รายละเอียดองค์ความรู้
ธนาคารโลก (World Bank) ได้ส่งเสริมเรื่องการใช้หญ้าแฝกเป็นพืชเพื่อการป้องกันการชะล้างหน้าดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์มาเป็นเวลาพอสมควร เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการปลูกเป็นแนวรั้วกั้นตามแนวระดับ และได้มีการศึกษา ทดลองใช้อย่างได้ผลดีในประเทศแถบเอเชียหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย ได้มีการศึกษารวบรวมเรื่องการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในระยะแรกบ้างบางส่วน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ซึ่ง นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 สรุปความว่า ให้ศึกษา ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ โดยให้พิจารณาการปลูกตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ และควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษา ทดลอง ให้ครอบคลุมทุกด้านด้วย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง สำนักงาน กปร. รวบรวมได้ 30 ครั้ง โดยในระยะแรกหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และสำนักงาน กปร. ปัจจุบันมีหน่วยงานมากกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้รวบรวมพระราชดำรัสและพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มแรกนับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2534 จนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2548) ดังนี้
วันที่ 22 และ 29 มิถุนายน 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ณ สวนจิตรลดา และ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
- ให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- การดำเนินการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
- การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชัน และในร่องน้ำของภูเขาเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ด้วย
- การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ราบให้ดำเนินการในลักษณะ ดังนี้
- ปลูกโดยรอบแปลง
- ปลูกในแปลงๆ ละ 1 หรือ 2 แนว
- สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่
- ผลของการศึกษาทดลอง ควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของลำต้นและรากความสามารถในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดินและการเก็บความชื้นในดินและเรื่องพันธุ์หญ้าต่างๆ ด้วย
วันที่ 5 กรกฎาคม 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริแก่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้อำนวยการ สำนักงานกิจกรรมพิเศษ กรมชลประทาน และ พ.ต.อ.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
การอนุรักษ์หน้าดินด้วยวิธีทางธรรมชาติ
- ได้ทรงศึกษาการอนุรักษ์หน้าดินโดยวิธีธรรมชาติมานานแล้ว ซึ่งในแต่ละพื้นที่มักจะเปิดหน้าดินแล้วทำการเกษตร เช่น การยกร่องพรวนดินซึ่งยังถือว่าเป็นวิธีการที่ผิดธรรมชาติซึ่งจะเกิดปัญหาในอนาคต จึงทรงแนะนำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำการเกษตรอย่างไม่ทำลายธรรมชาติ เช่น การไม่ไถพรวนเปิดหน้าดิน เปลือยดิน เป็นต้น โดยให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายฯ ทำเป็นตัวอย่าง แล้วหาทางแนะนำให้ราษฎรทำตามต่อไป
- ได้ทรงศึกษาเอกสารของธนาคารโลกเกี่ยวกับการอนุรักษ์หน้าดินด้วยหญ้าแฝก จึงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์หน้าดิน โดยปลูกและขยายพันธุ์หญ้าแฝกในพื้นที่รูปแบบต่างๆ เช่น ขอบร่องน้ำ แปลงมะม่วงหิมพานต์ บริเวณที่ลาดชัน หรือตามร่องน้ำธรรมชาตินำหินไปกั้นเป็นฝายเล็กๆ แล้วปลูกหญ้าแฝกด้านหน้าหรือในพื้นที่ทำการเกษตร เช่น แปลงปลูกข้าวโพด เป็นต้น ทั้งนี้ ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการ และหลังดำเนินการไว้เป็นหลักฐานและให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำเป็นตัวอย่าง
วันที่ 7 กรกฎาคม 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมี พระราชกระแสว่า
“...ขอให้ปลูกหญ้าแฝกไว้ด้วย เพราะหญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการช่วยยึดดินไม่ให้พังทลายช่วยรักษาหน้าดิน โดยเฉพาะที่โครงการฯ นี้มีที่ลาดชันหลายแห่ง นอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยกักเก็บอินทรียวัตถุไว้ในดิน ใบอ่อนของหญ้าแฝกยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย...”
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัส ณ โต๊ะเสวยที่ 1 ภายในพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สรุปดังนี้
ให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนนำหญ้าแฝกไปปลูกตามฐานปฏิบัติการต่างๆ และหมู่บ้านใกล้เคียง แล้วขยายไปปลูกทั่วประเทศ เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณลักษณะที่เหมาะสม ในการจัดระบบอนุรักษ์ดินโดยการปลูกเป็นแนวรั้วกั้นตามระดับชั้น และได้มีการศึกษาทดลองใช้อย่างได้ผลดีในประเทศแถบเอเซียหลายประเทศแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าการปลูกหญ้าแฝกยังส่งผลให้การเพาะปลูกพืชอื่นๆระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝกนั้นให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ โครงการหลวง ณ ที่ทำการที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมชมแปลงรวบรวมพันธุ์หญ้าแฝก ซึ่งได้เก็บรวบรวมพันธุ์พื้นเมืองจากท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศ รวมทั้งของต่างประเทศด้วยและยังได้เยี่ยมชมการทดลองปลูกหญ้าแฝกขวางร่องน้ำ เพื่อลดความแรงของน้ำและสะสมอินทรียวัตถุบริเวณหน้าแถวหญ้าแฝก
หลังจากนั้นทั้งสามพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก ณ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ ดังนี้
- หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกำแพงช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาและทดลองปลูก
- การปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกเป็นแถวเดี่ยว ระยะระหว่างต้นห่างกัน 10 - 15 ซม.ทำให้ ไม่เปลืองพื้นที่การดูแลรักษาง่าย ควรทำการทดลองปลูกในร่องน้ำและบนพื้นที่ลาดชันให้มากเพื่อช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
- การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวความคิดใหม่ ควรปลูกโดยไม่ต้องหวังผลอะไรมากนัก แต่ผลที่ได้จะดีมาก และการปลูกไม่จำเป็นต้องไปปลูกในที่ของเกษตรกร ขอให้ปลูกกันในสถานีพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นแบบอย่างเพื่อคัดพันธุ์หาพันธุ์ที่ดีที่ไม่ขยายพันธุ์โดยออกดอก ต้องดูว่าปลูกแล้วมีพันธุ์ไหนที่ทนแล้ง ในหน้าแล้งยังเขียวอยู่ก็ใช้ได้ โดยขอให้ปลูกก่อนฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงเห็น
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. นายปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้คำปรึกษาการจัดสรรน้ำและปรับปรุงบำรุงรักษา กรมชลประทานและนายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต ผู้ช่วยเลขาธิการ กปร. เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ถวายงาน
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปลูกหญ้าแฝกในแปลงทดลองของศูนย์ฯ และได้พระราชทานพระราชดำริ โดยสรุปดังนี้
- ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝก ซึ่งจะช่วยทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยรากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดินอันจะสามารถปลูกพืชอื่นๆ เช่น ข้าวโพดหรือต้นไม้ยืนต้นอื่นๆ ในบริเวณที่ปลูกหญ้าแฝกได้และคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของหญ้าแฝกก็คือ หญ้าแฝกจะเป็นตัวกักเก็บไนโตรเจน และกำจัดสิ่งเป็นพิษหรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำลำคลอง โดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน
- ให้ดำเนินการศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ไปพร้อมๆ กันเพื่อที่จะได้นำไปส่งเสริมและขยายพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะตามไหล่เขาที่จะมีการพังทลายของดินมาก เช่น ที่โครงการเขาชะงุ้มและที่วัดญาณสังวราราม ก็ควรจะปลูกเช่นกัน และทรงแนะนำวิธีการปลูกว่าสมควรปลูกหญ้าแฝกก่อนหน้าฝนประมาณ 3 เดือน เพื่อที่จะให้ต้นหญ้าแฝกแข็งแรงพอที่จะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้ และยังทรงให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกในร่องน้ำในลักษณะที่เป็น Check Dam ด้วย ตลอดจนที่สูงชันตามริมถนนที่เห็นดินเปลือยอยู่ให้นำหญ้าแฝกไปปลูกเพื่อป้องกันดินพังทลายด้วย
วันที่ 14 มีนาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมกิจการของศูนย์พัฒนา โครงการหลวงแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พระองค์ได้รับสั่งให้ชาวเขาเผ่าม้งปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวของกะหล่ำปลี ซึ่งชาวเขานิยมปลูกเป็นพืชฤดูแล้ง โดยการให้น้ำระบบฝนเทียม ซึ่งชาวเขานิยมปลูกเป็นพืชฤดูแล้ง โดยการให้น้ำระบบฝนเทียม นอกจากนั้น ทั้งสามพระองค์ยังได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรแปลงรวบรวมพันธุ์ แปลงขยายพันธุ์และทรงปลูกหญ้าแฝกไว้เป็นอนุสรณ์อีกด้วย
วันที่ 19 มีนาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาการเกษตรที่สูงปางตอน ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ในส่วนของการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้พิจารณาปลูกก่อนหน้าฝนสัก 3 เดือน ในกรณีที่พื้นที่มีน้ำพอที่จะมารดต้นหญ้าแฝก เพราะว่าจะทำให้หญ้าแฝกแข็งแรงเมื่อถึงหน้าฝนจะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้
วันที่ 14 พฤษภาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานมีสาระสำคัญ สรุปดังนี้
- ให้เร่งดำเนินการปลูกหญ้าแฝกให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยภายใน 2 ปี ถึงแม้ การดำเนินงานอาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณบ้างก็ควรได้ดำเนินการ
- การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝกควรเป็นพันธุ์ที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
- วิธีการปลูกเมื่อแยกหน่อควรมีรากประมาณ 15 ซม. เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องตัดถุงเพราะรากหญ้าแฝกจะสามารถขยายมานอกถุงได้
- การปลูกหญ้าแฝกควรปลูกทั้งในพื้นที่เพื่อการเกษตร ขอบสระหรือแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่ป่าไม้ ตลอดจนสามารถปลูกในบริเวณที่เป็นร่องน้ำ เพื่อกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลไปสู่แหล่งเก็บน้ำและรากหญ้าแฝกซึ่งหนาแน่นจะมีส่วนในการเก็บความชุ่มชื้นในดินได้
- สำหรับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ดำเนินการปลูกในบริเวณหมู่บ้านมุสลิมเป็นแนวเพื่อเพิ่มปริมาณของหน้าดิน สำหรับโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม ให้ดำเนินการปลูกในส่วนบนที่ติดกับเขาเขียว โดยให้ปลูกติดกันเป็นแถวเดียว โดยให้นำหน้าดินมาใส่เพิ่มเติมในระยะต้น เมื่อหญ้าแฝกขึ้นดีแล้วจะช่วยเพิ่มปริมาณหน้าดินได้
วันที่ 8 มิถุนายน 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มตามแนวพระราชดำริ ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปดังนี้
- การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝกนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังอย่างมาก ควรเลือกพันธุ์ ที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ได้โดยเมล็ด เพราะถ้าเป็นพันธุ์ที่แพร่กระจายโดยทางเมล็ดแล้วจะเป็นอันตราย
- การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ ควรปลูกตามแนวระดับโดยรอบอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แนว คือ
- แนวที่ 1 ปลูกตามแนวระดับสูงเท่ากับระดับเก็บกักน้ำ
- แนวที่ 2 ปลูกตามแนวสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม.
- แนวที่ 3 ปลูกตามแนวต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม.
