สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ด้านโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (หญ้าแฝก)

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

ด้านโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม (หญ้าแฝก)

๒๒ และ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๔

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริ แก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ณ สวนจิตรลดาฯ และ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้

          ให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมกว้างขวาง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

          การดำเนินงานศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งได้ ๒ ลักษณะพื้นที่ ดังนี้

                    - การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขา ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชัน และในร่องน้ำของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยเก็บความชื้นในดินไว้ด้วย

       - ปลูกโดยรอบแปลง

       - ปลูกในแปลงๆ ละ ๑ หรือ ๒ แถว

       - สำหรับแปลงพืชไร่ ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่

ผลการศึกษาทดลอง ควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของลำต้นและราก ความสามารถในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดินและการเก็บความชื้นในดิน และเรื่องพันธุ์หญ้าต่างๆ ด้วย

 

๕ กรกฎาคม ๒๕๓๔

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริแก่ นายปราโมทย์ ไม้กลัดผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมพิเศษ กรมชลประทาน และ พ.ต.อ.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้

          ได้ทรงศึกษาอนุรักษ์หน้าดินโดยวิธีธรรมชาติมานานแล้ว ในแต่ละพื้นที่มักจะเปิดหน้าดินแล้วทำการเกษตร เช่น การยกร่องพรวนดิน ซึ่งยังถือว่าเป็นวิธีการที่ผิดธรรมชาติซึ่งจะเกิดปัญหาในอนาคต จึงทรงแนะนำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำการเกษตรอย่างไม่ทำลายธรรมชาติ เช่น การไม่ไถพรวนเปิดหน้าดิน เปลือยดิน เป็นต้น โดยให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำเป็นตัวอย่าง แล้วหาทางแนะนำให้ราษฎรทำตามต่อไป

          ได้ทรงศึกษาเอกสารของธนาคารโลก เกี่ยวกับการอนุรักษ์หน้าดินด้วยหญ้าแฝก จึงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์หน้าดินโดยปลูกและขยายพันธุ์หญ้าแฝกในพื้นที่รูปแบบต่างๆ เช่น ขอบร่องน้ำ แปลงมะม่วงหิมพานต์ บริเวณที่ลาดชัน หรือตามร่องน้ำธรรมชาติ นำหินไปกั้นเป็นฝายเล็กๆ แล้วปลูกหญ้าแฝกด้านหน้าหรือด้านในพื้นที่ทำการเกษตร เช่น แปลงปลูกข้าวโพด เป็นต้น ทั้งนี้ ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการและหลังดำเนินการไว้เป็นหลักฐาน และให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำเป็นตัวอย่าง

 

๗ กรกฎาคม ๒๕๓๔

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีพระราชกระแสว่า

          ขอให้ปลูกหญ้าแฝกไว้ด้วย เพราะหญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย ช่วยรักษาหน้าดิน โดยเฉพาะโครงการฯ นี้มีที่ลาดชันหลายแห่ง นอกจากนี้ หญ้าแฝกยังช่วยกักเก็บอินทรียวัตถุไว้ในดินใบอ่อนของหญ้าแฝกยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย

 

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัส ณ โต๊ะเสวยที่ ๑ ภายในพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สรุปดังนี้

          ให้กองบัญชาการ ตชด. นำหญ้าแฝกไปปลูกตามฐานปฏิบัติการต่างๆ และหมู่บ้านใกล้เคียง แล้วขยายไปปลูกทั่วประเทศ เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการจัดระบบอนุรักษ์ดินโดยการปลูกเป็นแนวรั้วกั้นตามระดับชั้น และได้มีการศึกษาทดลองใช้อย่างได้ผลดีในประเทศแถบเอเชียหลายประเทศแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่ามีการปลูกหญ้าแฝก ยังส่งผลให้การเพาะปลูกพืชอื่นๆ ระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝกนั้น ให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

         

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโครงการหลวง ณ ที่ทำการที่ ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเสด็จเยี่ยมชมแปลงรวบรวมพันธุ์หญ้าแฝก ซึ่งได้เก็บรวมรวมพันธุ์พื้นเมืองจากท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศรวมทั้งของต่างประเทศด้วย และยังได้เยี่ยมชมการทดลองปลูกหญ้าแฝกขวางร่องน้ำ เพื่อลดความแรงของน้ำ และสะสมอินทรียวัตถุบริเวณหน้าแถวหญ้าแฝก หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก ณ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๖ จังหวัดเชียงใหม่ และมีพระราชดำริดังนี้

          หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาและทดลองปลูก

         การปลูกหญ้าแฝกควรปลูกเป็นแถวเดี่ยว ระยะระหว่างต้นห่างกัน ๑๐-๑๕ ซม. ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่ การดูแลรักษาง่ายควรทำการทดลองปลูกในร่องน้ำและบนพื้นที่ลาดชันให้มาก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

       การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวความคิดใหม่ ควรปลูกโดยไม่ต้องหวังผลอะไรมากนัก แต่ผลที่ได้จะดีมาก และการปลูกไม่จำเป็นต้องไปปลูกในที่ของเกษตรกร ขอให้ปลูกในสถานีพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นแบบอย่างเพื่อคัดพันธุ์ หาพันธุ์ที่ดีที่ไม่ขยายพันธุ์โดยออกดอก ต้องดูว่าปลูกแล้วมีพันธุ์ไหนที่ทนแล้ง ในหน้าแล้งแล้วยังเขียวอยู่ก็ใช้ได้ โดยขอให้ปลูกก่อนฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงเห็น

 

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ้องไคร้ฯ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกหญ้าแฝกในแปลงทดลองของศูนย์ฯ และพระราชทานพระราชดำริ โดยสรุปดังนี้

          ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝก ซึ่งจะช่วยทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยรากหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน อันจะสามารถปลูกพืชอื่นๆ ได้ในบริเวณที่ปลูกหญ้าแฝก

          คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของหญ้าแฝกก็คือ เป็นตัวกักเก็บไนโตรเจนและกำจัดสิ่งเป็นพิษ หรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปในแม่น้ำลำคลอง โดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน

          ให้ดำเนินการศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่จะได้นำไปส่งเสริมและขยายพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะตามไหล่เขาที่จะมีการพังทลายของดินมา เช่น ที่โครงการเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และวัดญาณสังวราราม ก็ควรจะปลูกเช่นกัน

          ทรงแนะนำวิธีการปลูกว่า สมควรปลูกหญ้าแฝกก่อนหน้าฝนประมาณ ๓ เดือน เพื่อที่จะให้ต้นหญ้าแฝกแข็งแรงพอที่จะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้

          ทรงให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกในร่องน้ำในลักษณะที่เป็นทำนบเล็กๆ (Check dam) ด้วย ตลอดจนที่สูงชัน ตามริมถนนที่เห็นดินเปลือยอยู่ ให้นำหญ้าแฝกไปปลูกเพื่อป้องกันดินพังทลายด้วย

 

๑๔ มีนาคม ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมกิจการของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทอดพระเนตรแปลงรวบรวมพันธุ์หญ้าแฝก แปลงขยายพันธุ์ ทรงปลูกหญ้าแฝกและมีรับสั่งกับชาวม้ง โดยสรุปดังนี้

               ปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวของกะหล่ำปลี ซึ่งชาวม้งนิยมปลูกเป็นพืชฤดูแล้ง โดยการให้น้ำระบบฝนเทียม

 

๑๙ มีนาคม ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาการเกษตรที่สูงปางตอง ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พระราชทานพระราชดำริ สรุปว่า

          ในการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำนั้น ให้พิจารณาปลูกก่อนหน้าฝนสัก ๓ เดือน ในกรณีที่พื้นที่มีน้ำพอที่จะมารดต้นหญ้าแฝก เพราะว่าจะทำให้หญ้าแฝกแข็งแรง เมื่อถึงหน้าฝนจะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้

 

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดาฯ สรุปดังนี้

          ให้เร่งดำเนินการปลูกหญ้าแฝกให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยภายใน ๒ ปี ถึงแม้การดำเนินงานอาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณบ้าง ก็ควรได้ดำเนินการ

          การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝก ควรเป็นพันธุ์ที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

          วิธีการปลูก เมื่อแยกหน่อควรมีรากประมาณ ๑๕ ซม. เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องตัดถุงเพราะรากหญ้าแฝกสามารถขยายมานอกถุงได้

