สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ด้านหลักปฏิบัติงานโครงการพัฒนา

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

ด้านหลักปฏิบัติงานโครงการพัฒนา

๑๒ มิถุนายน ๒๔๙๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...ประเทศบ้านเมืองจะวัฒนาถาวรอยู่ได้ ก็ย่อมอาศัยความสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานท่านทั้งหลายจะออกไปรับราชการก็ดี หรือประกอบกิจการงานส่วนตัวก็ดี ขอให้มั่นอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๓ ประการคือ สุจริตต่อบ้านเมือง สุจริตต่อประชาชน และสุจริตต่อหน้าที่...”

 

๑๘ เมษายน ๒๕๐๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...เศรษฐกิจของประเทศไทยเราขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นท่านต้องระลึกถึงภาระอันสำคัญยิ่งนี้อยู่เสมอ และช่วยกันฟื้นฟูเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปโดยรวดเร็ว...”

 

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลย์ในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...”

 

๑๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัด ระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้วจึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป...”

 

๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๗

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้า ฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ณ ศาลาดุสิดาลัย สรุปดังนี้

          “...ความสามัคคีนั้นอาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกันความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความแย้งกัน ความคิดต่างกันซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเราถ้าเราใช้หลักวิชาการและความปรองดองด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่าง ๆ ย่อมเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้นคือแต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุขมีความปึกแผ่น...”

 

๔ ธันวาคม ๒๕๑๗

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคม องค์การเกี่ยวกับศาสนา ครู นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ นักศึกษามหาวิทยาลัย ในโอกาสเฝ้าทูล ละอองธุรีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สรุปดังนี้

          “...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่แต่เราพออยู่พอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกินมีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ปณิธาน จุดมุ่งหมายในแง้นี้ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่ พออยู่พอกินไม่ใช่รุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่าการพออยู่พอกินมีความสงบนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้ารักษาความพออยู่พอกินนั้นได้ เราจะยอดยิ่งยวด...”

 

๑๕ มกราคม ๒๕๑๙

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          “...สร้างแต่ความดี คือ สร้างในสิ่งที่จะนำความมั่นคงแก่ประเทศชาติจึงจะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคงได้ อันเป็นความประสงค์ของทุกคนเพราะว่าประเทศชาติเป็นของทุกคน ถ้าไม่มีประเทศชาติ แต่ละคนก็จะต้องเร่ร่อน ไปที่ไหนที่ไหน และไม่มีความสุข ฉะนั้นผู้ที่มีโอกาสที่จะปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมาอย่างบริสุทธิ์ใจ อย่างสุจริตก็ต้องกัดฟันทำงานนี้ เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกกันทุกคน...”

          “...สามัคคีนี้ก็คือการเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทำลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม...”

 

๑๖ เมษายน ๒๕๑๙

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านจังหวัดสระบุรี ณ วัดหนองเขื่อนช้าง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี สรุปดังนี้

          “...คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่เป็นคณะและถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคีคือเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดสมควร สิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญ ความมั่นคง ความสุขก็ทำ สิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น และช่วยกันปฏิบัติทั้งหน้าที่ทางกาย ทั้งหน้าที่ทางใจ...”

 

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...โครงการพัฒนาต่าง ๆ ตั้งขึ้นเพื่อปรับปรุงดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ทรัพยากรตามธรรมชาติให้เกิดผลเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนส่วนรวมให้ได้มากที่สุด ในทางปฏิบัตินั้น นอกจากจะได้ผลส่วนใหญ่หรือส่วนรวม ตามจุดประสงค์แล้วบางทีก็อาจทำให้มีการเสียหายในบางส่วนได้บ้าง เพื่อที่จะให้โครงการมีผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย จำเป็นต้องพิจารณาจัดตั้งโดยรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน ให้ทราบว่าผลที่เกิดจากโครงการนั้นจะมีขอบเขตต่อเนื่องไปเพียงใด และมีผลดีผลเสียประการใด ที่จุดใดบ้าง จักได้สามารถวางแผนให้สอดคล้องต้องกันทุกส่วนทุกขั้น เพื่อแก้ไขส่วนที่จะเสียหายให้กลับเป็นดี ให้โครงการได้ประโยชน์มากที่สุด...”

