สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ ด้านโครงการพัฒนาการเกษตร (ทฤษฎีใหม่)

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ 
ด้านโครงการพัฒนาการเกษตร (ทฤษฎีใหม่)
๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
        “...ทำทฤษฎีใหม่ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีโอกาสทำเกษตรกรรมให้พอกิน ถ้าน้ำมีพอดีในปีไหน ก็สามารถที่จะประกอบการเกษตรหรือปลูกข้าวที่เรียกว่านาปีได้ ถ้าต่อไปในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถที่จะใช้น้ำที่กักไว้ในสระเก็บน้ำของแต่ละแปลงมาทำการเพาะปลูก แม้แต่ข้าวก็ยังปลูกได้ ไม่ต้องไปเบียดเบียนชลประทานระบบใหญ่ เพราะมีของตัวเอง แต่ก็อาจจะปลูกผักหรือเลี้ยงปลาหรือทำอะไรอื่น ๆ ก็ได้ ทฤษฎีใหม่นี้ มีไว้สำหรับป้องกันความขาดแคลนในยามปกติ
ก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามที่มีอุทกภัย ก็สามารถที่จะฟื้นตัวได้เร็ว โดยไม่ต้องให้ทางราชการไปช่วยมากเกินไป ทำให้ประชาชนมีโอกาสพึ่งตนเองได้อย่างดี ฉะนั้น จึงได้สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่...”
 
