องค์ความรู้เรื่อง "โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี"

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี

จังหวัดขอนแก่น

        เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ ณ จังหวัดขอนแก่น สรุปความว่า ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นห้วย หนอง บึง และพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลด น้ำที่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตามเดิม ให้พิจารณาหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก

         ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๐ ได้พระราชทานพระราชดำริ เพิ่มเติม ณ จังหวัดขอนแก่นให้สำรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำรอบๆ จังหวัดขอนแก่น เพื่อพิจารณาขุดลอก อ่างเก็บน้ำเสริมคันดินกั้นน้ำให้สูง เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนได้มากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรังได้ รวมทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูที่มีฝนตกหนัก นอกจากนั้นสามารถจะนำน้ำมาใช้ในโครงการเกษตรน้ำฝนตามแนวทฤษฎีใหม่ได้

 

 

การขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี

 

         หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กองทัพภาคที่ ๒ และจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกันดำเนินงานตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ดังนี้

         ๑. ขุดลอกหนองกุดโดก ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน โดยการขุดลอกหนองน้ำธรรมชาติขนาดพื้นที่ ๑๓๐ ไร่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่การเกษตรกรรมได้ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่

         ๒. ขุดลอกหนองเบ็น ตำบลหนองแปน อำเภอมัญจาคีรี โดยการขุดลอกหนองน้ำขนาดความกว้าง ๘๐ เมตร ยาว ๑,๖๒๔ เมตร ลึกเฉลี่ย ๓.๖๐ เมตร เก็บกักน้ำได้ประมาณ ๕,๑๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่

         ๓. ขุดลอกอ่างเก็บน้ำแก่งละว้า ประกอบด้วย

             - ขุดลอกอ่างฯ แก่งละว้า ๑ บ้านหัวช้าง ขนย้ายดินปริมาณ ๑๑๒,๖๔๐ ลูกบาศก์เมตร

             - ขุดลอกอ่างฯ แก่งละว้า ๒ บ้านป่าแดง ขนย้ายดินประมาณ ๑๒๑,๖๐๐ ลูกบาศก์เมตร

 - ขุดลอกอ่างฯ แก่งละว้า ๓ บ้านชีกค้อ ขนย้ายดินปริมาณ ๙๒,๑๖๐ ลูกบาศก์เมตร รวม ๓ แห่ง เก็บกักน้ำได้เต็มตามศักยภาพ

         ๔. ขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองกองแก้ว ประกอบด้วย

             - งานขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองกองแก้ว ๒ บ้านหนองหวาย ขนย้ายดินพร้อมเกลี่ยปริมาณ ๔๕,๑๖๓ ลูกบาศก์เมตร

             - งานขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองกองแก้ว ๓ บ้านท่าข่อย ขนย้ายดินพร้อมเกลี่ยปริมาณ ๗๕,๙๖๒ ลูกบาศก์เมตร

         ๕. ขุดลอกหนองอ้อวัด ปริมาณดิน ๖๐,๘๖๖ ลูกบาศก์เมตร ขนาดกว้าง ๑๐๐ เมตร ยาว ๒๑๗ เมตร ลึก ๓.๕๐ เมตร

         ๖. ขุดลอดหนองเมย ปริมาณดิน ๗๖,๐๒๔ ลูกบาศก์เมตร ขนาดกว้าง ๑๒๕ เมตร ยาว ๒๑๖ เมตร ลึก ๓.๕๐ เมตร

         ๗. ขุดลอกหนองตะกล้า ขนาดกว้าง ๖๖ เมตร ยาว ๒๗๒ เมตร ลึก ๓.๕๐ เมตร

         ๘. ขุดลอกห้วยวังขุมปูน ขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๕,๕๐๐ เมตร ลึก ๓ เมตร

        ๙. ขุดลอกและก่อสร้างฝายห้วยน้ำลัด บ้านหนองผักตบ ตำบลโนนสมบูรณ์ กิ่งอำเภอบ้านแฮด โดยการขุดลอกปริมาณดินประมาณ ๒๑๕,๙๐๐ ลูกบาศก์เมตร และก่อสร้างฝายคอนกรีต เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำ ๓๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ ๑,๐๐๐ ไร่

         ๑๐. ขุดลอกและก่อสร้างฝายอ่างเก็บน้ำบึงแก่งน้ำต้อน บ้านกุดกว้าง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองโดยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำขนาดกว้าง ๑๐๐ เมตร ยาว ๒,๑๐๘ เมตร ลึกเฉลี่ย ๕ เมตร เสริมคันดินและอาคารระบายน้ำล้น เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น ๕.๘ ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่

         ๑๑. ก่อสร้างประตูระบายน้ำบึงกุดเค้า โดยก่อสร้างทำนบดินยาว ๑๔๖.๕ เมตร สูง ๔.๔ เมตร และบานระบายขนาด ๒ – ๒ × ๒ เมตร กักเก็บน้ำได้ประมาณ ๒๑ ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ ๕,๗๐๐ ไร่

         นอกจากนี้ ได้ดำเนินการขุดลอกหนองน้ำเดิมและก่อสร้างอาคารรับน้ำเข้าหนองน้ำ และยกระดับน้ำโดยการสร้างฝายทดน้ำให้สูงขึ้น เป็นการเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำให้มากขึ้น ทั้งนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จรวม ๒๙ แห่ง สามารถเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลำชีได้รวม ๔๑,๓๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์รวม ๒๘,๒๗๓ ไร่ และมีแผนดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำอีก ๕ แห่ง ซึ่งสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้อีก ๑,๗๔๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น จำนวน ๓,๐๕๙ ไร่

         ประโยชน์ของโครงการ คือ เป็นแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูฝน และมีแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูฝนสำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรและการอุปโภค - บริโภคในฤดูแล้ง โดยจังหวัดขอนแก่น และกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเสริมการใช้น้ำในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร เพื่อให้การสนองพระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อราษฎรอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตรรายได้ ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตการเกษตร ให้เกษตรกรรู้จักใช้วัสดุในท้องถิ่น ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยคอก และการปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ปลอดภัยและเกื้อกูลแก่สิ่งแวดล้อม

 

 

พื้นที่รับประโยชน์

แผนที่โครงการ

 


 

 

                                                                                                กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔

 

curve