 

๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้ ณ มัสยิดกลาง จังหวัดปัตตานี สรุปดังนี้

          “...ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบ และการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสำคัญผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะต้องมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสำหรับใช้กระทำการงาน สิ่งหลังเป็นปัจจัยสำหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบ คือให้ถูกต้องและเป็นธรรม...”

 

๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๑

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๒ สรุปดังนี้

          “...ที่บ้านเมืองของเรามีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดทั้งในวิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและของประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้เราต้องประคับประคองตัวมากเข้าเพื่อให้อยู่รอดและก้าวต่อไปได้โดยสวัสดี ตามแนวทางที่เป็นมาแล้วน่าจะเชื่อได้ว่าเราจะต้องประคองตัวกันต่ออีกนาน ดังนั้น ทุกคนจึงควรจะรับรู้ความจริง ทั้งนี้ แล้วเอาใจใส่ปฏิบัติงานปฏิบัติตัวให้เป็นระเบียบและขะมักเขม้นยิ่งขึ้นพร้อมกับระมัดระวังการดำเนินชีวิตให้เป็นไปโดยประหยัด จักได้ไม่เกิดความติดขัดเดือดร้อนขึ้น เพราะความประมาทและความรู้ไม่เท่าทันสถานการณ์ สำคัญที่สุดขอให้คิดพิจารณาให้เข้าใจว่า สภาวะที่บีบรัดความเป็นอยู่ของเราที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลกระเทือนมาจากความวิปริตของวิถีความเปลี่ยนแปรทางเศรษฐกิจ การเมืองและทางอื่น ๆ ของโลก เราจึงไม่สามารถที่จะหลีกพ้นได้ หากแต่จะต้องเผชิญปัญหาอย่างผู้มีสติ มีปัญญา มีความเข้มแข็งและกล้าหาญเพื่อเราจักได้รวมกันอยู่อย่างมั่นคงไพบูลย์...”

 

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีควมสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้นจึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...”

 

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญขึ้นนั้น จะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดี หรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้นยากนักที่จะทำได้จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่านอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้วยังจะต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคงไม่บกพร่องพร้อม ๆ กันไปด้วย...”

 

๕ เมษายน ๒๕๒๕

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ท้องสนามหลวง สรุปดังนี้

          “...คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือการรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง คือการรู้จักข่มใจตนเองฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม คือการอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่วความทุจริตและรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็นและมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์...”

 

๒๖ มีนาคม ๒๕๒๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน วันอาทิตย์ ที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๗ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          “...คนทำงานก็คือคนมีระเบียบ ได้แก่ระเบียบในการคิดและในการทำ ผู้ไม่ฝึกระเบียบไว้ถึงจะมีวิชา มีเรี่ยวแรง มีความกระตือรือร้นอยู่เพียงไร ก็มักทำงานให้สำเร็จดีไม่ได้ เพราะความคิดอ่านสับสนว้าวุ่น ทำอะไรก็ไม่ถูกลำดับขั้นตอนมีแต่ความลังเลและขัดแย้ง ทั้งในความคิดทั้งในการปฏิบัติงานข้าราชการจึงจำเป็นต้องฝึกระเบียบในตนเองขึ้น ระเบียบนั้นจักได้ช่วยประคับประคองส่งเสริมให้ทำตนทำงานได้ดีขึ้น และประสบความเจริญมั่นคงในราชการ...”

 

๒ ธันวาคม ๒๕๒๗

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะลูกเสือชาวบ้านที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเสด็จ ฯ กลับจากแปรพระราชฐานจากจังหวัดสกลนคร ณ สนามบินดอนเมือง สรุปดังนี้