๔ ธันวาคม ๒๕๓๗
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
        “... “ทฤษฎีใหม่” นี้ มิได้เป็นการแจกจ่ายที่ดิน เป็นที่ดินของประชาชนเอง เรื่องนี้เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรี ที่ต้องพูด เพราะว่า แม้ได้พูดเรื่องที่เป็นต้นเหตุของเรื่องนี้มาแล้ว แต่ว่าไม่ได้พูดอย่างชัดแจ้ง เรื่องนี้เริ่มที่สระบุรีเมื่อหลายปีแล้ว ก่อนหน้านั้นได้มีจินตนาการ ความคิดฝัน
ท่านทั้งหลายคงนึกแปลก ทำไมแผนการจะต้องคิดฝัน ไม่ได้ไปดูตำรา ไม่ได้ค้นตำรา แต่ค้นในความคิดฝัน ในจินตนาการ เรานึกถึงว่าจะต้องมีแห่งหนึ่ง ที่จะเข้ากับเรื่องของเรา
เรื่องของเรา เกี่ยวข้องกับบุคคลหนึ่งที่มีบรรพบุรุษมาจากอินเดีย ผ่านลังกาแล้วมาเมืองไทย บรรพบุรุษเขาไปพระพุทธบาทสระบุรี พระเจ้าอยู่หัวในครั้งก่อนโน้น โปรดเสด็จไปสระบุรีกับเสนามาตย์ เพื่อนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ในเรื่องของเราปู่ของพระเอกไปแล้ว
        ก็เดินทางกลับมาทางสระบุรี ใกล้อำเภอเมืองมีวัดแห่งหนึ่ง ชื่อว่า วัดมงคล เขาชอบ เพราะคำว่ามงคลนี้มันดี มันเป็นมงคล มันก้าวหน้า เขาผ่านมาและได้ไปดูวัดแห่งนั้น และได้บริจาคเงินให้กับวัด สำหรับสร้างพระอุโบสถ ปู่ของพระเอกก็ยังได้ให้เงินส่วนหนึ่งสำหรับสร้างฝาย เพราะที่ตรงนั้น ไม่ค่อยเหมาะสำหรับทำนา แต่ถ้าทำฝายก็สามารถที่จะทำมาหากินได้ในทางเกษตร นี่ก็ประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ลงท้ายเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องในจินตนาการ ก็กลายเป็นจริง
        ได้ดูแผนที่สระบุรี ทุกอำเภอ หา ๆ ไป ลงท้ายได้เจอวัดชื่อมงคล อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แล้วก็เหมาะในการพัฒนาจึงไปซื้อที่ ซื้อด้วยเงินส่วนตัวและเพื่อนฝูง
ได้ร่วมบริจาคเงินจำนวนหนึ่ง ได้ซื้อ ๑๕ ไร่ ที่ใกล้วัดมงคลหมู่บ้านวัดใหม่มงคล ได้ส่งคนไปพบชาวบ้าน เขาก็ไม่ทราบว่ามาจากไหน ไปพบชาวบ้านสืบถามว่า ที่นี่ มีที่ที่จะขายไหม เขาก็เชิญขึ้นไปบนบ้าน แล้วเขาก็บอกว่าตรงนี้มี ๑๕ ไร่ที่เขาจะขาย ในที่สุดก็ซื้อ ก่อนตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ก็เป็นเวลาประมาณ ๗ ปี ไปซื้อที่ตรงนั้น คนพวกนั้น ก็งงกัน เขาเล่าให้ฟังว่า มีคนเขาฝัน ว่าพระเจ้าอยู่หัวมา แล้วก็มาช่วยเขา เขาก็ไม่ทราบว่า คนที่ไปนี่เป็นใคร แต่สักครู่หนึ่ง เขามองไปที่ปฏิทิน เขามองดู เอ๊ะ คนนี้ คนที่อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวนั่น เอ๊ะ คนนี้ก็อยู่ข้างหลังพระเจ้าอยู่หัวในรูป ใกล้ ๆ เขาก็เลยนึกว่า เอ๊ะ พวกนี้มาจากพระเจ้าอยู่หัว เขาก็เลยบอกว่าขายที่นั้น ก็เลยซื้อที่ ๑๕ ไร่ และไปทำเป็นศูนย์บริการ
        ทางราชการโดยกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ทางนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ช่วยกันทำโครงการนี้ โครงการนี้ใช้เงินของมูลนิธิชัยพัฒนาส่วนหนึ่ง ใช้เงินของราชการส่วนหนึ่ง โดยวิธีขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้น้ำนั้นมาทำการเพาะปลูก ตาม “ทฤษฎีใหม่” ซึ่ง “ทฤษฎีใหม่” นี้ยังไม่เกิดขึ้น พอดีขุดบ่อน้ำนั้น เราก็เรียกว่า “มือดี” ขุดน้ำมีน้ำ ข้าง ๆ ที่อื่นนั้น ไม่มีน้ำ แต่ตรงนั้นมีน้ำ ลงท้ายก็สามารถปลูกข้าว แล้วก็ปลูกผัก ปลูกไม้ยืนต้นไม้ผล ต่อมาก็ได้ซื้อที่อีก ๓๐ ไร่ ก็กลายเป็นศูนย์พัฒนา หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่ง สำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ ดำเนินการไปแล้ว ทำอย่างธรรมดาอย่างชาวบ้าน ในที่สุดได้ข้าวและได้ผัก ขายข้าวกับผักนี้มีกำไร ๒ หมื่นบาท ๒ หมื่นบาทต่อปี หมายความว่า โครงการนี้ใช้งานได้ เมื่อใช้งานได้ก็ขยายโครงการ “ทฤษฎีใหม่” นี้ โดยให้ทำที่อื่น นอกจากมีสระน้ำในที่นี้แล้ว จะต้องมีอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่กว่าอีกแห่ง เพื่อเสริมสระน้ำ ในการนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชน ซื้อที่ด้วยราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ไปเวนคืนและสร้างอ่างเก็บน้ำ
        ฉะนั้นในบริเวณนั้นจะเกิดเป็นบริเวณที่พัฒนาแบบใหม่ ถึงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งเข้าใจว่าจะดำเนินไปได้ ในที่นี่ แต่ที่อื่นยังไม่ทราบว่าจะทำได้หรือไม่ได้ ที่นายกฯ บอกว่าจะขยายทฤษฎีนี้ไปทั่วประเทศ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะว่าต้องมีปัจจัยสำคัญคือปัจจัยน้ำ แล้วก็ต้องสามารถที่จะให้ประชาชน เข้าใจ และยินยอม ถ้าเขาไม่ยินยอม ก็ทำไม่ได้ ถึงมาทำที่กาฬสินธุ์ ที่เคยเล่าให้ฟัง ในชุมนุมอย่างนี้แล้วว่า ทำที่อำเภอเขาวง ที่ไปปีนั้นเล่าเรื่อง ที่เดินทางไป “ทางดิสโก้” ที่เป็นทางทุลักทุเลมาก ที่ “ทางดิสโก้” นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่าปีแรกทำนา ๑๒ ไร่ ได้ข้าวตามที่
กะเอาไว้ พอสำหรับผู้ที่อยู่ในที่ตรงนั้น พอกินได้ไปตลอดปี จึงทำให้ประชาชนในละแวกนั้น มีความเลื่อมใส และยินดียินยอมให้ทำแบบนี้ในที่ของเขาอีก ๑๐ แปลง หลังจากที่ทำ ๑๐ แปลงนั้น
ก็ได้ผล ปีนี้เขาขออีกร้อยแปลงการขุดสระนั้น ก็ต้องสิ้นเปลือง ชาวบ้านไม่สามารถที่จะออกค่าใช้จ่ายสำหรับการขุด ก็ต้องทำให้เขา มูลนิชัยพัฒนา และทางราชการก็ได้ช่วยกันทำ โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องสิ้นเปลืองมากมาย ก็ให้เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง ฉะนั้น “ทฤษฎีใหม่” นี่ จะขยายขึ้นไปได้ อาจจะทั่วประเทศ แต่ต้องช้า ๆ เพราะว่าต้องสิ้นเปลือง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ๆ แต่ว่าค่อย ๆ ทำ และเมื่อทำแล้ว ก็นึกว่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คืออาจไม่รวยมาก แต่ก็พอกินไม่อดอยาก ฉะนั้นก็นึกว่า “ทฤษฎีใหม่” นี้คงมีประโยชน์ได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง...”
 