(เพราะว่าน้ำมักจะถึงระดับเก็บกัก)
การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรอบพื้นที่เก็บกักน้ำ จะให้ประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ คือ
- ป้องกันดินพังทลายลงไปในอ่างเก็บน้ำ ทำให้อ่างเก็บน้ำไม่ตื้นเขินและถ้าต้องการขุดดินในอ่างไปใช้ประโยชน์ก็สามารถนำเครื่องจักรวิ่งข้ามแนวหญ้าแฝกไปขุดได้เพราะหญ้าแฝกจะไม่ตาย
- การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรอบๆ อ่างเก็บน้ำจะช่วยรักษาหน้าดินเหนืออ่าง ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นอันจะเป็นการช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ควรทดลองปลูกในดินที่มีชั้นดานลงไปเล็กน้อยแล้วปลูกหญ้าแฝก และหลังจากนั้นปล่อยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตเป็นระยะเวลา 2 - 3 ปี จึงศึกษาว่ารากสามารถชอนไชผ่านชั้นดาน (หรือระเบิดดาน) ไปได้เพียงใด
- การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำในร่องน้ำให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
- ในกรณีที่ร่องน้ำมีขนาดกว้างและลึก ให้ปลูกหญ้าแฝกในลักษณะตัววีคว่ำในร่องน้ำแล้วปลูกต่อเป็นแนวยาวไปตามเส้นชั้นความสูงในลักษณะก้างปลาโดยมีระยะห่างระหว่างแถวตามแนวตั้ง 1 เมตรเพื่อชะลอการกัดเซาะร่องน้ำและกระจายน้ำให้ไหลซึมลงในดินหน้าแนวหญ้าแฝก
- ปลูกเป็นแนวตรงขวางร่องน้ำ เพื่อช่วยในการเก็บกักตะกอนไว้ในร่องน้ำจนในที่สุดร่องน้ำก็จะมีดินตะกอนทับถมจนเต็ม
- ควรทดลองปลูกหญ้าแฝกในบริเวณที่มีหญ้าคาระบาด เพื่อศึกษาดูว่าหญ้าแฝกจะสามารถควบคุมหญ้าคาได้หรือไม่ วิธีควรปฏิบัติก็คือปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบหญ้าคาหลังจากที่หญ้าแฝกตั้งตัวดีแล้ว ให้จุดไฟเผาหญ้าคา เพื่อดูว่าหญ้าแฝกสามารถป้องกันไฟลุกลามได้มากน้อยเพียงใด
- ควรปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผล ซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้ดินรอบๆ ต้นไม้เป็นหลุมในขณะเดียวกันก็สามารถตัดใบหญ้าแฝกคลุมดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ไม้ผลได้
- การปลูกหญ้าแฝกในแปลงที่เพาะปลูกพืชสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น
- ปลูกโดยรอบแปลง
- ปลูกในแปลงๆ ละ 1 หรือ 2 แถว
- สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่
8. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขา ให้ปลูกตามแนวขวางของความลาดชันและในร่องน้ำของภูเขาเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นของดิน
วันที่ 6 กรกฎาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทอดพระเนตร โครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่อีกวาระหนึ่ง ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรแปลง ขยายพันธุ์หญ้าแฝก บนพื้นที่ต้นเขา พระองค์ได้มีพระราชกระแสแนะนำ สรุปดังนี้
ควรปลูกให้ชิดกว่านี้เพราะยังไม่แน่ใจว่าหญ้าแฝกที่ปลูกอยู่เป็นพันธุ์อะไรและมีลักษณะอย่างไร ต่อจากนั้นได้ทรงปลูกหญ้าแฝกในแปลงทดลองที่ได้เตรียมไว้ โดยใช้พันธุ์ที่รวบรวมจากเขาเต่า
หลังจากนั้นอีก 5 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญหญ้าแฝกมาตรวจสอบหญ้าแฝกที่โครงการฯ ผลการตรวจสอบปรากฏว่า พันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกอยู่เป็นพันธุ์ที่ดีมากจึงทรงมีพระราชกระแสให้ขยายเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้พื้นที่อื่นๆ ได้รับพันธุ์ต่อไป
วันที่ 22 กรกฎาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ได้ทรงปลูกหญ้าแฝกบริเวณพื้นที่แปลงทดลองปลูกหญ้าแฝกท้ายอ่างเก็บน้ำและได้พระราชทานพระราชดำริกับข้าราชการที่เฝ้ารับเสด็จฯ สรุปดังนี้
- ควรเร่งปลูกหญ้าแฝกให้มากๆ เพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษในการอนุรักษ์ดิน หลายประการ โดยเฉพาะดินที่มีโครงสร้างแข็งดังเช่นที่ห้วยทรายนี้ หญ้าแฝกจะทำหน้าที่เป็นเขื่อนที่มีชีวิตที่จะช่วยทำให้ดินมีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
- ในการปลูกหญ้าแฝกตามแนวลาดเอียง ควรให้แต่ละแถวห่างกันมากขึ้นประมาณ 1 - 2 เมตร ตามแนวดิ่ง เพื่อประหยัดหน่อพันธุ์ แต่ควรปลูกชิดๆ กัน เพื่อให้หญ้าแฝกมีผลเร็วขึ้น ถ้าจะปลูกไม้ผลควรปลูกหญ้าแฝกเป็นรูปครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้มีผลคล้ายฮวงซุ้ย
- ควรปลูกหญ้าแฝกเหนือแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอนและดูดซับสารเคมี ตลอดจนของเสียต่างๆ ที่ไหลลงในแหล่งน้ำ เพราะหญ้าแฝกจะดูดซับสารพิษต่างๆ ไว้ในรากและ ลำต้นไว้ได้นาน จนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป
วันที่ 28 สิงหาคม 2536
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ดังนี้
“การปลูกหญ้าแฝกถ้าปลูกเป็นกอใหญ่และห่างประมาณ 15 ซม. ถ้าปลูกใกล้ๆ คือ 2 - 3 ซม. และใช้กอเล็กก็จะเชื่อว่าเมื่อเติบโตมักจะปิดแถวได้ดีกว่า ความสิ้นเปลืองของหญ้าแฝกก็อาจจะ น้อยกว่า หลังจากปลูกก็จะติดกันได้ผลภายในไม่กี่เดือนแต่อย่างกอที่ปลูกห่างกว่าจะได้ผลก็ 2 ปี เพราะฉะนั้นไม่ทันการณ์ ที่ดอยตุงนั้นเพาะปลูกหนามากจึงสิ้นเปลืองมากแต่เป็นการทดลองหวังผลรวดเร็ว
สรุปได้ว่า ต้องทำกอเล็กลงไปหน่อยแล้วก็ปลูกให้ใกล้และชิดกัน สำหรับระยะห่างของแต่ละแถวแต่เป็นแนวลาดเท 2 เมตรต่อแถว แล้วก็อยู่บนและต่ำลงมา ส่องระดับลงมาให้ได้ระดับ 2 เมตร ก็อาจจะไม่ถึง 2 เมตรก็ได้ ประมาณ 1.50 เมตร เพื่อความสะดวก ถ้าเป็น 1.50 เมตร สะดวกกว่าเพราะประมาณความสูงของคนซึ่งถ้า 2 เมตร ต้องเขย่งส่องแต่ถ้าส่องระดับนี้ก็จะสะดวกกว่าทำแถวให้ได้ขนานกับทางเทแล้วก็อีกแถวลงมาจะส่องได้พอดี เดินส่องไปสะดวก”
วันที่ 15 กรกฎาคม 2539
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก (เพิ่มเติม) กับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายจริย์ ตุลยานนท์ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร นายรุ่งเรือง จุลชาต นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายสิทธิลาภ วสุวัต นายสิมา โมรากุล นายพยุง นพสุวรรณ และข้าราชการที่รอรับเสด็จฯ สรุปดังนี้
1. ทรงเน้นถึงระยะปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกให้ชิด โดยให้ระยะห่างระหว่างต้น 5 ซม.
2. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินให้แก่ไม้ผลและไม้ยืนต้น ในลักษณะเป็นแนววงกลมรอบโคนต้นไม้นั้น อาจก่อให้เกิดปัญหารากของหญ้าแฝกที่มีจำนวนมากเกินไป จะแย่งอาหารจากต้นไม้ อันจะเป็นการสกัดกั้นการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก ให้เปลี่ยนเป็นการปลูกเป็นแบบครึ่งวงกลมด้านล่างของ Slope เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพื่อช่วยให้หญ้าแฝกได้ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
3. การวางแนวปลูกหญ้าแฝกแบบรูปตัววีคว่ำ (∧) เพื่อแก้ไขการเกิดร่องน้ำแบบลึกที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ (Gully Erosion) ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับพาดผ่านร่องน้ำและให้ระดับของแนวหญ้าแฝกตอนบน (ปลายแหลมของตัววีคว่ำ) มีระดับสูงกว่าด้านล่าง เมื่อน้ำไหลลงมาตามความลาดเทของพื้นที่มาถึงแนวหญ้าแฝก ซึ่งจะช่วยลดการกัดเซาะในร่องน้ำและจะช่วยให้เกิดการทับถมของตะกอนในร่องน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดิน เจาะลึกลงไปในชั้นของดินลูกรัง จากนั้นให้ใช้
ดินดีใส่ในหลุมที่สว่านเจาะแล้ว จึงปลูกหญ้าแฝก รากหญ้าแฝกจะเจริญเติบโตหยั่งลึกลงไปในชั้นหินลูกรังได้ดียิ่ง
- ให้พิจารณาปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ให้ทั่วพื้นที่
วันที่ 6 สิงหาคม 2539
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงตรวจเยี่ยมผลการปฏิบัติงาน ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก (เพิ่มเติม) กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล นายประวิทย์ ทับทิมอ่อน นายชัยชาญ ชโลธร และข้าราชการที่รอรับเสด็จฯ สรุปดังนี้
- การปลูกหญ้าแฝก ถ้าปลูกแนวชิดกันมากๆ หรือปลูกรอบโคนไม้ผลเป็นแบบวงกลม ถ้า
ปลูกใกล้ต้นไม้มากเกินไป จะทำให้ต้นไม้ขาดน้ำเพราะหญ้าแฝกใช้น้ำมากและน้ำจะซึมหารากไม้ผลได้ยาก เพราะรากหญ้าแฝกกั้นไว้ ที่ปลูกไว้เป็นครึ่งวงกลมและกอชิดกันนั้นถูกต้องแล้ว (งานวิชาการเกษตรสวนสมเด็จฯ)
- บริเวณพื้นที่ปลูกป่าเชิงเขาทองอย่าทำแบบปอกเปลือกปุ๋ยจากเขาจะลงมา ดินและน้ำจาก
เขาจะลงมา ควรต่อขยายแนวหญ้าแฝกออกไปอีก ควรปลูกเป็นรูปตัววีคว่ำ (∧) ในไม่ช้าก็จะเต็มร่อง ในที่เป็นร่องน้ำลึกควรทำคันดินหรือคันหินขวางน้ำก่อน เพื่อทำเป็นทำนบเล็กๆ (Check Dam) อย่าปลูกลงไปในร่องน้ำโดยตรง นอกจากนั้นพื้นที่ระหว่างแถวหญ้าแฝกที่เป็น Contour ดินจะมีคุณภาพดีขึ้น น่าจะให้เกษตรกรปลูกพืชล้มลุก
ทั้งนี้ การปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดิน ซึ่งได้ใช้สว่านเจาะดินแบบมือหมุน เจาะเป็นบางส่วนที่เขาชะงุ้ม ขุดให้เป็นร่อง เพื่อให้รากหญ้าแฝกชอนไชไปในดิน
- วิธีการปลูกหญ้าแฝกแซมในช่องว่างแนวรั้วหญ้าแฝกในพื้นที่ดินดาน ให้ใช้สว่านเจาะตามแนวช่องว่าง โดยใส่ปุ๋ยหมักลงไปตามร่อง
- ควรใช้กรรไกรตัดหญ้าแฝกให้มีความสูงประมาณ 30 ซม. ดินที่อยู่ระหว่างแถว หญ้าแฝกจะอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยธาตุอาหาร ซึ่งควรปลูกพืชล้มลุกหรือไม้ผลแซม
- ทรงสาธิตวิธีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝก โดยการขุด
เป็นร่องตามแนวช่องว่าง และใช้ดินผสมปุ๋ยหมักใส่ในร่องแล้วปลูกหญ้าแฝกให้ชิดติดกันระยะห่างไม่เกิน 5 ซม. ตามแนวช่องว่างแล้วให้ตัดใบหญ้าแฝกหัวท้ายช่องว่างให้เหลือ 30 ซม.เพื่อให้หญ้าแฝกที่ปลูกใหม่ได้รับแสงแดด ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าหญ้าแฝกจะตั้งตัวได้ ดินที่ทับถมเหนือแนวรั้วหญ้าแฝกเป็นดินที่ดีมาก ดินลึกถึง 35 ซม. ขอให้เร่งรัดหญ้าแฝกแก้ไขช่องว่างเพื่อให้แนวรั้วหญ้าแฝกมีประสิทธิภาพจะเป็นการช่วยให้ดินดียิ่งขึ้น
วันที่ 3 เมษายน 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้
1.จุดเสด็จฯ ที่ 1 งานศึกษาทดลองการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก เพื่อพัฒนาดินดานท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยทรายฯ ทรงมีพระราชดำริ ดังนี้
- ให้หาวิธีเจาะลงไปในชั้นดินดานแล้วนำดินที่มีความร่วนซุยใส่ลงไปในหลุมสำหรับ ปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้รากหญ้าแฝกสามารถทะลุดินดานไปได้ หญ้าแฝกจะนำความชื้นไประเบิดดินให้ร่วนซุยมากขึ้น
- ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนว Contour ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5 ซม. เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดินและช่วยทำให้เกิดหน้าดินมาทับถมกันบริเวณแนวรั้ว หญ้าแฝกซึ่งต่อไปจะใช้ดินทำการเพาะปลูกได้
- การปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบต้นไม้ควรปลูกแบบฮวงซุ้ย (ครึ่งวงกลม) เพื่อช่วยเก็บกักความชื้นให้แก่ต้นไม้
2. จุดเสด็จฯ ที่ 2 งานอนุรักษ์ดินและน้ำบริเวณลุ่มน้ำเขาบ่อขิงทรงมีพระราชดำริ ดังนี้
- ให้ปลูกป่าและหญ้าแฝกตามแนว Contour เมื่อเวลาฝนตกลงมา จะพัดพาเศษใบไม้มาติดอยู่ที่แนวหญ้าแฝกเป็นการทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยกรมป่าไม้มีหน้าที่ปลูกป่าและกรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ปลูกหญ้าแฝก ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จะเป็นหน่วยงานกลางที่ให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันประสานดำเนินการ
วันที่ 23 เมษายน 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีพระราชดำริ สรุปดังนี้
1. จุดเสด็จฯ ที่ 1 บนสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก มีพระราชดำริ ดังนี้
- เรื่องการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบแนวป่าไม้เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยทำให้ดินมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เมื่อใบไม้ย่อยสลาย ส่วนหญ้าแฝกที่ปลูกในระหว่างไม้ยืนต้นจะไม่ตาย แต่ชะงักการเจริญเติบโตระยะหนึ่ง เมื่อมีการตัดไม้ออกแฝกก็จะเจริญได้อีกครั้ง ให้ปลูกหญ้าแฝกในดินดาน โดยระเบิดดินดานเป็นหลุมแล้วปลูกหญ้าแฝกลงในหลุม เพื่อดันชั้นดินดานให้แตกสามารถดักตะกอนตลอดจนใบไม้ทำให้เกิดดินใหม่ขึ้น
2. จุดเสด็จฯ ที่ 2 ณ ศาลาทรงงานบริเวณอุทยานมัจฉา มีพระราชกระแสกับผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ดังนี้
- ให้ศึกษาการปลูกหญ้าแฝกในดินดานของตำบลเขาหินซ้อน ซึ่งได้เคยให้ทำในดินดานที่เขาชะงุ้ม (โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี) และห้วยทราย (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี) มาแล้ว
วันที่ 9 พฤษภาคม 2540
วันพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังแปลงนาสาธิตในสวนจิตรลดาและได้พระราชทานพระราชดำริ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชูชีพ หาญสวัสดิ์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ ในเรื่องอนุรักษ์ดิน สรุปดังนี้
- การอนุรักษ์ดินก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวตามที่พระราชทานพระราชดำริแล้ว การอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝกต้องทำให้กว้างขวางเพื่อป้องกันและรักษาหน้าดินไม่ให้สูญหาย ได้ทดลองทำครั้งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ด้วย ตลอดจนเข้าไปดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อีกหลายแห่ง จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการในบริเวณที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ ด้วย
วันที่ 24 กรกฎาคม 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราโชวาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝก ขออัญเชิญมาไว้ ณ ที่นี้
"...บัณฑิตทุกคนควรจะได้สนใจสังเกตศึกษาเรื่องราว บุคคลและสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมและ เกี่ยวข้องกับตัวเองให้มาก อย่าละเลยหรือมองข้ามแม้สิ่งเล็กน้อย เช่น ต้นหญ้า ซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญญาได้ หญ้านั้นมีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืชซึ่งเป็นโทษและหญ้าที่มีคุณอย่างหญ้าแฝก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะมีรากที่หยั่งลึกแผ่กระจายลงไปตรงๆ ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคงและมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนา ทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี..."