          “...คนเราที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีทางที่จะหาทรัพย์มาป้อนความฟุ้งเฟ้อได้ความฟุ้งเฟ้อนี้เป็นปากหรือเป็นสัตว์ที่หิวไม่หยุด ความฟุ้งเฟ้อนี้อ้าปากตลอดเวลา จะป้อนไปเท่าไร ๆ ก็ไม่พอ เมื่อป้อนเท่าไร ๆ ไม่พอแล้ว ก็หาเท่าไร ๆ ก็ไม่พอ ความไม่พอนี้ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้ได้ ฉะนั้นถ้าจะต่อต้านความเดือดร้อน ไม่ใช่ว่าจะต้องประหยัดมัธยัสถ์จะต้องป้องกันความฟุ้งเฟ้อและป้องกันวิธีการที่มักจะใช้เพื่อที่จะมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้ คือความทุจริต ฉะนั้นการที่จะณรงค์ที่จะต่อสู้เพื่อให้คนมัธยัสถ์และประหยัดนั้นก็อยู่ที่ตัวเอง ไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น เมื่ออยู่ที่ตนเอง ไม่อยู่ที่คนอื่น การณรงค์โดยมากมักจะออกไปข้างนอก จะไปชักชวนคนโน้นชักชวนคนนี้ให้ทำโน่นทำนี่ ที่จริงตัวเองต้องทำเอง ถ้าจะใช้คำว่าณรงค์ก็ต้องณรงค์กับตัวเอง ต้องฝึกตัวให้รู้จักความพอดีพอเหมาะ ถ้าไม่พอดีไม่พอเหมาะมันจะเกิดทุจริตในใจได้...”

 

๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม กรรมการสหกรณ์การเกษตรสหกรณ์นิคม และสหกรณ์การประมงทั่วราชอาณาจักร ณ ศาลาดุสิดาลัย สรุปดังนี้

          “...เศรษฐกิจนี้ก็เป็นวิชาการเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ อันนี้ไม่ได้คิดถึงว่าการที่จะต้องใช้รถไถต้องซื้อเราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมันสำหรับรถไถ แล้วก็ต้องมีเครื่องอาหลั่ยการซ่อมแซม ต้องใช้ทั้งนั้น ต้องเสียเงินทั้งนั้น เวลารถไถเก่าเรายิ่งต้องซ่อมแซมแต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหารเสร็จแล้วมันคายอะไร มันคายควัน ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัวควันของรถไถนี้ถ้าสังเกตดูสูดมาก ๆ ก็ปวดหัวเพราะว่าเป็นพิษ ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหารต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย แล้วก็ใช้ปุ๋ยได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย...”

 

๕ ธันวาคม ๒๕๒๙

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๙ สรุปดังนี้

          “...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...”

 

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรงและถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกันและขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่าทุกอย่างได้สิ้นเชิง และเมื่อปฏิบัติดำเนินงานสู่เป้าหมายนั้น ผู้มีการศึกษาต้องไม่ละทิ้งหลักวิชา ไม่ละทิ้งความคิดพิจารณาตามเหตุผลและความชอบธรรมถูกต้อง...”

 

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...หลักการสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติงานสำเร็จและเจริญก้าวหน้าได้แท้จริง คือ การไม่ทำตัวทำความคิดให้คับแคบ หากให้มีเมตตาและไมตรี ยินดีประสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ...”

 

๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๓ สรุปดังนี้

          “...การแก้ปัญหานั้น ถ้าไม่ทำให้ถูกเหตุถูกทาง ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังมักจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากและยุ่งยากขึ้น แต่ละฝ่ายจึงควรจะตั้งใจพยายามทำความคิดความเห็นให้กระจ่างและเที่ยงตรง เพื่อจักได้สามารถเข้าใจปัญหาและเข้าใจกันและกันอย่างถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องและแน่ชัดนี้จะช่วยให้เล็งเห็นแนวทางปฏิบัติแก้ไขอันเหมาะสม ซึ่งจะนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกประการหนึ่งอันเป็นข้อสำคัญ ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักในใจเสมอ ว่าประโยชน์ส่วนรวมนั้นเป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือเป็นเป้าหมายหลัก ในการปฏิบัติตนและปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน...”

 

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องรีบแก้ไข อย่าทิ้งไว้ให้พอกพูนลุกลามจนแก้ยาก ขอให้ทุกคนระลึกว่าปัญหาทุกอย่างมีทางที่จะแก้ไขได้ ถ้าแก้คนเดียวไม่ได้ก็ช่วยกันคิดช่วยกันแก้หลาย ๆ คน หลาย ๆ ทาง ด้วยความร่วมมือปรองดองกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จักได้ไม่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง และบั่นทอนทำลายความเจริญและความสำเร็จของการงาน...”