ทฤษฎีใหม่
ขั้นที่หนึ่ง
(๑) ถ้าพูดอย่างสรุปที่สุด เป็นวิธีปฏิบัติของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย แปลงเล็ก (ประมาณ ๑๕ ไร่) 
(๒) หลักสำคัญ : ให้เกษตรกรมีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวได้ (Self sufficiency) ในระดับชีวิต ที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น 
(๓) มีการผลิตข้าวบริโภคพอเพียงประจำปี โดยถือว่าครอบครัวหนึ่ง ทำนา ๕ ไร่ จะมีข้าวพอกินตลอดปี ข้อนี้เป็นหลักสำคัญของทฤษฎีนี้
(๔) เพื่อการนี้ จะต้องใช้หลักว่า ต้องมีน้ำ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ฉะนั้น ๕ ไร่ต้องมี ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร แต่ละแปลง (๑๕ ไร่) ทำนา ๕ ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผล ฯลฯ ๕ ไร่ (= ๑๐ ไร่) จะต้องมีน้ำ ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ต่อปี
จึงได้ตั้งสูตรคร่าว ๆ ว่า แต่ละแปลงประกอบด้วย
นา ๕ ไร่ และพืชไร่และสวน ๕ ไร่
สระน้ำ ๓ ไร่ ลึก ๔ เมตร จุประมาณ ๑๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร (๑๙,๒๐๐)
ที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ ๒ ไร่
รวมทั้งหมด ๑๕ ไร่
(๕) อุปสรรคสำคัญที่สุดคือ : อ่างเก็บน้ำ หรือสระ ที่ได้รับน้ำให้เต็มเพียงปีละหนึ่งครั้ง จะมีการระเหยวันละ ๑ เซนติเมตร โดยเฉลี่ย ในวันที่ฝนไม่ตก หมายความว่า ในปีหนึ่งถ้านับวันแห้ง ๓๐๐ วัน ระดับน้ำของสระจะลดลง ๓ เมตร (ในกรณีนี้ ๓/๔ ของ ๑๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร น้ำที่ใช้ได้จะเหลือ ๔,๗๕๐ ลูกบาศก์เมตร) จึงจะต้องมีการเติมน้ำเพื่อให้เพียงพอ
(๖) มีความจำเป็นที่จะมีแหล่งน้ำเพิ่มเติม สำหรับโครงการวัดมงคลชัยพัฒนา ได้สร้างอ่างเก็บน้ำจุ ๘๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สำหรับเลี้ยง ๓,๐๐๐ ไร่
(๗) ลำพังอ่างเก็บน้ำจุ ๘๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร จะเลี้ยงได้ ๘๐๐ ไร่ 
(โครงการวัดมงคล มีพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ แบ่งเป็น ๒๐๐ แปลง) อ่างนี้จึงเลี้ยงได้ ๔ ไร่ต่อแปลง ลำพังสระในแปลงเลี้ยงได้ ๔.๗๕ ไร่ จึงเห็นได้ว่า หมิ่นแหม่มาก (๔.๗๕ ไร่ + ๔.๐๐ ไร่ = ๘.๗๕ ไร่) ถ้าคำนึงว่า ๘.๗๕ ไร่นั้น จะทำเกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์ได้อีก ๖.๒๕ ไร่ จะต้องอาศัยเทวดาเลี้ยง 
แต่ถ้าคำนึงว่า ในระยะที่ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้น้ำ หรือมีฝนตก น้ำฝนที่ตกมาจะเก็บไว้ได้ในอ่างและในสระ สำรองไว้สำหรับเมื่อต้องการ อ่างและสระจะทำหน้าที่เฉลี่ยน้ำฝน (regulator) จึงเข้าใจว่าในระบบนี้น้ำจะพอ
(๘) ปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่ง คือราคาการลงทุนค่อนข้างสูง เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก (ทางราชการ ทางมูลนิธิ และ ทางเอกชน) แต่ค่าดำเนินการไม่สิ้นเปลืองสำหรับเกษตรกร
ทฤษฎีใหม่
มูลนิธิชัยพัฒนา
วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗
 
