สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ด้านปาล์มน้ำมัน

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ (ปาล์มน้ำมัน)

๒๕ สิงหาคม ๒๕๒๔

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแสกับหัวหน้าศูนย์พัฒนาที่ดินนราธิวาส ณ ศูนย์พัฒนาที่ดินนราธิวาส สรุปความว่า

          “...ให้หาพืชชนิดที่เหมาะสมมาปลูกในพื้นที่พรุ...”

 

๒ ตุลาคม ๒๕๒๖

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแส ณ พระตำหนักทักษิณราช-นิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส สรุปความว่า

          “...ควรจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรสวนปาล์มรายย่อยเหล่านี้ได้มีโอกาสรวมกลุ่มกันทำการสกัดน้ำมันปาล์มในรูปของโรงงานขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนต่ำ หากเกษตรกรขายปาล์มน้ำมันออกไปแล้ว ทุกอย่างก็จะไปอยู่ที่โรงงานสกัดทั้งหมด โดยเกษตรกรจะไม่มีอะไรเหลือ แต่ถ้าหากเกษตรกรรวมกลุ่มกันตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและขายแต่น้ำมันออกไปเพียงอย่างเดียวแล้ว วัสดุต่าง ๆ ที่เหลืออยู่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทะลายเปล่า ก็อาจนำมาทำปุ๋ย หรือเพาะเห็ด ส่วนกากปาล์มก็สามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ และปลา หรือทำเป็นเชื้อเพลิงแทนไม้ฟืนก็ได้ อีกทั้งหากเกษตรกรสามารถแปรรูปน้ำมันดิบให้เป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งสามารถผลิตเป็นน้ำมันปรุงอาหาร เนยขาว เนยเทียม สบู่ และผงซักฟอกได้ ก็จะทำให้เกษตรกรมีโอกาสใช้และจำหน่ายผลผลิตเหล่านี้ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในท้องถิ่น”

         

๒๓ กันยายน ๒๕๒๘

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานสาธิตที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และพระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า

          “...ให้ทดลองสร้างโรงงานสาธิตให้แก่กลุ่มเกษตรกรสวนปาล์มรายย่อยที่มีความพร้อม และให้จัดทำคู่มือเรื่องปาล์มน้ำมัน และการแปรรูปน้ำมันปาล์มเผยแพร่ด้วย รวมทั้งให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก”

 

๑ ตุลาคม ๒๕๓๑

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแสกับนายสิทธิลาภ วสุวัต รองอธิบดี กรมพัฒนาที่ดิน สรุปความว่า

          “...การหีบน้ำมันปาล์มจากแปลงวิจัยให้ใช้เครื่องหีบแบบง่าย ๆ ใช้แรงงานคน...”

 

๘ ตุลาคม ๒๕๓๑

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริแก่คณะทำงานโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สรุปความว่า

          “...ให้ทำการสร้างโรงงานสกัดและแปรรูปน้ำมันปาล์มขนาดเล็กขึ้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อนำผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้ทดลองปลูกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มาทำการสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบและแปรรูปต่อเนื่องจนถึงขั้นบริโภค แต่ให้จำกัดขนาดให้เล็ก เพื่อเน้นทางด้านการศึกษาและสาธิตให้เกษตรกรได้มาศึกษาหาความรู้และเห็นประโยชน์ว่าปาล์มน้ำมันสามารถนำมาทำอะไรได้บ้าง และเมื่อเข้าใจแล้วจะได้นำไปปลูกพื้นที่ของตนต่อไป...”

 

๗ ตุลาคม ๒๕๓๓

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานที่ศูนย์ศึกษา      การพัฒนาพิกุลทอง ฯ เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ทอดพระเนตรการทำงานของเครื่องจักรสกัดน้ำมันปาล์ม ตั้งแต่เครื่องหีบแบบแรงคน เครื่องหีบน้ำมันแบบเกลียวอัดที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮโดรลิกส์ และอุปกรณ์กลั่นน้ำมันปาล์ม ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่าง ๆ อย่างละเอียดครบถ้วนทุกขั้นตอน และมีพระราชกระแสว่า

