สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙ (ด้านโครงการพัฒนาแบบบูรณาการ)

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

(ด้านโครงการพัฒนาแบบบูรณาการ)

๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖

          พระราชดำรัส ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

          “กรมกองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประชาชนทุกด้านของการพัฒนา สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปรองดองกัน ประสานงานกัน”

          “เป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทุกด้านของชีวิตประชาชน
ที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่ สามารถที่จะหาดูวิธีการ
จะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ”

          “จุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ ก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้า วิจัย ในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่ สภาพฝนฟ้า อากาศ และประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ กัน ก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน”

          “เมื่อดำเนินการทดลองเป็นผลสำเร็จแล้ว จึงจัดแสดงสาธิตผลการทดลอง วิจัย ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ในทำนองพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการยืนยันว่า งานศึกษาการพัฒนาทุกงานที่สาธิตให้ประชาชนนั้น สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง”

 

๑๑ กันยายน ๒๕๒๖

          “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ ทุกกรมกอง ทั้งในด้านเกษตรหรือด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งต้องใช้วิชาการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชน ก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกันเหมือนกัน ซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายถึงว่าที่สำคัญปลายทางคือประชาชนจะได้รับประโยชน์ และต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์”

 

๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการ กปร. และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

          “เรื่องคำว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น คำนี้ทำให้เข้าใจว่าเป็นการศึกษาพัฒนาที่เป็นเรื่องของพระราชดำริ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น “อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หมายความว่า ทั้งอันนี้เป็นศูนย์ศึกษา ทั้งอันนี้เป็นพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาฯ นี้ และการดำเนินงานก็ดำเนินงานตามที่พระราชดำริ แต่ชื่อของกิจการก็ชื่อเพียงว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งหมายความว่าเป็นศูนย์ หรือเป็นแหล่งที่รวมการศึกษาเพื่อดูว่า ทำอย่างไรจะพัฒนาได้ผล และแม้กระนั้นที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้ มิได้ตั้งชื่อก่อน แต่ตั้งศูนย์ก่อนถึงได้ให้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนา
ซึ่งหมายความว่า ได้ตั้งกิจการอย่างหนึ่ง และได้ตั้งชื่อ ซึ่งจะชี้ว่าศูนย์ฯ นี้ หรือกิจการนี้ทำอะไร”

          “อันนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งที่จะได้จากกิจการศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ คือ เป็นการทำอะไรของฝ่ายหนึ่งและทำให้ฝ่ายอื่นได้เข้าใจว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน เรียกว่าเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่ด้านพัฒนาได้มีการร่วมมือสอดคล้องกัน”

          “ศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้มีหลักอยู่ว่า ทำไปแล้วก็ถ้าได้ผลดีก็จดเอาไว้กลายเป็นตำรา
ซึ่งหลักของตำราทั้งหลายต้องมาจากประสบการณ์ ฉะนั้น บางที่ก็จะเห็นวิธีปลูกข้าวหรือปลูกพืช หรือทำอะไรก็ตามดูท่าทางเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกหลักวิชา หรือนักวิชาการจะคัดค้าน แต่ว่ามาทดลองทำแล้วอาจจะได้ผล ลงท้ายก็ไปค้นในตำราก็จะเห็นว่าในตำราเขามีเหมือนกันแต่ลืมไป
อันนี้เป็นประโยชน์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอย่างที่ว่าไม่ใช่สถานีทดลอง แต่ว่าเป็นการทดลองแบบที่เรียกว่า “กันเอง” หรือแบบไม่เป็นทางการ”

          “ศูนย์ศึกษาฯ ไม่ใช่วิทยาลัย ไม่ใช่โรงเรียน แต่ว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งของคนทุกระดับสามารถที่จะมาดู จะเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นที่จะมาดู ศึกษา ก็ได้ คือเป็นทัศนศึกษา
พานักเรียน นักศึกษา วิทยาลัย ก็ตาม หรือไม่ใช่นักเรียน เป็นข้าราชการทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นผู้น้อยขึ้นมาจนถึงชั้นผู้ใหญ่ ทุกระดับ ทุกอย่าง ก็หมายความว่า ทุกหน้าที่สามารถดูในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ของวิชาการอันนี้ก็เท่ากับเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไร
มีวิชาการใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา นอกจากนั้นก็ไปดูศูนย์ศึกษา ไปหย่อนใจก็ได้เพราะว่าทำงานมาเครียดก็ไปเที่ยวศูนย์ศึกษาฯ เหมือนไปเที่ยวสวนสาธารณะก็ได้ ได้ความรู้ด้านนี้เป็นหลักของศูนย์ศึกษาการพัฒนา”