 
ทฤษฎีใหม่
ขั้นที่สอง
เมื่อตั้งศูนย์บริการที่วัดมงคลชัยพัฒนา และแปลงตัวอย่างที่ “ทางดิสโก้” สำเร็จแล้ว เกษตรกรก็เริ่มเข้าใจวิธีการ จึงขอให้ดำเนินการในที่ดินของตน เมื่อได้ผลก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกร รวมพลังกันในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงใน
(๑) การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
(๒) การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
(๓) การเป็นอยู่ (กะปิน้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
(๔) สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
(๕) การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)
(๖) สังคมและศาสนา
ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิ และเอกชน
ทฤษฎีใหม่
มูลนิธิชัยพัฒนา
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘
 
ทฤษฎีใหม่
ขั้นที่สาม
ติดต่อร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และ กับแหล่งพลังงาน (บริษัทน้ำมัน) ตั้งและบริหารโรงสี (๒) ตั้งและบริหารร้านสหกรณ์ (๑, ๓) ช่วยการลงทุน (๑, ๒) ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต (๔, ๕, ๖) 
ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกร และฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์
: เกษตรกรขายข้าวในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา) 
  ธนาคารกับบริษัทซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ
  (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง) : (๒) 
: เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาต่ำ
  (เป็นร้านสหกรณ์ ราคาขายส่ง) : (๑, ๓)
: ธนาคารกับบริษัท จะสามารถกระจายบุคลากร
 
ทฤษฎีใหม่
       มูลนิธิชัยพัฒนา
        วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ 
 
๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
        “...การทำทฤษฎีใหม่นี้มิใช่ของง่าย ๆ แล้วแต่ที่ แล้วแต่โอกาส และแล้วแต่งบประมาณ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ประชาชน ทราบถึงทฤษฎีใหม่นี้กว้างขวางและแต่ละคนก็อยากได้ ให้ทางราชการขุดสระแล้วช่วย แต่มันไม่ใช่สิ่งง่ายนัก บางแห่งขุดแล้วไม่มีน้ำ แม้จะมีฝนน้ำก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันรั่วหรือบางทีก็เป็นที่ที่รับน้ำไม่ได้ ทฤษฎีใหม่นี้จึงต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมด้วย...ฉะนั้น การที่ปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ หรืออีกนัยหนึ่ง ปฏิบัติเพื่อหาน้ำให้แก่ราษฎร เป็นสิ่งที่ไม่ใช้ง่าย ต้องช่วยกันทำ...”
 