          “...ให้มีการนำเอากากปาล์มที่เป็นผลผลิตพลอยได้จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มศูนย์ ฯ โดยให้ทางกรมปศุสัตว์นำไปทดลองวิจัยเลี้ยงสัตว์โดยเน้นไก่พื้นเมือง รวมทั้งให้คณะทำงานดำเนินการต่อเนื่องอีกหลายโครงการ เช่น ให้พยายามนำน้ำมันปาล์มและไขสบู่ไปทดลองผสมยาเร่งน้ำยาง      เพื่อใช้ในการเร่งน้ำยางในสวนยางพาราและหาทางช่วยเหลือเกษตรกร และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กให้ทำการสกัดน้ำมันปาล์มให้เร็วที่สุด เพื่อมิให้เกิดกรดไขมันอิสระในน้ำมันปาล์มเกินมาตรฐาน (๕%) โดยเริ่มตั้งแต่การพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรทำการสกัดน้ำมันในครัวเรือน และหาทางแปรรูปทะลายปาล์ม”

 

๒๑ กันยายน ๒๕๓๓

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแสกับนายผาสุก กุลละวาณิชย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สรุปความว่า

          “...ให้ศึกษาขนาดของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบขนาดเล็กที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก โดยใช้แรงงานคน ไม่ต้องมีอุปกรณ์ใดอยู่ในพื้นที่ เพื่อจะสกัดน้ำมันดิบได้ทันทีไม่ต้องขนส่ง จากนั้นจึงขนน้ำมันดิบไปโรงงานแปรรูปอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะขนส่งได้สะดวกกว่าเก็บได้นานกว่าผลปาล์มทั้งทะลาย...”

 

สิงหาคม ๒๕๔๓

          เนื่องจากในช่วงกลางปี ๒๕๔๓ ราคาน้ำมันปิโตรเลียมในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องทำการรณรงค์ให้มีการประหยัดการใช้น้ำมันด้วยการจัดวันงดใช้รถยนต์ (car free day) ขึ้น ในเดือนสิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มี
พระราชกระแสสอบถามมายังนายชัยวัฒน์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ฯ ในขณะนั้น ว่า

          “...น้ำมันปาล์มสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลได้หรือไม่ และถ้าหากใช้ได้ ไอเสียที่ออกมาจากเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันปาล์มจะมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่...”

         

๒๔ กันยายน ๒๕๔๓

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรการใช้น้ำมันปาล์มโอเลอีนบริสุทธิ์ และเมทิลเอสเตอร์เดินเครื่องจักรกลการเกษตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ฯ และมีพระราชกระแสว่า

          “...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการใช้น้ำมันปาล์มผสมน้ำมันดีเซล เพื่อใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตร ควรลองทำ ในเชิงธุรกิจลักษณะสถานีจำหน่ายในสหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และหากขาดแคลนงบประมาณให้เสนอโครงการวิจัยต่อมูลนิธิชัยพัฒนา...”

 

๒๙ กันยายน ๒๕๔๓

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งในที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ครั้งที่ ๑/๒๕๔๓ ว่าจากการเสด็จ ฯ ไปพื้นที่ภาคใต้ ทรงพบว่าโครงการทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ มีปัญหาในเรื่องการเงิน จึงมีพระราชประสงค์ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนโครงการนี้ พร้อมทั้งมีพระราชกระแสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว รัชกาลที่ ๙ ในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนการศึกษาวิจัยการนำน้ำมันปาล์มาทดแทนน้ำมันดีเซล
ในเครื่องจักรกล

 

๑ ตุลาคม ๒๕๔๓

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแสกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ความว่า

          “...ให้ดำเนินการศึกษาการนำน้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์โดยให้นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในเครื่องจักรกลการเกษตรในอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ให้ศึกษาดูว่าน้ำมันมี Duration ยาวนานแค่ไหน และให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณศึกษาวิจัยกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์...”

 

๔ ตุลาคม ๒๕๔๓

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำริแก่นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล สรุปความว่า

          “...มีพระราชประสงค์ให้ใช้เงินจากมูลนิธิชัยพัฒนา สำหรับซ่อมแซมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และให้ทดลองการใช้น้ำมันปาล์มกับเครื่องยนต์ดีเซลที่สหกรณ์อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ...”