วันที่ 25 กรกฎาคม 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราโชวาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝก ขออัญเชิญมาไว้ ณ ที่นี้
"...สิ่งที่ดีมีประโยชน์นั้นจะต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาและเหมาะสมกับสภาพการณ์ทั่วไป ด้วย จึงจะได้ผลที่พึงประสงค์ อย่างเช่น การปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผงและ วางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันและร่องน้ำ บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่เก็บกักน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกที่ปลูกโดยหลักวิธีดังนี้ จะช่วยป้องกันการ พังทลายของหน้าดินรักษาความชุ่มชื้นในดินเก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่างๆ ไม่ให้ไหลลง แหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้นบัณฑิตผู้จะออกไปเริ่มต้นชีวิตการงานต่อไป จึงควรจะได้ศึกษาพิจารณาเรื่องความถูกต้องเหมาะสมที่กล่าวนี้ให้ทราบชัด..."
วันที่ 23 มิถุนายน 2541
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำรัส ณ พระราชนิเวศมฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ความตอนหนึ่งว่า
“...ปลูกหญ้าแฝกเพื่อที่จะให้ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นดินที่สมบูรณ์ โดยที่ปลูกหญ้าแฝกและทำคันกั้นไม่ให้ตะกอนเหล่านั้นไหลลงไปในห้วยก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างดี หากว่าไม่ปฏิบัติเช่นนี้ ดินนั้นจะหมดไปเลยเหลือแต่ดินดานและทรายและดินที่อาจเป็นดินสมบูรณ์ก็ไหลลงไปในห้วย ทำให้ห้วยตื้นเขิน เมื่อห้วยตื้นเขิน น้ำที่ลงมาจากภูเขาก็ท่วมในที่ราบและน้ำที่ลงมาจากเขาจะลงมาโดยเร็วเพราะภูเขามีต้นไม้น้อย ทำให้น้ำลงมารวมอย่างฉับพลันและท่วม...”
วันที่ 14 กรกฎาคม 2541
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก ความตอนหนึ่งว่า
“...ข้อสำคัญที่มาเพราะว่าที่ดินในเมืองไทยมันมีน้อยลงที่จะใช้งานได้ จึงต้องหาที่เลวๆ ให้พัฒนาขึ้นเป็นที่ที่ใช้ได้ และให้ความสำคัญของโครงการนี้เป็นยังไง ต้องลงมือหลายฝ่ายกรมพัฒนาที่ดินและกรมป่าไม้ศึกษา และถ้าทำได้แล้วเมืองไทยนี้ไม่อับจน...”
“...หญ้าแฝกนี้จะกักน้ำและปุ๋ยที่มาจากภูเขา ภูเขาเป็นเครื่องปฏินกรณ์น้ำและปุ๋ยไม่ต้องเอาปุ๋ยที่ไหน พัฒนาดินก็สบาย ก็อาศัยชลประทานแล้วก็ป่าไม้...”
“...เราจะสร้างของดีซ้อนบนของเลวนั่น อย่าไปนึกไปใช้ดานอันนี้เพราะดานอันนี้ไม่มีอาหารและแข็งเหลือเกิน ต้องสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา หญ้าแฝกเราเจาะดินลงไปแล้วเอาดินที่มีอาหารลงไป หญ้าแฝกก็สามารถชอนไชอยู่ได้ แล้วหญ้าแฝกนั้นเวลาน้ำฝนชะมาจากภูเขาจะชะใบไม้มาติด หญ้าแฝก ก็จะเป็นดินที่ใช้ได้ ดินนี้จะเพิ่มขึ้นไป แล้วก็ดินนี้นานไปจะเป็นดิน...”
วันที่ 20 เมษายน 2543
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (บริเวณพื้นที่เขาบ่อขิง) สรุปดังนี้
- ให้ทดลองปลูกไม้สาธรร่วมกับหญ้าแฝกต่อไปและทำการศึกษากับไม้ชนิดอื่นๆ ว่า ชนิดใดจะเหมาะสมกับพื้นที่ดินดานได้ดี
- การแก้ไขดินเลวโดยวิธีทางธรรมชาติ โดย
- ปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้ดินดานแตกตัวจะทำให้น้ำซึมผ่านไปได้
- ปลูกต้นไม้ควบคู่กับการปลูกหญ้าแฝก ต้นไม้จะเจริญเติบโตในดินดานได้ เนื่องจากแฝกให้น้ำและช่วยดึงไนโตรเจน
วันที่ 12 เมษายน 2544
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสกับ ม.ร.ว.แซม แจ่มจรัส รัชนี เจ้าหน้าที่โครงการหลวง ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ สรุปดังนี้
- การนำร่องการใช้หญ้าแฝกกับดินเหนียวในการก่อสร้างยุ้งฉางราคาถูกเป็นตัวอย่างแก่กสิกรรมในชนบท ให้ทำการทดลองเก็บข้าวเปลือกจริงเพื่อพิจารณาลู่ทางการควบคุมความร้อนที่เกิดจากการเก็บเมล็ดข้าวเปลือกในยุ้งฉางแบบนี้และให้ใช้หลังคายุ้งฉางแบบบ้านของชาวเอสกิโม (Igloo) เพื่อแก้ไขปัญหาความร้อนและความชื้นที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บข้าวเปลือกและให้มีการศึกษาเพื่อการป้องกันความเสียหายของพื้นผิวภายนอกของยุ้งฉางเมื่อถูกความชื้น
- ให้ศึกษาเรื่องหญ้าแฝกและสกัดสารสำคัญมาเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันกำจัดปลวกให้มีการศึกษาการพัฒนาเยื่อหญ้าแฝกให้ปลวกไม่สามารถทำลายได้ โดยการพิจารณากำจัดสารที่เป็นอาหารของปลวกเสียตั้งแต่ต้นจะได้ไม่มีปัญหาเมื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม
- การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุแทนไม้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายใน โดยให้มีการศึกษาความคงทนของแผ่นไม้อัดหญ้าแฝกต่อสภาพการทำลายของปลวกและการศึกษาเพื่อหาวัสดุภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าวัสดุที่เป็นตัวประสานจากต่างประเทศ
- การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุก่อสร้างทางวิศวกรรมที่ประหยัด ปลอดมลภาวะประหยัด พลังงาน ชาวบ้านสามารถทำได้เองโดยเถ้าหญ้าแฝก สัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝกเป็นวัสดุทดแทนซีเมนต์และผลที่ได้รับโดยเน้นเรื่องความแข็งแรง ความทนทาน ส่วนการประยุกต์ใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นวัสดุเสริมแรงสัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝกโดยเน้นเรื่องการพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าและทดแทนการใช้วัสดุสังเคราะห์
- การแสดงแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของการไหล
ลักษณะการกัดเซาะและการกักเก็บตะกอนของระบบแถบหญ้าแฝก ดังนี้
- ให้มีการขยายแบบจำลองจากแบบจำลองแสดงแนวคิดเป็นแบบจำลองที่สามารถเก็บข้อมูลได้ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับทางวิศวกรรม รวมทั้งให้มีการทดสอบเพื่อยืนยันข้อมูลในภูมิประเทศจริงด้วย
- ให้นำข้อมูลที่ได้รับจากแบบจำลองไปประยุกต์ใช้แถบหญ้าแฝกเพื่อลด ความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรม
- ให้มีการศึกษาการใช้แถบหญ้าแฝกและพืชพันธุ์ลดหรือป้องกันสารไนเตรท จากการทำการเกษตรซึมซับลงในดิน ลงไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำใต้ดินในระดับล่าง
- การใช้ความชุ่มชื้นของแถบหญ้าแฝกลดหรือป้องกันความเสียหายที่เกิดจากไฟป่า
- รูปแบบการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเป็นพืชรายได้แบบครบวงจร โดยเน้นการจัดกลุ่มกสิกรรมเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณ คุณภาพและสายพันธุ์ที่กำหนดได้ เพื่อเป็นการแยกออกจากการส่งเสริมการปลูกเพื่อป้องกันรักษาดิน โดยให้ระมัดระวังการปลูกแยกจากระบบอนุรักษ์ ซึ่งแฝกเป็นพืชที่มีรายได้สู่เกษตรกรก็ให้ทำไปโดยให้วิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตลง ในการลดต้นทุนการผลิตให้ขยายพันธุ์โดยใช้ Tiller ที่แยกออกมา
- แนวทางการใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นอุตสาหกรรมภาชนะเมลามีน โดยให้มีการพิจารณาผลิตภาชนะหรือเครื่องใช้ที่เหมาะสมกับสีตามธรรมชาติของเยื่อหญ้าแฝก และให้พิจารณาจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ภาชนะเมลามีนจากเยื่อหญ้าแฝกได้
- ลู่ทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัยค้นคว้าและผลิตภัณฑ์ หญ้าแฝกของมูลนิธิโครงการหลวง ดังนี้
- ให้คณะทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหญ้าแฝก เร่งรัดการดำเนินการตามที่ได้คิดริเริ่มไว้ต่อไป เพราะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
- ผลงานใดที่สามารถดำเนินการจดสิทธิบัตรได้ ขอให้คณะทำงานสิทธิบัตรหญ้าแฝกรีบดำเนินการเพื่อจะได้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปในภายหน้า
วันที่ 13 กันยายน 2545
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความว่า
“...ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องมีการปรับปรุงเปิดพื้นที่เป็นอันมาก โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขา ควรที่จะต้องมีการใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นพืชนำเพื่อฟื้นคืนสภาพพื้นที่และภูมิทัศน์และความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่นั้นอย่างได้ผล...”