๔ ธันวาคม ๒๕๔๐
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
        “...เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีคนเอาที่ดินมาให้ อยู่ที่อำเภอปักธงชัย ตอนแรกเขาจะให้ ๙ ไร่ เวลามาพบเขาเกิดพอใจ เขาบอกว่าเขามีที่ ๓๐ ไร่ เขาขอที่ ๙ ไร่เอาไว้สำหรับแจกให้ลูก ๓ คน คนละ ๓ ไร่ ส่วนอีก ๒๑ ไร่นั้น เขาให้ จะทำโครงการอะไรก็ได้
ตอนแรกเขานึกจะตั้งวัด มีเพื่อนของเขาคัดค้านว่า มีวัดอยู่แล้ว เขาก็เลยบอกว่าจะตั้งที่พักสำหรับโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ห่างจากที่นั้นประมาณหนึ่งกิโลเมตร ในที่สุดเขาเอามาให้ บอกว่าทำอะไรก็ได้ เรานึกว่าถ้าทำที่พักโรงพยาบาลก็อาจจะยังไม่มีประโยชน์ในทันที จึงตกลงทำโครงการสาธิต “ทฤษฎีใหม่” ในที่ที่เหลือ ส่วนหนึ่งจะทำการเพาะปลูกแบบชาวบ้าน แบบไม่ได้ส่งเสริม หมายความว่าใช้น้ำฝน ใช้ธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งจะทำแบบ “ทฤษฎีใหม่” โดยขุดสระและแบ่งเป็นส่วนที่จะปลูกข้าว และส่วนที่จะปลูกไม้ยืนต้น กับปลูกพืชไร่พืชสวน เริ่มมาไม่กี่เดือนนี้ ได้รับรายงานเมื่อวานนี้ ว่าได้ดำเนินการแบ่งส่วนที่จะทำอะไร ๆ และมีรูปภาพสระที่ขุดแล้วมีความบกพร่องอยู่บ้างว่า น้ำมีความเป็นด่างเกินไป เลี้ยงปลายังไม่ได้ ต้องมีการแก้ไขให้น้ำนั้นมีค่าเป็นกลาง เพื่อที่จะให้ใช้น้ำนั้นสำหรับเลี้ยงปลาได้ ที่จริงก็แปลกเพราะว่าที่อื่นที่ไปทำ น้ำมันเปรี้ยว ที่นี่น้ำเป็นด่าง วิธีแก้น้ำที่เป็นด่าง ก็เอาปุ๋ยคอก แช่ลงไปในน้ำ ซึ่งจะทำให้น้ำนั้นกลายเป็นกลางได้...”
 
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๑
พระราชดำรัส ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
        “...ทฤษฎีใหม่ ยืดหยุ่นได้ และต้องยืดหยุ่น เหมือนชีวิตของเราทุกคนต้องมียืดหยุ่น...”
 
๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
พระราชดำรัส ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
        “...ทฤษฎีใหม่นี้เป็นทฤษฎีที่ได้กล่าวออกมา หรือได้แสดงออกมาเมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ พิมพ์ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็น ๓ ขั้น และพยายามที่จะทำให้สั้นที่สุด การทำให้สั้นที่สุดย่อมเข้าใจยาก แต่ว่าเมื่อทำให้สั้นที่สุด และให้มีใจความก็น่าจะเข้าใจได้ จึงให้ผู้ที่มีหน้าที่ได้ดู และให้เขาไปเลย ไม่ได้นึกว่าทฤษฎีใหม่นี้จะไปปฏิบัติได้อย่างง่าย ๆ แต่ว่าผู้ที่รับทฤษฎีใหม่นี้ไปก็เกิดเข้าใจและไปปฏิบัติได้ 
        ทฤษฎีใหม่นี้เกิดขึ้นมาอย่างไร ก็มาจากการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติของคนอื่นด้วยตั้งแต่ต้น ทฤษฎีใหม่นี้ ความจริงทางราชการได้ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ก่อนที่จะเกิดเป็นทฤษฎีใหม่ตามที่เรียกว่าทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ คือ การพัฒนาทางการเกษตร โดยเพาะปลูกหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน อย่างเช่นเขาปลูกข้าว หลังจากฤดูกาลข้าว เขาก็ปลูกถั่ว อย่างนี้เป็นทฤษฎีใหม่แล้ว แต่ไม่มีใครบอกว่าเป็นทฤษฎี ก็เลยได้หน้าว่าใช้คำว่า ทฤษฎีใหม่ นี่เป็นความคิดขึ้นมา และยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี เมื่อยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี ก็ไปปฏิบัติต่อได้ ที่เริ่มทำทฤษฎีใหม่นี้ ก่อนที่จะได้เรียกว่าเป็นทฤษฎีก็ทำที่สระบุรี ที่นั้นได้ไปหาซื้อที่ ๑๕ ไร่ ซึ่งคุณภาพไม่ดี เงินที่ซื้อ ๑๕ ไร่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินส่วนตัว อันนี้ส่วนตัวแท้ ๆ ไม่ได้ไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดิน หรือจากที่อื่น เป็นเงินส่วนตัวที่เก็บอยู่เป็นเงินสด จนมีคนล้อว่าเป็นเศรษฐีเงินสด ไม่ได้เป็นเศรษฐีที่ไปลงทุนกินดอกเบี้ย บางคนเขาตำหนิว่าทำไมเก็บเงินสด เก็บเงินสดไว้ในกระเป๋า เอาไว้ในห้อง ไม่ได้เอาไปไว้ที่ธนาคาร หรือบริษัทหลักทรัพย์ คนเขาก็บอกว่า การเก็บเอาไว้อย่างนั้นไม่ถูกหลักเศรษฐกิจ ก็เลยเอาเงินเช่นนั้นไปซื้อที่ดิน
        คนอื่นที่เห็นดีในการไปซื้อที่ดินเพื่อที่จะทดลองก็มาสมทบทุน เป็นเอกชน เป็นเพื่อนเป็นฝูง ไปซื้อ ๑๕ ไร่ และคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายจังหวัด ทั้งฝ่ายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ร่วมไปทำ ก็บอกว่าให้ไปขุดสระ เพราะที่นี่ยังไม่มีน้ำ คนที่ขายที่นั้นเขาบอกว่ามีบริษัทหนึ่งเข้ามาแถวนี้ จะมาขอซื้อ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ถ้าหาน้ำได้เขาจะซื้อ ปรากฎว่าเขาขุด แล้วหาน้ำไม่ได้ อันนี้ก็แปลกเพราะว่าเมื่อซื้อที่ซึ่งห่างจากที่บริษัทนั้นเคยมาซื้อ เพียงประมาณ ๒๐๐ – ๓๐๐ เมตร เราไปขุดมีน้ำ เรียกว่าเราดวงดี ขุดมีน้ำได้ เมื่อมีน้ำแล้ว ก็สามารถที่จะนำน้ำนั้นมาทำการเพาะปลูกตลอดปี เลี้ยงปลาก็ได้ เลยใช้ที่ ๑๕ ไร่นี้มาปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ต้นไม้ผล ปลูกสมุนไพรก็มี และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งหมดนี่ใน ๑๕ ไร่นี้ คนก็บอกว่า แหม! ทำไมในที่แคบอย่างนี้ ทำได้ทุกอย่าง เมื่อทำไปปีหนึ่งก็ได้ผล ผลผลิตนั้นได้ให้นักเรียนที่โรงเรียนวัด และที่เหลือก็ยังขายไป ได้กำไร ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ที่บอกว่าการทำนี่ไม่ได้ทำเองแท้ เพียงแต่พูดไปว่ามีทฤษฎีทำอย่างนั้น ๆ คนที่ทำก็คือข้าราชการ และคนอื่นเข้ามาช่วยทำ หมายความว่าต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ราชการ คนงานและนักวิชาการต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ค่อยคิดว่าจะทำในที่ ๑๕ ไร่ที่แห้งแล้งแบบนี้ได้ แต่ก็ทำได้
