจน ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ ต้องใช้เงินเป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันล้าน ในการสงเคราะห์ชาวบ้าน
ที่ยากจน โดยไม่ได้อะไรกลับคืนมา เพราะว่าราษฎรที่ยากจนนี้ เขาไม่มีกำลังที่จะตอบแทนอะไรได้เลย แม้จะทำงานก็ไม่ค่อยได้ เพราะความยากจน แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะทำให้เขาอยู่ดีกินดีขึ้นหน่อย เขาจะสามารถหารายได้ได้มากขึ้น เราก็จะลดการสงเคราะห์ลงได้

          เราเห็นว่าที่ไหนที่ทำโครงการได้ เราก็ต้องทำโดยเร่งด่วน แม้จะยังไม่ได้ประกวดราคา อย่างถูกระเบียบ หรือแม้ราคาของโครงการนั้นอาจแพงกว่าจริงบ้าง ยกตัวอย่าง สมมุติว่าโครงการแห่งหนึ่งต้องลงทุน ๑๐ ล้านบาท ถ้าทำการศึกษาอย่างรอบคอบแล้วมีการประกวดราคาตามระเบียบ ราคาอาจตก ๘ ล้านบาท แต่การนี้จะต้องเสียเวลาเป็นเดือนเป็นปี แต่ว่าถ้าหากทำไปเลยตก ๑๐ ล้าน โดยที่ปลายปีนั้นหรือก่อนปลายปี โครงการจะให้ผลแล้วประชาชนจะได้กำไร คือประชาชนจะมีรายได้แล้ว เป็นอันว่าปลายปีนั้น ไม่ต้องสงเคราะห์ คือไม่ต้องเอาเสื้อผ้า เอาอาหาร เอาอะไรต่าง ๆ ไปแจก ไม่ต้องสงเคราะห์ ก็ประหยัดการสงเคราะห์ไปได้ ในปีแรกอาจประหยัดไปถึงล้านบาทก็ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นแสนแล้วก็ไม่ต้องปราบปราม เพราะว่าคนที่เดือดร้อนไม่มีเงินใช้มักจะต้องไปขโมยบ้าง หรือไปหากินที่อื่น และระหว่างทาง ต้องเผชิญความเดือดร้อนจึงทำผิดกฎหมายบ้างหรือแม้จะไม่ทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องเสียเวลาเสียค่าเดินทาง ก็เสียทั้งนั้น ซึ่งถ้ามีงานทำในท้องที่ของตัวก็ไม่ต้องเสีย เงินที่ใช้ในการทำโครงการ ส่วนที่เกินไปหน่อยมันกลับคืนมาแล้ว หมายความว่า ถ้าหากรีบทำโครงการ ๑๐ ล้านบาทนั้น ก็ได้กำไรแล้วในปีแรก ชดเชยจำนวน ๒ ล้านบาทที่ว่าแพงเกินไปนั้นได้แล้ว แต่ข้อสำคัญที่สุด ถ้าอยากทำโครงการให้ได้เป็นมูลค่า ๘ ล้านบาทนั้น จะต้องเสียเวลาสอบราคา เสียเวลาทำแผนให้รอบคอบจึงยังทำไม่ได้ในปีนี้ ปีนี้ชาวบ้านจึงยังไม่ได้รับผลดีจากโครงการ ครั้นปีต่อไปปูนซีเมนต์ก็แพงขึ้น เศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป ๘ ล้านบาทไม่พอแล้ว ตกลงต้องใช้ ๙ ล้านบาท จึงต้องของบประมาณเพิ่มเติม และแล้วงบประมาณเพิ่มเติมนั้นก็ถูกตัด ปีที่สองจึงยังทำไม่ได้ จนกระทั่งเอาจริงในปีที่สาม อนุมัติ ๑๐ ล้าน ก็ทำได้ แต่ผลดีที่ควรจะได้รับตั้งแต่ต้นจากโครงการนั้นก็ไม่ได้รับ แล้วก็เป็นอันว่าต้องเสียเงิน ๑๐ ล้านบาท อยู่ดี แต่ประชาชนต้องทนเดือดร้อนไปอีกสองสามปี ถ้ายอม “ขาดทุน” คือ ยอมเสีย ๑๐ ล้านบาทตั้งแต่ต้น ก็สามารถที่จะ “ได้กำไร” คือประชาชนจะได้ผลดีตั้งแต่ปีแรก ทางวิชาเศรษฐกิจแท้ ๆ
ก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกัน มติหรือคติพจน์ที่ว่า “ขาดทุนทำให้มีกำไรได้” นั้นก็เป็นอันพิสูจน์ได้แล้ว ำในท้องที่ของตัวกกาง ต้องเผชิมีเงินใช้มักจะต้องไปขคราะหรื่องนี้ตรงกับงานของรังถนนนั้นอาจไม่ใช่เป...”