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2545
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริ ณ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
- ควรปลูกหญ้าแฝกก่อนหรือพร้อมกับปลูกป่าโดยเฉพาะที่ลาดชัน โดยต้องปลูกให้ถูกวิธี คือขวางแนวลาดชันเพราะในแผนที่ ปตท. แสดงการปลูกป่าจะเป็นแนวลงมาเหมือนที่ชาวเขาปลูกกะหล่ำ โดยให้สังเกตที่ลำห้วยด้านล่างภูเขาจะเห็นดินลงไปกองอยู่เต็ม
- ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกันไฟป่าของแปลงปลูกป่า เพราะการปลูกป่าของหน่วยงานต้องมีเจ้าหน้าที่หน่วยดับไฟ ต้องใช้รถจักรยานยนต์เพื่อตรวจป่า ขอให้ใช้วิธีปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวเพราะหญ้าแฝกนั้นต่างกับหญ้าคาซึ่งหน้าแล้งจะแห้งติดไฟง่าย แต่หญ้าแฝกหน้าแล้งจะเขียวเพราะมีรากลึกดูดความชื้นตลอดเวลาจะเป็นแนวกันไฟโดยธรรมชาติ
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2545
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริกับ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและคณะวิจัย ณ ศาลาเริง วังไกลกังวลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
หญ้าแฝกเป็นพืชเอนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย นอกจาก คุณประโยชน์หลักของหญ้าแฝกที่ใช้ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว รากของหญ้าแฝกที่แผ่หยั่งลึกลงไปในดินยังช่วยดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกอและใบหญ้าแฝกที่ปลูกล้อมรอบพื้นที่เกษตร ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันปลวกและหนูไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายให้กับพืชและผลิตผลในพื้นที่นั้น ๆ รวมทั้งใช้ป้องกันงูได้อีกด้วย
ปลวกมีหลายชนิดบางชนิดก็ทำลายบ้านเรือน แต่หลายชนิดก็มีประโยชน์ทำให้ดินดีและปลวกที่กินหญ้าแฝกยังไม่ตายทันที เพียงแต่ทำให้ปวดท้องเท่านั้น
การปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟ เป็นประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหญ้าแฝกที่จะช่วยลดความเสียหายจากไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นในป่าปลูกหรือป่าธรรมชาติ
ควรปลูกแฝกก่อนหรือร่วมกับแปลงปลูกไม้ยืนต้น โดยเฉพาะบนภูเขาจะช่วยป้องกันการชะล้างดินและป้องกันไฟป่าได้เพราะแฝกทนไฟ ใบจะสดตลอดปีและรากที่หยั่งลึกลงในดินจะช่วยดูดความชื้นไว้ ดังนั้น การปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟจะช่วยป้องกันไฟป่าในฤดูแล้งได้
การปลูกยูคาลิปตัสและสนบนภูเขา มักเกิดไฟไหม้ทุกปีควรพิจารณาปลูกแฝกร่วม
การนำใบหญ้าแฝกมาอัดเป็นแผ่นและนำไปใช้ประโยชน์ทดแทนไม้จริงจะช่วยลดการนำเข้าไม้ รวมทั้งลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ แต่เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตแผ่นแฝกอัดใช้กาว ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง ควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาใช้กาวซึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศที่มีคุณภาพดีและราคาถูกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศ
การนำรากหญ้าแฝกมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ถึงแม้ว่ามีราคาแพงควรมีการศึกษาพัฒนาเกี่ยวกับการปลูกแฝกเพื่อผลิตโดยเฉพาะ ไม่ควรมีการขุดกอแฝกเพื่อนำรากมาใช้ในการนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย
สำหรับใบแฝกที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น ควรมีการศึกษาด้วยว่าหากมีการส่งเสริมและดำเนินการในระดับอุตสาหกรรม แล้วจะมีวัตถุดิบเพียงพอหรือไม่ โดยปกติหญ้าแฝกจะมีใบมากและมีการเจริญเติบโตได้เร็ว ควรมีการศึกษาให้มีการนำใบไปใช้อย่างเหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบกับวัตถุประสงค์หลักคือการใช้หญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดิน ดังนั้นหากจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นควรพิจารณาเตรียมพื้นที่ เพื่อการปลูกโดยเฉพาะและควรวิจัยการนำวัตถุดิบอื่นที่เหมาะสมมาเป็นส่วนผสมในการทำแผ่นไม้อัดด้วย
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระราชดำรัสกับหม่อมราชวงศ์ แซมแจ่มจรัส รัชนี และคณะทำงานโครงการพัฒนาหญ้าแฝกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจโครงการหลวง ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
เบิก นายวีระชัย ณ นคร ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสายพันธุ์หญ้าแฝก เพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับชนิดพันธุ์และสายพันธุ์หญ้าแฝกที่พบในประเทศ และแนวทางการคุ้มครองสายพันธุ์หญ้าแฝกในประเทศไทย
นายวีระชัยฯ ได้ถวายรายงานสรุปความเป็นมาของการศึกษาเกี่ยวกับชนิดพันธุ์และสายพันธุ์หญ้าแฝก ตั้งแต่ที่ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้นำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีผลการดำเนินงานศึกษาสนองพระราชดำริของสำนักงาน กปร. ในปี พ.ศ. 2535 ว่าประเทศไทยมีหญ้าแฝกเพียง 2 ชนิด คือ หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอน
ในปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการราบรวมหญ้าแฝกจากแหล่งพันธุ์ต่างๆ รวม 57 แหล่งพันธุ์จากทั่วประเทศ มาจัดปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ สำหรับนำไปใช้ให้ถูกกับชนิดของดินในแต่ละพื้นที่ ต่อจากนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โครงการหลวงได้รวบรวมสายพันธุ์หญ้าแฝกที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่างๆ จากทั่วประเทศ เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้านตามที่ต้องการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถามว่า สายพันธุ์หญ้าแฝกของไทยที่ได้ถวายรายงานมาทั้งหมดนั้น มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้วบ้างหรือไม่ เพราะได้ทราบว่า Dr. Yoon ชาวมาเลเซียได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรชนิดหญ้าแฝกต่างๆ ไว้แล้วเกือบทั้งหมด
นายวีระชัยฯ : กราบบังคมทูลว่า ของไทยยังไม่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้แต่ประการใด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ต้องรีบดำเนินการจดสิทธิบัตรสายพันธุ์หญ้าแฝกของไทยไว้ทั้งหมด ก่อนที่จะมีใครมานำไปใช้ประโยชน์ และให้รีบศึกษาหาวิธีดำเนินการ แม้แต่ชนิดที่ไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ก็ต้องจดไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ใครนำไปใช้อย่างผิดๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : เท่าที่ทราบมา ขณะนี้กล้าหญ้าแฝกยังมีไม่พอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อมีคนไปขอจากกรมพัฒนาที่ดิน ก็ไม่มีให้ ทำให้ไม่มีการนำไปใช้ จะไปขอจากหน่วยงานไหนก็ไม่มี ดังนั้น ก่อนอื่นอันเป็นพื้นฐานสำคัญประการแรก จะต้องทำให้มีกล้าแฝกเพียงพอต่อการจ่ายแจก ให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ประโยชน์แล้ว จึงดำเนินการหาประโยชน์ด้านอื่น ดังเช่นที่ได้นำมาแสดงอยู่นี้
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ขอเบิก นายอรรถ สมร่าง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อมารับฟังพระราชกระแส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : กรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่พัฒนาปรับปรุง บำรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ หญ้าแฝกเป็นพืชตัวหนึ่งที่จะสามารถช่วยได้ ก็ให้ดำเนินการทำให้มีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน : ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ตามศูนย์พัฒนาที่ดินทั่วประเทศ และยังมีโครงการหมอดินอาสาช่วยชี้แจงชาวบ้านในการปลูกพืชต่างๆ ด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ต้องให้ชาวบ้านมีความเข้าใจและมีแฝกให้เขาปลูกเพียงพอ ขณะนี้ไม่เพียงพอ ยังขาดอีกมาก หากยังไม่มีกล้าพอ จะปลูกไปทีละสิบเมตร ห้าสิบเมตร ร้อยเมตรก็ได้ แล้วขยายจากที่นั่นไปปลูกได้อีกไม่นานก็จะเต็มพื้นที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : การนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ดังที่จัดแสดงไว้หลากหลายนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ดี หรือไม่น่าสนใจ แต่เห็นว่าควรที่จะดำเนินการขยายพันธุ์ให้มีเพียงพอก่อน แล้วจึงดำเนินการด้านอื่นเพราะหลักที่เป็นหัวใจของการใช้แฝกนั้นก็คือ การนำไปใช้ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ปรับปรุงดิน แฝกจะช่วยยึดดิน รากก็ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ขอเบิกท่านรัฐมนตรี นายอดิศัย โพธารามิก ที่ได้เข้าเฝ้าอยู่ ณ ที่นี้ด้วย เพื่อรับสนองพระราชดำริ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของรัฐบาลว่าให้ช่วยสนับสนุนโครงการหญ้าแฝกด้วย เพราะจะยังให้เกิดผลดีโดยรวมต่อผืนแผ่นดินทั้งประเทศในวันข้างหน้า
น้ำที่น้ำตกห้วยแก้วนั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งว่าไหลแล้วไม่แห้ง แต่น้ำที่อื่นโดยรอบ ยังพากันแห้งหายหมด ความชื้นลดลงเพราะป่าถูกทำลาย หน้าดินเปิดสูญเสียไปมาก จะฟื้นคืนให้ได้ถาวรก็ต้องใช้หญ้าแฝกเข้าไปช่วยด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ได้เคยไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งและพบว่ามีแฝกกอใหญ่ขึ้นอยู่สูงเกือบ 3 เมตร ซึ่งครูและนักเรียนพากันภาคภูมิใจ แต่ที่จริงแสดงว่าเขาไม่ทราบ ไม่รู้ว่ามันใช้ประโยชน์ไม่ได้ จะใช้ได้ต้องแยกเอามาปลูก ให้เป็นแถวเป็นแนวจึงจะเกิดผล
การปลูกหญ้าแฝก จะต้องปลูกให้ถูกต้องด้วย ไม่ให้มีความห่างมากเกินไป จนเป็นช่อง ก็จะไม่สามารถกั้นน้ำ กักตะกอนดินฮิวมัสต่างๆ ไว้ได้ และเมื่อปลูกเป็นชั้นๆ ตามเนิน จะช่วยเป็นกำแพงกั้นน้ำที่ไหลบ่าลงมาได้ ที่เห็นว่าเหมาะสมก็คือความห่างประมาณ 5 ซม. ซึ่งเมื่อแฝกเติบโตก็จะขยายออกมาชนกันเป็นแถวแน่น มีประสิทธิภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ที่บ้านหนองพลับ บ้านแขก ห้วยทรายและเขาชะงุ้ม ไปปลูกทดลองมาหมดแล้วเป็นดินกรวดแดง ดินลูกรังและดินดาน ต้องใช้ชะแลงแทงเจาะลงไปปลูกอะไรก็ไม่ได้ แต่สามารถปลูกแฝกได้และรากแฝกก็เจาะดินลงไปชั้นล่างได้ ต่อมาก็เกิดเป็นดินดำขึ้นปลูกพืชอื่นได้ ดร. เคยไปดูหรือไม่
นายวีระชัยฯ กราบบังคมทูล เคยไปดูกับหน่วยงาน กปร. พื้นที่ข้างล่างก็เป็นดินดานและไม่มีคุณค่าทางอาหาร
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : โครงการหลวงได้มอบหมายให้ ดร.อำพรรณฯ จากมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ทำโครงการเพิ่มจุลินทรีย์ในวัสดุดินที่ปลูกแฝก เพิ่มคุณค่าธาตุอาหารให้พืช ทดลองปลูกไว้ไม่นานได้กอโตมากกว่าธรรมดาชัดเจน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ที่ป่าพรุ จังหวัดนราธิวาส มีการพัฒนาที่รอบนอกพรุ พื้นที่เป็นดินเปรี้ยว ทางชลประทานทดลองปรับปรุงดินหลายวิธีไม่ได้ผล แต่เมื่อปลูกแฝกเป็นแนวตามคันคลองกันน้ำเปรี้ยว ค่อยเป็นค่อยไป เดี๋ยวนี้ปลูกข้าวได้แล้ว
ที่เขาหินซ้อนแต่ก่อนก็เป็นดินที่แย่มาก ไม่มีใครจะปลูกอะไรได้ ก็เลยไม่มีใครไปอยู่ ได้ไปซื้อไว้ราคาถูกๆ ให้มีการทดลองปลูกแฝกด้วย เดี๋ยวนี้มีตัวอย่าง เมื่อดินดี ปลูกอะไรก็ได้ ที่ดินตอนนี้ราคาแพงมาก ซื้อไม่ได้เลย
แฝกยังช่วยกักเก็บไนโตรเจน เพราะพืชดูดน้ำไปใช้ได้ ไนโตรเจนหากซึมลงไปใต้ดินหรือรั่วไหลลงไปในแหล่งน้ำก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นสารพิษ ยากแก่การกำจัด ดังนั้นจึงนำไปใช้ช่วยด้านสิ่งแวดล้อมได้ (เข้าใจว่า หมายถึง สารประกอบของไนโตรเจน คือ ไนไตร - NO2 และ ไนเตรท - NO3 และมีการทดลองแล้วที่คุ้งกระเบน)
โดยหลักการแฝกน่าจะช่วยกันไฟได้ ในหน้าแล้งหญ้าคาจะแห้งไปหมดและติดไฟง่าย แต่แฝกมีรากยาวลึก หาน้ำได้ จึงยังเขียวอยู่ ไม่แห้งและไม่เป็นเชื้อไฟ
แล้วแฝกพันธุ์ทนเค็มที่ว่า (ดร.วีระชัยฯ : พันธุ์หว้ากอ) และที่เด่นๆ จะต้องจดสิทธิบัตรไว้ขยายพันธุ์ให้มากๆ หน่วยต่างๆ จะได้ช่วยกันศึกษาด้วย
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ขณะนี้โครงการหลวงได้มอบหมายให้ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งขยายพันธุ์แฝกให้ได้ปริมาณมาก โดยวิธีทิชชูคัลเจอร์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ทิชชูคัลเจอร์ก็ดี แต่ต้องระวังหากทำไปมากๆ หลายช่วงจะกลายพันธุ์ จะเหมือนเจ้าดอลลี่ (เข้าใจว่าหมายถึง ดอลลี่แกะที่ทำโคลนนิ่ง ซึ่งได้ตายไปแล้ว อายุสั้น) จะต้องขยายพันธุ์ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนแอของสายพันธุ์
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : โครงการหลวงแต่เดิมไม่มีโครงการออกมาทำงานนอกพื้นที่แต่ข้าพระพุทธเจ้านำคณะออกมาปฏิบัติงานนอกพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน มีอาชีพ มีรายได้ โดยใช้แฝกนำทำเป็นโครงการต่างๆ ระดับหมู่บ้าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่าลืมว่า ต้องขยายพันธุ์ด้วยให้มีความเพียงพอ ปลูกกันทั่วถึง แล้วจึงค่อยต่อยอดออกไปจึงจะเป็นวงจรสมบูรณ์
ถึงได้ไม่มี ไม่พอ อยู่อย่างนี้ ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันทำให้พอแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้พอปลูกทั่วถึงกัน
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : โครงการหลวงเห็นว่าการขยายพันธุ์เป็นงานโดยตรงของกรมพัฒนาที่ดินและหน่วยราชการอื่น จึงได้เลี่ยงไปทำเรื่องการใช้ประโยชน์อื่นๆ ทำเชือกแฝกใช้เป็นอุตสาหกรรม ทำบ่อปลา ทำยุ้งฉาง
นายวีระชัยฯ : ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรก็ได้นำแฝกไปปลูกในพื้นที่ศูนย์สาธิตการเกษตรของสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และเป็นผู้ดูแลเรื่องการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชด้วย ข้าพระพุทธเจ้าขอเบิก นางประไพศรี พิทักษ์ไพรวัน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อรับสนองพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : พื้นที่โครงการหลวงอ่างขางปัจจุบัน ได้นั่งเครื่องผ่านไป ตอนนั้นไกลมากแล้ว เห็นว่าพื้นที่บนเขาถูกทำลายไปมาก มีการปลูกฝิ่น ต้นน้ำลำธารเสียหาย ต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องการทดลองปลูกพืชต่างๆ เป็นตัวอย่างให้ชาวเขาลดเลิกยาเสพติด เมื่อก่อนมีแฝกปลูกมากด้วย ป้องกันดินพังทลายตามที่ลาดชันได้ดี
