องค์ความรู้เรื่อง "โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา"จังหวัดปราจีนบุรี-สระแก้ว

รายละเอียดองค์ความรู้

องค์ความรู้

โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา

จังหวัดปราจีนบุรี - สระแก้ว

เมื่อปี พ.ศ. 2521 พื้นที่ราบเชิงเขาบรรทัดในเขตอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร และอำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เป็นเขตติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์
เป็นพื้นที่ที่มีการแทรกซึมและใช้เป็นฐานปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายซึ่งได้บังคับให้ราษฎรในท้องที่ส่งเสบียง
ยารักษาโรค และอาวุธตลอดจนใช้เป็นฐานในการปลุกระดมมวลชน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ

ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นผู้อพยพมาจากที่อื่น บุกรุกทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จนพื้นที่ป่าโดยรอบเขาบรรทัดกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกอยู่ในภาวะยากจน จึงต้องกลายเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้ายโดยจำใจเพื่อความอยู่รอด

เมื่อหน่วยเฉพาะกิจกองพลที่ 2 กองทัพภาคที่ 1 เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ พบว่าการป้องกัน
และปราบปรามผู้ก่อการร้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะขาดความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่บริเวณนี้ จึงได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณที่ราบเชิงเขาบรรทัด โดยพระราชทานแนวทางเพื่อการพัฒนาไว้ 3 ด้าน คือ

1. พัฒนาด้านจิตใจของราษฎร

2. พัฒนาความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ

3. จัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรให้ถูกต้อง

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ อดีตองคมนตรี ประสานงานกับกระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ กระทรวงกลาโหมและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ดำเนินการโครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา และมีการแต่งตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี

คณะทำงานฯ แบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 7 พื้นที่ รวม 404,730 ไร่

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2525 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการ และมีพระราชดำริให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาพื้นที่บริเวณเทือกเขาสามสิบเพิ่มเติมรวมเนื้อที่ประมาณ 437,300 ไร่

มีการจัดตั้ง ศูนย์การพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในท้องที่จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดปราจีนบุรี อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 7 โครงการ ได้แก่

1. โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าทับลาน 1 (บ้านทับลาน) ตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

2. โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าทับบาน 2 (บ้านคลองตาหมื่น) ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

3. โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาป่าท่ากะบาก 1 (บ้านท่ากะบาก) ตำบลคลองน้ำเขียว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว

4. โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาป่าท่ากะบาก 2 (บ้านคลองหมากนัด) ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว

5. โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าโคกสูง 1 (บ้านห้วยชัน) ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

6. โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าโคกสูง 2 (บ้านภักดีแผ่นดิน) ตำบลหนองหมากฝ้าย
อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว

7. โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ป่าเขาฉกรรจ์ (บ้านเขาสามสิบ) ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพภาคที่ 1 จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมชลประทาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมที่ดินร่วมกันดำเนินการ โดย พัฒนาแหล่งน้ำ ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าเป็นจำนวน 69,540ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว 51,230 ไร่) ปลูกหวาย 1,500 ไร่ (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว) จัดหมู่บ้านป่าไม้ พัฒนาหมู่บ้านเดิม และจัดที่ดินทำกินให้ราษฎร จำนวน 9 หมู่บ้าน (ท้องที่จังหวัดสระแก้ว 7 หมู่บ้าน) ให้ความรู้และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมที่เหมาะสม รวมถึงอุตสาหกรรมในครัวเรือนและอาชีพเสริมอื่นๆ ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุกทำลายไป ให้กลับ
มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม จัดจ้างแรงงานในท้องถิ่นในการดำเนินงานของโครงการฯ ต่างๆ พัฒนาจิตใจราษฎร
ให้ยึดถือหลักการช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จัดสร้างสาธารณูปโภค เช่น อ่างเก็บน้ำ
และระบบส่งน้ำ ถนน ไฟฟ้า วัด โรงเรียนและสถานีอนามัย และส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร

ประโยชน์ของโครงการ ได้แก่ ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าสงวนแห่งชาติและเสริมสร้างพื้นที่ป่าไม้
ให้มากยิ่งขึ้น จัดที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้แก่ราษฎรที่บุกรุกทำกินอยู่อย่างกระจัดกระจายในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้มาอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งอย่างถาวร โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในลักษณะหมู่บ้านป่าไม้ พัฒนาความรู้และสงเสริมอาชีพให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพและมีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ พัฒนาจิตใจของราษฎรให้ยึดมั่นและภาคภูมิใจในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อยู่อาศัย
ในหมู่บ้านอย่างมีความสุข มีเกียรติ มีความหวังและรักถิ่นที่อยู่ของตนมากขึ้นเพื่อร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านของตนให้เจริญมั่นคงถาวรต่อไป

 

 

 

 

                                                                                                กลุ่มนโยบายพิเศษ
                                                                                                 ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔

 

curve