สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (ฝายต้นน้ำลำธาร)

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (ฝายต้นน้ำลำธาร)

 

๒๕ กันยายน ๒๕๑๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

          “...อาจมีบางคนเข้าใจว่าทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทานหรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่งซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม่อย่างนั้น เม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหายดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้เรื่องการอนุรักษ์และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอดตั้งแต่ดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อนมีตะกอนลงมาที่แม่น้ำทำให้น้ำท่วม นี่นะเรียนมาตั้งแต่ ๑๐ ขวบ...”

๑ มีนาคม ๒๕๒๑

          พระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

          “...ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วยจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้นแม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก...”

๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

          “...การฟื้นฟูและอนุรักษ์บริเวณต้นน้ำ ซึ่งมีสภาพแห้งแล้งโดยเร่งด่วน โดยทดลองใช้วิธีใหม่ เช่น การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำในระดับบนลงไปตามแนวร่องน้ำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ แผ่ขยายออกไป สำหรับน้ำส่วนที่เหลือก็จะไหลลงอ่างเก็บน้ำในระดับต่ำลงไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านงานเกษตรกรรม ควรปลูกป่าทดแทนตามแนวร่องน้ำ ซึ่งมีความชุ่มชื้นมากกว่าบริเวณสันเขาจึงจะทำให้เห็นผลเร็ว เป็นการประหยัดกล้าไม้ และปลอดภัยจากไฟป่า เมื่อร่องน้ำ มีความชุ่มชื้นขึ้น ลำดับต่อไปก็ควรสร้างฝายต้นน้ำเป็นระยะ ๆ เพื่อค่อย ๆ กักน้ำไว้แล้วต่อท่อไม้ไผ่ส่งออกทั้งสองฝั่งร่องน้ำอันเป็นการช่วยแผ่ขยายแนวความชุ่มชื้นออกไปตลอดแนวร่องน้ำ...”

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร

          “...ควรดำเนินการพัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทานแบบง่าย ๆ เช่น การต่อท่อน้ำด้วยไม้ไผ่ เพื่อนำน้ำไปสนับสนุนการปลูกป่า การปลูกป่าในบริเวณที่มีฝายกั้นน้ำและการปลูกป่าโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่มีฝายกั้นน้ำอยู่ และแสดงให้คนมาดูงานเห็นวิธีการต่าง ๆ ด้วยในบริเวณที่ว่างเปล่าและสามารถเข้าไปถึงก็ให้พยายามกระจายน้ำออกไปทั่วบริเวณ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดิน ในบริเวณนั้น อันจะช่วยพัฒนาป่าไม้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อก่อสร้างฝายเล็ก ๆ แล้วก็ให้สามารถปกปิดในบริเวณนั้นได้ทั่วถึง และพยายามส่งเสริมให้มีการสร้างแนวกันไฟด้วย...”

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

          “...การก่อสร้างฝายเก็บกักน้ำลำธาร มีประโยชน์ในด้านช่วยให้พื้นที่ใกล้ร่องน้ำมีความชุ่มชื้น ทำให้ป่าไม้นั้นเจริญเติบโตดี จึงเห็นควรให้พิจารณาสร้างเพิ่มเติมขึ้นตามความเหมาะสมทั้งในบริเวณพื้นที่ทั่วไป ส่วนระบบแจกจ่ายน้ำจากท่อส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ ๑ ให้เป็นพื้นที่ปลูกป่าทั่วไป ให้พิจารณาขยายขอบเขตต่อไปตามความเหมาะสม...”

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

          “...งานด้านป่าไม้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับปรุงสภาพป่าไม้ ทั้งบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ และบริเวณดอยรอบ ๆ นี้ให้สมบูรณ์ขึ้นเพราะนอกจากจะทำให้ป่าสมบูรณ์แล้ว ยังจะช่วยทำให้น้ำบนบริเวณนี้มีความสมบูรณ์ขึ้นด้วยวิธีการปรับปรุงสภาพป่านั้นขอให้อาศัยวิธีการที่ได้ดำเนินการแล้วที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพราะถือเสมือนว่าที่ห้วยลานนี้เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ โดยการทำเป็นฝายหินทิ้งขนาดเล็ก หรือ Check Dam บริเวณร่องน้ำสาขาของห้วยลานเพื่อกักเก็บและชะลอความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ แต่ถ้าเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ จะต้องทำฝายกักเก็บให้แข็งแรงขึ้น...