          การปลูกหญ้าแฝกควรปลูกทั้งในพื้นที่เพื่อการเกษตร ขอบสระ หรือแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่ป่าไม้ ตลอดจนสามารถปลูกในบริเวณที่เป็นร่องน้ำเพื่อกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลไปสู่แหล่งเก็บน้ำและรากหญ้าแฝกซึ่งหนาแน่นจะมีส่วนในการเก็บความชุ่มชื้นในดินได้

          สำหรับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ให้ดำเนินการปลูกในบริเวณหมู่บ้านมุสลิม เป็นแนวเพื่อเพิ่มปริมาณของหน้าดิน สำหรับโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มให้ดำเนินการปลูกในส่วนบนที่ติดกับเขาเขียว ให้ปลูกติดกันเป็นแถวเดียว โดยให้นำหน้าดินมาใส่เพิ่มเติมในระยะต้น เมื่อหญ้าแฝกขึ้นดีแล้วจะช่วยเพิ่มปริมาณหน้าดินได้

 

๘ มิถุนายน ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พระราชทานพระราชดำริ สรุปดังนี้

          การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝกนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังอย่างมาก ควรเลือกพันธุ์ที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ได้โดยเมล็ด เพราะถ้าเป็นพันธุ์ที่แพร่กระจายโดยทางเมล็ดแล้วจะเป็นอันตราย

          การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ ควรปลูกตามแนวระดับโดยรอบอ่างเก็บน้ำ จำนวน ๓ แนว คือ

                   - แนวที่ ๑ ปลูกตามระดับสูงเท่ากับระดับเก็บกักน้ำ

                   - แนวที่ ๒ ปลูกตามแนวสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ ๒๐ ซม.

                   - แนวที่ ๓ ปลูกตามแนวต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำ ๒๐ ซม. (เพราะว่าน้ำมักจะถึงระดับเก็บกักน้ำ)

          การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรอบพื้นที่เก็บกักน้ำ จะให้ประโยชน์อย่างน้อย ๓ ประการ คือ                 

                    - ป้องกันดินพังทลายลงไปในอ่าง ทำให้อ่างไม่ตื้นเขิน และถ้าต้องการขุดดินในอ่างไปใช้ประโยชน์ ก็สามารถนำเครื่องจักรวิ่งข้ามแนวหญ้าแฝกไปขุดได้ เพราะหญ้าแฝกจะไม่ตาย

                    - การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรอบๆ อ่าง จะช่วยรักษาหน้าดินเหนืออ่าง ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น ช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว

          ควรทดลองปลูกในดินที่มีชั้นดานลงไปเล็กน้อย แล้วปลูกหญ้าแฝกหลังจากนั้นปล่อยให้หญ้าแฝกเติบโตเป็นเวลา ๒ - ๓ ปี จึงศึกษาว่ารากสามารถชอนไชผ่านชั้นดาน (หรือระเบิดดาน) ได้เพียงใด

          การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำในร่องน้ำ ให้พิจารณาดำเนินการดังนี้

                   - ในกรณีที่ร่องน้ำมีขนาดกว้างและลึก ให้ปลูกหญ้าแฝกในลักษณะตัววีคว่ำ (/\) ในร่องน้ำ แล้วปลูกต่อเป็นแนวยาวไปตามเส้นชั้นความสูงในลักษณะก้างปลา โดยมีระยะห่างระหว่างแถวตามแนวตั้ง ๑ เมตร เพื่อชะลอการกัดเซาะร่องน้ำและการกระจายน้ำให้ไหลซึมลงในดินหน้าแนวหญ้าแฝก

                       - ปลูกเป็นแนวตรงขวางร่องน้ำ เพื่อช่วยในการเก็บกักตะกอนไว้ในร่องน้ำ จนในที่สุดร่องน้ำก็จะมีดินตะกอนทับถมจนเต็ม

          ควรทดลองปลูกหญ้าแฝกในบริเวณที่มีหญ้าคาระบาด เพื่อศึกษาดูว่าหญ้าแฝกจะสามารถควบคุมหญ้าคาได้หรือไม่ วิธีปฏิบัติก็คือปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบหญ้าคา หลังจากที่หญ้าแฝกตั้งตัวดีแล้ว ให้จุดไฟเผาหญ้าคา เพื่อดูว่าหญ้าแฝกสามารถป้องกันไฟลุกลามได้มากน้อยเพียงใด

             ควรปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผล ซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้ดินรอบๆ ต้นไม้เป็นหลุมขณะเดียวกันก็สามารถตัดใบหญ้าแฝกคลุมดินเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ไม้ผลได้

             การปลูกหญ้าแฝกในแปลงที่เพาะปลูกสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น

                    - ปลูกโดยรอบแปลง

                    - ปลูกในแปลงๆ ละ ๑ หรือ ๒ แถว

                    - สำหรับแปลงพืชไร่ ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่

              การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกตามแนวขวางความลาดชันและในร่องน้ำของภูเขาเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นของดิน

 

๖ กรกฎาคม ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่ อำเภอหัวหิน และ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝกบนพื้นที่ต้นเขา มีพระราชกระแส สรุปดังนี้

          ควรปลูกหญ้าแฝกให้ชิดกว่านี้เพราะยังไม่แน่ใจว่าหญ้าแฝกที่ปลูกเป็นพันธุ์อะไรและมีลักษณะอย่างไร ต่อจากนั้น ทรงปลูกหญ้าแฝกในแปลงทดลองโดยใช้พันธุ์ที่รวบรวมจากเขาเต่า

          หลังจากนั้นอีก ๕ วัน มีรับสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญหญ้าแฝกมาตรวจสอบหญ้าแฝกที่โครงการฯ ผลการตรวจสอบปรากฎว่าพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกเป็นพันธุ์ที่ดีมาก จึงมีพระราชกระแสให้ขยายเพิ่มเติมเพื่อให้พื้นที่อื่นๆ ได้รับพันธุ์ต่อไป

 

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ทรงปลูกหญ้าแฝกบริเวณพื้นที่แปลงทดลองท้ายอ่างเก็บน้ำ และมีพระราชกระแส สรุปดังนี้

          ควรเร่งปลูกหญ้าแฝกให้มากๆ เพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษในการอนุรักษ์ดินหลายประการ โดยเฉพาะดินที่มีโครงสร้างแข็งดังเช่นที่ห้วยทรายนี้ หญ้าแฝกจะทำหน้าที่เป็นเขื่อนที่มีชีวิต ที่จะช่วยทำให้ดินมีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

          ในการปลูกหญ้าแฝกตามแนวลาดเอียง ควรให้แต่ละแถวห่างกันมากขึ้นประมาณ ๑ - ๒ เมตร ตามแนวดิ่ง เพื่อประหยัดหน่อพันธุ์ แต่ควรปลูกชิดๆ กัน เพื่อให้หญ้าแฝกมีผลเร็วขึ้น ถ้าจะปลูกไม้ผล ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นรูปครึ่งวงกลมล้อมต้น มีผลคล้ายฮวงซุ้ย

          ควรปลูกหญ้าแฝกเหนือแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอนและดูดซับสารเคมี ตลอดจนของเสียต่างๆ ที่ไหลลงแหล่งน้ำ เพราะหญ้าแฝกจะดูดซับสารพิษต่างๆ ไว้ในรากและลำต้นไว้ได้นาน จนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป

 

๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๖

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัสแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ณ พระตำหนักจิตรลดาฯ ดังนี้

          การปลูกหญ้าแฝก ถ้าปลูกเป็นกอใหญ่และห่างประมาณ ๑๕ ซม. ถ้าปลูกใกล้ๆ คือ ๒ - ๓ ซม. และใช้กอเล็ก ก็จะเชื่อว่าเมื่อเติบโตมักจะปิดแถวได้ดีกว่า ความสิ้นเปลืองของหญ้าแฝกก็อาจจะน้อยกว่า หลังจากปลูกก็จะติดกันได้ผลภายในไม่กี่เดือน แต่กอที่ปลูกห่างกว่า จะได้ผลก็ ๒ ปี เพราะฉนั้นไม่ทันการณ์ ที่ดอยตุงนั้นเพาะปลูกหนามาก จึงสิ้นเปลืองมาก แต่เป็นการทดลองหวังผลรวดเร็ว