 

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การคิดการปฏิบัติให้ถูกให้ดีนั้น ก็คือการคิดและปฏิบัติให้ถูกต้องตาม หลักการ หลักวิชา หลักเหตุผล และหลักสุจริตธรรม ผู้มุ่งหมายจะสร้างสรรค์ประโยชน์และความเจริญ จึงควรพยายามปฏิบัติฝึกฝนตนเองให้มีความคิดจิตใจที่เที่ยงตรง และมั่นคงเป็นกลาง เป็นอิสระจากอคติ ซึ่งมีหลักฝึกหัดที่สำคัญ ประกอบส่งเสริมกันอยู่สองข้อ ข้อแรก ให้หัดพูดหัดทำหัดคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอเพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทพลาดผิดและอคติต่าง ๆ มิให้เกิดขึ้น ข้อสอง ให้หัดใช้ปัญญาความฉลาดรู้ เป็นเครื่องวิเคราะห์และวินิจฉัยเรื่องราว ปัญหาต่าง ๆ ทุกอย่างที่จะต้องขบคิดแก้ไข เพื่อช่วยให้เห็นเหตุเห็นสาระได้ชัด และวินิจฉัยให้ถูกต้องเที่ยงตรง ว่าข้อเท็จจริง ที่จริง ที่ถูก ที่ผิด ที่เป็นประโยชน์ ที่มิใช่ประโยชน์ อยู่ตรงไหน...”

 

๔ ธันวาคม ๒๕๓๓

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สรุปดังนี้

          “...การทำเกลือนี้ก็คือทำให้ประชาชนมีรายได้ เพราะว่ารายได้ของการต้มเกลือหรือทำนาเกลือนั้นมีรายได้ดีพอสมควร เพราะว่าตลาดในโลกนี้ก็ยังมีมากที่จะใช้เกลือแบบเกลือที่มีอยู่ในภาคอีสาน แต่ว่าถ้าเราสามารถที่จะทำทั้งบ่อเกลือทำทั้งนาเกลือด้วย และทำนาข้าวได้ด้วย โดยวางโครงสร้างโครงการไว้ให้ดี รวมทั้งมีน้ำบริโภคก็จะเป็นการดียิ่ง ถึงได้พยายามหาทางที่จะปฏิบัติ เพื่อที่จะให้มีทั้งบ่อเกลือคือนาเกลือ มีทั้งนาข้าวได้และบริโภคน้ำได้...”

          “...ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแต่ละคนที่ต่างคนต่างมีหน้าที่ทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนหนึ่งคนใดทำหน้าที่เฉพาะในเรื่องนั้นไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกันจะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนก็ต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วก็ช่วยกันทำ...”

 

๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาร พระราชวังดุสิต สรุปดังนี้

          “...ทุก ๆ สิ่งมีชีวิต และประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีชีวิต ระเบียบการอะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าเปลี่ยนกันโดยวิธีพูดกันรู้เรื่อง คือเจรจากันอย่างถูกหลักวิชาที่แท้ ที่สูงกว่าหลักวิชาในตำรา ก็จะหมดปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนไปแล้วก็เปลี่ยนอย่างตายตัวไปเลย เมื่อสถานการณ์ไม่อำนวย ก็เปลี่ยนต่อไปได้โดยต้องไม่ทะเลาะกันอย่างหนัก จนกระทั่งทำให้เสียหาย จนทำให้ประเทศไทยกลับเป็นประเทศที่ล้าหลัง...”

            “...เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก ก็จะมีแต่ถอยหลัง ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลัง และถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบ “คนจน” แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไปทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน ก็จะอยู่ได้ตลอดไป...”

            “...”รู้จักความสามัคคี” ความจริงเขียน “รู้รักความสามัคคี” และก็ควรจะอ่านว่า “รู้รักความสามัคคี” ที่เขียนไว้อย่างนั้นเพราะว่า คนไทยนี้ความจริง “รู้รักสามัคคี” ถึงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ถ้าไม่รู้ “รู้รักสามัคคี อยู่ไม่ได้...”

 

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใด ก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น...”

 

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...งานทุกอย่างมีบุคคล ซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิด เป็นผู้กระทำถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงาน เช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงานผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่องไม่คงที่ ต่อเมื่อ ผู้ปฏิบัติมีศรัทธาเข้าใจซึ่งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถงานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่นและบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย...”

 

๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต สรุปดังนี้

          “...คนหนึ่งมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมีหน้าที่เหมือนกัน แต่ก็ต้องสอดคล้องกัน เพื่อให้งานส่วนรวมนั้นดำเนินไปได้ดี ถ้าอยู่ในหมู่คณะเดียวกัน หรือในคณะทำงานเดียวกัน ก็จะต้องให้สอดคล้องกันเพื่อให้งานที่ทำนั้นมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้...”