        ผู้วางแผนเองก็ทึ่งตัวเอง นี่พูดเหมือนว่า จะอวดตัวว่าเก่ง แต่ตกใจตัวเองว่าที่พูดไปใช้งานได้ จึงมาสรุปเป็นทฤษฎีใหม่ เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่ก็ให้ไปที่มูลนิธิชัยพัฒนา แล้วเขียนข้างใต้ว่าเป็นทฤษฎีใหม่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ต่อมาคนก็ได้เห็นว่าใช้ได้ และไปปฏิบัติได้ในที่ที่แห้งแล้ง เคยเล่าให้ฟังแล้ว ว่าที่ทำที่อำเภอเขาวง กาฬสินธุ์ ที่ได้ผลดี ที่ตรงนั้นทำ ๑๒ ไร่ ภายในปีหนึ่งเขาก็มีข้าวกิน ครั้งแรกที่ไปเยี่ยมเขาไม่มีข้าวกิน มีเพียงไม่กี่เม็ดต่อรวง เมื่อชาวบ้านแถวนั้นเห็นว่าดี ก็ขอให้ช่วยปีต่อไปก็เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ ราย ปีต่อ ๆ ไปก็เป็น ๑๐๐ และขยายออกไปในภาคอื่น ได้เป็นการปฏิบัติตามทฤษฎี และได้ผล เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่แล้ว ก็มาเข้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง คนที่ทำนี้ ต้องไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ได้เขียนไว้ในทฤษฎีนั้นว่าลำบาก เพราะผู้ที่ปฏิบัติ ต้องมีความเพียร และต้องอดทน ไม่ใช่ว่าทำง่าย ๆ ไม่ใช่บอกว่าเป็นทฤษฎีของในหลวง แล้วจะทำได้สะดวก และไม่ใช่ว่าทำได้ทุกแห่ง ต้องเลือกที่ ถ้าค่อย ๆ ทำไป ก็จะสามารถขยายความคิดของทฤษฎีใหม่นี้ไปได้ โดยดัดแปลงทฤษฎีนี้ แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศ หรืออาจะช่วยสภาพภูมิประเทศ โดยหาแห่งน้ำเพิ่มเติม 
        ความจริงทฤษฎีใหม่ที่ปฏิบัติที่สระบุรีนั้นได้คิดก่อนที่บัญญัติทฤษฎี ที่สระบุรีนั้นได้ตั้งโครงการ ก่อนที่ตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการนี้เป็นคล้าย ๆ โครงการแรกของมูลนิธิ และก่อนที่เขื่อนป่าสักได้เริ่มต้น นึกว่าที่ตรงนั้นถ้าหากเขื่อนป่าสักสำเร็จ – ซึ่งเวลานี้ใกล้จะสำเร็จแล้ว – จะสามารถนำน้ำมาผ่านใกล้ที่ของทฤษฎีใหม่นั้นได้ ถ้าคลองส่งน้ำผ่านมา ทฤษฎีใหม่นี้ก็จะสมบูรณ์เพราะมีโครงสร้างรองรับไว้แล้ว และบริเวณที่ไม่ใช่บริเวณของทฤษฎีใหม่ เป็นของชาวบ้าน และปฏิบัติแบบเดียวกับที่ของทฤษฎีใหม่ ก็จะอยู่ดีมีกินมากขึ้น ถ้าทำโครงการอะไรที่ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ก็สามารถจะสร้างความเจริญให้กับเขตที่ใหญ่ขึ้นได้ เขตที่ใหญ่ ลงท้ายก็จะแผ่ทั่วประเทศได้ แต่เพื่อการนี้จะต้องมีความร่วมมืออย่างดี ระหว่างทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และนักปกครอง ดังนี้ ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่สองอย่างนี้ จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกันถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้...”
 
 
อ้างอิง
สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.
สำนักงาน กปร. ดิน น้ำ ลม ไฟ, ๒๕๕๖
 
 
 
กลุ่มนโยบายพิเศษ
๓๑  มีนาคม  ๒๕๖๕

curve