          ...สำหรับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ในพื้นที่สูงตามสันดอยต่าง ๆ นั้น อาจจะใช้วิธีการติดตั้งปั้ม Turbine ที่อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ห้วยป่าไร่ และดอยโตน เพื่อส่งขึ้นที่สูงบริเวณยอดดอยม่อนผักชี ดอยยาว และดอยโตน ไปเก็บไว้บนแท็งค์และต่อท่อเล็ก ๆ เจาะรูปล่อยน้ำให้ไหลลงมาจากแนวสันเขา เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ป่าไม้ วิธีการนี้จะทำให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ได้ภายใน ๒ - ๓ ปี และจะเป็นป่าไม้ตัวอย่างที่อุดมสมบูรณ์และช่วยให้บริเวณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากขึ้นโดยขอให้มีการบันทึกข้อมูลระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ด้วย สำหรับพันธุ์ไม้ที่จะใช้ในการปลูกป่านั้นขอให้ใช้พันธุ์ไม้ดั้งเดิมที่ไม่ผลัดใบเป็นหลักไว้...

          ...นอกจากนี้บริเวณที่เปิดที่สองข้างทาง ขอพิจารณาปลูกพันธุ์ไม้ยึดพื้นดินหรือจะใช้หญ้าแฝกก็ได้ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินลงไปในอ่างน้ำ และพิจารณาค่อย ๆ จัดสร้างฝายกักเก็บตะกอน ดังเช่นที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการแล้วที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึงตะกอนเหล่านี้เมื่อมีจำนวนมากขึ้นอาจจัดทำเป็นร่องดินขวางทางเดินของน้ำให้แตกกระจายไปทั่ว ๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการชะล้างและการแตกตะกอนได้...”

๑๑ มีนาคม ๒๕๓๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ ดอยอ่างข่าง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

          “...ควรสร้างฝายลำธารตามร่องน้ำเพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำและเก็บกักน้ำสำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ...”

          ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

          “...ท่านทราบหรือไม่ว่า ผิวดินในป่านั้น มีซากใบไม้ กิ่งไม้ทับถมกันเป็นชั้นหน้าดินถึงครึ่งเมตรมีความสามารถอุ้มน้ำได้มากกว่าผิวดินธรรมดา ๕ – ๗ เท่า ถ้าฝนตกหนักไม่เกิน ๒๘๐ มิลลิเมตรดินในป่าจะดูดซับน้ำไว้ได้หมด ถ้าฝนตกลงบนผิวดินธรรมดาเพียง ๖๐ – ๘๐ มิลลิเมตรเท่านั้น น้ำก็จะไหลบ่าแล้วซึ่งเป็น เหตุให้เกิดอุทกภัยครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างที่พวกเราก็เคยทราบกันดีแล้ว...” และอีกตอนหนึ่งว่า

          “...ถ้าเราให้สภาพธรรมชาติกลับคืนมาเหมือนเดิม มีแม่น้ำ ลำธาร มีน้ำจืด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์และการพัฒนาประเทศชาติ พวกเราก็จะต้องเข้าใจและช่วยกันรักษาป่า...”

๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๓

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เกี่ยวกับฝายชะลอความชุ่มชื้น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี

          “...การฟื้นฟูสภาพป่าไม้บนภูเขาก็ให้ดำเนินการแบบเขาเสวยกะปิโดยการสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ กังหันน้ำขึ้นไปเก็บไว้ที่ฝายเก็บกักน้ำซึ่งได้สร้างปิดกั้นร่องน้ำตามช่องเขาต่าง ๆ เป็นชั้น ๆ ตามความเหมาะสม พร้อมกับต่อท่อกระจายน้ำไปตามลาดเขา เป็นการทดลองสร้างภูเขาป่าในระดับสูงด้วยระบบน้ำชลประทานที่บริเวณเขาเสวยกะปิแห่งนี้ ให้มีสภาพสมบูรณ์ และดำเนินการปลูกป่าประเภทไม้โตเร็วคนกินได้สัตว์กินได้ ไม้สวยงาม ตลอดจนไม้ทำฟืนตามบริเวณลาดเขาต่าง ๆ เมื่อสามารถปลูกป่าไม้ได้เจริญเติบโตได้ผลดีแล้ว ก็ให้นำรูปแบบเดียวกันนี้ไปขยายผลการดำเนินงานไปยังภูเขาลูกอื่น ๆ ก็จะช่วยให้พื้นที่มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และมีความชุ่มชื้น ตลอดไปด้วย...”