           “...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทยนี้เราก้าวหน้าดี การเงิน การอุตสาหกรรม การค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไป เมื่อไม่กี่วันนี้ก็ได้พูดต่อหน้าผู้ที่สนใจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาว่าประเทศไทยค่อนข้างจะแย่ ผ่านในระยะที่เสื่อม ทำให้ความเป็นอยู่ หรือแม้การพัฒนาค่อย ๆ ถอยลง เขา คนที่เป็นนักพัฒนานั้นบอก “ไม่จริง อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจของเรากำลังเฟื่องฟู คนมาลงทุนในประเทศมากแล้วอุตสาหกรรมก็ก้าวหน้า” เลยต้องบอกว่า จริง มีทฤษฎีว่าถ้ามีเงินมาก ๆ มีการกู้มาลงทุนมาก ๆ หมายความว่า เศรษฐกิจก้าวหน้าแล้วประเทศ ก็เจริญ มีหวังเป็นมหาอำนาจ แต่ก็ต้องเตือนเขาว่าจริง ตัวเลขดีแต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนก็จะไม่มีทาง...”

 

๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...ผู้มีปัญญาและความรู้ดี เพราะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมามากกว่าผู้อื่น ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ ที่จะต้องทำตัวทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน การที่จะกระทำให้ได้ผลเป็นประโยน์ ดังนั้นจำเป็นที่แต่ละคนจะต้องรู้ซึ้งถึงประโยชน์ที่แท้เป็นเบื้องต้นก่อน ประโยชน์ที่แท้นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตัว ที่ทุกคนมีสิทธิจะแสวงหาและได้รับแต่ต้องด้วยวิถีทางที่สุจริตและเป็นธรรม กับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอยู่ การทำงานทุกอย่างจะต้องให้ได้ประโยชน์แท้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ประโยชน์นั้นจึงจะสมบูรณ์และมั่นคงถาวร เป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง...”

 

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...ในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่าง ๆ เป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั้งโลกก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตและกิจการงานจึงเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมายมีความสำเร็จสูง ถ้าเป็นตรงกันข้าม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้...”

 

๔ ธันวาคม ๒๕๔๐

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต สรุปดังนี้

          “...ประเทศไทยจะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศเพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ อย่างที่เคยพูดมาหลายปีที่แล้วว่าภูมิประเทศยัง “ให้” คือเหมาะสม แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง...”

          “...ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิตและการขายนี้ ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมากคน ก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้...”

 

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การรู้จักประมาณตน ได้แก่การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถในด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น...”

 

๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต สรุปดังนี้

          “...โครงการต่าง ๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ ต้องมีความสอดคล้องกันดีที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่ ที่ใช้ที่ดินเพียง ๑๕ ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน กิจการนี้ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่จริงแล้วเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน...”

 

๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๔๖ สรุปดังนี้

          “...คุณธรรมข้อหนึ่ง ที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทย ก็คือ การให้ การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใดแก่ผู้ใด โดยสถานที่ใดก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ด้วยสามัคคีธรรม...”

 

๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน วันอาทิตย์ ที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช สรุปดังนี้

          “งานของแผ่นดินนั้น เป็นงานส่วนรวมมีผลที่กว้างขวางเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองและบุคคลทุกคนทุกฝ่าย เมื่อเป็นงานส่วนรวมและมีผลเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ อันเนื่องมาจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ย่อมเกิดมีขึ้นบ้างปรกติธรรมดา ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน ตลอดจนทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงต้องมีใจหนักแน่นและเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างแม้กระทั่งคำวิพากวิจารณ์อย่างมีสติ ใช้ปัญญาและเหตุผลเป็นเครื่องปฏิบัติวินิจฉัย โดยถือว่าความคิดเห็นและคำวิพากวิจารณ์นั้นคือการระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลายจากทุกคนทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติบริหารงานและการแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ให้งานทุกส่วนทุกด้านของแผ่นดินสำเร็จผลเป็นความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติและประชาชน อย่างแท้จริง”

 

 

อ้างอิง

          สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

          มูลนิธิยุวสถิรคุณ. 2560. สืบสานพระราชปณิธาน.

         

 

                                                                                             กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                           ๒๙  ธันวาคม  ๒๕๖๕

curve