          สรุปได้ว่า ต้องทำกอเล็กลงไปหน่อย แล้วก็ปลูกให้ใกล้และชิดกัน สำหรับระยะห่างของแต่ละแถวแต่เป็นแนวลาดเท ๒ เมตรต่อแถว แล้วก็อยู่บนและต่ำลงมา ส่องระดับลงมาให้ได้ระดับ ๒ เมตร ก็อาจจะไม่ถึง ๒ เมตร ก็ได้ ประมาณ ๑.๕๐ เมตร เพื่อความสะดวก เพราะประมาณความสูงของคน ถ้าเป็น ๒ เมตร ต้องเขย่งส่อง แต่ถ้าส่องระดับนี้ก็จะสะดวกกว่า ทำแถวให้ได้ขนานกับทางเท แล้วก็อีกแถวลงมา จะส่องได้พอดี เดินส่องไปสะดวก

 

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก สรุปดังนี้

          ทรงเน้นถึงระยะปลูกหญ้า ควรปลูกให้ชิด ระยะห่างระหว่าต้น ๕ ซม

          การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินให้แก่ไม้ผลและไม้ยืนต้นในลักษณะที่เป็นแนววงกลมรอบโคนต้นไม้นั้น อาจทำให้เกิดปัญหารากหญ้าแฝกมีจำนวนมากเกินไป จะแย่งอาหารต้นไม้ จะเป็นการสกัดกั้นการเติบโตของต้นไม้ให้เปลี่ยนเป็นการปลูกแบบครึ่งวงกลมด้านล่างของทางลาดชัน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพื่อช่วยให้รากหญ้าแฝกได้ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

          การวางแนวการปลูกหญ้าแฝกแบบรูปตัววีคว่ำ (/\) เพื่อแก้ไขการเกิดร่องน้ำแบบลึกที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ (Gully Erosion) ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับพาดผ่านร่องน้ำและให้ระดับแนวหญ้าแฝกตอนบน (ปลายแหลมของวีคว่ำ) มีระดับสูงกว่าด้านล่าง เมื่อน้ำไหลลงมาตามความลาดเทของพื้นที่ มาถึงแนวหญ้าแฝกซึ่งจะช่วยลดการกัดเซาะในร่องน้ำและช่วยให้เกิดการทับถมของตะกอนในร่องน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

          ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดิน เจาะลึกลงไปในชั้นของดินลูกรัง จากนั้นให้ใช้ดินดีใส่ในหลุมที่สว่านเจาะ แล้วจึงปลูกหญ้าแฝก รากหญ้าแฝกจะเจริญเติบโตหยั่งลึกลงไปในชั้นหินลูกรังได้ดียิ่ง

          ให้พิจารณาปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ให้ทั่วพื้นที่

 

๖ สิงหาคม ๒๕๓๙

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก สรุปดังนี้

          การปลูกหญ้าแฝก ถ้าปลูกแนวชิดกันมากๆ หรือปลูกรอบโคนไม้ผลเป็นแบบวงกลม ถ้าปลูกใกล้ต้นไม้มากเกินไปจะทำให้ต้นไม้ขาดน้ำ เพราะหญ้าแฝกใช้น้ำมาก และน้ำจะซึมหารากไม้ผลได้ยาก เพราะรากหญ้าแฝกกั้นไว้ ที่ปลูกไว้เป็นครึ่งวงกลมและกอชิดกันนั้นถูกต้องแล้ว (งานวิชาการเกษตรสวนสมเด็จฯ)

          บริเวณพื้นที่ปลูกป่าเชิงเขาทอง อย่าทำแบบปลอกเปลือก ปุ๋ยจากเขาจะลงมา ดินและน้ำจากเขาจะลงมา ควรต่อขยายแนวหญ้าแฝกออกไปอีก ควรปลูกเป็นรูปวีคว่ำ (/\) ในไม่ช้าก็จะเต็มร่อง ในที่เป็นร่องน้ำลึก ควรทำพื้นดินหรือคันหินขวางน้ำก่อน เพื่อทำเป็นทำนบเล็กๆ (Check Dam) อย่าปลูกลงไปในร่องน้ำโดยตรง นอกจากนั้น พื้นที่ระหว่างแถวหญ้าแฝก ที่เป็นคอนทัวร์ดินจะมีคุณภาพดีขึ้น น่าจะให้เกษตรกรปลูกพืชล้มลุก

          การปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดินแบบมือหมุน เจาะเป็นบางส่วน ที่เขาชะงุ้มฯ ขุดให้เป็นร่องเพื่อให้รากหญ้าแฝกชอนไชไปในดิน

               - วิธีการปลูกหญ้าแฝกแซมในช่องว่างแนวรั้วหญ้าแฝกในพื้นที่ดินดานให้ใช้สว่านเจาะตามแนวช่องว่าง โดยใส่ปุ๋ยหมักลงไปตามร่อง

               - ควรใช้กรรไกรตัดหญ้าแฝกให้มีความสูงประมาณ ๓๐ ซม. ดินที่อยู่ระหว่างแถวหญ้าแฝก จะอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยธาตุอาการ ซึ่งควรปลูกพืชล้มลุกหรือไม้ผลแซม

          ทรงสาธิตวิธีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝก โดยการขุดเป็นร่องตามแนวช่องว่าง และใช้ดินผสมปุ๋ยหมักใส่ในร่องแล้วปลูกหญ้าแฝกให้ชิดติดกันระยะห่างไม่เกิน ๕ ซม. ตามแนวช่องว่างแล้วตัดใบหญ้าแฝกหัวท้ายช่องว่างให้เหลือ ๓๐ ซม. เพื่อให้หญ้าแฝกที่ปลูกใหม่ได้รับแสงแดด ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าหญ้าแฝกจะตั้งตัวได้ ดินที่ทับถมเหนือแนวรั้วหญ้าแฝกเป็นดินที่ดีมาก ดินลึกถึง ๓๕ ซม. ขอให้เร่งรัดหญ้าแฝกแก้ไขช่องว่างเพื่อแนวรั้วหญ้าแฝกมีประสิทธิภาพเพราะเป็นการช่วยให้ดินดียิ่งขึ้น

 

๓ เมษายน ๒๕๔๐

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และพระราชทานพระราชดำริในแต่ละจุดที่เสด็จ ดังนี้

          จุดเสด็จที่ ๑ : งานศึกษาทดลองการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก เพื่อพัฒนาดินดานท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยทราย

          ให้หาวิธีเจาะลงไปในชั้นดินดาน แล้วนำดินที่มีความร่วนซุยใส่ลงไปในหลุม สำหรับการปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้รากหญ้าแฝกสามารถทะลุดินดานไปได้ หญ้าแฝกจะนำความชื้นไประเบิดดินดานให้ร่วนซุยมากขึ้น

          ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวคอนทัวร์ ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ ๕ ซม. เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดิน และช่วยทำให้เกิดหน้าดินมาทับถมกันบริเวณแนวรั้วหญ้าแฝก ซึ่งต่อไปจะใช้ดินทำการเพาะปลูกได้

          การปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบต้นไม้ควรปลูกแบบครึ่งวงกลม เพื่อช่วยเก็บกักความชื้นให้แก่ต้นไม้

          ฮวงซุ้ยกั้นไว้ ที่ปลูกไว้เป็นครึ่งวงกลมและกอชิดกันนั้นถูกต้องแล้ว (งานวิชาการเกษตรสวนสมเด็จฯ)

          จุดเสด็จที่ ๒ : งานอนุรักษ์ดินและน้ำ บริเวณลุ่มน้ำเขาบ่อขิง

          ให้ปลูกป่าและหญ้าแฝกตามแนวคอนทัวร์ เมื่อเวลาฝนตกลงมาจะพัดพาเศษใบไม้มาติดอยู่ที่แนวหญ้าแฝก เป็นการทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยกรมป่าไม้มีหน้าที่ปลูกป่าและกรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ปลูกหญ้าแฝก ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จะเป็นหน่วยงานกลางที่ให้ทั้งสองหน่วยร่วมกันประสานดำเนินการ

 

๒๓ เมษายน ๒๕๔๐

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และพระราชทานพระราชดำริในแต่ละจุดที่เสด็จ ดังนี้