 

พ.ศ. ๒๕๔๔

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแสให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดสร้างโรงงานต้นแบบสกัดน้ำมันปาล์มในระดับสหกรณ์ ซึ่งมีขนาดกำลังผลิต ๒ ตันทะลาย ต่อชั่วโมงที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ โดยใช้กระบวนการทอดผลปาล์ม ภายใต้สภาพสุญญากาศ ซึ่งทำให้ไม่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิต และสกัดน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเมทิลเอสเตอร์ในอนาคตเมื่อราคาน้ำมันดีเซลในประเทศสูงขึ้น

 

๒ มิถุนายน ๒๕๔๔

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก และได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้น้ำมันปาล์ม ๑๐๐%

 

๕ ตุลาคม ๒๕๔๔

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสที่ นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ ในโอกาสเข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศและดูดน้ำ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล

          “...เรื่องน้ำมันไบโอดีเซลสามารถใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ได้ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แทนน้ำมันดีเซล ต้องศึกษาให้ดี อย่าพึ่งเร่งรัดเกินไป เพราะว่าตอนนี้น้ำมันราคาถูกลงยังแพงกว่าน้ำมันดีเซลอยู่ดี ถ้าน้ำมันดีเซลหมดเราก็พร้อมที่จะทำ...”

 

๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๘

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่เอกอัครราชทูต ไทยและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ณ วังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกี่ยวกับพืชทดแทนพลังงาน ความว่า

          “...เรื่องพืชพลังงานทดแทนที่ท่านนำมา มีพืชหลายชนิด ความจริงได้ศึกษามาหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่เอะอะว่าน้ำมันขึ้นวันละ ๔๐ สตางค์ วันหนึ่งขึ้น ๔๐ สตางค์ คนที่จะไปซื้อไปเติมน้ำมันก็ตกใจ เพราะว่าบางคนส่วนมาก น้ำมันเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ทำมาหากินได้ แล้วถ้าน้ำมันแพง ค่าตอบแทนในอาชีพก็อยู่คงที่หรือขึ้น ค่าใช้จ่ายมากขึ้นแต่รายได้ลดน้อยลงเดี๋ยวนี้บางคนเกือบจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องทำการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนที่ราคาถูก ไม่ใช่บอกจะทำการผลิตเชื้อเพลิง แต่ถ้าเชื้อเพลิงแพงกว่าน้ำมันที่ซื้อมาจากต่างประเทศ ฉะนั้น ก็ข้อสำคัญเรื่องพลังงานทดแทนอยู่ที่ว่าต้องทราบว่า พลังงานนั้นได้จากพืช โดยมากพูดถึงพืช จากพืชถูกกว่าน้ำมันในดิน ของเราก็มีน้ำมันในดินแต่ไม่พอ น้ำมันเชื้อเพลิงในทะเลก็มีแต่มีจำนวนน้อย ตอนนี้สำหรับเชื้อเพลิงที่จะได้จากดิน โดยปลูก ก็ต้องให้สามารถปลูกในราคาที่ประหยัด ซึ่งส่วนใหญ่ที่พูดถึงก็มี ที่สำคัญคือแกสโซฮอล์ แกสโซฮอล์มาจากแอลกอฮอล์มาปนกับน้ำมันดิน น้ำมันแกสโซลีน ซึ่งปนอย่างดีที่สุด เห็นว่าประมาณ ๒๐% อีก ๘๐% ต้องใช้น้ำมันที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงธรรมดา จะเป็นดีเซล จะเป็นน้ำมันสำหรับรถยนต์ธรรมดา ๘๐% ต้องสั่งจากนอก ฉะนั้น ที่ได้ทดลองแกสโซฮอล์มาประมาณ ๒๐ ปีแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จดีเพราะว่าตอนนั้นคนไม่สนใจ บอกว่าใช้น้ำมันแกสโซฮอล์ ตอนนั้นไม่เรียกว่าแกสโซฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแอลกอฮอล์ราคาจะแพงกว่าน้ำมันที่ซื้อที่ปั๊ม ตอนนั้นก็บอกว่าน้ำมันปั๊มถูกกว่าแกสโซฮอล์