๒๒ มีนาคม ๒๕๓๔

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ โครงการพัฒนาห้วยลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

          “...Check Dam มี ๒ อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้น รักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันไม่ให้ทรายลงไปในอ่างใหญ่ สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายลงไปอ่างใหญ่ความจริงจะต้องทำให้ดีและลึก เพราะทรายลงมาจะกักเก็บไว้ ถ้าทำตื้นทรายก็จะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำไว้ไม่ให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมา แล้วไล่ทรายออกไป และสำหรับ Check Dam ตัวที่ ๖ นี้มิได้ดักทรายเท่าไร และที่นี้จะไม่มีทรายเพราะว่าอ่างเก็บน้ำห้วยดอยโตนและอ่างเก็บน้ำห้วยป่าไร่ซึ่งเก็บน้ำไว้สำหรับกิจกรรมของศูนย์ประมงและป่าไม้นั้นจะช่วยดักตะกอนไว้แล้ว Check Dam ตัวที่ ๖ นี้จึงทำหน้าที่สำหรับรักษาความชุมชื้นของป่าและป้องกันตะกอนในพื้นที่ในกรณีที่มีการเกษตรเท่านั้น ส่วน Check Dam ที่ทำหน้าที่ดักตะกอนทรายได้แก่ Check Dam ที่ทำเหนืออ่างเก็บน้ำห้วยดอนโตน และห้วยป่าไร่...”

๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          “...ให้สำรวจตรวจสอบพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะทำ Check Dam ซึ่งหากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมก็ดำเนินการได้เลย...ถ้าฝนแล้งหรือเกิดน้ำท่วมก็พิจารณาหาแหล่งน้ำสัก ๑ จุด ซึ่งจะใช้น้ำมาเติม Check Dam ก็ได้และเนื่องมาจากแม่น้ำกุยบุรีเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยและตื้นเขินในฤดูแล้งควรมีการสร้างฝายหรือเขื่อนเก็บกักน้ำ รวมถึงการขุดลอก หรือหาแนวทางแก้ไขโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและการใช้สอยของราษฎรในบริเวณลุ่มน้ำดังกล่าว...”

๖ ตุลาคม ๒๕๔๖

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ณ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          “...ให้พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ (Check Dam) สระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยในพื้นที่เหนืออ่างเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วม เกิดความชุ่มชื้นและช้างมีน้ำกินด้วย...”

ไม่ปรากฏวันที่

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

          “...ควรสำรวจแหล่งน้ำเพื่อการพิจารณาสร้างฝายขนาดเล็กปิดกั้นร่องน้ำในเขตต้นน้ำลำธาร ทั้งนี้ เพื่อแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปให้กว้างขวางอันจะช่วยฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่สูงให้สมบูรณ์ขึ้น บริเวณดังกล่าวจะได้กลายเป็น “ภูเขาป่า” ในอนาคตซึงหมายความว่า มีต้นไม้นานาชนิดซึ่งปกคลุมดินในอัตราหนาแน่นที่เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศแต่ละแห่ง ต้นไม้เหล่านั้นจะมีผลช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นในธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะไม่แห้งแล้งเกินไป และยังช่วยยึดผิวดินอันมีค่าไม่ให้ถูกน้ำเซาะทลายลงมายังพื้นที่ราบอีกด้วย...”

ไม่ปรากฏวันที่

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

          “...จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหมุนน้ำส่งตามเหมืองไปใช้พื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย...”

          “...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะ ๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอน ดินไว้บางส่วนโดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินที่ทำความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบเพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...”

          “...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายไหลลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึกเพราะทรายลงมากจะเก็บไว้ถ้าฝายตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป...”

          “...ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงใกล้บริเวณ ยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้ พันธุ์ที่แข็งแรงและโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้...”

 

 

อ้างอิง

          ๑. สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

          ๒. สำนักงาน กปร. ๒๕๕๖. ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.

          ๓. สำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. โครงการ ๘๐ พรรษา ๘๐ พันฝาย.

         

                           

                                                                                             กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                              ๓ มีนาคม ๒๕๖๕ 

curve