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ได้ทราบว่าประเทศจีนกำลังปลูกแฝกไว้มาก Dr.Yoon เมื่อครั้งมารับพระราชทานรางวัลหญ้าแฝกก็ได้คาดการณ์ไว้ว่า ประเทศไทยจะมีแฝกมากที่สุด มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ภูเขาจรดทะเล เพราะทุกหน่วยงานร่วมกันทำ โดยเฉพาะการมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักชัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน รัฐบาลต้องช่วยสนับสนุนประเทศจีนที่ว่าปลูกแฝกมาก จริงแล้วก็คงไม่เท่าใด เพราะมีช่วงอากาศหนาวจัด เย็นจัดแฝกไม่ชอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : วันนี้จะพอแล้ว คนที่ยืนกันอยู่ก็น่าจะเมื่อยมาก ใครมีอะไรจะนำมาอธิบาย ก็ให้นำมาได้ คงจะเดินดูให้ทั่วไม่ไหว เพราะคงต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง
ให้คณะทำงานมาเข้าเฝ้าใกล้ๆ จะได้พระราชทานพร เป็นขวัญกำลังใจให้ทุกๆ คน
“ขอให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการทำงาน อย่าท้อถอย งานก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ เป็นประโยชน์ต่อชาติโดยรวม ขออวยพรให้พวกท่านทั้งหลายมีแต่ความสุข มีพลังกายและ พลังใจที่แข็งแรง ทำงานได้สำเร็จดังประสงค์ เป็นกำลังที่สำคัญของประเทศชาติสืบไป”
วันที่ 4 สิงหาคม 2548
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และข้าราชการระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
ต้องปลูกตามแนวขวางของลาดเขาจะเก็บน้ำได้ ถ้าปลูกตามแนวลาดดินไหลหมด ทำตามแนวขวางใช้แทรกเตอร์ไถคว่ำ ที่เขาเต่าแม้แต่เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินปลูกแฝก ดินนอกไม่เปรี้ยวเป็นด่างมาก หญ้าแฝกมีหลายชนิด ชนิดที่ดีปลูกแล้วไม่ออกดอก ไม่เหมือนหญ้าคา หลังคาที่มุงแฝกทนมาก แฝกดีใบหนาไม่ติดไฟง่าย ปลูกขวางเป็นระยะๆ หญ้าคาติดไฟง่ายในหน้าแล้ง ปลูกใต้ต้นไม้ช่วยซับน้ำ แฝกช่วยไม่ให้หญ้าคาขึ้น หญ้าแฝกช่วยทั้งแล้งทั้งท่วม
การวิจัยช่วงแรก
จากการวิจัย ทำให้ค้นพบแหล่งหญ้าแฝกพันธุ์พื้นเมืองตามอำเภอและจังหวัดต่างๆ เป็นที่มาของชื่อ แฝกแหล่งพันธุ์แม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย และปางมะผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหญ้าแฝกที่ได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายจากต่างประเทศเมื่อครั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนประเทศอินเดีย เช่น แฝกหอมพันธุ์อินเดียจากนิวเดลฮี กรมพัฒนาที่ดินได้รับพระราชทานไปขยายพันธุ์ นิยมเรียกกันว่า แฝกพันธุ์พระราชทาน
พุทธศักราช 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางการทำงานแก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ มีรับสั่งให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่ต่างๆ ที่มีปัญหาเรื่องดินในสภาพภูมิประเทศที่ต่างกัน ดำเนินการนำหญ้าแฝกมาศึกษาและทดลองและเสด็จฯ ไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เพื่อทรงติดตามงาน ทรงสนับสนุนให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวตามริมร่องน้ำและลาดเขาในสวนมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น ทรงย้ำถึงความสำคัญของการถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน เพื่อแสดงให้เห็นสภาพ ‘ก่อน’ และ ‘หลัง’ การปลูก อันจะยืนยังถึงประสิทธิภาพของหญ้าแฝกได้
ในปีต่อมา มีพระราชดำริให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกสายพันธุ์ต่างๆ ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการขยายผลที่ถูกวิธี เหมาะสมแก่เกษตรกร จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น
ดร.วีระชัย ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝก ย้อนความถึงช่วงต้นของการวิจัยว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสนพระทัยในโครงการหญ้าแฝกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน “ทรงศึกษาและทดลองปลูกในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ (พื้นที่ทรงงาน) หญ้าแฝกจำนวนหนึ่งล้านถุงแรกที่ขยายพันธุ์ได้ก็มาจากที่ดอยตุงนี่เอง”
ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ
เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีการจัดตั้ง คณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเพื่อดำเนินการภายใต้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เมื่อพุทธศักราช 2535 คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเฉพาะตามพื้นที่ลาดชันทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนหลายโครงการที่เริ่มต้นตั้งแต่ประมาณพุทธศักราช 2510 เป็นต้นมา
ลักษณะของหญ้าแฝก
หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่
1.กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ
2. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีข้อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน
ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก
การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้
1.มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
2.มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
3.หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
4.ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้
5.มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
6.ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
7.บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
8.ปรับตัวกับสภาพต่าง ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป
9.ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ
คุณสมบัติของหญ้าแฝก
โครงการวิจัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริพบว่าหญ้าแฝกสามารถนำมาปลูกเป็นแถวเป็นแนวเพื่อเป็นปราการธรรมชาติ ช่วยกรองตะกอนดินที่ถูกชะล้างมากักเก็บไว้ ชะลอความเร็วของน้ำตามธรรมชาติและทำให้ดินดูดซับน้ำได้ทัน
หญ้าแฝกสามารถนำมาใช้ในการปกป้องและอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ เช่น ปลูกตามแนวคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำและหนองบึง รวมทั้งไหล่ถนนและบริเวณใกล้สะพาน รากที่สานกันแน่นเหมือนตาข่ายจะพยุงดินไว้ กลายเป็น ‘กำแพงใต้ดินที่มีชีวิต’ ช่วยชะลอแรงน้ำ ทำให้น้ำซึมลงในดินได้มากขึ้น ช่วยป้องกันหน้าดินถูกกัดเซาะพังทลาย ในส่วนของบริเวณเชิงเขาแนวรั้วหญ้าแฝกยังช่วยหยุดยั้งการพังทลายของดินด้วยเช่นกัน
คุณสมบัติในการปรับตัวของหญ้าแฝก
การวิจัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทำให้พบว่าหญ้าแฝกขึ้นตามธรรมชาติได้เกือบทั่วทุกแห่งของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ราบสูงหรือพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งทุกสภาพดินและพื้นที่น้ำท่วมขัง เช่น แอ่งน้ำ ทางน้ำตามธรรมชาติ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ผู้เชี่ยวชาญยังค้นพบว่าหญ้าแฝกบางพันธุ์ปลูกได้แทบทุกแห่งแม้ในสภาพแวดล้อมที่วิกฤตไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่น หญ้าแฝกในประเทศไทยปลูกได้จนถึงความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังมีการสำรวจการฟื้นสภาพของพื้นที่ดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพดินอีกด้วย
ปราการธรรมชาติ
หญ้าแฝก Vetiveria zizanioides (L.) Nash เดิมเป็นเพียงวัชพืชในสายตาชาวไร่ชาวนาและไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไป จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อการทำกสิกรรมรวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำเนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษตามธรรมชาติคือมีรากที่ยาวกว่าหญ้าชนิดอื่นและหยั่งยึดดินได้ดี จึงมีพระราชดำริให้ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในปัจจุบัน ประโยชน์ของหญ้าแฝกเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทำให้ได้รับสมญาว่า ‘พืชมหัศจรรย์’
หญ้าแฝกเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้า พบกระจายอยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดเดิมที่เป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย นายจอร์จ วาเลนไทน์ แนช นักอนุกรมวิธานประจำสวนพฤกษศาสตร์แห่งนครนิวยอร์ก เป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของหญ้าชนิดนี้โดย Vertiver เป็นคำเรียกเดิมที่มาจากภาษาทมิฬ แปลว่า ‘รากหยั่งลึก’ และ zizaniodes แปลว่า ‘ริมฝั่งน้ำ’ ซึ่งบริเวณที่พบหญ้าแฝกขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสภาพดินและการปรับปรุงบำรุงดิน ทรงตระหนักถึงปัญหารุนแรงที่เกิดจากสภาพดินเสื่อมโทรม จึงทรงริเริ่มค้นคว้าหาทางแก้ไขโดยเน้นการนำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติรอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากเกษตรกรทั่วไปไม่อยู่ในฐานะที่จะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาใดก็ตาม โดยเฉพาะหากการแก้ไขปัญหานั้นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาสูงจากต่างประเทศ จึงทรงมุ่งมั่นในการศึกษาเรื่องหญ้าแฝก และในที่สุดทรงค้นพบว่า หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ มีพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ ศึกษาว่าหญ้าแฝกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างไร
จากการศึกษาพบว่า หญ้าแฝกเป็นพืชทนแล้ง โคนก่อเบียดแน่นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 75-150 เซนติเมตร ใบมีลักษณะแคบและยาว ขอบขนาน ปลายสอบแหลม ช่อดอกมีลักษณะเป็นรวง ส่วนใหญ่มีสีม่วง รากมีลักษณะพิเศษคือสานกันแน่น หยั่งลึกลงในดินเป็นแนวดิ่ง
อาจกล่าวได้ว่า หญ้าแฝกคือหนึ่งในทหารหาญของกองกำลังพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ว่าได้ “ใช้ธรรมชาติปกป้องประเทศชาติ!” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันทัด โรจนสุนทร หัวหน้าฝ่ายวิจัยมูลนิธิโครงการหลวง อธิบายถึงแนวพระราชดำริ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เกษตรกรได้รับรู้ถึงคุณค่าของ ‘หญ้าพบตามริมแม่น้ำ’ ว่าสามารถทำหน้าที่เป็นแนวปราการปกป้องดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวรั้วหญ้าแฝก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามงานและพระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องหญ้าแฝกในหลายโอกาส เช่น มีพระราชกระแสกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อพุทธศักราช 2536 ถึงระยะห่างในการปลูกหญ้าแฝกว่าไม่ควรเกิน 15 เซนติเมตร และหากสามารถลดระยะห่างระหว่างกอหญ้าแฝกให้เหลือเพียง 2-3 เซนติเมตรได้ ก็จะทำให้แนวรั้วหญ้าแฝกเบียดแน่นอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าทรงนำผลที่ได้จากการวิจัยมาประมวลเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเกิดผลจริง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นลักษณะแนวรั้วเพื่อชะลอความเร็วของน้ำตามเส้นทางธรรมชาติและปลูกขวางพื้นที่ลาดชันหรือเชิงเขา หญ้าแฝกช่วยเก็บกักน้ำไว้และทำให้ดินดูดซับน้ำได้ทัน ผลคือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นและพืชพันธุ์งอกงามดี
แก้ปัญหาการพังทลายของดิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบมานานแล้วว่า หญ้าแฝกเป็นเครื่องมือที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการและแก้ปัญหาดินพังทลาย ซึ่งหากปล่อยให้หน้าดินถูกน้ำกัดเซาะและพัดพาไป ก็จะทำให้ดินที่เหลืออยู่ขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใย
นอกจากนี้ หากดินยังถูกกัดเซาะต่อไปเรื่อยๆ ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น พื้นที่การทำการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์จะมีไม่เพียงพอ และตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามาสะสมตามแหล่งน้ำยังส่งผลต่อคุณภาพน้ำ ทั้งยังอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและเพิ่มภาวะแร้นแค้นในชนบท
รากหญ้าแฝกที่สานกันแน่นเป็นตาข่ายใต้ดิน มีความเหนียวทนทาน ช่วยอนุรักษ์ดิน หากนำมาปลูกตามพื้นที่ลาดชันก็จะเป็นกำแพงใต้ดิน ช่วยลดการพังทลายของดินได้ถึงร้อยละ 90 ช่วยชะลอความเร็วของน้ำหน้าดินได้ถึงร้อยละ 70 ทำให้ดินอุ้มน้ำได้มากขึ้น ช่วยกรองตะกอนและลดโอกาสน้ำท่วมลงได้ ทั้งหมดนี้เท่ากับเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนได้อย่างมาก
ปกป้องไม้ผล
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันทัด โรจนสุนทร หัวหน้าฝ่ายวิจัย มูลนิธิโครงการหลวงกล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าต้องปลูกพืชอื่นร่วมไปกับหญ้าแฝกเพื่อสร้างรายได้” โดยเฉพาะพื้นที่ภูเขาในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งปลูกหญ้าแฝกในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นอกจากนี้ ตามกระแสพระราชดำรัสที่มีต่อ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เมื่อพุทธศักราช 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงความห่วงใยว่า การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชื้นในดินอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวล้อมไม้ผลและพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ เนื่องจากรากของหญ้าแฝกจะชอนลึกลงใต้ดินและอาจแย่งสารอาหารจากต้นไม้โดยรอบ ทำให้ไม้ผลและไม้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตเต็มที่ เพื่อแก้ปัญหานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ปลูกล้อมเพียงครึ่งเดียว ทางด้านล่างของทางน้ำไหล ด้วยวิธีนี้ หญ้าแฝกจะทำหน้าที่ปกป้องความชื้นในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีต่อมา ยังได้ทรงอธิบายเรื่องนี้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ
แก้ปัญหาดินดาน