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ

          “...การพัฒนาประเทศจะบรรลุผลตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบการหลายอย่าง อย่างแรก ต้องมีคนดี คือมีปัญญา มีความรับผิดชอบ มีความวิริยะอุตสาหะ เป็นผู้ปฏิบัติ อย่างที่สอง ต้องมีวิทยาการที่ดี เป็นเครื่องใช้ประกอบการ อย่างที่สาม ต้องมีการวางแผนที่ดี ให้พอเหมาะพอควรกับฐานะ เศรษฐกิจ และทรัพยากรที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงประโยชน์อันพึงประสงค์ของประเทศและประชาชน เป็นหลักปฏิบัติ...”

๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙

          พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ

          “...ประโยชน์อันพึงประสงค์ของการพัฒนานั้น ก็คือ ความผาสุกสงบ ความเจริญมั่นคง ของประเทศชาติและประชาชน แต่การที่จะพัฒนาให้บรรลุผลเป็นประโยชน์ดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน ให้อยู่ดีกินดี เป็นเบื้องต้นก่อน เพราะฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น คือรากฐานอย่างสำคัญของความสงบและความเจริญมั่นคง ถ้าประชาชนทุกคนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ความสงบ และความเจริญ ย่อมจะเป็นผลก่อเกิดต่อตามมาอย่างแน่นอน จึงอาจพูดได้ว่า การพัฒนาก็คือการทำสงครามกับความยากจน เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนโดยตรง เมื่อใดก็ตาม ที่ประชาชนมีควาอยู่ดีกินดี และประเทศชาติมีความสงบ มีความเจริญ เมื่อนั้นการพัฒนาจึงจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เป็นชัยชนะของการพัฒนาอย่างแท้จริง...”

๕ ธันวาคม ๒๕๔๗

          พระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๔๗ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

          “...เวลานี้เราทุกคนมีภาระสำคัญรออยู่ ที่จะต้องร่วมมือกัน เสริมสร้างความเป็นปรกติเรียบร้อยให้แก่บ้านเมือง เพื่อให้ประชาราษฎร์ชาติภูมิมีความผาสุกสงบ ภาระทั้งนี้มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หากเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกฝ่ายทุกคน ที่จะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้พรักพร้อม และสอดคล้องเกื้อกูลกัน โดยมีจุดหมายและอุดมคติร่วมกัน ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำความคิดจิตใจให้หนักแน่นแน่วแน่ และเที่ยงตรงเสมอเหมือนกัน ที่จะร่วมมือร่วมความคิดกันให้เต็มกำลังความสามารถและสติปัญญา ด้วยความสุจริตบริสุทธิ์ใจและด้วยความสามัคคีปรองดอง โดยยึดเอาประโยชน์ยั่งยืนยิ่งใหญ่คือความมั่นคงผาสุกของบ้านเมืองเป็นเป้าหมายสูงสุด...”

 

อ้างอิง

          ๑. สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

          ๒. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แนวพระราชดำริการพัฒนาสู่ความยั่งยืน., ๒๕๖๓

 


 

กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                             ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖

curve