          จุดเสด็จที่ ๑ : บนสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก

          เรื่องการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบแนวป่าไม้เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน
เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยทำให้ดินมีการพัฒนาดีขึ้นเมื่อใบไม้ย่อยสลาย ส่วนหญ้าแฝกที่ปลูกระหว่างไม้ยืนต้นจะไม่ตาย แต่ชะงักการเจริญเติบโตระยะหนึ่ง เมื่อมีการตัดไม้ออก แฝกก็จะเจริญได้อีกครั้ง ให้ปลูกหญ้าแฝกในดินดาน โดยระเบิดดินดานให้เป็นหลุมแล้วปลูกหญ้าแฝกลงในหลุม เพื่อดันชั้นดินดานให้แตก สามารถดักตะกอนตลอดจนใบไม้ทำให้เกิดดินใหม่ขึ้น

          จุดเสด็จที่ ๒ : ณ ศาลาทรงงานบริเวณอุทยานมัจฉา มีพระราชกระแสกับผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

          ให้ศึกษาการปลูกหญ้าแฝกในดินดานของ ตำบลเขาหินซ้อน ซึ่งได้เคยให้ทำในดินดานที่เขาชะงุ้มและศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ มาแล้ว

        

๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐

          ในวันพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังแปลงนาสาธิตสวนจิตรลดา และพระราชทานพระราชดำริ สรุปได้ดังนี้

          การอนุรักษ์ดินก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวตามที่พระราชทานพระราชดำริแล้ว การอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝกต้องทำให้กว้างขวางเพื่อป้องกันและรักษาหน้าดินไม่ให้สูญหาย ได้ทดลองทำครั้งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ด้วย ตลอดจนเข้าไปดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อีกหลายแห่ง จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาดำเนินการในบริเวณที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ ด้วย

 

๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราโชวาทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝก ดังนี้

          บัณฑิตทุกคนควรจะได้สนใจสังเกตศึกษาเรื่องราวบุคคลและสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อม และเกี่ยวข้องกับตัวเองให้มาก อย่าละเลยหรือมองข้ามแม้สิ่งเล็กน้อย เช่น ต้นหญ้า ซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญญาได้ หญ้านั้นมีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืช ซึ่งเป็นโทษ และหญ้าที่มีคุณอย่างหญ้าแฝก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะมีรากที่หยั่งลึกแผ่กระจายลงไปตรงๆ ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง และมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนา ทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี

 

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราโชวาทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝก ดังนี้

          สิ่งที่ดีมีประโยชน์นั้น จะต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาและเหมาะสมกับสภาพการณ์ทั่วไปด้วย จึงจะได้ผลที่พึงประสงค์ อย่างเช่น การปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผง และวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้นว่า

- บนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันและร่องน้ำ

- บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพื้นไร่

- ในพื้นที่เก็บกักน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ

          หญ้าแฝกที่ปลูกโดยหลักวิธีดังนี้ จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน เก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่างๆ ไม่ให้ลงในแหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้น

 

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๔๑

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และพระราชทานพระราชดำรัส เกี่ยวกับหญ้าแฝก สรุปดังนี้

          ปลูกหญ้าแฝกเพื่อที่จะให้ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นดินที่สมบูรณ์ โดยที่ปลูกหญ้าแฝกและทำคันกั้นไมให้ตะกอนเหล่านั้นไหลลงไปในห้วย ก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างดี หากว่าไม่ปฏิบัติเช่นนี้ดินนั้นจะหมดไปเลย เหลือแต่ดินดานและทราย และดินที่อาจเป็นดินสมบูรณ์ก็ไหลลงไปในห้วย ทำให้ดินตื้นเขินเมื่อห้วยตื้นเขิน น้ำที่ลงมาจากภูเขาก็ท่วมในที่ราบ และน้ำที่ลงจากเขาจะลงมาโดยเร็ว เพราะภูเขามีต้นไม้น้อย ทำให้น้ำลงมารวมกันอย่างฉับพลันและท่วม

 

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก สรุปดังนี้

           ข้อสำคัญที่มา เพราะว่าที่ดินในเมืองไทยนั้นมีน้อยลงที่จะใช้งานได้ดี จึงต้องหาที่เลวๆ ให้พัฒนาขึ้นเป็นที่ที่ใช้ได้ และให้ความสำคัญของโครงการนี้ เป็นอย่างไร ต้องลงมือหลายฝ่าย กรมพัฒนาที่ดินและกรมป่าไม้ ศึกษา และถ้าทำได้แล้ว เมืองไทยนี้ไม่อับจน

           หญ้าแฝกนี้จะกักน้ำและปุ๋ยที่มาจากภูเขา เป็นเครื่องปฏิกรณ์น้ำและปุ๋ย ไม่ต้องเอาปุ๋ยที่ไหน พัฒนาดินก็สบาย ก็อาศัยชลประทาน แล้วก็ป่าไม้

            เราจะสร้างของดีซ้อนบนของเลวนั่น อย่าไปนึกไปใช้ดานอันนี้ เพราะดานอันนี้ไม่มีอาหารและแข็งเหลือเกิน ต้องสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา หญ้าแฝกเราจะเจาะดินลงไป แล้วเอาดินที่มีอาหารลงไป หญ้าแฝกก็สามารถชอนไชอยู่ได้ แล้วหญ้าแฝกนั้น เวลาน้ำฝนชะมาจากภูเขาจะชะใบไม้มาติดหญ้าแฝกก็จะเป็นดินที่ใช้ได้ ดินนี้จะเพิ่มขึ้นไปแล้วก็ดินนี้นานไปจะเป็นดินดี

 

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๓

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัสที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี บริเวณพื้นที่เขาบ่อขิง สรุปดังนี้

            ให้ทดลองปลูกไม้สาทรร่วมกับหญ้าแฝกต่อไป และทำการศึกษากับไม้ชนิดอื่นๆ ว่าชนิดใดจะเหมาะสมกับพื้นที่ดินดานได้ดี

            การแก้ไขดินเลวโดยวิธีทางธรรมชาติ โดย

                 - ปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้ดินดานแตกตัวจะทำให้น้ำซึมผ่านไปได้

                 - ปลูกต้นไม้ควบคู่กับการปลูกหญ้าแฝก ต้นไม้จะเจริญเติบโตในดินดานได้ เนื่องจากแฝกให้น้ำและช่วยดึงไนโตรเจน

 

วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัสกับ ม.ร.ว.แซม แจ่มรัส รัชนี เจ้าหน้าที่โครงการหลวง ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา สรุปดังนี้

             การนำร่องการใช้หญ้าแฝกกับดินเหนียวในการก่อสร้างยุ้งฉางราคาถูกเป็นตัวอย่างแก่กสิกรรม ในชนบทให้ทำการทดลองเก็บข้าวเปลือกจริง เพื่อพิจารณาลู่ทางการควบคุมความร้อนที่เกิดจากการเก็บเมล็ดข้าวเปลือก ในยุ้งฉางแบบนี้ และให้ใช้หลังคายุ้งฉางแบบชาวเอสกิโม (อิกลู-Igl๐๐) เพื่อแก้ไขปัญหาความร้อนและความชื้นที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บข้าวเปลือกและให้มีการศึกษาเพื่อการป้องกันความเสียหายของพื้นผิวภายนอกยุ้งฉางเมื่อถูกความชื้น

             ให้ศึกษาเรื่องหญ้าแฝกและสกัดสาระสำคัญมาเพื่อใช้ในการควบคุม ป้องกันกำจัดปลวก ให้มีการศึกษาการพัฒนาเยื่อหญ้าแฝกให้ปลวกไม่สามารถทำลายได้ โดยการพิจารณากำจัดสารที่เป็นอาหารปลวกเสียตั้งแต่ต้น จะได้ไม่มีปัญหาเมื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม

             การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุแทนไม้อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และตกแต่งภายใน ให้มีการศึกษาความคงทนของแผ่นไม้อัดหญ้าแฝกต่อสภาพการทำลายของปลวก และการศึกษาเพื่อหาวัสดุภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าวัสดุที่เป็นตัวประสานจากต่างประเทศ

             การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุก่อสร้างทางวิศวกรรมที่ประหยัด ปลอดมลภาวะ ประหยัดพลังงาน ชาวบ้านสามารถทำได้เองโดยใช้เถ้าหญ้าแฝกสัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝกเป็นวัสดุทดแทนชีเมนต์และผลที่ได้รับ โดยเน้นเรื่องความแข็งแรง ความทนทาน ส่วนการประยุกต์ใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นวัสดุเสริมแรง สัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝก เน้นเรื่องการพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าและทดแทนการใช้วัสดุสังเคราะห์

             การแสดงแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของการไหล ลักษณะการกัดเซาะและการกักเก็บตะกอนของระบบหญ้าแฝก ดังนี้

             ๑. ให้มีการขยายแบบจำลอง จากแบบจำลองแสดงแนวคิด เป็นแบบจำลองที่สามารถเก็บข้อมูลได้ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทางวิศวกรรม รวมทั้งให้มีการทดสอบเพื่อยืนยันข้อมูลในภูมิประเทศจริงด้วย

             ๒. ให้นำข้อมูลที่ได้รับจากแบบจำลองไปประยุกต์ใช้แถบหญ้าแฝกเพื่อลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรม

             ๓. ให้มีการศึกษาการใช้แถบหญ้าแฝกและพืชพันธุ์ลดหรือป้องกันสารไนเตรท จากการทำการเกษตรซึมซับลงในดิน ลงไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำใต้ดินในระดับล่าง

             ๔. การใช้ความชุ่มชื้นของแถบหญ้าแฝกลดหรือป้องกันความเสียหายที่เกิดจากไฟป่า

             ๕. รูปแบบการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเป็นพืชรายได้แบบครบวงจรโดยเน้นการจัดกลุ่มกสิกรรมเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณ คุณภาพและสายพันธุ์ที่กำหนดได้ เพื่อเป็นการแยกออกจากการส่งเสริมการปลูกเพื่อป้องกันรักษาดินโดยให้ระมัดระวังการปลูกแยกจากระบบอนุรักษ์ ซึ่งแฝกเป็นพืชที่มีรายได้สู่เกษตรกรก็ให้ทำไป โดยให้วิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตลง ในการลดต้นทุนการผลิตให้ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อใหม่ (Tiller) ที่แยกออกมา

             ๖. แนวทางการใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นอุตสาหกรรมภาชนะเมลามิน ให้มีการพิจารณาผลิตภาชนะหรือเครื่องใช้ที่เหมาะสมกับสีตามธรรมชาติของเยื่อหญ้าแฝก และให้พิจารณาจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ภาชนะเมลามินจากเยื่อหญ้าแฝกได้

             ๗. ลู่ทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัยค้นคว้าและผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกของมูลนิธิโครงการหลวง ดังนี้

                   - ให้คณะทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหญ้าแฝก เร่งรัดการดำเนินการตามที่ได้คิดริเริ่มไว้ต่อไป เพราะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

                   - ผลงานใดที่สามารถดำเนินการจดสิทธิบัตรได้ ขอให้คณะทำงานสิทธิบัตรหญ้าแฝกรีบดำเนินการ เพื่อจะได้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปในภายหน้า

วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัสกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรี ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดเพชรบุรี สรุปดังนี้

                 ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องมีการปรับปรุงเปิดพื้นที่เป็นอันมากโดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขา ควรที่จะต้องมีการใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นพืชนำเพื่อฟื้นคืนสภาพพื้นที่และภูมิทัศน์ และความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่อย่างได้ผล

 

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริ ณ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปได้ดังนี้

                ควรปลูกหญ้าแฝกก่อน หรือพร้อมกับการปลูกป่า โดยเฉพาะที่ลาดชัน โดยต้องปลูกให้ถูกวิธี คือขวางแนวลาดชัน เพราะในแผนที่ ปตท. แสดงการปลูกป่า จะเป็นแนวลงมาเหมือนที่ชาวเขาปลูกกะหล่ำ โดยให้สังเกตที่ลำห้วยด้านล่างภูเขา จะเห็นดินลงไปกองอยู่เต็ม

                ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกันไฟป่าของแปลงปลูกป่า เพราะการปลูกของหน่วยงานต้องมีเจ้าหน้าที่หน่วยดับไฟต้องใช้รถจักรยานยนต์เพื่อตรวจป่า ขอให้ใช้วิธีปลูกหญ้าแฝกเป็นแนว เพราะหญ้าแฝกนั้นต่างกับหญ้าคา ซึ่งหน้าแล้งจะแห้งติดไฟง่ายแต่หญ้าแฝกหน้าแล้งจะเขียว เพราะมีรากลึกดูดความชื้นตลอดเวลา จะเป็นแนวกันไฟโดยธรรมชาติ

 

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริกับ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและนักวิจัย ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้

               หญ้าแฝกเป็นพืชเอนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย นอกจากคุณประโยชน์หลักของหญ้าแฝกที่ใช้ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว รากของหญ้าแฝกที่แผ่หยั่งลึกลงไปในดิน ยังช่วยดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกอและใบ ที่ปลูกล้อมรอบพื้นที่เกษตรยังมีส่วนช่วยในการป้องกันปลวกและหนู ไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายให้กับพืชและผลิตผลในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งป้องกันงูได้อีกด้วย

               การปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟเป็นประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหญ้าแฝกที่จะช่วยลดความเสียหายจากไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นในป่าปลูกหรือป่าธรรมชาติ

ควรปลูกแฝกก่อนหรือร่วมกับแปลงปลูกไม้ยืนต้น โดยเฉพาะบนภูเขาจะช่วยป้องกันการชะล้างดินและป้องกันไฟป่าได้ เพราะแฝกทนไฟใบจะสดตลอดปี และรากที่หยั่งลึกลงในดินจะช่วยดูดความชื้นไว้ ดังนั้นการปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟจะช่วยป้องกันไฟป่าในฤดูแล้งได้

การปลูกยูคาลิปตัสและสนบนภูเขา มักเกิดไฟไหม้ทุกปี ควรพิจารณาปลูกแฝกร่วม

             การนำใบหญ้าแฝกมาอัดเป็นแผ่น และนำไปใช้ประโยชน์ทดแทนไม้จริง จะช่วยลดการนำเข้าไม้ รวมทั้งลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ แต่เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตแผ่นแฝกอัดใช้กาวซึ่งต้องนำกาวเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพง ควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาใช้กาวซึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศที่มีคุณภาพดีและราคาถูก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

             สำหรับใบแฝกที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น ควรมีการศึกษาด้วยว่า หากมีการส่งเสริมและดำเนินการในระดับอุตสาหกรรมแล้ว จะมีวัตถุดิบเพียงพอหรือไม่ โดยปกติ หญ้าแฝกจะมีใบมากและมีการเจริญเติบโตได้เร็ว ควรมีการศึกษาให้มีการนำไปใช้อย่างเหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบกับวัตถุประสงค์หลัก คือการใช้หญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดินดังนั้น หากจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ควรพิจารณาเตรียมพื้นที่เพื่อการปลูกโดยเฉพาะ และควรวิจัยการนำวัตถุดิบที่เหมาะสมมาเป็นส่วนผสมในการทำแผ่นไม้อัดด้วย

             การนำรากหญ้าแฝกมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ถึงแม้ว่ามีราคาแพงควรจะมีการศึกษาพัฒนาเกี่ยวกับการปลูกแฝกเพื่อผลิตโดยเฉพาะ ไม่ควรมีการขุดกอแฝกเพื่อนำรากมาใช้ในการนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย

 

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริกับคณะทำงานโครงการพัฒนาหญ้าแฝกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจโครงการหลวง ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้

             ให้เร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันรักษาดินและน้ำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว

             ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม ดำเนินการขยายพันธุ์ทำให้มีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมหน้าที่ของหญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และเพื่อการรักษาดิน

             ให้ทุกหน่วยงานและหน่วยราชการที่มีศักยภาพในการขยายพันธุ์ให้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดินในการผลิตกล้าหญ้าแฝกที่มีคุณภาพแจกจ่ายกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้พอเพียง และหากดำเนินการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะต้องหมั่นหมุนเวียนกลับมาเริ่มจากต้นแม่พันธุ์ เพราะหากมีการขยายพันธุ์หลายช่วงต่อเนื่องกันมากเกินไป จะทำให้กล้าหญ้าแฝกอ่อนแอได้

             ควรพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณการผลิตกล้าแฝกให้เพียงพอ

             ให้ร่วมมือกันดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืช สายพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์หญ้าแฝกจากทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชนิดที่นำมาใช้แล้วเกิดประโยชน์หรือเกิดผลเสียหายก็ตาม

             ให้มีการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกทั้งบนพื้นที่สูง การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตอนล่าง ในดินที่มีปัญหาเสื่อมโทรม พื้นที่ดินดาน พื้นที่ดินเปรี้ยวในบริเวณป่าพรุ การฟื้นฟูนากุ้งร้างและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน

             ให้มีการสาธิตการใช้แถบหญ้าแฝกในการป้องกันไฟป่าทั้งในพื้นที่ป่าไม้และป่าหญ้าคา

             ให้มีการใช้แถบหญ้าแฝกในการป้องกันไม่ให้สารไนเตรทไหลลงไปปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และแหล่งน้ำใต้ดิน รวมทั้งให้มีการศึกษาเพื่อหาวิธีการหมุนเวียนน้ำไนเตรทกลับมาใช้อีกครั้งด้วย

             ควรปลูกหญ้าแฝกก่อนฤดูฝนหรือในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้เจริญเติบโตทันในช่วงฤดูฝน และในการตัดใบต้องตัดให้มีความสูงระดับผิวดินที่เหมาะสมเพื่อให้โคนหญ้าแฝกสามารถทำหน้าที่รักษาดินได้ตลอดไป

             สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องและชัดเจน เมื่อปลูกหญ้าแฝกแล้วดินดีขึ้นอย่างไร เช่น ความอุดมสมบูรณ์ที่ได้จากการเกิดดินดำหน้าแถบหญ้าแฝก และมีหญ้าแฝกแจกจ่ายให้เพียงพอในการขยายพันธุ์อาจแบ่งไปจากแถบหญ้าแฝกที่ปลูกไว้จนเต็มพื้นที่ และควรทำให้ได้คุณภาพโดยปลูกแบบค่อยเป็นค่อยไป และให้ดูแลรักษาให้ดี

 

วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๘

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้

              ต้องปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของลาดเขาจะเก็บน้ำได้ ถ้าปลูกตามแนวลาด ดินไหลหมด ทำตามแนวขวางให้แทรกเตอร์ไถคราด

              หญ้าแฝกมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่ดีปลูกแล้วไม่ออกดอก ไม่เหมือนหญ้าคา

              หลังคาที่มุงแฝกทนมาก

              แฝกดี ใบหนา ไม่ติดไฟง่าย ปลูกขวางเป็นระยะๆ แต่หญ้าคาติดไฟง่ายในหน้าแล้ง

              ถ้าปลูกหญ้าแฝกใต้ต้นไม้ แฝกจะช่วยชับน้ำ

              หญ้าแฝกช่วยป้องกันหญ้าคาขึ้น

              หญ้าแฝกช่วยทั้งแล้งทั้งท่วม

 

วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะผู้ปฏิบัติงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีใจความสำคัญดังนี้

            หญ้าแฝกนี้ได้ศึกษามาเป็นเวลาถึงสิบเจ็ดปี อย่างที่ท่านองคมนตรีได้กล่าวเมื่อตะกี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นเวลาช้านาน แต่เป็นเวลาที่เป็นประโยชน์มากและได้ผลอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่หญ้าชนิดเดียวได้รับการศึกษานานถึงขนาดสิบเจ็ดปี แต่ต้องเข้าใจว่าหญ้าแฝกมีหลายชนิด และถ้าไม่ได้ศึกษาก็ได้ประโยชน์ขึ้นมาอย่างที่ได้เกิดขึ้น

            สิบเจ็ดปีนี่เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าเวลาทดลองต่างๆ ได้ปรากฎว่าหญ้าแฝกหรือหญ้าที่คล้ายๆ หญ้าแฝก ได้ทำประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งน่ามหัศจรรย์ที่หญ้าเพียงบางชนิดได้ประโยชน์ในที่ต่างๆ หญ้าแฝกบางชนิดได้เกิดประโยชน์ในที่ลักษณะเป็นที่ราบ บางแห่งก็ได้ประโยชน์ในที่ต่างกัน เช่น บนภูเขา ดินลึกก็มี ดินตื้นก็มี เรื่องดินลึกนั้นได้ปรากฎว่ารากได้หยั่งลึกลงไปถึงห้าหกเมตร แล้วก็ลงไปได้ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ได้นึกว่าหญ้าจะลงไปลึกข้อสำคัญหญ้านี้ได้หยั่งลงไปห้าหกเมตร และไม่ได้แผ่ออกไปข้างๆ แสดงว่าไม่ไปรังควานรากของพืชที่เป็นประโยชน์

            อันนี้ตอนต้นได้ไปเฝ้า สมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งท่านเวลานั้นทรงไม่สบาย ทำให้ท่านมีความเรียกว่าเซ็งในชีวิต ก็ได้ไปเฝ้าที่วังสระปทุม ซึ่งเวลานั้นบอกได้ว่าท่านใช้คำว่าเซ็งน่ะ ไม่เกินความหมายของสภาพของท่านได้ไปกราบบังคมทูลว่าเดี๋ยวนี้ขอแรงท่านทำประโยชน์กับพืชอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั่วทั้งประเทศ ท่านรู้สึกว่าเกิดครึกครื้นขึ้นมา ท่านบอกว่ามีหรือนึกว่าทำหมดแล้วศึกษาอะไรๆ หมดแล้ว เลยบอก เปล่านี่เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาน้อย น้อยมากก็เลยเล่าให้ท่านฟัง

            เรื่องความมหัศจรรย์ของหญ้าแฝก ซึ่งเป็นหญ้าธรรมดา แต่ว่ามีคุณสมบัติที่จะช่วยให้พืชในที่ต่างๆ มีประโยชน์ขึ้นมาอย่างมหัศจรรย์ คือว่าไม่ได้นึกเลยว่าจะใช้หญ้าธรรมดานี้มาทำให้การเพาะปลูกดีขึ้น

            ท่านก็บอกว่าจะไปทำที่ไหน ก็กราบบังคมทูลว่า ทำในที่ที่เคยทรงปฏิบัติ ก็คือในที่ภูเขาส่วนหนึ่ง ที่ภูเขานั้นก็คือที่ที่โปรดมากที่ดอยตุงซึ่งถ้าไม่ได้ใช้หญ้าแฝกนี้ จะทำให้ที่แถวนั้นไม่เจริญ แล้วเจริญอย่างไร ก็ทำให้ที่ที่ตามปกติเราเห็นไม่หญ้าก็พืชต่างๆ ขึ้นไม่เป็นปกติหมายความว่าหญ้าไปคลุม ไปปกคลุมที่ ทำให้ที่นั้นไม่บริบูรณ์ แต่ว่าหญ้าแฝกนี้ ถ้าทดลองหญ้าแฝกที่เป็นประโยชน์จากหญ้าแฝกหลายชนิดจะทำให้ดี ที่แถวนั้นเจริญดีขึ้นโดยทำให้ที่เหล่านั้นมีความบริบูรณ์ขึ้น ด้วยการเลือกหญ้าที่เหมาะสม และปลูกในทางที่เหมาะสมที่ถูกต้อง จะทำให้ที่เหล่านั้นสามารถทำประโยชน์ได้ เราก็ทูลท่านว่า จะทำให้ที่เหล่านั้นมีความเจริญ จะใช้ประโยชน์ของที่นั้นได้ดีมาก แล้วเล่าให้ท่านฟังว่าจะทำให้ที่เหล่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกที่ แล้วเลือกหญ้าที่เหมาะสม จะทำให้ที่เหล่านั้นเจริญงอกงามอย่างมหัศจรรย์ แล้วเล่าให้ท่านฟังว่ามีวิธีปลูกอย่างไร และวิธีเลือกหญ้าแฝกชนิดต่างๆ

             ท่านก็ตื่นเต้น แต่ท่านบอกว่า จะไปทำอะไรได้ ก็ทูลว่าถ้าทรงพร้อม ท่านไปเดี๋ยวนี้ก็ได้ ท่านก็ตื่นเต้น เลยเรียกคนของท่านบอกเอ้าตกลง เดี๋ยวนี้แข็งแรงพอแล้ว จะไปได้ ความจริงท่านก็เพิ่งเริ่มแข็งแรง แต่ท่านครึกครื้นมากท่านบอกไปเดี๋ยวนี้เลย ลงท้ายหญ้าแฝกเป็นหญ้ามหัศจรรย์ที่ทำให้ท่านแข็งแรงทันที คนที่จะทำก็เกิดความดีใจ ในที่สุดเสด็จไปภายในไม่กี่วัน เสด็จไปดอยตุง แล้วก็ขอให้คนนำหญ้าชนิดต่างๆ มา เลยทูลว่าให้ไปปลูกหญ้าชนิดต่างๆ ในที่ต่างๆ เพื่อทดลอง บอกได้ว่าท่านครึกครื้นมาก รู้สึกท่านดีใจมากที่มีงานที่จะทำ เพราะเวลานั้นท่านกำลังเดือดร้อนในจิตใจ เพราะว่าหมอบอกว่าไม่ได้ เสด็จไปไม่ได้ ท่านก็บอกว่าทำไมจะไม่ได้ แล้วในที่สุดท่านก็ไป แล้วก็ไปเป็นคนภูเขา เสด็จไปได้อย่างประหลาด หมายความว่าท่านออกไปทันที ออกเดินน่ะ แล้วก็ออกไปปลูกหญ้าภายในไม่กี่วัน หญ้านั่นก็เจริญงอกงามออกมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประหลาด

             หญ้าบางชนิดก็หยั่งลงไปลึก อย่างที่บอกเมื่อตะกี้ว่าสี่ห้าเมตร บางชนิดก็ถึงหกเมตร ในระหว่างที่หญ้าแฝกบางชนิดก็ลงไปเพียงสามเมตร แล้วก็ลงไปหกเมตรนี้ เท่ากับไปปกคลุมที่ ทำให้ที่เหล่านั้นสามารถที่จะป้องกันดินที่ปกติจะทลายลงมา ดินที่ได้รับการปกป้องของหญ้าแฝกก็แข็งแรง ทำให้สามารถที่จะทำตามที่ต้องการ เป็นต้น ตามที่ต้องการคือให้บริเวณนั้นไม่มีการพังทลายลงมา เช่น ข้างถนน ทำให้ถนนได้รับการปกป้องไม่ให้ดินทลายลงมา ภายในไม่กี่วันก็จับดินข้างถนนได้อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งก็เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่ง ที่จะให้ปลูกสิ่งที่ป้องกันไม่ให้ทลายลงมา แล้วปรากฎว่าดินข้างถนนก็ไม่ทลาย อย่างเช่น ทางที่ขึ้นไปดอยตุงก็เป็นดินที่ปลอดภัย ทำให้ถนนนั้นๆ แข็งแรง ซึ่งเป็นผลที่มหัศจรรย์ เป็นผลของการปลูกหญ้าแฝกนอกจากนั้น ก็ทำให้การปลูกต้นไม้ข้างถนนสามารถปลูกได้อย่างปลอดภัยซึ่งก็เป็นผลแรกที่ได้ นอกจากนั้น ก็ได้ป้องกันที่ที่มันทลายลงมาแล้วทำให้เสียหายต่อการเพาะปลูก

             ฉะนั้น เรียกได้ว่าภายในไม่กี่วัน ผู้ที่รับหน้าที่ไปถวายคำแนะนำก็ดีใจได้ที่เห็นว่าการเพาะปลูกหญ้าแฝกในทางที่ถูกต้องได้เกิดบรรลุผลขึ้นมา ข้อสำคัญจะต้องศึกษาว่าใช้หญ้าแฝกชนิดใดที่จะขึ้นได้ บริเวณใดที่จะขึ้นได้ดีและไม่ทำให้เสียหายต่อดิน เพราะว่าบางแห่งจะขึ้นได้อย่างดีต้องมีความกว้างของดินที่ได้ช่วย ซึ่งก็แปลกที่บางแห่งจะต้องปลูกให้ห่าง ห่างกันเป็นแนวเมตรเดียวก็มี แล้วแต่ความชันของดิน ภายในไม่กี่วัน ท่านได้ส่งแบบแล้วก็ขนาดของการปลูก เวลานั้นเราก็ได้ไปเชียงใหม่แล้ว ก็เห็นว่าเป็นบริเวณที่ห่างกันไม่กี่เมตร บางแห่งก็ห่างกันหลายเมตร สำหรับปลูกหญ้าแฝก ฉะนั้น ก็ได้ผลภายในไม่กี่เดือน ได้ผลของการปลูกพืช ซึ่งก็ยาก ตอนนั้นยากที่จะได้ผลขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้นอย่างนั้น ทำให้ที่ดินเหล่านั้นเป็นประโยชน์ เราก็เห็นได้ว่าดินที่ได้รับการป้องกันจากพืชง่ายๆ อย่างเดียว ทำให้ดินเหล่านั้นมีประโยชน์ขึ้นมา การทดลองและผลของการเพาะปลูก โดยมากก็จะได้ผลภายในหลายเดือน แต่นี่ภายในไม่กี่เดือน ได้ประโยชน์ของการปลูกและการทดลอง

              ฉะนั้น เรื่องที่ได้ทดลองหญ้าแฝกนั้นได้ประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วผู้ที่ได้ทำก็เกิดตื่นเต้นเหมือนกัน แม้จะรู้ว่าหญ้าแฝกนี่จะเป็นประโยชน์ แต่ไม่นึกว่าจะได้ประโยชน์มากมายอย่างนี้ ภายในไม่กี่เดือน ได้ทำให้ที่ดินกว้างขวางได้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายได้ให้ความตื่นเต้นและดีใจที่ได้ทำ ผู้ที่ทำนั้นก็เป็นผู้ที่มีความรู้ทางการพัฒนาดิน แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเท่านั้น เป็นผู้ที่สามารถจะปลูกพืชอย่างหนึ่ง และทดลองพืชอย่างหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปสำคัญคือ จะต้องดูว่าหญ้าแฝกที่มีในเมืองไทยมีหลายชนิด ทั้งบนภูเขา ทั้งบนที่ราบ ทั้งใกล้ทะเลก็มี ก็หมายความว่ามีที่จะต้องศึกษามากมาย และภายในสิบเจ็ดปีที่ได้ทำการทดสอบนี้ ก็ปรากฎผลว่าได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งหญ้าแฝกชนิดต่างๆ จากของเมืองไทยนี้เองที่ให้ประโยชน์ และทั้งหญ้าแฝกที่ได้มาจากประเทศอื่นๆ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นอย่างที่ว่ากันตั้งแต่ต้น ว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ผู้ที่ได้ศึกษานี้ มีทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทั้งผู้น้อยก็ได้ทำประโยชน์ต่อเกษตรกรรมในประเทศและนอกประเทศด้วย ฉะนั้น ก็ต้องให้ทราบว่าที่ทำได้ ที่ได้ศึกษานี้มีประโยชน์ทั่วประเทศและทั่วภูมิภาคของโลก ฉะนั้น ที่ท่านได้ไปช่วยกันทำเป็นประโยชน์จริงๆ ถึงต้องขอขอบใจที่ท่านทั้งหลายได้ทำประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเกษตรและการเพาะปลูก โดยเฉพาะในเมืองไทยก็ได้ช่วยให้ประเทศมีความเจริญขึ้นอย่างมาก อย่างแปลกประหลาด ฉะนั้น ต้องขอบใจท่านที่ได้ช่วยกันทำ มีหลายคนไม่เชื่อว่าหญ้าธรรมดานี้อย่างเดียวจะช่วยประเทศให้รอดพ้นจากอันตรายหลายอย่าง คนบางคนก็บอกว่าหญ้านี่มันเป็นวัชพืช แต่คนที่ได้ศึกษาออกมายืนยันว่าหญ้าแฝกนี่ไม่ใช่วัชพืช แต่เป็นหญ้ามหัศจรรย์ เป็นหญ้าที่ช่วยประเทศชาติฉะนั้น ที่ท่านได้ทำมาเป็นเวลาแรมปี เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ช่วยประเทศชาติให้รอดพ้นจากอันตรายหลายอย่าง ก็ต้องขอบใจท่านที่ได้ตั้งใจทำงาน แม้จะเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยเพราะต้องไปทุกแห่ง แล้วต้องไปหาหญ้ามา หญ้านี่มีนานาชนิดนะ แล้วก็ต้องหาวิธีที่จะปลูกให้ดีที่สุดได้ไปเห็นบางแห่ง เจ้าหน้าที่ได้ตั้งใจปลูกให้ดีที่สุด ให้ได้มากที่สุด แล้วได้ผลจริงๆ