นอกจากหญ้าแฝกจะแตกกอใหม่แล้ว รากยังแผ่ชอนไชลงในดิน ทว่า ในพื้นที่การเกษตรบางแห่ง ดินมีลักษณะแข็งเป็นดาน รากพืชทั่วไปไม่สามารถชอนไชลงไปได้ เกษตรกรต้องใช้เครื่องจักรในการเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขปัญหาดินดานได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องจักรราคาแพง ทรงทราบว่ารากหญ้าแฝกยาวและมีพลังชอนไชลงในดินได้ลึกมาก เช่น ที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย รากหญ้าแฝกสามารถชอนไชลึกลงในดินได้ถึง 5.2 เมตร ซึ่งนับเป็นสถิติโลก จึงพระราชทานแนวทางแก้ปัญหาผ่าน ดร.สุเมธ ให้ใช้สว่านเจาะนำลึกลงไปถึงชั้นดินที่แข็งเป็นดาน สว่านที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องไฟฟ้า แต่สามารถใช้สว่านเจาะด้วยมือ จากนั้นจึงใส่ปุ๋ยธรรมชาติลงไป ก่อนปลูกหญ้าแฝก ทรงอธิบายว่า การปลูกหญ้าแฝกวิธีนี้จะช่วยกักเก็บความชื้นไว้ในดินได้ ส่งผลให้ดินอ่อนตัวลงเพราะรากหญ้าแฝกสามารถเจาะทะลุดินดาน ทำให้เพาะปลูกได้
ในพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อพุทธศักราช 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรยายถึงผลอันน่าทึ่งในการนำหญ้าแฝกมาปลูกในพื้นที่ดินดานอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ดินในบริเวณนั้นแข็งราวกับหิน เนื่องจากการกัดเซาะหน้าดินที่เกิดขึ้นติดต่อกันมานานหลายปี แต่หญ้าแฝกสามารถ ‘ระเบิด’ ดินดาน ทำให้เกิดพื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตรได้ในเวลาเพียงหนึ่งหรือสองปี
พืชเศรษฐกิจ
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก ยังมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยลังเลที่จะยอมรับว่าหญ้าแฝกมีคุณค่าเพิ่ม ในสายตาของชาวไร่ชาวนา การปลูกหญ้าแฝกไม่ก่อให้เกิดผลในรูปของรายได้ให้เห็นทันที แต่ความคิดนี้ก็หมดไปเมื่อการวิจัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริพบว่าหญ้าและรากหญ้าแฝกมีประโยชน์อเนกประสงค์ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้
หญ้าแฝกหอมพันธุ์ Vetiveria zizanioides (L.) Nash ซึ่งมีชื่อตามแหล่งพันธุ์ว่า ศรีลังกา กำแพงเพชร 2 สุราษฎร์ธานี และสงขลา 3 มีใบยาว เป็นมัน เมื่อเปียกน้ำจะนุ่มและยืดหยุ่น เหมาะแก่การนำไปผลิตงานหัตถกรรมคุณภาพสูง หากนำใบไปตากแห้งก็จะสามารถใช้ทำเสื่อ หมวก หรือตะกร้า พวงหรีด ดอกไม้ประดิษฐ์ หรือสานเป็นเชือกได้ ส่วนรากยังทำฉากกั้น มู่ลี่ พัด และกระเป๋าถือได้อีกด้วย
เป็นเวลาต่อเนื่องนานหลายปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมงานหัตถกรรมเพื่อเป็นอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกร งานหัตถกรรมจากหญ้าแฝกเริ่มผลิตในช่วงพุทธศักราช 2536-2537 และถึงปัจจุบัน ผู้สนใจก็ยังสามารถเข้ารับการอบรมงานฝีมือจากหญ้าแฝก ผ่านฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคิดค่าอบรมเพียงเล็กน้อย
ควบคุมมลพิษ
นอกจากหญ้าแฝกจะนำไปใช้ในด้านการเกษตร หัตถกรรมแล้วยังมีบทบาทร่วมในการช่วยลดมลภาวะอีกด้วย นักวิจัยที่น้อมนำแนวพระราชดำริไปต่อยอดพบว่าหญ้าแฝกมีคุณสมบัติทนต่อไนเตรตและฟอสเฟตในปริมาณสูง รวมทั้งโลหะหนักและสารเคมีที่ใช้ในการทำกสิกรรม ซึ่งเมื่อมีปริมาณสูงก็มีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการทดลองพบว่าหญ้าแฝกสามารถกรองสารพิษเหล่านี้และช่วยบำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้ ยังมีการนำหญ้าแฝกมาปลูกช่วยฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่แต่เดิมทำเหมืองแร่ด้วยการปรับภูมิทัศน์เพื่อปลูกป่า ตลอดจนช่วยในการป้องกันการพังทลายของบริเวณที่ถมขึ้นใหม่จากขยะและดูดซับสารพิษจากกองขยะทั่วไป
การขยายพันธุ์หญ้าแฝก
การขยายแม่พันธุ์ คือ การนำแม่พันธุ์หญ้าแฝกที่มีลักษณะดีมาทำการขยายเพิ่มปริมาณทั้งการปลูกลงดิน ปลูกลงถุงพลาสติกขนาดใหญ่ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนการขยายพันธุ์กล้าหญ้าแฝก คือการนำหน่อที่ได้จากการขยายแม่พันธุ์มาเพาะชำ เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ได้แก่ กล้าในถุงพลาสติกขนาดเล็ก และกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การขยายแม่พันธุ์หญ้าแฝก
1.1 การขยายพันธุ์ในแปลงขนาดใหญ่ เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีการชลประทานและระบายน้ำดี สามารถปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องยกร่องก็ได้ การเตรียมต้นพันธุ์โดยแยกหน่อจากกอ นำมาตัดใบให้เหลือความยาว 20 เซนติเมตร และตัดรากให้สั้นแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร เป็นระยะเวลา 5-7 วัน รากจะแตกออกมาใหม่นำไปปลูกโดยใช้ระยะปลูกห่างต้น 5 เซนติเมตร และระหว่างแถว ๕๐ เซนติเมตร หลังจากปลูกต้องให้นำอย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1 ช้อนชา เมื่อถึงอายุ 4-6 เดือน ให้ขุดน้ำไปเพาะชำในถุงพลาสติก หรือเตรียมเป็นกล้ารากเปลือยสำหรับใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
1.2 การขยายพันธุ์ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ โดยวางเป็นแถวคู่ติดกันระยะห่างระหว่างแถวคู่ 1 เมตร ยาวตามพื้นที่ใช้วัสดุปลูกที่มีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วนทราย และขี้เถ้าแกลบ หรือขุยมะพร้าว ในสัดส่วน 1:2:1 การติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย หรือมีตาข่ายพรางแสง นำหน่อมาปักชำดูแล จนกระทั่งอายุ 4 เดือน จึงนำไปแยกหน่อเพาะชำต่อไป
2. การขยายกล้าหญ้าแฝกสำหรับใช้ปลูก
2.1 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกในถุง โดยตัดรากให้สั้นและแยกหน่อจากกอตัดใบให้ยาว 10 เซนติเมตร นำมาล้างน้ำ มัดรวมกันวางลงบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตร ในที่ร่มเงา 4 วัน แล้วจึงคัดหน่อที่ออกรากมาปักชำในถุงพลาสติกขนาดเล็ก (2x6 นิ้ว) และใส่วัสดุเพาะชำที่ระบายน้ำดีมีธาตุอาหารสมบูรณ์ ดูแลรดน้ำในสภาพเรือนเพาะชำ เมื่ออายุ 45-60 วัน ให้นำไปปลูกในพื้นที่ขณะที่ดินมีความชื้น
2.2 การเตรียมกล้าหญ้าแฝกแบบรากเปลือย โดยการแยกหน่อจากกอ ตัดใบให้ยาว 20 เซนติเมตร ตัดรากให้สั้น วางบนขุยมะพร้าวที่ชื้น หรือแช่ในน้ำให้ท่วมราก จนกระทั่งรากงอกขึ้นมายาว 1-2 เซนติเมตร นานประมาณ 5-7 วัน จึงนำไปปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และหลังจากปลูกดินควรมีความชื้นติดต่อกันอย่างน้อย 15 วัน
การเตรียมกล้าและดินเพื่อปลูกหญ้าแฝก
1. การกำจัดวัชพืชและเตรียมพื้นที่
2. การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝน พื้นที่ปลูกต้องมีความชุ่มชื้น
3. การเตรียมแนวร่องปลูก โดยการวางแนวร่องปลูกขวางความลาดชัด ตามแนวระดับขนานไปตามสภาพพื้นที่
4. การใส่ปุ๋ยหมักรองกันหลุมในแนวร่องปลูก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน
5. การปลูกกล้าหญ้าแฝกในแปลงปลูก โดยการใช้กล้าเพาะชำถุงขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูก 10 เซนติเมตร หรือกล้ารากเปลือยใช้ระยะปลูก 5 เซนติเมตร
6. ความห่างของแถวหญ้าแฝกแต่ละแถว ขึ้นกับความลาดเทของพื้นที่ และชนิดของพื้นที่ปลูก โดยขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ แต่โดยทั่วไปจะใช้ระยะห่างทางแนวดิ่ง 1.5-3 เมตร
7. กลบดินในร่องปลูกให้ต่ำกว่าระดับผิวดินปกติ เพื่อให้น้ำขัง และซึมลงดินได้ ช่วยให้ดินชุ่มชื้นขึ้น
8. ควรปลูกซ่อมแซมให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่เป็นแนวยาวต่อเนื่อง
การดูแลรักษาหญ้าแฝก
1.การคัดเลือกกล้าที่มีคุณภาพ กล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพโดยทั่วไปเป็นกล้าที่มีอายุ 45 ถึง 60 วัน เมื่อนำกล้าที่แข็งแรงมาปลูกก็จะได้แนวรั้วหญ้าแฝก ที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
2.การเลือกช่วงเวลาปลูก การปลูกหญ้าแฝกในช่วงต้นฤดูฝนจะเหมาะสมที่สุด สภาพของดินที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจะมีความชุ่มชื้นสูงติดต่อกันมากกว่า 15 วันขึ้นไป
3.การตัดใบ ในช่วงต้นฤดูฝนให้ตัดใบหญ้าแฝกให้สั้น สูงจากพื้นผิว 5 เซนติเมตร เพื่อให้เกิดการแตกหน่อใหม่ และกำจัดหน่อแก่ที่แห้งตาย ในช่วงกลางฤดูฝนให้เกี่ยวใบสูง ไม่ต่ำกว่า 45 เซนติเมตร เพื่อให้มีแนวกอที่หนาแน่นในการรับแรงปะทะของน้ำไหลบ่า และในช่วงปลายฤดูฝน เกี่ยวใบให้สั้น 5 เซนติเมตร อีกครั้งเพื่อให้หญ้าแฝกแตกใบเขียว ในฤดูแล้ง
4.การดูแลรักษาตามความเหมาะสม ในต้นฤดูฝนให้ใส่ปุ๋ยหมักตามแถวหญ้าแฝกก็จะเป็นการช่วยให้หญ้าแฝกมีการเจริญเติบโตดีขึ้น และกำจัดวัชพืชข้างแนวจะเป็นการช่วยให้สังเกตแนวหญ้าแฝกได้ชัดเจน ช่วยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และเพื่อป้องกันการไถแนวทิ้งเนื่องจากสังเกตไม่เห็น
5.การปลูกซ่อมและแยกหน่อแก่ออก การปลูกซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนจะทำให้ได้แนวรั้วหญ้าแฝกที่แข็งแรง และควรตัดแยกหน่อแก่ที่ออกดอก หรือแห้งออกไป เพื่อจะให้หน่อใหม่ได้แทรกขึ้นมาได้อย่างเต็มที่
การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรม
สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
1.การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน
ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน
2.การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ
นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอ และแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหล อาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำ ควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
3.การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้
ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลงไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรีย์วัตถุในดินต่อไป
4.การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่
การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูกหญ้าแฝกเป็นแนะระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้น ในช่วงต้นฤดูฝน
5.การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม
ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝก จะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้
6.การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน
ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่น เมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระ ตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อย ๆ ไหลผ่านลงสู่สระ และระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบ ๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย
จากการทรงงานดังกล่าว International Erosion Control Association’ s International Merit Award ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่าง ในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 และ ธนาคารโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรากหญ้าแฝกชุบสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ (Award Of Recognition) ในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2536
ด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายหญ้าแฝก จำนวน 2 เครือข่าย ได้แก่
4.1 เครือข่ายหญ้าแฝกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim Vetiver Network) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกแก่ประเทศสมาชิก ที่อยู่รอบบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก รวม 22 ประเทศ ทั้งในรูปแบบของจดหมายข่าว และเอกสารวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วกว่า 70,000 ฉบับ นอกจากนี้ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Website (http://prvn.rdpb.go.th)
4.2 เครือข่ายหญ้าแฝกประเทศไทย (Thailand Vetiver Network)
สำนักงาน กปร. ได้จัดตั้งเครือข่ายหญ้าแฝกประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิชาการหญ้าแฝกของประเทศไทย สมาชิกเครือข่ายประกอบด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับหญ้าแฝก จำนวนกว่า 50 หน่วยงาน และมีสมาชิกที่เป็นนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานหญ้าแฝกกว่า 300 คน โดยได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในลักษณะของจดหมายข่าว เอกสารวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วกว่า 40,000 ฉบับ นอกจากนี้ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Website (http://thvn.rdpb.go.th) ให้แก่สมาชิกเครือข่ายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปได้ใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
สำหรับแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในระยะต่อไป จะกำหนดสื่อประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เน้นการสร้างเครือข่ายระดับตำบล และระดับจังหวัด โดยจะกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีปัญหาการชะล้างพังทลาย
4.3 การจัดสัมมนาหญ้าแฝกในประเทศ
ในการจัดสัมมนาหญ้าแฝกในระดับประเทศนั้นมีสำนักงาน กปร. เป็นแกนกลางในการประสานขับเคลื่อนดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การควบคุม กำกับ ดูแล ของคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดให้มีการสัมมนาในประเทศเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับมาแล้ว 5 ครั้ง
ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2536
ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2537
ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2542
ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2545
ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2548
4.4 การฝึกอบรมหญ้าแฝกในประเทศ
ได้จัดให้มีการฝึกอบรมวิทยากรเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการดำเนินงาน พร้อมนี้ในแต่ละปี กรมพัฒนาที่ดินได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่หมอดินอาสาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วทั้งสิ้น 70,000 คน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ร่วมจัดการฝึกอบรมให้แก่กลุ่มเป้าหมายทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมทางหลวง กองทัพบก และสถาบันการศึกษาต่างๆ
4.5 การจัดสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ
ได้มีการจัดสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ รวม 4 ครั้ง เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกทั้งในด้านงานศึกษาวิจัย งานส่งเสริม และงานขยายผลการใช้หญ้าแฝกไปสู่ชุมชน โดยมีนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานหญ้าแฝกจากทั่วโลกมาร่วมงานดังกล่าว สรุปการสัมมนาได้ดังนี้
1) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย โดย สำนักงาน กปร. ในหัวข้อ Vetiver : A Miracle Grass ในปี พ.ศ. 2539
2) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดย สำนักงาน กปร. ในหัวข้อ Vetiver and The Environment ในปี พ.ศ. 2543
3) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่เมืองกวางโจว มลฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย Chinese Academy of Sciences ในหัวข้อ Vetiver and Water ในปี พ.ศ. 2546
4) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 4 จัด ณ เมืองคาราคัส สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา โดยมูลนิธิโพลาร์ ในหัวข้อ Vetiver and People ในปี พ.ศ. 2549
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์ของเครือข่ายหญ้าแฝกโลก (The Vetiver Network) เสด็จ ฯ ไปทรงเป็นประธานการสัมมนา ทั้ง 4 ครั้ง
4.6 การฝึกอบรมหญ้าแฝกนานาชาติ
สำนักงาน กปร. ได้รับการร้องขอจากนานาชาติให้ เป็นผู้จัดการอบรมหญ้าแฝกในระดับนานาชาติ 2 ครั้ง คือ
1) โครงการฝึกอบรมหญ้าแฝกนานาชาติ (The International Training Course on the Vetiver System) มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 31 คน จาก 15 ประเทศ ในระหว่างวันที่ 19 - 30 พฤศจิกายน 2543
2) โครงการอบรมการทำหัตถกรรมจากหญ้าแฝกแก่ชาวต่างประเทศ (The International Training Course on Vetiver Handicraft-Making) ในระหว่างวันที่ 17 - 28 ตุลาคม 2548 มีผู้เข้ารับการอบรมจากสาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา จำนวน 3 คน และสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ จำนวน 1 คน
4.7 การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ
สำนักงาน กปร. ได้รับการประสานจากเครือข่ายหญ้าแฝกโลกในการส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังสหภาพพม่า เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาดินถูกชะล้างพังทลาย เมื่อปี พ.ศ. 2542
2) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังสาธารณรัฐมาดากัสการ์ เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคน เมื่อปี พ.ศ. 2543
3) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2549
ด้านการส่งเสริม และขยายผล
ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการผลิตต้นพันธุ์หญ้าแฝกทั้งสิ้นกว่า 2,500 ล้านต้น โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการผลิตกล้าหญ้าแฝกในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากการแยกหน่อเพาะชำ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้วนำไปส่งเสริมและแจกจ่ายพันธุ์ ให้แก่หน่วยงานราชการ เอกชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ได้ดำเนินงานโครงการสาธิตและส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่สถาบันการศึกษาภายใต้การดำเนินงานโครงการหญ้าแฝกโรงเรียนกว่า 3,000 แห่ง ทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในเขตพื้นที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะ เวลาการดำเนินงานตามกรอบแผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ผลิตกล้าเพื่อปลูกและแจกจ่ายให้ผู้ที่สนใจด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินงานส่งเสริมและขยายผลการปลูกหญ้าแฝกในระยะต่อไป จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายสูง พื้นที่วิกฤติต่างๆ และพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติเป็นหลัก เนื่องจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลายของดินรุนแรงและปานกลาง (อัตราสูญเสียดิน 5 - 20 ตัน / ไร่ / ปี) ทั้งสิ้น 10,478,935 ไร่
ด้านการติดตามงาน
ได้มีการตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงของแผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานใน 3 ลักษณะ คือ
1. จากข้อมูลเอกสาร ซึ่งสำนักงาน กปร. เป็นแกนกลางในการประสานรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จัดทำไว้เผยแพร่ทั่วไป ทั้งที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. หรือ ดำเนินงานตามงบปกติของแต่ละหน่วยงาน โดยจะประสานการจัดส่งข้อมูลในแต่ละปีงบประมาณ หรือเมื่อมีผลความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ
2. จากการศึกษา ดูงานภาคสนาม ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1) บุคคลหรือคณะบุคคลที่ไปตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน ประกอบด้วยนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ประธานกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ซึ่งเดินทางไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งของประชาชนและส่วนราชการ อย่างต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ของ สำนักงาน กปร. โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนการปฏิบัติงานกันไปตามเวลาและโอกาสที่เหมาะสม
2) พื้นที่ที่ไปตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน จะดำเนินการคัดเลือกพื้นที่โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจพื้นที่ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับหญ้าแฝกของทุกหน่วยงาน และกระจายทั่วทุกประเภทของกิจกรรม สำหรับหน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จก็จะให้การสนับสนุน และขยายผลการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
3) การตรวจเยี่ยมและการติดตามผลการดำเนินงานแต่ละครั้ง นายอำพลฯ หรือคณะอนุกรรมการด้านวิชาการฯ ได้เดินทางไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ และแปลงเกษตรของเกษตรกร เพื่อฟังเจ้าหน้าที่บรรยายสรุป และรับทราบแนวทางการปฏิบัติงาน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงานศึกษาพื้นที่จริง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้คำปรึกษาและแนะนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับบันทึกภาพการดำเนินงานทั้งที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องได้ผลดีซึ่งควรนำมาเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ และที่ดำเนินงานยังไม่ถูกต้องเพื่อให้ข้อเสนอแนะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป
3. จากการจัดประกวดผลงานการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้จัดการประกวดฯ มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ และเพื่อเชิญชวนให้หน่วยงาน องค์กร สถาบัน บุคคล กลุ่มบุคคล และเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำกันอย่างแพร่หลาย
รายงานสรุปผลการดำเนินงาน
โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
1. ความเป็นมา
ธนาคารโลก (World Bank) ได้ส่งเสริมเรื่องการใช้หญ้าแฝกเป็นพืชเพื่อการป้องกันการชะล้างหน้าดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์มาเป็นเวลาพอสมควร เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการปลูกเป็นแนวรั้วกั้นตามแนวระดับ และได้มีการศึกษา ทดลองใช้อย่างได้ผลดีในประเทศแถบเอเชียหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย ได้มีการศึกษารวบรวมเรื่องการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกในระยะแรกบ้างบางส่วน จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้ หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ซึ่ง นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 สรุปความว่า ให้ศึกษา ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดจนพื้นที่อื่น ๆ โดยให้พิจารณาการปลูกตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ และควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษา ทดลอง ให้ครอบคลุมทุกด้านด้วย
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง สำนักงาน กปร. รวบรวมได้ 30 ครั้ง โดยในระยะแรกหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ องค์การ สวนพฤกษศาสตร์ และสำนักงาน กปร. ปัจจุบันมีหน่วยงานมากกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ
จากการทรงงานดังกล่าว International Erosion Control Association’ s International Merit Award ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่าง ในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 และ ธนาคารโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรากหญ้าแฝกชุบสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ (Award Of Recognition) ในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2536
ผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริ
2.1 ด้านการบริหารจัดการ
2.1.1 องค์กรการดำเนินงาน
เมื่อเริ่มดำเนินงานสนองพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กปร. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2535 โดยมี หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี (พระยศขณะนั้น) เป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ฯ ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงองค์กรการดำเนินงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ระดับนโยบาย จะมีคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริทำหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับ ดูแล และระดับปฏิบัติการจะมีคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและติดตามประเมินผล และคณะอนุกรรมการด้านส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รับผิดชอบการดำเนินงาน
ในการบริหารจัดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ ฯ ได้มีบทบาท ในการกำหนดนโยบาย พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้สามารถสนองพระราชดำริได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ
2.1.2 แผนแม่บท
การพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกได้ดำเนินการภายใต้แผนแม่บทรวม 4 ฉบับ สรุปได้ดังนี้
1) แผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2536 - 2537) เน้นการพัฒนางานหญ้าแฝกในด้านการศึกษา วิจัย ในลักษณะของงานวิจัยพื้นฐาน และงานวิจัยประยุกต์ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านพันธุ์หญ้าแฝกจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบทางคุณลักษณะ
2) แผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540 - 2542) เน้นการศึกษา วิจัย ตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขยายพันธุ์และการปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้สามารถ
3) แผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2545 - 2549) เน้นการส่งเสริม และขยายผลการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และเกษตรกร ซึ่งเป็นการศึกษาดำเนินงานในพื้นที่จริง
4) แผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550 - 2554) ซึ่งใช้ในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องและเหมาะสมแก่การใช้หญ้าแฝกเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพในทิศทางเดียวกัน จึงได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย ดังนี้
4.1) เป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปีละ 890,000 ไร่
4.1.1) พื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายสูง ได้แก่ พื้นที่วิกฤติที่มีความเสี่ยงภัยจากดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงพื้นที่สูง ปีละ 840,000 ไร่
4.1.2) พื้นที่เปิดใหม่ในโครงการก่อสร้าง ที่มีความลาดชัน ได้แก่ พื้นที่ในโครงการชลประทาน โครงการปลูกป่า โครงการก่อสร้างบำรุงรักษาทางหลวง และทางรถไฟ ฯลฯ ปีละ 50,000 ไร่
4.2) เป้าหมายเพื่อการปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปีละ 120,000 ไร่
4.2.1) พื้นที่ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม ปีละ 95,000 ไร่
4.2.2) พื้นที่ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ปีละ 25,000 ไร่
4.3) เป้าหมายเพื่อส่งเสริม สาธิต ฝึกอบรมการใช้ประโยชน์ และ การขยายพันธุ์
กำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบกิจกรรมดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกของหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย พื้นที่รับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดน ทหาร มูลนิธิโครงการหลวง สถานศึกษา พื้นที่สาธารณประโยชน์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงศูนย์สาธิตหรือศูนย์เรียนรู้หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีที่หน่วยงานดำเนินการอยู่แล้ว
2.2 ด้านการศึกษา วิจัย
การศึกษา วิจัยเกี่ยวกับหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินงานมาแล้วรวม 207 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 197 เรื่อง หรือร้อยละ 95 ของการศึกษาทดลองทั้งหมด ครอบคลุมการศึกษา วิจัย รวม 5 ประเภท ดังนี้
2.2.1 การวิจัยและศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
เป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลด้านอนุกรมวิธานหญ้าแฝกโดยได้ศึกษาเกี่ยวกับแหล่งพันธุ์ ลักษณะการเจริญเติบโตและแตกกอ การปลูกในที่แจ้งและร่มเงา เอกลักษณ์ของหญ้าแฝกท้องถิ่น และอื่นๆ โดยระยะแรกได้ดำเนินการรวบรวมพันธุ์หญ้าแฝกจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบทางคุณลักษณะ ขณะนี้ กรมพัฒนาที่ดินสามารถแนะนำได้แล้วว่า ในสภาพพื้นที่แบบไหนจะใช้หญ้าแฝกจากแหล่งพันธุ์ใด และจะปลูกในช่วงระยะเวลาใดที่มีความเหมาะสมมากที่สุด นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำฐานข้อมูลพันธุ์หญ้าแฝกเพื่อการคุ้มครองพันธุ์ โดยมีการศึกษา ตรวจสอบคุณลักษณะพันธุ์หญ้าแฝก และจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์ ซึ่งใช้พันธุ์หญ้าแฝกจำนวน 28 พันธุ์ และพันธุ์หญ้าแฝกพระราชทาน
2.2.2 การศึกษา วิจัยเทคโนโลยีด้านการขยายพันธุ์และการปลูก
เป็นการศึกษาเพื่อให้ได้เทคโนโลยีด้านการขยายพันธุ์หญ้าแฝกในปริมาณมากและรวดเร็ว โดยศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเพาะและขยายพันธุ์หญ้าแฝกในแบบต่างๆ เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเพาะลงถุงพลาสติก การเพาะในแปลง ต่อมาได้พัฒนารูปแบบให้มีการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์ที่มีความคงทนต่อความเค็ม และการพัฒนาศักยภาพการขยายพันธุ์หญ้าแฝกจากเมล็ด นอกจากนี้ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการและระยะของการปลูกหญ้าแฝก ความสามารถในการเก็บกักตะกอนดิน และการเก็บความชื้นในดินที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