          “ประวัติการเริ่มต้นศูนย์ศึกษาการพัฒนา เริ่มที่ศูนย์ศึกษาฯ เขาหินซ้อน ประวัติมีว่าผู้ที่
ได้ให้ที่ประมาณ ๒๕๐ ไร่ ที่เชิงเขาหินซ้อน ใกล้วัดหินซ้อน แล้วก็บอกว่าขอให้ถวายสำหรับสร้างพระตำหนัก ตอนแรกก็ต้องค้นคว้าว่า ที่ตรงนั้นอยู่ตรงไหน ก็พยายามสืบถาม และได้คิดมา ๒ ปี พยายามหาบนแผนที่ว่าสถานที่นี้เป็นอย่างไร แล้วก็สอบถามดูว่าลักษณะพื้นที่เป็นอย่างไร ก็ได้พบบนแผนที่ พอดีไปอยู่มุมระวางแผนที่ จึงต้องต่อแผนที่ ๔ ระวาง สำหรับให้ได้ทราบว่าสถานที่
ตรงนั้นอยู่ตรงไหน แล้วก็เลยถามผู้ที่ให้นั้น ถ้าหากไม่สร้างตำหนักแต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่ศึกษาเกี่ยวข้องกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกว่ายินดีก็เลยเริ่มทำในที่ ๒๕๐ ไร่นั้น อันแรกก็ได้ให้กรมชลประทานได้สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ ซึ่งดู ๆ ไปแล้ว ก็แปลก เพราะว่าอ่างเก็บน้ำนั้นเท่ากับกินที่ของที่ที่ได้มาเกือบทั้งหมด จะมีเหลือเพียงไม่กี่ไร่ที่จะใช้การสำหรับการเพาะปลูก โดยใช้น้ำชลประทาน ก็เริ่มต้นอย่างนั้นคือ ไม่ถือว่า ผิดหลักวิชา ความจริงผิดหลักวิชา มีที่เท่าไหร่ก็มาใช้ ส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำ แล้วก็มาใช้ประโยชน์สำหรับทำการเพาะปลูกเพียงไม่กี่ไร่ แต่คือว่าทำเป็นตัวอย่าง และก็ผลประโยชน์ที่จะได้ก็ไม่ใช่เฉพาะในที่ของเราเป็นในที่ที่ทำลงไปข้างล่าง ก็คงได้รับประโยชน์จากน้ำที่กักเอาไว้ ต่อมาอย่างฝ่ายกรมต่าง ๆ ก็บอกว่าที่แถวนี้ดินมันใช้ไม่ได้ ไม่ควรจะทำโครงการ ไม่คุ้ม แต่ว่าก็ได้เรียกว่าดินไม่ดีนั้นเองมีเยอะแยะในประเทศไทย ถ้าหากว่าบอกว่าที่นี่ดินไม่ดี ไม่ช่วย ไม่ทำ ลงท้ายกลายเป็นประเทศไทยทั้งประเทศจะกลายเป็นทะเลทราย เพราะว่าไม่ช่วย เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจ ก็เลยพยายามหาวิธีที่จะฟื้นฟูดินให้เป็นดินที่ใช้การได้ คือมาบัดนี้
ปลูกข้าวได้ ปลูกพืชอะไรต่าง ๆ ก็ได้”

          “ศูนย์ศึกษาคุ้งกระเบนจะเป็นการศึกษาเกี่ยวข้องกับชายทะเล ต้นไม้ต่าง ๆ ชายทะเล
และปลา ต่างกันตรงที่ห้วยทรายก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งคือ เริ่มมาจากพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุม
ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าเป็นเขตของมฤคทายวันราชนิเวศน์
แต่ว่าเป็นพื้นที่มีคนเข้าไปอยู่ในนั้นมาก ฉะนั้นก็ต้องพยายามที่จะพัฒนาให้คนที่เข้าไปอยู่ในนั้น
มีความอยู่ดีกินดีขึ้น ก็มีอุปสรรคต่าง ๆ มากหลาย แต่ก็ได้ทำกิจการมีการพยายามปลูกป่าบนภูเขา โดยใช้น้ำที่สูบด้วยโซล่าเซลล์ เป็นต้น”