             ฉะนั้น ก็ต้องบอกท่าน งานท่านเป็นงานที่ยากอย่างหนึ่ง แต่ในที่สุดก็เป็นงานที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง และได้เกิดประโยชน์อย่างมาก เหน็ดเหนื่อยที่ในการทำต้องไปทุกแห่งและจะต้องพยายามต่อสู้เพื่อดูว่าที่ไหนเหมาะสมในการทำการเพาะปลูกหญ้าแฝก และทำการศึกษาให้ดีที่สุด แต่ในที่สุดก็ได้ผลในการทำงานนี้ ได้ประโยชน์ขึ้นมาอย่างยิ่ง น่าตื่นเต้น อย่างเช่นที่ สมเด็จพระบรมราชชนนี ท่านมีความตื่นเต้นในการปลูกหญ้าแฝก ปลูกหญ้านี่น่ะหญ้าธรรมดา ปลูกหญ้าเพื่อช่วยการเกษตรกรรม สร้างความเจริญแก่การเกษตรและการศึกษาของการสร้าง แม้จะสร้างถนน สร้างไร่นา ให้ได้ผลดีที่สุด

            ก็ต้องขอบใจท่านที่ได้ช่วยกันทำ ต้องบอกว่าด้วยความเหน็ดเหนื่อยแล้ววันนี้ท่านก็ได้ประโยชน์ ตอนนี้ได้ผลดี และยังมีผลต่อไปอีกมากมาย ก็ต้องขอบใจท่านทั้งหลายที่มีความเพียรอย่างนี้

 

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานพระราชดำริกับนาย สุเมธ ต้นติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (ประธานกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น ๑๔ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช มีใจความสำคัญ ดังนี้

            สถานการณ์ดินถล่มที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ รับสั่งว่า แต่เดิมเคยมีดินถล่มครั้งใหญ่ที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เนื่องจากมีพายุดีเปรสชั่นเข้าก่อนหน้านั้น ๓-๔ วัน ครั้นถึงวันที่ ๒๒ มีฝนตกใหญ่บริเวณพื้นที่เชิงเขาที่ชาวบ้านทำสวนยางพารา ดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว ก็พังทลายทำความเสียหายทั้งพื้นที่เชิงเขาและบริเวณชายเขาด้านล่างที่ดินถล่มไปทับถม

            รับสั่งว่า ในกรณีทั่วๆ ไปให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินงาน เพราะแม้กระทั่งหญ้าแฝกซึ่งตามหลักจะป้องกันดินพังทลาย ก็อาจจะเป็นตัวการให้ดินถล่มได้ เพราะรากเจาะลึกทำให้ดินแตกแยก และนำน้ำลงไปอาจจะเป็นเหตุให้ดินพังทลายเสียเอง ตลอดจนการปลูกต้นไม้มักจะใช้ต้นไม่โตเร็วซึ่งส่วนมากไม่มีรากแก้ว ก็จะไม่ยึดดินไว้ได้ ฉะนั้น ควรศึกษาอย่างรอบคอบว่าโครงสร้างดินลักษณะใด ควรจะดำเนินการอย่างไร ปลูกพืชชนิดไหน จะได้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้ หรือแม้กระทั่งการทดลองใช้กระสอบพลาสติกแบบมีปีกก็ต้องระมัดระวัง ศึกษาสภาพพื้นที่ให้ดีเพราะอาจจะเหมาะสมกับบางพื้นที่เท่านั้น ไม่สามารถใช้แบบเดียวกันได้ทั้งหมด

            ทรงกังวลเรื่องการใช้พื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบัน ที่รุกขึ้นไปบนเขา เข้าไปในป่า รับสั่งว่า เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทยครั้งทรงพระเยาว์นั้น ประเทศไทยมีประชากร ๑๘ ล้านคน ขณะนี้มีเกือบ ๗๐ ล้านคนแล้ว จึงมีความต้องการพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติม แต่ที่ดินในพื้นที่ราบมีเจ้าของหมดหากเข้าไปเพาะปลูกใช้ประโยชน์ก็เป็นการบุกรุกผิดกฎหมาย ยิ่งขับไล่ ก็ยิ่งรุกขึ้นไปบนเขา เข้าไปในป่ามากขึ้น จึงเห็นพื้นที่ปลูกยาง ปลูกปาล์ม ปลูกไม้โตเร็วต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก ทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ พื้นที่ดินถล่มก็เพิ่มขึ้นตามมา ดินถล่มสร้างความเสียหายอย่างมาก กว่าจะฟื้นหน้าดินมาใช้เพาะปลูกอีกก็ใช้เวลาหลายปีเมื่อเปิดพื้นที่ใหม่ขึ้นไปบนเขาก็สร้างถนน ถนนที่สร้างผิดไปขวางทางน้ำก่อความเสียหายทั้งน้ำท่วมและดินถล่ม เห็นทั้งที่จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชุมพร ภาคเหนือ และที่เพิ่งเกิดเมื่อเดือนมีนาคมนี้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เห็นภาพสะพานพัง ถนนเสียหาย ต้องใช้สะพานเชือกกัน การจัดการที่อยู่อาศัยที่ทำมาหากินจะต้องใช้เวลาแก้ไขอีกนาน ระหว่างนี้ก็ต้องหาวิธีการที่เหมาะให้อยู่ใด้ไม่ให้เกิดเสียหายอันตรายให้ชาวบ้านป้องกันตนเองได้ จัดการปัญหาดินถล่มจากการบุกรุกนี้ได้อย่างถาวร

            มีพระราชดำรัสถึงประสบการณ์ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากการสร้างถนนและวิธีการที่ทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า เมื่อก่อสร้างถนนสี่ช่องทางหน้าวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสร็จใหม่ๆ มีฝนตกหนักน้ำไหลตามแนวถนนมาท่วมบริเวณหน้าวังไกลกังวลฝั่งตะวันตกเพราะเป็นพื้นที่ต่ำ เกาะกลางถนนขวางน้ำไว้ไม่ให้ไหล จึงรับสั่งให้ทุบเกาะกลางถนนให้น้ำไหลผ่านวังไกลกังวลไปลงทะเล แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ต่อมาวางท่อระบายน้ำ แต่น้ำก็ยังท่วมและขังอยู่บริเวณสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้า เจ้าหน้าที่นำกระสอบมากั้นรอบสถานีแล้วสูบออก น้ำไหลวนอยู่อย่างนั้น ต้องรับสั่งให้หยุดสูบ แล้วทำทางระบายน้ำลงทะเล จะเห็นได้ว่าการสูบน้ำไม่ใช่ทางแก้ไขเสมอไป การจัดการน้ำไปเก็บหรือระบายให้ถูกต้องจะดีกว่า

            มีพระราชดำรัสว่าหากจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่ต้นเหตุ คือ การปรับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ถูกต้อง ก็จะต้องใช้เวลา ๑๐-๒๐ ปี ไม่ทันกับความเสียหายที่รุนแรงและขยายตัวไปทั่วทุกภาค จึงจำเป็นต้องศึกษา วิจัยทดลองให้ได้คำตอบว่าจะปลูกพืชอย่างไร ให้มีรากแก้วลึก สลับกับแฝก หรือพืชอื่นที่เหมาะสมตามสภาพ เช่น ที่ร่มไม่มีแดดก็อาจใช้ต้นไคร้นุ่น จัดการร่องน้ำไม่ให้น้ำมากัดเซาะ เพราะหากน้ำซึมลงไปได้ ทั้งดิน ถนน สะพาน ก็ทลายลง การกระทำอย่างนี้จะเหมาะสมกับความลาดเอียงอย่างไร ต้องปรับความลาดเอียงช่วยหรือไม่ และหากพื้นที่ชันมากจะต้องเสริมโครงสร้างเข้าไปอย่างไร หากจะสร้างถนนในพื้นที่เสี่ยงภัยเหล่านี้จะต้องสร้างอย่างไรไม่ให้น้ำกัดเซาะแล้วพังทลายเป็นอันตรายกับคน เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาโจทย์ คือ มูลนิธิน้ำควรสนับสนุน ส่งเสริมหรือทำวิจัยให้ได้แนวทางการจัดการปัญหาให้ได้ แล้วเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ ถึงแม้คนเหล่านี้จะทำผิดละเมิดกฎหมาย และหากจะแก้ปัญหาเหล่านี้ทั้งประเทศเงินเท่าไรก็ไม่พอ จึงต้องทำตัวอย่างให้ชัดเจนแล้วค่อยขยายผลให้ชุมชนอื่นทำ

 

 

อ้างอิง

          รายงานผลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ ๙ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘

         

 

                                                                                     

                                                                                             กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                           ๓๐  กันยายน  ๒๕๖๕

curve