2.2.3 การวิจัยด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ
เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการนำหญ้าแฝกไปใช้ในพื้นที่จริง เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยได้ดำเนินงานในพื้นที่การเกษตร และมีความลาดชันเป็นหลัก นอกจากนี้แล้วยังมีการศึกษาการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่อื่น ๆ เช่น พื้นที่สองข้างทางหลวง พื้นที่ดินตัด ดินถม พื้นที่ขอบสระน้ำ และอ่างเก็บน้ำ
2.2.4 การวิจัยด้านการใช้ประโยชน์ คุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และผลทาง ด้านสิ่งแวดล้อม
เป็นการศึกษาการใช้หญ้าแฝกเพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น เป็นพืชอาหารสัตว์ การทำผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก ใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ด การปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยในการดูดซับของเสีย การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันไฟป่า การก่อสร้างยุ้งฉางหญ้าแฝกดินเหนียว และอื่นๆ ทั้งนี้ในส่วนของการศึกษาการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยในการดูดซับของเสีย และเพื่อป้องกันไฟป่านั้น อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง
2.2.5 การวิจัยระดับสูงและการศึกษาเฉพาะเรื่อง
เป็นการศึกษาการดูดซับโลหะหนัก การดูดซับมลสารพิษ และบำบัด น้ำเสียในแหล่งชุมชน การลดภาวะปนเปื้อนจากฟาร์มปศุสัตว์ การศึกษาการตรึงไนโตรเจน และการศึกษาประสิทธิภาพในการตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของหญ้าแฝก
|
|
|
สำหรับแนวทางการดำเนินงานศึกษาวิจัยในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นการลดความซับซ้อนของงานวิจัย การนำผลงานวิจัยไปใช้ในทางปฏิบัติให้มากขึ้น และกำหนดหัวข้อการวิจัย และจุดมุ่งหมายในการศึกษา ทดลองให้สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริม เช่น ศึกษา วิจัย และพัฒนา ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่มีปัญหา หรือพื้นที่จริง
2.3 ด้านการส่งเสริม และขยายผล
ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการผลิตต้นพันธุ์หญ้าแฝกทั้งสิ้นกว่า 2,500 ล้านต้น โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการผลิตกล้าหญ้าแฝกในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากการแยกหน่อเพาะชำ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้วนำไปส่งเสริมและแจกจ่ายพันธุ์ ให้แก่หน่วยงานราชการ เอกชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ได้ดำเนินงานโครงการสาธิตและส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่สถาบันการศึกษาภายใต้การดำเนินงานโครงการหญ้าแฝกโรงเรียนกว่า 3,000 แห่ง ทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในเขตพื้นที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะ เวลาการดำเนินงานตามกรอบแผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ผลิตกล้าเพื่อปลูกและแจกจ่ายให้ผู้ที่สนใจด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินงานส่งเสริมและขยายผลการปลูกหญ้าแฝกในระยะต่อไป จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายสูง พื้นที่วิกฤติต่าง ๆ และพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติเป็นหลัก เนื่องจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบัน มีพื้นที่ที่มีการชะล้างพังทลายของดินรุนแรงและปานกลาง (อัตราสูญเสียดิน 5 - 20 ตัน / ไร่ / ปี) ทั้งสิ้น 10,478,935 ไร่
2.4 ด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายหญ้าแฝก จำนวน 2 เครือข่าย ได้แก่
2.4.1 เครือข่ายหญ้าแฝกบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim Vetiver Network) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกแก่ประเทศสมาชิก ที่อยู่รอบบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก รวม 22 ประเทศ ทั้งในรูปแบบของจดหมายข่าว และเอกสารวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วกว่า 70,000 ฉบับ นอกจากนี้ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Website (http://prvn.rdpb.go.th)
2.4.2 เครือข่ายหญ้าแฝกประเทศไทย (Thailand Vetiver Network)
สำนักงาน กปร. ได้จัดตั้งเครือข่ายหญ้าแฝกประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิชาการหญ้าแฝกของประเทศไทย สมาชิกเครือข่ายประกอบด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับหญ้าแฝก จำนวนกว่า 50 หน่วยงาน และมีสมาชิกที่เป็นนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานหญ้าแฝกกว่า 300 คน โดยได้ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในลักษณะของจดหมายข่าว เอกสารวิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วกว่า 40,000 ฉบับ นอกจากนี้ได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านทาง Website (http://thvn.rdpb.go.th) ให้แก่สมาชิกเครือข่ายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปได้ใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
สำหรับแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในระยะต่อไป จะกำหนด สื่อประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย เน้นการสร้างเครือข่ายระดับตำบล และระดับจังหวัด โดยจะกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีปัญหาการชะล้างพังทลาย
2.5 ด้านการประชุมอบรมสัมมนา
2.5.1 การจัดสัมมนาหญ้าแฝกในประเทศ
ในการจัดสัมมนาหญ้าแฝกในระดับประเทศนั้นมีสำนักงาน กปร. เป็นแกนกลางในการประสานขับเคลื่อนดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การควบคุม กำกับ ดูแล ของคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดให้มีการสัมมนาในประเทศเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับมาแล้ว 5 ครั้ง
ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2536
ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2537
ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2542
ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2545
ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2548
2.5.2 การฝึกอบรมหญ้าแฝกในประเทศ
ได้จัดให้มีการฝึกอบรมวิทยากรเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการดำเนินงาน พร้อมนี้ในแต่ละปี กรมพัฒนาที่ดินได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่หมอดินอาสาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้ผ่าน การฝึกอบรมมาแล้วทั้งสิ้น 70,000 คน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ร่วมจัดการฝึกอบรมให้แก่กลุ่มเป้าหมายทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมทางหลวง กองทัพบก และสถาบันการศึกษาต่างๆ
2.5.3 การจัดสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ
ได้มีการจัดสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ รวม 4 ครั้ง เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหญ้าแฝกทั้งในด้านงานศึกษาวิจัย งานส่งเสริม และงานขยายผลการใช้หญ้าแฝกไปสู่ชุมชน โดยมีนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานหญ้าแฝกจากทั่วโลกมาร่วมงานดังกล่าว สรุปการสัมมนาได้ดังนี้
1) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย โดย สำนักงาน กปร. ในหัวข้อ Vetiver : A Miracle Grass ในปี พ.ศ. 2539
2) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดย สำนักงาน กปร. ในหัวข้อ Vetiver and The Environment ในปี พ.ศ. 2543
3) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่เมืองกวางโจว มลฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย Chinese Academy of Sciences ในหัวข้อ Vetiver and Water ในปี พ.ศ. 2546
4) การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งที่ 4 จัด ณ เมืองคาราคัส สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา โดยมูลนิธิโพลาร์ ในหัวข้อ Vetiver and People ในปี พ.ศ. 2549
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์ของเครือข่ายหญ้าแฝกโลก (The Vetiver Network) เสด็จ ฯ ไปทรงเป็นประธานการสัมมนา ทั้ง 4 ครั้ง
2.5.4 การฝึกอบรมหญ้าแฝกนานาชาติ
สำนักงาน กปร. ได้รับการร้องขอจากนานาชาติให้ เป็นผู้จัดการอบรมหญ้าแฝกในระดับนานาชาติ 2 ครั้ง คือ
1) โครงการฝึกอบรมหญ้าแฝกนานาชาติ (The International Training Course on the Vetiver System) มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 31 คน จาก 15 ประเทศ ในระหว่างวันที่ 19 - 30 พฤศจิกายน 2543
2) โครงการอบรมการทำหัตถกรรมจากหญ้าแฝกแก่ชาวต่างประเทศ (The International Training Course on Vetiver Handicraft-Making) ในระหว่างวันที่ 17 - 28 ตุลาคม 2548 มีผู้เข้ารับการอบรมจากสาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา จำนวน 3 คน และสาธารณรัฐเอลซัลวาดอร์ จำนวน 1 คน
2.5.5 การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ
สำนักงาน กปร. ได้รับการประสานจากเครือข่ายหญ้าแฝกโลกในการส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังสหภาพพม่า เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาดินถูกชะล้างพังทลาย เมื่อปี พ.ศ. 2542
2) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังสาธารณรัฐมาดากัสการ์ เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคน เมื่อปี พ.ศ. 2543
3) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2549
2.6 ด้านการติดตามงาน
ได้มีการตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงของแผนแม่บท ฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550 - 2554) ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานใน 3 ลักษณะ คือ
2.6.1 จากข้อมูลเอกสาร ซึ่งสำนักงาน กปร. เป็นแกนกลางในการประสานรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จัดทำไว้เผยแพร่ทั่วไป ทั้งที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. หรือ ดำเนินงานตามงบปกติของแต่ละหน่วยงาน โดยจะประสานการจัดส่งข้อมูลในแต่ละปีงบประมาณ หรือเมื่อมีผลความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ
2.6.2 จากการศึกษา ดูงานภาคสนาม ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1) บุคคลหรือคณะบุคคลที่ไปตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน ประกอบด้วยนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ประธานกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้ หญ้าแฝกฯ ซึ่งเดินทางไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งของประชาชนและส่วนราชการ อย่างต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่ของ สำนักงาน กปร. โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียน การปฏิบัติงานกันไปตามเวลาและโอกาสที่เหมาะสม
2) พื้นที่ที่ไปตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงาน จะดำเนินการคัดเลือกพื้นที่โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจพื้นที่ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับหญ้าแฝกของทุกหน่วยงาน และกระจายทั่วทุกประเภทของกิจกรรม สำหรับหน่วยงานที่ประสบผลสำเร็จก็จะให้การสนับสนุน และขยายผลการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
3) การตรวจเยี่ยมและการติดตามผลการดำเนินงานแต่ละครั้ง นายอำพล ฯ หรือคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ฯ ได้เดินทางไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ และแปลงเกษตรของเกษตรกร เพื่อฟังเจ้าหน้าที่บรรยายสรุป และรับทราบแนวทางการปฏิบัติงาน ตลอดจนปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงาน ศึกษาพื้นที่จริง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้คำปรึกษา และแนะนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับบันทึกภาพการดำเนินงานทั้งที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องได้ผลดีซึ่งควรนำมาเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ และที่ดำเนินงานยังไม่ถูกต้องเพื่อให้ข้อเสนอแนะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป
2.6.3 จากการจัดประกวดผลงานการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยได้จัดการประกวดฯ มาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ และเพื่อเชิญชวนให้หน่วยงาน องค์กร สถาบัน บุคคล กลุ่มบุคคล และเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำกันอย่างแพร่หลาย
3. แนวทางการดำเนินงานต่อไป
การดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การปลูก และใช้หญ้าแฝกระยะต่อไปจะมุ่งเน้นการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1) ด้านการศึกษา วิจัย จะให้ความสำคัญกับงานศึกษา วิจัย และพัฒนา ควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่มีปัญหา หรือพื้นที่จริง โดยเฉพาะการศึกษา วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม ตลอดจนการขยายผลการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับการดำเนินงานหญ้าแฝกที่สัมฤทธิ์ผลไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้
จะมีการศึกษา วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพของการขยายพันธุ์หญ้าแฝกด้วยวิธี
การเพาะเมล็ด
2) ด้านการจัดการองค์ความรู้ จะให้ความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบสื่อสำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ และกำหนดหลักสูตรฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีหญ้าแฝกให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละระดับ
3) ด้านการส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ จะให้ความสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริม ขยายผล และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์หญ้าแฝกในเชิงรุก แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายสูง พื้นที่วิกฤต และพื้นที่เสื่อมโทรม ซึ่งวางแผนดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานอย่างเป็นระบบ