          “ศูนย์ศึกษาฯ นี้เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่จะให้กรม กอง ต่าง ๆ นั้น มีหน่วยราชการนั้น ๆ มาทำการทดลองได้โดยที่ถ้าจะต้องขยายพื้นที่ของกรม กอง เหล่านี้ก็จะเป็นที่ลำบาก อันนี้ถ้าเป็นเงินที่จะได้ให้ก็เรียกว่าให้ยืมหรือให้กระทำไป และก็มีความสะดวกเพราะว่ามีกรม กอง อื่น ๆ อยู่ด้วย ฉะนั้นต้องการเครื่องมือสอดคล้องในกรม กอง ต่าง ๆ ก็จะสะดวกและไม่ใช่กรม กอง ของทางราชการเท่านั้นเอง ก็มีตามเอกชน/ทั้งบริษัท ทั้งเอกชนอื่น ๆ มาสนใจ ฉะนั้นการดำเนินงาน
ที่สำคัญก็คือ ความร่วมมือระหว่างหน่วยต่าง ๆ”

 

๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๓

          พระราชดำรัส ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

          “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ นี้ ในท้ายที่สุดจะไม่ได้ทำเพียงการศึกษา วิจัย เท่านั้น
ในโอกาสต่อไป ศูนย์ฯ จะกลายสภาพเป็นชุมชนที่แข็งแรง มีการจัดสรรที่ดินให้ราษฎร ราษฎรจะมีที่ดินเป็นของตนเองมาร่วมกันทำกิจกรรมและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกัน โดยเฉพาะในอีก ๕๐ – ๑๐๐ ปีข้างหน้า จะมีราษฎรมากขึ้น ราษฎรจะสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้น้อยลง แต่ในพื้นที่ที่จำกัดนั้น จะสามารถใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จะเป็นศูนย์กลางในการช่วยประสานให้ราษฎรสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่โครงการได้กำหนดไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ราษฎรก็จะสามารถอาศัยอยู่ร่วมกัน ได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ตลอดไป”

 

 

 

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐

          พระราชดำรัส ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          “สิ่งที่ทำไว้ที่ห้วยทรายนับว่าเป็นความสำเร็จดีมาก ต้องบันทึกไว้เป็นทฤษฎีหรือตำรา...
ฉันปลื้มใจมาก”

 

๓ ตุลาคม ๒๕๔๖

          พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ว่าราชการจังหวัดระบบบูรณาการ (ผู้ว่าฯซีอีโอ) ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          “ศูนย์ศึกษาการพัฒนานั้นคืออะไร เป็นศูนย์เป็นที่ที่เป็นแห่งหนึ่งที่จะแสดงการพัฒนา เริ่มต้นแห่งแรกที่เป็น คือที่ จ.ฉะเชิงเทราที่ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน” ตอนแรกที่นั่น
มีชาวบ้าน เป็นกำนันเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวไปที่ไหน ที่ไหน พยายามที่จะพัฒนาหมายความว่าทำให้ที่ที่ดินเจริญขึ้น จึงมีความตั้งใจต้องการที่จะถวายที่ดินของเขาประมาณ ๒๕๐ ไร่ บอกว่าถวายนี้
จะไปทำอะไรก็ได้ แต่อยากให้สร้างตำหนัก ไปสร้าง เขาใช้คำว่าวังที่นั่นคิดไปนานตอนนั้น
ไปเชียงใหม่ไปพัฒนาที่เชียงใหม่ ก็ขอแผนที่พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา หาที่ที่เขาให้แผนที่ ๑ ใน ๕ หมื่น หาไม่พบ ว่าที่ที่เขาให้ เพราะเหตุว่าที่ตรงนั้นอยู่ตรงมุมแผนที่ต้องต่อแผนที่ ๔ ระวาง เพื่อให้ได้ภาพ ได้ที่ที่เขาให้ แล้วมิหนำซ้ำแผนที่นั่นผิดมีถนนที่ไปจาก อ.พนมสารคาม ไปทาง
ภาคอีสาน ไม่ต่อกันเป็นถนน แล้วก็ขาดไป เจออยู่อีกระวาง ต่อเข้าอีกระวางหมายความว่าภาพนั้นอยู่ใน ๓ ระวาง คล้าย ๆ อ้อมมุมนั้นก็ลงไปจึงทำให้โครงการเสียไปหรือโครงการหยุดชะงักไป