           อย่างไรก็ตาม ที่ไม่ย่อท้อในการศึกษาแกสโซฮอล์ ก็เพราะทราบดีว่าในวันหนึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงจะน้อยลง เมื่อของมีน้อยราคาก็ต้องแพง ก็เลยตั้งใจที่จะปลูกข้าวโพดปลูกอ้อย วันหนึ่งปลูกอ้อยที่หน้าดุสิดาลัยที่สวนจิตร ปลูกอ้อยจำนวนไม่มาก แล้วก็มีการปลูกต้นไม้ ปลูกต้นที่ขึ้นเร็ว ที่คนเห่อกันมาก จะได้ดูว่าอย่างไหนจะได้แอลกอฮอล์สำหรับใส่แกสโซฮอล์ได้มากกว่ากัน ปลูกไว้ ระหว่างอ้อยที่ปลูกก็ขึ้นงามดี ส่วนยูคาลิปที่ปลูกขึ้นไม่ค่อยดี เพราะที่สวนจิตรดินเหนียวซึ่งไม่เหมาะ แต่อย่างไรก็ตาม ดินเหนียวเหมาะสมสำหรับอ้อยก็ขึ้นดี ก็นึกว่าการทดลองนั้นจะเป็นประโยชน์ ตั้งใจจะเอาอ้อยที่ขึ้นมาในที่นั้น มาเปรียบเทียบกับจำนวนพลังงานที่ได้จากต้นไม้ เขาใช้ต้นไม้นั้นสำหรับเผา มีฝ่ายต่างประเทศมาบอกว่าที่ฟินแลนด์ให้ปลูกยูคาลิป แล้วเอายูคาลิปไปทำไฟฟ้า เราไม่ต้องการทำไฟฟ้า ต้องการดูว่าอ้อยจะได้พลังงานเท่าไหร่ ส่วนแอลกอฮอล์จะได้พลังงานเท่าไหร่ ไม่สำเร็จ เพราะทางราชการเห็นว่าปลูกอ้อยดีมาก ก็มาตัดไปทำพันธุ์ ที่จริงอ้อยที่ปลูกไม่เป็นอ้อยที่ดี เป็นอ้อยธรรมดา ตัดไปทำพันธุ์ เราก็เลยไม่รู้ว่าอ้อยกับยูคาลิปจะได้พลังงานอันไหนมากกว่ากัน อันไหนที่จะได้รับการตอบแทนมากอย่างไร เลยไม่รู้ ทดลองก็เป็นหมัน ที่ทำอย่างนั้นก็ไม่เป็นผล ที่ไม่เป็นผลไม่ทราบว่าเพราะอะไร เพราะเราโง่ที่ให้เขาไปตัด แต่เขาว่าเราโง่ที่ไม่ให้เขา ถ้าไม่ให้เขาเราโง่ ตกลงเรากลัวโง่ก็เลยให้เขาไป

            ฉะนั้น การที่ทำการทดสอบทดลองมันยาก เพราะว่าคนมาเอาไปไม่ทราบจุดประสงค์ของเขา จุดประสงค์ของการเอาอ้อยที่เราปลูกจะไปทำอะไร จากนั้นก็หายต๋อมไปเลย ไม่ทราบว่าไปทดสอบอะไร ไม่ทราบว่าอ้อยของเราดีหรือไม่ดี จากนั้นไม่ได้ทำ ต่อจากนั้นได้ทำน้ำมันปาล์ม น้ำมันปาล์มทราบว่าดี เป็นน้ำมันที่ดีใช้งานได้ ใช้บริโภคแบบใช้น้ำมันมาทอดไข่ได้ มาทำครัวได้ เอาน้ำมันปาล์มมาใส่รถดีเซลได้ กำลังของน้ำมันปาล์มนี้ดีมาก ก็ได้ผล เพราะว่าเมื่อได้มาใส่รถดีเซลไม่ต้องทำอะไรเลย ใส่เข้าไปแล่นไป คนที่แล่นตามบอกว่าหอมดี...”

 

 

อ้างอิง

          สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

          สำนักราชเลขาธิการ. พระราชกรณียกิจ.

          มูลนิธิชัยพัฒนา. รายงานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ครั้งที่ ๑/๒๕๔๓  วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๓

          มูลนิธิชัยพัฒนา. วาสารมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๖

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง. สรุปพระราชดำรัส.

 

                                                                                     

                                                                                             กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                           ๓๐  มิถุนายน  ๒๕๖๕

 

 

curve