          ต่อมาได้ถามหาฝ่ายนายทหารแผนที่ว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแผนที่นั้นผิดก็เลยแก้ปัญหาแผนที่ต่อถนนให้ตรง ก็เลยเจอหินซ้อนและเจอพื้นที่ของศูนย์ศึกษาที่จะทำเติมเขาจะไปให้สร้าง สร้างบ้านสร้างตำหนักหรือวังได้ตามเขาว่า ถ้าจะทำเป็นการ พื้นที่สำหรับทดลองการพัฒนาเขา
จะว่าอะไรไหม เขาบอกว่าไม่ว่า จึงเริ่มคิดจะทำแล้วก็คิดจะทำให้สามารถที่จะทำตามประสงค์
ที่เป็นที่สำหรับพัฒนา เป็นการเรียกว่า เป็นการสาธิตการพัฒนา ตอนศึกษาดูพื้นที่นั้น พัฒนายากมาก เพราะว่ามีแต่หิน แล้วก็เขาปลูกที่มีปลูกที่นั่น มีปลูกมันสำปะหลังก็เลยนึกว่าอาจจะสาธิตการปลูกมันสำปะหลัง แต่มันสำปะหลังนั้นแม้จะไม่มีน้ำ ก็ยังพอปลูกได้โดยง่ายแต่ที่นี่เขาปลูกมันสำปะหลังไม่ขึ้นหมายความว่าอะไร ปุ๋ยไม่มี น้ำไม่มี มีแต่ทราย ก็เลยว่าก็จะต้องพัฒนาที่นี่ให้เป็นที่ที่สามารถปลูกแม้แต่มันสำปะหลังอย่างนี้”

          “เดี๋ยวนี้ที่นั่นปลูกมะม่วง ปลูกผักได้อย่างดีมีกำไร ที่รักที่ตรงนั้นไม่ใช่จะทำให้มีกำไร
ไม่เคยเอาเงินที่ได้มาถือว่าเป็นกำไร แต่ว่าสร้างเพิ่มเติม และซื้อที่เพิ่มเติมให้สามารถที่จะเป็น
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ซึ่งคนก็รู้จักกันทั้งนั้น”

         

          “คำว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาทีแรกก็เรียกว่าศูนย์ศึกษาอะไรก่อนไม่มีความหมาย เป็นศูนย์ศึกษา คือ เรียนรู้การพัฒนาทำอย่างไร ต่อจากนั้นก็ไปทำศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ภาคใต้ ไปซื้อที่อันนี้ไม่ได้ซื้อส่วนตัวให้ทางราชการซื้อที่ แล้วก็ทำแบบเดียวกันให้พัฒนาที่ที่ปลูกอะไรไม่ได้ให้ปลูกได้
ที่นั่นไม่ใช่แห้งแต่เปียกด้วยน้ำเปรี้ยว แก้ไขให้สามารถปลูกและเลี้ยงปลาได้ ก่อนนี้เลี้ยงปลา
เอาปลาใส่มันกระโดดออกมา ปลามันต้องอยู่ในน้ำแต่มันโดดออกมามันไม่ยอมอยู่ในน้ำ ในที่สุด เดี๋ยวนี้ถ้าไปดูก็สามารถที่จะดูว่าใช้ได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่หินซ้อนนั้นปี ๒๕๒๐ ที่ได้มา
แต่เริ่มต้น ๒๕๒๒ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ภาคใต้ ๒๕๒๕ เดี๋ยวนี้ ที่ในบริเวณที่จะปลูกข้าวตอนแรก ปลูกข้าวทีแรก ได้ข้าวครึ่งคืนหมายความว่า ขึ้นมาครึ่งคืนแล้วเหี่ยวตายแล้วก็ต้องหาวิธีให้ข้าว
มันขึ้นได้ ทำเป็นแบบศูนย์ศึกษาของเรา ต่อน้ำจากที่ทำอ่างเก็บน้ำที่เชิงเขาลงมาเวลาข้าวมันเหี่ยวก็เอาน้ำออก น้ำที่มีอยู่ในนานั้นออกไปสูบออกไป แล้วเอาน้ำใส่ ข้าวขึ้นมาหนึ่งคืนก็เหี่ยวตาย”

 

๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

          พระราชดำรัส ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          “การดำเนินโครงการพระราชดำริ ให้ไปดูสถานที่จริง งานจริง ที่พื้นที่จริง จะทำให้ได้ข้อมูลจริงและหากไม่เข้าใจให้กลับไปดูได้ที่ศูนย์ศึกษาฯ ต่าง ๆ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ เป็นต้น”

 

อ้างอิง

          สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท

          สำนักราชเลขาธิการ. พระราชกรณียกิจ

          สำนักงาน กปร. ประวัติศาสตร์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๔๒

          สำนักงานเลขานุการ กปร. แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ    วันที่ ๒๖ – ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๑ ณ โรงแรมรามาการ์เด็นส์, ๒๕๓๑

          สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการพลเรือน. พระบรมราโชวาท “ในหลวง”   พระราชทานแก่ผู้ว่าฯ ซีอีโอ. สำนักงาน กพร. จัดทำเป็นเอกสารมอบให้ผู้ว่า ซีอีโอทุกจังหวัดรับใส่เกล้าฯ เป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่. อัดสำเนา, ๒๕๔๖

 

 

                                                                                                กลุ่มนโยบายพิเศษ

                                                                                              ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕

curve